Skip to main content
sharethis

สองนักเศรษฐศาสตร์จากออสเตรเลียและเยอรมนีศึกษาข้อมูลความหนาแน่นของแสงไฟบนพื้นโลกจากข้อมูลดาวเทียมเพื่อวัด 'ความลำเอียงทางการเมือง' จากการพัฒนาไม่ทั่วถึง ชี้ให้เห็นว่าในประเทศเผด็จการและการตรวจสอบทางการเมืองไม่เข้มแข็งพอยิ่งทำให้เกิดความลำเอียงมาก และทำให้การพัฒนาไม่ยั่งยืน

ภาพถ่ายของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ขณะที่เกาหลีใต้และจีนดูสว่างมากแต่เกาหลีเหนือกลับมืดมีเพียงแสงไฟเล็กน้อยจากเมืองหลวงกรุงเปียงยางเท่านั้น (ที่มา: livescience/NASA)

15 ก.ค. 2557 สำนักข่าวไลฟ์ไซเอนซ์นำเสนอผลการสำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียและเยอรมนี ซึ่งอาศัยข้อมูลตรวจวัดความหนาแน่นของแสงจากดาวเทียมตรวจภูมิอากาศของกองทัพอากาศสหรัฐฯ และจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) เพื่อตรวจความหนาแน่นของแสงไฟทั่วโลกในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ปี 2535 ถึง 2552 พบข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าแม้แต่แสงไฟเหล่านี้ก็แสดงให้เห็น 'ความลำเอียงทางการเมือง' (political favoritism) ในหลายประเทศได้

ไลฟ์ไซเอนซ์ระบุว่าผลการสำรวจในครั้งนี้พบว่า 'ความลำเอียงทางการเมือง' มักจะเกิดกับประเทศที่มีสถาบันทางการเมืองที่อ่อนแอและมีการศึกษาของภาครัฐกระจายไม่ทั่วถึง ยกตัวอย่างเช่นประเทศซาอีร์ (ในปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ในช่วงที่ โมบูตู เซเซ เซโก ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 2514 ถึงปี 2540 เขาได้พัฒนาเมืองเล็กๆ อย่างบาดาลีเตบ้านเกิดของเขาอย่างมาก

"โมบูตูสร้างตำหนักใหญ่โตราคาหลายล้านดอลลาร์ เกสต์เฮาส์หรู และสนามบินซึ่งสามารถจุเครื่องบินคองคอร์ดได้ รวมถึงทำให้มีบริการน้ำประปา ไฟฟ้า และการสาธารณสุขอย่างดี" พอล ราสช์กี นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาชแห่งออสเตรเลียกล่าว

จากการสังเกตข้อมูลความหนาแน่นจากแสงไฟพบว่าช่วงที่โมบูตูปกครองอยู่บาดาลีเตมีความสว่างไสวช่วงกลางคืนมาก แต่ก็กลับมามืดลงหลังหมดยุคของโมบุตู

ความหนาแน่นของแสงไฟนี้สะท้อนเรื่องการพัฒนาเมืองได้ ตอนเวลากลางคืนในชนบทจะมืดแต่ในพื้นที่เมืองจะสว่างกว่าด้วยแสงไฟ ทำให้มีนักวิจัยหลายคนใช้ข้อมูลเรื่องความหนาแน่นของแสงในการเป็นตัวชี้วัดเรื่องความมั่งคั่งและการพัฒนาของประเทศต่างๆ ด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีมาก่อนหน้านี้คือการเปรียบเทียบความสว่างช่วงกลางคืนระหว่างประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ขณะที่เกาหลีใต้และจีนดูสว่างมากแต่เกาหลีเหนือกลับมืดมีเพียงแสงไฟเล็กน้อยจากเมืองหลวงกรุงเปียงยางเท่านั้น

งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ราสช์กี ร่วมศึกษากับนักเศรษฐศาสตร์อีกคนหนึ่งคือโรแลนด์ ฮอดเลอร์ จากมหาวิทยาลัยเซนต์กัลเลน ประเทศเยอรมนี พวกเขาศึกษาข้อมูลจาก 126 ประเทศ แยกเป็น 38,427 จังหวัด, รัฐ หรือภูมิภาค ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความลำเอียงทางเศรษฐศาสตร์ของผู้มีอำนาจในประเทศนั้นๆ โดยพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของจีดีพีและความหนาแน่นของแสงช่วงเวลากลางคืนร้อยละ 1 ถึง 4 ตามพื้นเพบ้านเกิดของผู้นำ

แต่ความลำเอียงดังกล่าวนี้ไม่ปรากฎในพื้นที่ประเทศที่มีระบบการเมืองที่พัฒนาแล้วและมีประชากรที่ได้รับการศึกษาดีเช่นในทวีปยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย ขณะที่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียยังมีความลำเอียงอยู่สุง

นักเศรษฐศาสตร์ระบุอีกว่าในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการความลำเอียงก็จะปรากฎเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพวกเขาสันนิษฐานว่าเพราะผู้ปกครองเผด็จการไม่ค่อยมีเงื่อนไขข้อจำกัดในการใช้งบประมาณหรือทรัพยากรตามที่พวกเขาต้องการ

"สถาบันทางการเมืองและการศึกษาที่ดีเป็นสิ่งที่สังคมต้องการและเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้มีการตรวจสอบผู้นำทางการเมือง" ราสช์กีกล่าว

การวิจัยระบุอีกว่าการพัฒนาที่มีความลำเอียงนั้นขาดความยั่งยืนเพราะเมื่อผู้นำคนเดิมพ้นจากตำแหน่งไปแล้วการพัฒนาในพื้นที่ก็จะลดลง

 

เรียบเรียงจาก

Political Favoritism Is Visible from Space, Study Finds, Livescience, 14-07-2014 http://www.livescience.com/46766-political-favoritism-visible-from-space.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net