มายาคติของรัฐราชการผ่านการกระจายอำนาจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 คสช ได้ออกประกาศฉบับที่ 85/557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ประกาศฉบับดังกล่าว มีผลให้การได้มาซึ่งสมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นต้องเปลี่ยนไปจากที่เคยได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 284 ที่ให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งของผระชาชนที่มีรายชื่อในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ  ประกาศ คสช ฉบับดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อการทำลายระบบประชาธิปไตยของท้องถิ่น(la démocratie locale) ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกิจกรรมต่างๆในท้องถิ่นของตนเอง

โดยที่การกระจายอำนาจและก่อตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอีกทั้งยังเป็นไปเพื่อให้การบริหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเป็นไปด้วยความรวดเร็วไม่กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางทั้งหมด และมุ่งเน้นให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ที่ได้ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลไว้ในปี พ.ศ.2476 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เทศบาลเป็นโรงเรียนประชาธิปไตยแห่งแรกของพลเมืองไทยหรือเป็นสถาบันของการเตรียมความพร้อมในการเป็นพลเมือง

ประกาศ คสช ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ การได้มาซึ่งสมาชิกของสถาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นให้เปลี่ยนจากการเลือกตั้งมาเป็นการ สรรหา โดย คณะกรรมการชุดหนึ่ง โดยประกอบไปด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการซึ่งอัยการสูงสุดเป็นผู้เลือก ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานตรวตเงินแผ่นดินจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงาน ปปช ประจำจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด(ฝ่ายทหาร) และประธานหอการค้าจังหวัดหรือประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และให้ท้องถิ่นจังหวัดเป็นเลขานุการในการ สรรหา จะเห็นได้ว่ากระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสถาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นตามประกาศ คสช นี้ ตัดโอกาสของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในท้องถิ่นของจนเองออกไปอย่างเด็ดขาด ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจและอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นผู้มีสิทธิในการตัดสินใจกิจกรรมในท้องถิ่นของตนเอง

ในส่วนของคณะกรรมการ สรรหา จะพบว่า ไม่ปรากฎตัวแทนของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมดังกล่าวจะพบเพียงแต่ข้าราชการในส่วนภูมิภาคเท่านั้นซึ่งทำให้การกระจายอำนาจต้องเดินหรือวิ่งถอยหลังลงคลองไปเพราะไม่มีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยปรากฎให้เห็น กระบวนการดังกล่าวทำกันเป็นการภายในประชาชนในท้องถิ่นไม่มีโอกาสคัดค้านหรือโต้แย้งได้

วัตถุประสงค์ของการให้ประชาชนเลือกผู้แทนท้องถิ่นนั้นก็เพื่อให้ประชาชนเลือกคนในท้องถิ่นของตนเองมาเป็นผู้บริหารหรือเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในท้องถิ่นของตนเองโดยเลือกจากคนในท้องถิ่นเพราะรู้ถึงความต้องการอันแท้จริงของคนในท้องถิ่น และเมื่อได้สมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นแล้วหากประชาชนไม่พอใจสามารถริเริ่มกระบวนการถอดถอนได้

แต่ในกระบวนการสรรหาดังกล่าว ตัวคณะกรรมการสรรการเองก็มาจากคนนอกท้องถิ่นทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงแต่ประธานหอการค้าหรือประธานสภาอุตสาหกรรม โดยที่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาเอง ก็มาจากการแต่งตั้งโดยส่วนกลางทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตำแหน่งอื่นๆโดยที่บางตำแหน่งอาจเพิ่งมาประจำในท้องถิ่นไม่นานเพราะภายหลังจากการรัฐประหารโดย คสช แล้วก็ได้มีการโยกย้ายข้าราชการกันเป็นว่าเล่น จึงทำให้ในบางท้องถิ่นข้าราชการที่ส่งมาโดยส่วนกลางนั้นเป็นข้าราชการที่ใหม่ในท้องถิ่นนั้นๆจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรับรู้ปัญหาและความต้องการของคนในท้องถิ่น แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาจะตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นได้?

นอกจากการได้มาซึ่งคณะกรรมการสรรหาแล้วคุณสมบัติของสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง โดยที่ คสช ได้กำหนดคุณสมบัติใหม่ที่ไม่พบในคุณสมบัติเดิมของผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นใหม่ไว้ดังนี้

- มีอายุไม่ตำกว่า35 ปี นับถึงวันประกาศแต่งตั้ง

- รับราชการในเขตจังหวัดโดยมีระดับตั้งแต่ชำนาญการพิเศษหรือ ซี8 เป็นต้นไป หรือ เคยรับราชการในเขตจังหวัดโดยมีระดับตั้งแต่ชำนาญการพิเศษหรือ ซี8 เป็นต้นไป หรือ เป็นบุคคลในเขตจังหวัดนั้น และดำรงตำแหน่งประธานหรือหัวหน้าองค์กรภาคเอกชนหรือภาคประชาชนที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีการจดทะเบียนไว้กับส่วนราชการหรือมีหนังสือรับรองจากส่วนราชการ

- จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี

คุณสมบัติที่ถูกกำหนดใหม่โดย คสช นั้นเป็นการสถาปนารัฐราชการขึ้นมาแทนที่องค์กรของประชาชนอย่างแท้จริง โดยที่คุณสมบัติดังกล่าวไม่เอื้อให้ประชาชนธรรมดาเข้าไปมีส่วนในการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างอภิสิทธิพิเศษให้แก่ข้าราชการและบรรดาชนชั้นนำภายในจังหวัดเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยปราศจากตรวจสอบ

ความสัมพันธ์ของกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนั้นอยู่ภายใต้หลักของความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง(principe de libre administration des collectivités territoriales) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีความเป็นอิสระในการบริหารงานที่ตัดขาดจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะทำได้เพียงแค่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้นส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดๆที่จะเข้ามาแทรกแซงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงการได้มาซึ่งผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

การกำหนดคุณสมบัติของผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยที่กำหนดไว้ว่าต้องเป็นข้าราชการในระดับจังหวัดนั้นๆย่อมก่อให้เกิดสภาวะการขัดกันของผลประโยชน์เกิดขึ้นและเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคแสวงหาประโยชน์อันไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการใช้อำนาจในการบริหารท้องถิ่นได้อีกด้วย

ในขณะที่ คสช มีอำนาจเต็มจากการรัฐประหาร(ถึงแม้จะได้มาโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) คำถามถึง คสช คือ การออกประกาศ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร เพราะการกระจายอำนาจนั้นเป็นหลักการพื้นฐานที่รัฐเสรีประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของรัฐในทุกระดับ นอกจากนั้นประกาศฉบับนี้ ยังเป็นการทำลายโครงสร้างการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิงเพราะเปิดโอกาสให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมของท้องถิ่นได้โดยให้เป็นผู้แทนท้องถิ่นเสียเอง

นอกจาก คสช ยังไม่มีความเข้าใจในการกระจายอำนาจแล้วยังมีการออกบทความโดย สมปรารถนา คล้ายวิเชียร เรื่อง คำสั่ง คสช ที่ 85/2557 ก้าวข้ามมายาคติ กระจายอำนาจ เผยแพร่ในมติชนออนไลน์วันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ที่ชื่นชม คสช ว่า ดินดีหมีหัวใจเสือ จึงมีความกล้าหาญในการออกคำสั่งดังกล่าว โดยที่ สมปรารถนา มองว่า นักการเมืองในทุกระดับเป็นปัญหาระดับชาติ จำเป็นต้องขจัดออกไปให้สิ้น สมปราถนา ยังกล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของระบบราชการในการขับเคลื่อนประเทศ

บทความของ สมปรารถนา แสดงให้เห็นว่า สมปรารถนาเองไม่มีความเข้าใจในสาระสำคัญของการกระจายอำนาจแม้แต่น้อย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสมปราถนายังเป็นผู้ที่ไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะสมปรารถนาเองยังอยู่ในมายาคติของรัฐราชการที่มองว่ากลไกการขับเคลื่อนประเทศนี้จำเป็นต้องใช้พลังของระบบราชการเป็นหลัก หากสมปราถนาได้ศึกษาระบอบและรูปแบบของรัฐเสรีประชาธิปไตยในสากลโลกแล้วจะพบว่าในรัฐเสรีประชาธิปไตยไม่มีรัฐใดที่รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เพราะการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางนั้นนอกจากขัดต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยแล้วนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการเข้ามามีบทบาทที่มากเกินไปและก่อให้เกิดการคอรัปชั่นที่ปราศจากการตรวจสอบ 

ผู้เขียนจึงอยากถามไปยัง สมปราถนาว่า  สมปรารถนาเขียนบทความออกมาเพื่อตอบสนองต่อความใคร่ของตนเองในระบอบรัฐราชการและเอาใจคณะรัฐประหารนอกกฎหมายใช่หรือไม่ เพราะข้อเขียนของสมปราถนาแสดงให้เห็นถึงทัศนะดูถูกการตัดสินใจของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอย่างชัดเจน นอกจากนี้การสรรหาของข้าราชการก็ยังไม่มีหลักประกันใดมารับรองเลยว่าจะได้คนที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง

ผู้เขียนคงไม่เรียกร้องอะไรจากคณะรัฐประหารแต่อยากจะสื่อสารว่าการกระจายอำนาจนั้นเป็นการจำกัดอำนาจของรัฐบาลกลางไม่ให้มีอำนาจมากเกินไปผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนหากเรื่องแค่นี้คณะทหารยังไม่มีความเข้าใจคงไม่ต้องคาดหวังถึงประชาธิปไตยที่จะงอกออกมาจากปากกระบอกปืนเพราะ การรัฐประหารของคณะ คสช คงจะมีเป้าหมายเพื่อจัดโครงสร้างเพื่อรักษาอำนาจของรัฐราชการและกีดกันระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับที่ทำในสมัยจอมพล ผ้าขาวม้าแดง เท่านั้น
  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท