สังคมไทยไม่มี absolute morality มีแต่ absolute power

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การวิพากษ์ว่า สังคมไทยชอบอ้าง “ศีลธรรมสัมบูรณ์” (absolute morality) ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะ 1) สังคมไทยไม่เคยมี concept เกี่ยวกับ absolute morality และ 2) วัฒนธรรมหรือค่านิยมทางศีลธรรมของสังคมไทยตรงข้ามหรือขัดแย้งกับ absolute morality ในระดับพื้นฐาน

ศีลธรรมสัมบูรณ์หรือ absolute morality เป็นความคิดทางปรัชญาตะวันตก โดยเฉพาะปรัชญาศีลธรรมของค้านต์ concept ของ absolute เป็นอันเดียวกับ concept ของ universal กล่าวคือศีลธรรมสัมบูรณ์ที่เป็นสากลนั้นมีที่มาหรือมีรากฐานมาจาก “เหตุผล” ซึ่งเป็นคุณสมบัติสากลของมนุษย์หรือสัตที่มีเหตุผล (rational being) และต้องใช้อย่างสากลกับทุกคนอย่างเสมอภาค และเคารพคุณค่าในตัวเองของมนุษย์

ศีลธรรมสัมบูรณ์จึงมีลักษณะเป็นกฎสากล (universal law) ที่ใช้กับทุกคนบนพื้นฐานของความเสมอภาค (equality) และเป็นสิ่งที่มีค่าหรือดีในตัวมันเอง ไม่เป็น “เครื่องมือ” หรือเป็น “วิถี” ไปสู่สิ่งอื่น เช่นหลักเสรีภาพ (หรือหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้น) เป็นหลักการหรือกฎสากลที่ต้องใช้แก่ทุกคนอย่างเสมอภาค และเป็นสิ่งที่ดีหรือมีค่าในตัวมันเอง

แต่สังคมไทยไม่เคยมี concept ของศีลธรรมสัมบูรณ์หรือสากลในความหมายดังกล่าวนั้นเลยครับ การอ้างศีลธรรม อ้างความเป็น “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” หรือเหนือทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เป็นการอ้างแบบ absolute power หรืออ้างราวกับให้ศีลธรรมมีอำนาจสัมบูรณ์ แต่ที่จริงอ้างเพื่อสนับสนุนอำนาจสัมบูรณ์หรือเผด็จการของเหล่าคนดี (?) ศีลธรรมในสังคมไทยจึงเป็นศีลธรรมอำนาจนิยม ที่มีลักษณะจำเพาะ ขึ้นกับบริบทจำเพาะคือ “ความเป็นไทย” และเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์จำเพาะคือ “อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม” มันจึงไม่ใช่ absolute morality ที่เป็นสากลบนฐานการยืนยันความเสมอภาคของมนุษยชาติ

นอกจากนี้ศีลธรรมตามความเชื่อของสังคมไทยนั้น มันมีคุณค่าเพียงเป็น “วิถี” (means) หรือเป็น “เครื่องมือ” (instruments) ให้ได้สิ่งที่ตนต้องการเท่านั้น เช่นที่สอนกันว่า “ทำดีได้ดี” แปลว่าความดีมันมีค่าเพราะมันทำให้ได้รับผลดีหรือสิ่งที่ต้องการ ซึ่งก็ได้แก่ความสำเร็จ ชื่อเสียง เงิน ทอง หรือลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นต้น การทำดีจึงมีความหมายเป็น “การลงทุน” แบบหนึ่ง สำหรับบางคนเมื่อคำนวณแล้วว่า การทำดีอาจไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการ แต่ทำไม่ดีหรือทำสิ่งที่ผิดจะทำให้ประสบผลสำเร็จมากกว่า เขาก็จะเลือกทำสิ่งที่ผิด หรือวิธีการที่ผิดเพื่อให้บรรลุผล ดังนั้น ภายใต้ “วัฒนธรรมทางศีลธรรม” แบบนี้แหละที่ทำให้เกิดค่านิยม “ยึดผลสำเร็จโดยไม่เลือกวิธีการ” ทว่า absolute morality หรือศีลธรรมสากลนั้น ต้องยึดความถูกต้องของวิถีหรือวิธีการอย่างตายตัว (necessary) จะใช้วิธีการที่ผิดใดๆ ไม่ได้ แม้ว่ามันจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการใดๆ ก็ตาม

ดังนั้น เมื่อวัฒนธรรมหรือค่านิยมพื้นฐานทางศีลธรรมของสังคมไทยตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกับวัฒนธรรมหรือค่านิยมยึดศีลธรรมสัมบูรณ์หรือสากล สังคมไทยจึงไม่อาจปรับตัวยอมรับหลักการ กติกาสากลได้อย่างที่ควรจะเป็น (เลือกยอมรับโน่นนั่นนี่มาแบบขาดๆ เกินๆ เฉพาะที่เห็นว่าตอบสนองต่อความเป็นไทย หรือไม่ขัดแย้งกับศีลธรรมอำนาจนิยมและอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเท่านั้น)

และดังนั้น การอ้างศีลธรรมบ่อยๆ ในสังคมไทยจึงไม่ได้แปลว่า "ศีลธรรมเป็นสิ่งจำเป็น" หรือเป็นสิ่งมีคุณค่าน่าปรารถนาในตัวมันเอง เพียงแต่อ้างศีลธรรมเป็น "เครื่องมือ" เท่านั้น เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคนอื่น ฝ่ายอื่น เพื่อให้ตัวเอง ฝ่ายตัวเองดูดี เพื่อปกป้องความเป็นไทย อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและอื่นๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท