ประเด็นปัญหาทางเพศในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากกรณีการข่มขืนและฆาตกรรมน้องแก้ม จนก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อเรียกร้องให้คดีข่มขืนมีโทษเท่ากับการประหารชีวิต กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่สะเทือนขวัญและจิตใจของผู้คนในสังคมไทย เรา (ในฐานะพลเมืองผู้หญิงในสังคมไทย) เติบโตขึ้นมาโดยเสพข่าวทางเพศและข่าวข่มขืนเหมือนกินข้าวเช้าประจำวัน และไม่ว่าข่าวการข่มขืนและฆาตกรรมแต่ละครั้งจะทำให้เราได้สะเทือนใจและหวาดกลัวมากแค่ไหน มันก็เป็นเพียงแค่ข่าวพาดหัวประจำวันที่มีให้เห็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งแล้วเลือนหายไป นานเท่าไหร่แล้วที่เรา (ในฐานะผู้หญิง) ต้องทนอยู่ด้วยความหวาดกลัวในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของเราในการมีชีวิตอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด โดยที่ผู้ชายกลับสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรี

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า การเรียกร้องให้ผู้ที่ก่อคดีข่มขืนหรือคดีทางเพศได้รับโทษเท่ากับการประหารชีวิตจะช่วยลดคดีทางเพศในสังคมไทยลงได้  เพราะการมองอย่างแยกส่วนว่าผู้ก่อคดีทางเพศมีปัญหาทางจิต หรือเป็นปัญหาส่วนบุคคล เป็นการแยกกลุ่มคนเหล่านี้ออกจากสภาพสังคมของความเป็นจริง การมองหา (หรือโทษ) ปัจจัยภายนอกว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา ทั้งในเรื่องกฎหมายที่มีบทลงโทษน้อยเกินไป การเสพสิ่งเสพติด การดื่มสุรา หรือแม้กระทั้งการมองว่าผู้หญิง “แต่งตัวโป๊” “ไม่ระวังตัว” “ปล่อยเนื้อปล่อยตัว” “ยั่วยุอารมณ์ทางเพศ” เป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งทำให้เราไม่เคยคิดจะกลับมาตั้งคำถามกับวิธีคิดเรื่องเพศ หรือความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิงและชายที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เราไม่เคยถามตัวเองว่าได้บ่มเพาะลูกหลานให้เข้าใจเรื่องเพศและความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิงและเพศชายอย่างไร หรือเราได้สอนลูกหลานเพศชายให้เข้าใจและเคารพในการดำรงอยู่ของมนุษย์เพศหญิงในสังคมนี้อย่างไร เรา (ผู้หญิง) ได้ตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เท่าทียมในชีวิตประจำวันอย่างไร และทำไมผู้หญิงในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยจึงยังต้องเผชิญปัญหาทางเพศและอคติทางเพศตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ และยอมที่จะปกปิดเอาไว้เพราะ “ความอับอาย” ที่ถูกยัดเหยียดให้โดยผู้คนในสังคม

เรามองปัญหาทางเพศที่ดำรงอยู่สังคมไทยโดยการตั้งคำถามผ่านการมีชีวิตของผู้หญิงมาโดยตลอด เช่น การแต่งตัว การวางตัวที่เหมาะสม การอยู่ในกรอบศิลธรรมอันดีของสังคม ฯลฯ ดังนั้น ไม่ว่าเรา (ในฐานะผู้หญิง) จะต้องการมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกบนเนื้อตัวร่างกายของเราแค่ไหน แต่เราก็ยังคงถูกจำกัดด้วยข้ออ้างทางศิลธรรมประเพณี “อันดีงาม” ที่ผู้ชายไม่เคยต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด เหมือนเช่น กรณีคุณบุ๋ม ปนัดดา หรือคุณใบเตย ไม่ว่าพวกเธอจะรู้สึกเจ็บปวดกับข่าวการข่มขืนและฆาตกรรมน้องแก้มบนรถไฟ และต้องการจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาเหล่านี้ แต่พวกเธอก็ถูกคนกลุ่มหนึ่ง (ผู้ชายหัวโบราณซึ่งมีอคติและดูถูกเพศหญิงแต่ไหนแต่ไรมา) วิจารณ์และตัดสินว่าพวกเธอไม่มีสิทธิที่จะออกมาเรียกร้องอะไรเพราะการแต่งกายและการการกระทำของพวกเธอเอง ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว การแสดงออกในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงและคดีทางเพศล้วนเป็นคนละเรื่องกัน  คดีทางเพศหลายกรณีไม่ได้เกี่ยวพันกับการแต่งตัวของผู้หญิง แต่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการปัดความรับผิดชอบของผู้ชาย และต้องการจะให้อภิสิทธิ์ทางเพศของผู้ชายดำรงอยู่ต่อไป

การบ่มเพาะความคิดในเรื่องเพศ หรือการพูดคุยกันในเรื่องเพศ (จนบางครั้งแสดงออกถึงการหมกมุ่นจนเกินเลย) เกิดขึ้นเกือบทุกพื้นที่ ทั้งในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ทั้งทางการเมือง ตามบทละครและสื่อประเภทต่างๆ เราซึมซับความไม่เท่าเทียมทางเพศ มาตั้งแต่วัยเยาว์จนกลายเป็นผู้ใหญ่ เรา (ผู้หญิง) ถูกบ่มเพาะว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้ามและอันตราย (ต้อง “รักนวลสงวนตัว”) ต้องวางตัวอยู่ในกรอบศิลธรรมอันดีงาม (ไม่แต่งตัวโป๊ ไม่ยั่วยุเพศชาย) ยิ่งมีข่าวข่มขืนและข่าวทางเพศอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงยิ่งทำให้เรามีความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น

เราไม่สามารถจะเดินทางคนเดียวโดยไม่รู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งเหล่านี้ เราไม่สามารถเข้าห้องน้ำสาธารณะโดยไม่กลัวว่าจะถูกแอบถ่ายภาพหรือวีดีโอได้ เราไม่สามารถมีชีวิตเพียงลำพังโดยไม่หวังพึ่งพิงผู้ชายที่จะมาปกป้องดูแลได้ เราอยู่ในสังคมที่ต้องมีผู้ชายเป็นผู้ดูแลและในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ควบคุมเรื่องทางเพศของเราผ่านวาทกรรมและการกระทำในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกันกับ การมีผู้ชายอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงมือกระทำการในเรื่องทางเพศเพื่อให้เรารู้สึกหวาดกลัวและไม่มั่นคงปลอดภัยมากขึ้น

แต่ในทางกลับกัน ผู้ชายจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยถูกบ่มเพาะให้แสดงออกในเรื่องเพศอย่างเปิดเผย มีความอยากรู้อยากเห็นและแสวงหาประสบการณ์ทางเพศเพื่อรับประกัน “ความเป็นแมน” (ซึ่งถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก) ผู้ชายจำนวนไม่น้อยจึงคิดว่าตนเองมีอำนาจในการควบคุมเรื่องเพศและกำหนดความต้องการทางเพศของผู้หญิงได้ สามารถแสดงออกถึงความต้องการทางเพศอย่างเปิดเผย สามารถที่จะลงมือสนองตัณหาทางเพศของตัวเองผ่านเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ทั้งที่อยู่ในครอบครัว เครือญาติ ลูกหลานและคนแปลกหน้าได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การพูดจาและใช้สายตาแทะโลม การลวนลามเนื้อตัวร่างกาย จนถึงกระทั้งการข่มขืน เป็นต้น

ผู้ชายจำนวนไม่น้อยไม่ได้รู้สึกว่าการกระทำเหล่านี้ผิดหรือละเมิดซึ่งศิลธรรมอันดีงามในการเป็นมนุษย์เพศชายของตนแต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับกรณีของครอบครัวของนักเรียนชายแปดคนที่พยายามจะลวนลามและข่มขืนนักเรียนหญิงร่วมชั้นเรียน พวกเขาไม่ได้มองว่าลูกหลานผู้ชายของตนเองทำผิดหรือละเมิดซึ่งการมีชีวิตอยู่ของเด็กนักเรียนผู้หญิงคนหนึ่งอย่างไร “เป็นเพียงแค่ความคึกคะนอง” ตามประสาของเด็กวัยรุ่นผู้ชาย หรือนักการเมืองผู้ชายไม่ได้รู้สึก “ละอาย” หรือไม่ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบอะไร เมื่อถูกจับได้ว่าเปิดดูภาพผู้หญิงโป๊เปลือยในที่ประชุมรัฐสภา  ผู้ชายมองข้ามความสำคัญของการให้เกียรติหรือการเคารพในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงไปได้อย่างไร และผู้หญิงถูกมองข้ามสิทธิและเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองมาอย่างเนินนานได้อย่างไร

วิธีคิดที่ให้อภิสิทธิ์กับเพศชายในเรื่องเพศ ไม่ได้ทำงานกับผู้คนที่มีเพศสภาพเป็นชายเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้หญิงบางส่วนมองปัญหาเหล่านี้แยกขาดจากปัญหาที่มีร่วมกันของผู้หญิง ให้กลายเป็นเพียง “ปัญหาของปัจเจก” เช่น หากเกิดการล่วงเกินทางเพศ การข่มขืน การเผยแพร่ภาพหรือวีดีโอส่วนตัว ส่วนใหญ่จะถูกมองว่าเพราะการกระทำของพวกเธอเอง และเป็นสิ่งที่พวกเธอจะต้องก้มหน้ายอมรับ “ความอับอาย” ที่พวกเธอไม่ได้ก่อ และถูกลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นคนจากการติฉินนินทา ขาดซึ่งความเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 

การที่ผู้หญิงบางกลุ่มไม่ได้มองว่า ปัญหาเรื่องเพศ เป็นปัญหาร่วมกันของคนที่มีเพศสภาพเป็นหญิง ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แม้จะมีความแตกต่างทางชนชั้น ชาติพันธุ์ ศาสนา และช่วงอายุ นั้นเท่ากับว่าการจะสร้างฉันทามติเพื่อเรียกร้องหรือต่อสู้ร่วมกันบนเพศสภาพที่เหมือนกัน เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในเรื่องเหล่านี้จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก การมีเพศสภาพที่เป็นหญิงไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดความกลมเกลียว ความเห็นอกเห็นใจและการร่วมทุกข์ร่วมสุขในปัญหาเดียวกันได้

สิ่งเหล่านี้จึงยิ่งทำให้ผู้ชาย (ส่วนใหญ่) ยังคงใช้อภิสิทธิ์ในเรื่องทางเพศเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงต่อไป หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็ยังคงจะต้องเห็นข่าวกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในสังคมไทยที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเหล่าเช่นนี้ต่อไป ดูฉากการข่มขืนและการลวนลามทางเพศในละครหลังข่าวเพื่อ “ความบันเทิง” ต่อไปโดยไม่ตั้งคำถาม และไม่ว่าเราจะมีกรณีทางเพศที่เลวร้ายมากขึ้นเท่าไหร่ก็ไม่สามารถจะจุดประกายการคิดและการพยายามร่วมมือกันแก้ไขในปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังได้เลย ยกเว้นการพยายามจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและการพยายามจะควบคุมที่ตัวผู้หญิงเท่านั้น

เรื่องทางเพศและความสัมพันธ์ระหว่างเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งบางครั้งเราก็หลงลืมและไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน บางครั้งเราเองก็หมกมุ่นฝักใฝ่การใช้ความรุนแรงทางเพศกับผู้หญิงที่เราไม่ชอบโดยไม่รู้ตัว เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับคุณยิ่งลักษณ์ เป็นต้น 

การหันกลับมาตั้งคำถามกับปัญหาเหล่านี้ใหม่ และพยายามพิจารณาวิธีคิดและการกระทำเหล่านี้จากตัวเราเองมากขึ้น หรือพยายามปรับเปลี่ยนความคิดและการบ่มเพาะลูกหลานรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเคารพ ให้เกียรติและคำนึงถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์เพศหญิงและเพศชายที่เท่าเทียมกันได้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพยายามแก้ปัญหานี้ในระยะยาวได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องดำเนินไปพร้อมๆ กับการเห็นความสำคัญจากทุกๆ ฝ่ายอย่างจริงจัง ทั้งจากในพื้นที่ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน การเมือง และสื่อประเภทต่างๆ 

ถึงเวลาที่เราต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง (จริงๆ) อย่าปล่อยให้เป็นเพียงคลื่นใต้น้ำที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็หลงลืมกันไป จนกระทั้งวันหนึ่งเราต้องกลายเป็นคนที่รับกับความเจ็บปวดจากเรื่องเหล่านี้เสียเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท