Skip to main content
sharethis

ความรุนแรงลดลงจริง เทียบ 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนในรอบ 10 ปี พบว่า ปี 2556 ที่มีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ความรุนแรงมีน้อยที่สุด ย้อยรอยความหวัง “การริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน”

 

สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปีนี้ คงไม่เหมือนกับในช่วงต้นเดือนรอมฎอนปีที่แล้วที่มีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเดินคู่กันไปด้วย เพราะตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 7 สิงหาคม 2557 เพราะมีเหตุรุนแรงมากถึง 16 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 8 คน บาดเจ็บ 19 คน ซึ่งมากพอๆ กับสถานการณ์ในช่วงเดียวกันของปีอื่นๆ ที่ยังไม่มีกระบวนการสันติภาพ

ที่สำคัญเหตุรุนแรงในช่วงต้นเดือนรอมฏอนปีนี้เหยื่อส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน ผู้หญิง ศาสนสถานอย่างมัสยิด กระทั่งล่าสุดคือนักศึกษาสาวจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ยะลา ที่มาฝึกงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต 2 คนกลางตลาดนัด เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา

ล่าสุด Deep South Incident Database ซึ่งอยู่ภายใต้ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch ได้จัดทำแผนภูมิแสดงการเปรียบเทียบจำนวนเหตุการณ์ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ใน 10 วันแรกของเดือนรอมฎอน ตั้งแต่ปี 2547 - 2557

จากแผนภูมิดังกล่าวพบว่า ในช่วง10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2556 ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ถึง 20 กรกฎาคม 2556 และเป็นช่วงที่มีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN มีเหตุรุนแรงน้อยที่สุดตลอด 10 ปีที่เกิดเหตุไม่สงบในพื้นที่ โดยมีเพียง 7 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 2 คน และได้รับบาดเจ็บ 14 คน

ในขณะที่ในช่วง10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2547 มีสูงถึง 47 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บ 15 คน รองลงมาคือปี 2552 มี 39 เหตุการณ์ เสียชีวิต 19 คน และบาดเจ็บสูงถึง 73 คน, ปี 2550 มี 36 เหตุการณ์ เสียชีวิต 22 คน และบาดเจ็บ 25 คน และปี 2549 มี 33 เหตุการณ์ เสียชีวิต 17 คน และบาดเจ็บ 25 คน ตามลำดับ ในขณะที่ปีอื่นก็มีจำนวนเหตุการณ์ที่สูงมากกว่า 20 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 11 คนขึ้นไป

จะเห็นได้ว่าจากแผนภูมิดังกล่าว ในช่วง10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2556 เป็นช่วงที่มี “การริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างคณะผู้พูดคุยฝ่ายไทยกับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น ในการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในอันที่จะหยุดการใช้ความรุนแรงลงเป็นเวลา 40 วัน คือในช่วงเดือนรอมฎอนและต่อเนื่องไปในเดือนเซาวัลอีก 10 วัน

แม้ว่าการหยุดใช้ความรุนแรงตามข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 วัน แต่ไม่ได้สงบไปเสียทีเดียว แต่เมื่อเทียบสถิติแล้ว ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีเหตุรุนแรงน้อยที่สุดตลอด 10 ปีของความรุนแรง ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะสร้างความหวังว่ากระบวนการสันติภาพจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและสร้างความสงบสุขได้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรที่จะให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพได้เดินหน้าต่อไป หลังจากได้หยุดชะงักมาเป็นเวลา 1 ปีแล้วอันเนื่องมาจากปัญหาการเมืองของไทย

และนับเป็นข่าวดีที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐปีนี้เกิดขึ้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ยืนยันจะเดินหน้าการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับบีอาร์เอ็นอีกครั้ง โดยแต่งตั้งพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และให้นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย

ทว่าปีนี้ กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ ไปทางไหน และจะสร้างโอกาสแห่งความหวังและการมีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่รู้ แต่อย่างนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการแก้ปัญหาความรุนแรงโดยไม่ใช้ความรุนแรงและเป็นโอกาสที่จะนำรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงมาพูดคุยอีกครั้งแล้ว

 

ย้อยรอยความหวัง “การริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน

ในการพูดคุยระหว่างตัวแทนฝ่ายไทยที่นำโดย พล.ท.ภารดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในขณะนั้น กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น ครั้งที่ 4 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะหยุดชะงักลงอันเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองของไทย และยังไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกเลยจนกระทั่งปัจจุบัน 1 ปีกว่าแล้ว

ในการพูดคุยครั้งนั้น ฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการหยุดการใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนก่อน แต่ก็นำมาสู่การมีข้อตกลงสำคัญที่เป็นเหมือนสัญญาลูกผู้ชายร่วมกันว่า จะลดระดับความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน โดยทางบีอาร์เอ็นจะแจ้งรายละเอียดการปฏิบัติมาภายใน 10 วัน

กระทั่งต่อมา วันที่ 24 มิถุนายน 2556 นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ได้ออกแถลงผ่านเว็บไชต์ยูทูปว่าบีอาร์เอ็นมีมติที่จะ “ยุติการปฏิบัติการ” ไม่ใช่เพียงแค่ลดการปฏิบัติการทางการทหารตลอดช่วงเดือนรอมฎอนและ 10 วันแรกของเดือนชาวัลฮิจเราะห์ศักราช แต่มีข้อเรียกร้องให้รัฐไทยทำตามเงื่อนไข 7 ประการ แลกกับการหยุดการใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอน

ทั้ง 7 ข้อดังกล่าว คือ 1.ต้องถอนกำลังทหารและทหารพรานจากภาคอื่นๆ และตำรวจที่มาจากส่วนกลางออกไปจากปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และห้าอำเภอในจังหวัดสงขลา) 2.แม่ทัพภาค 4 ต้องถอนทหารและทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านและให้กลับไปอยู่ในค่ายใหญ่ของแต่ละหน่วย

3.รัฐสยามต้องถอนกำลังตำรวจและตำรวจตระเวนชายแดนออกจากหมู่บ้าน 4.อนุญาตให้อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ที่เป็นมุสลิมลาหยุดตลอดเดือนรอมฎอน เพื่อให้พวกเขาสามารถปฏิบัติศาสนกิจและใช้ชีวิตครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ 5.หยุดการโจมตี การสกัดจับและควบคุมตัวโดยเด็ดขาด 6.หยุดการจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน และ 7. ให้นายกรัฐมนตรีลงนามและประกาศยอมรับเงื่อนไขนี้ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2556

นอกจากนี้บีอาร์เอ็นยังขอให้รัฐออกคำสั่งงดการขายสุราและปิดสถานบันเทิงตลอดเดือนรอมฎอนอีกด้วย แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากบางส่วนในฝ่ายไทย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ให้ถอนทหารนอกสังกัดกองทัพภาคที่ 4 และตำรวจจากส่วนกลางออกจากพื้นที่

ขณะที่กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้กำหนดมาตรการให้เจ้าหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน โดยปรับด่านตรวจ จุดตรวจต่างๆ เป็นจุดอำนวยความสะดวก ยกเว้นจุดตรวจถาวร รวม 23 ด่าน ที่ยังมีการปฏิบัติเหมือนเดิม แต่ยังต้องบังคับใช้อำนาจตามกฎหมายดังเดิม แต่จะพยายามลดระดับการปิดล้อมตรวจค้น

ในช่วงนั้นเอง ทางดาโต๊ะอัฮหมัด ซัมซามิน ฮุสเซน ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยเพื่อสันติภาพดังกล่าว พยายามอย่างหนักที่จะให้ทั้งสองฝ่ายหารือถึงรายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงหยุดการใช้ความรุนแรง และต้องการให้ทั้งสองฝ่ายได้ออกมาแถลงข่าวร่วมกัน

แต่เนื่องจากเวลาที่กระชั้นชิดเกินไปและเดือนรอมฎอนก็ใกล้จะถึง ทำให้ไม่สามารถตกลงในรายละเอียดต่างๆได้ ทำให้ทางดาโต๊ะอัฮหมัดต้องออกมาแถลงการณ์ฝ่ายเดียวในวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 หรือในวันที่ 3 ของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนปีนั้น

แม้ว่า ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียวได้เกิดเหตุรถบรรทุกทหารถูกลอบวางระเบิดที่บ้านบาลอ อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า เป็นการตอบโต้ของฝ่ายขบวนการที่ทหารทำผิดข้อตกลงโดยเคลื่อนกำลังพลออกพื้นที่

ในการแถลงดังกล่าว ดาโต๊ะอัฮหมัด ซัมซามิน ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้มีข้อตกลงในหลักการในการพูดคุยครั้งที่ 4 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา บรรลุความเข้าใจในการริเริ่มความพยายามให้เดือนรอมฎอน 2013 ในจังวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยปราศจากความรุนแรง

แถลงการณ์ระบุถึงช่วงเวลาปฏิบัติการนี้จะเป็นเวลา 40 วัน ตั้งแต่ วันที่ 10 กรกฎาคม ถึง วันที่ 18 สิงหาคม 2556 ใน 3 จังวัดชายแดนภาคใต้และ 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ ในส่วนรัฐไทยจะรับผิดชอบต่อการป้องกันอาชญากรรมและการรักษาความปลอดภัยของสาธารณชน และงดปฏิบัติการเชิงรุกเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้

ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็นจะพยายามและเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง การโจมตีทางอาวุธ การวางระเบิด ซุ่มโจมตีต่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและประชาชนทั่วไป ไม่ทำลายทรัพย์สินของรัฐและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับประชาชน อีกทั้งรับรองว่าจะให้เกียรติ เคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของคนที่ไม่นับถือศาสนาอิสลาม

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นจะปฏิบัติอย่างจิงจังเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจจากทั้งสองฝ่ายในการแสวงหาแนวทางแก้ไข้ปัญหาความไม่สงบโดยมีเวทีสันติสนทนาเป็นเวทีกลาง และเชื่อว่าสันติสนทนาเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับสร้างสันติภาพอันยั่งยืนและถาวร ฝ่ายใดที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามความเข้าใจรวมกันครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นฝ่ายที่ไม่รักสันติภาพ ไม่เคารพความใฝ่ฝันและความหวังของประชาชน”

ขณะที่ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DSW) ซึ่งได้ร่วมโต๊ะการพูดคุยสันติภาพดังกล่าว ให้ความเห็นในครั้งนั้นว่า ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวได้ ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของกระบวนการสันติภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากการพุดคุยเพื่อสันติภาพดังกล่าว เพิ่งเริ่มได้แค่ 4 เดือน

แต่ข้อตกลงดังกล่าว ก็ไม่มีไม่มีหลักประกันอะไรเลย เพราะไม่มีกลไกที่จะติดตามตรวจสอบ ทำให้ในช่วงนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็เฝ้ารอว่าจะความรุนแรงจะหยุดลงจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บรวบรวมสถิติเหตุรุนแรงในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปีที่แล้วของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า มีเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่ 7 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 14 คน

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พบศพชายไม่ทราบชื่อบริเวณริมแม่น้ำโก-ลก บ้านลูโบ๊ะฆง หมู่ 3 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส สภาพศพถูกยิงบริเวณศีรษะ

เหตุการณ์ที่ 2 วันที่ 15 กรกฎาคม คนร้ายดักยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 44 ปี ชาวบ้าน ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่สะพานข้ามคลองลิเง๊ะ ม.13 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยนายตอเหล็บถูกดำเนินคดีความมั่นคง 5 คดี ศาลยกฟ้องไปแล้ว 1 คดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกันตัว

เหตุการณ์ที่ 3 วันที่ 16 กรกฎาคม คนร้ายดักยิงนายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปี ชาวบ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและครูตาดีกาอาชีพกรีดยาง เสียชีวิต เหตุเกิดที่บ้านบาโงแจเกาะ ม.10 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา ขณะออกไปกรีดยาง

เหตุการณ์ที่ 4 วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 23.30 น. คนร้าย 2 คน ลอบยิงนายสุชัล คงขวัญ อายุ 28 ปี ขณะนอนในขนำกลางสวนยางพารา ม.4 ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เข้ากลางหลัง 1 นัด ได้รับบาดเจ็บ

เหตุการณ์ที่ 5 วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 เวลา 07.35 น. ลอบวางระเบิดทหารพรานชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครู บนถนนสายบ้านกาโสด – เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้ทหารพรานบาดเจ็บ 1 นาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคนร้ายในพื้นที่

เหตุการณ์ที่ 6 เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือเหตุลอบวางระเบิดและโจมตีซ้ำทหารพราน ฉก.ทพ.4807 บริเวณสะพานบ้านปะเระลูโบะ ม.9 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขณะลาดตระเวนด้วยรถวีว่า ทำให้ทหารพรานบาดเจ็บ 2 นาย

และเหตุการณ์ที่ 7 วันที่ 19 กรกฎาคม 2556 คือการวิสามัญฆาตกรรมนายมะสุเพียน มามะ ผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งมีหมายจับติดตัวถึง 4 หมาย เขาถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิตหลังจากเจ้าหน้าที่ปิดล้อมจับกุมในพื้นที่บ้านยานิง ม.2 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

แต่ในการสำรวจสถิติเหตุรุนแรงโดยกอ.รมน.ภาค 4 สน.ในช่วงระหว่างวันที่ 12 ถึง 20 กรกฎาคม 2556 มีเพียง 2 เหตุการณ์เท่านั้นที่กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุว่าเป็นการกระทำของ “ผู้ก่อเหตุรุนแรง” คือ เหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารพราน

ที่สำคัญเป็นช่วงที่มีเหตุรุนแรงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเหตุรุนแรงในช่วงเดียวกันตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่มีอยู่ในขณะนั้น

แต่ทว่าในช่วงที่เหตุรุนแรงลดลงก็ได้เกิดเหตุลอบสังหารคนมลายูมุสลิม 2 คน ซึ่งเชื่อว่าส่งผลให้ฝ่ายขบวนการยกเลิกข้อตกลงการลดความรุนแรง คือ เหตุซุ่มยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 42 ปี และเหตุดักยิงนายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปีเสียชีวิต

รวมทั้งเหตุวิสามัญฆาตกรรมนายมะสุเพียน มามะ ผู้ต้องหาก่อเหตุลอบยิงอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยขบวนรถไฟเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555

ทั้ง 3 เหตุการณ์เป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่การยื่นหนังสือประท้วงของนายฮัสซัน ตอยิบ ต่อดาโต๊ะสรีอะหมัด ซัมซามิน โดยกล่าวหาว่าฝ่ายไทยได้ละเมิดขอตกลงที่จะลดการใช้ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนและอีก 10 วันในเดือนเซาวัล เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2556

จากนั้นเหตุรุนแรงก็เกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้ง ทั้งเหตุยิงตำรวจ ยิงคนไทยพุทธ กราดยิงร้านน้ำชา โดยมีเหตุสะเทือนขวัญมากในขณะนั้น คือเหตุลอบวางระเบิดรถตำรวจหน้าโรงพยาบาลจะแนะ จ.นราธิวาส แต่ทำให้ครูที่ขับรถมาประสบเหตุพอดีเสียชีวิตไป 2 คน บาดเจ็บสาหัส 1 คน

แต่ใช่ว่า “การริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน” ล้มเหลวไปอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยการลดเหตุรุนแรงได้แม้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้จริงและมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในช่วงต้นเดือนรอมฏอนปีที่แล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ในการประชุมลับๆ ระหว่างพล.ท.ภราดรกับนายฮัสซัน ตอยิบ โดยสื่อสารผ่านดาโต็ะศรีอัฮหมัด ซัมซามิน ในช่วงไม่กี่วันหลังจากนั้น ทั้งไทยและบีอาร์เอ็นอ้างว่า มีฝ่ายอื่นๆที่ออกมาก่อกวนในช่วง2 อาทิตย์แรกในเดือนรอมฎอนเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของการประกาศหยุดยิงและกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินการ

วันที่ 6 สิงหาคม 2556 สองวันก่อนที่จะสิ้นสุดเดือนรอมฎอน มีวีดีโอยูทูปอันใหม่ที่โพสต์โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อเป็นภาษามลายูแปลว่า “กองทัพ BRN” โดยมีชาย 3 คนนั่งเรียงกันในเงาสลัวพร้อมแถลงว่า สภาชูรอได้ตัดสินใจที่จะถอนตัวจากการพูดคุยสันติภาพแล้ว เพราะรัฐบาลสยามยังไม่ยอมรับข้อเรียกร้องหลัก 5 ข้อ รวมถึงเงื่อนไข 7 ข้อในช่วงเดือนรอมฎอน

จากนั้นตามมาด้วย การออกแถลงการณ์ผ่านยูทูปอีกครั้งของนายฮัสซัน ตอยิบที่ระบุว่าตัวเองเป็นอดีตหัวหน้าที่พูดคุยของบีอาร์เอ็นไปแล้ว เสมือนหนึ่งว่า ขบวนรถไฟสายสันติภาพในฝ่ายของบีอาร์เอ็นได้ถูกถอดหัวออกไปแล้ว เพื่อไม่ให้กระบวนการพูดคุยได้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายอีกต่อไป

และแล้วก็มีข่าวดีรับเดือนรอมฎอนอันประเสริฐของปีนี้เกิดขึ้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ยืนยันจะเดินหน้าการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับบีอาร์เอ็นอีกครั้ง โดยแต่งตั้งพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และให้นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย

หวังว่าคราวนี้ คงไม่ผู้โดยสารขบวนรถไฟแห่งสันติภาพนี้ถูกใครจับข่มขืนแล้วโยนศพลงทางหน้าต่างอีกจนทำให้หัวขบวนถูกถอดออกไป เพราะเส้นทางสายนี้ยังอีกยาวไกลและยังมีความหวังของผู้โดยสารที่รอขึ้นตามสถานีรายทางอีกจำนวนมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net