Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

การข่มขืนและฆ่าเด็กบนรถไฟตอนกลางคืนเป็นอาชญากรรมที่น่าชิงชังรังเกียจ และผู้กระทำความผิดต้องถูกลงทษรุนแรงสูงสุดตามที่มีการกำหนดไว้ อย่างไรก็ดี ผู้เรียกร้องด้วยความโกรธให้ใช้โทษประหารควรหยุดฟังบ้าง ในตอนนี้มีการเรียกร้องให้กำหนดโทษเชิงบังคับ แต่การกำหนดโทษเชิงบังคับไม่ใช่การลงโทษที่มีการกำหนดไว้ การใช้โทษประหาร “เชิงบังคับ” เป็นการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ ในชั้นต้น โทษประหารเชิงบังคับเป็นการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของพวกเราผู้เป็นพลเมืองของประเทศประชาธิปไตย มันปฏิเสธสิทธิที่มนุษย์จะมีทางเลือกและตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตน รวมไปถึงการลงโทษกรณีที่เกิดอาชญากรรมรุนแรงน่าชิงชัง และสร้างการมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างฉับพลันราวกับเป็นสัตว์เดียรฉาน โชคดีที่แม้ระบบยุติธรรมไทยจะมีข้อบกพร่อง แต่ก็ไม่มีกฎหมายกำหนดโทษเชิงบังคับซึ่งไม่เป็นธรรม

เสียงเรียกร้องให้ประหารชีวิตผู้ข่มขืนดังมากขึ้นและเกิดขึ้นอย่างขาดความครุ่นคิด เสียงเรียกร้องนี้ได้รับ“สิทธิ” ที่จะฆ่าพลเมืองเพื่อนร่วมชาติของเราจากแหล่งใดกัน? หากผู้ข่มขืนจะถูกประหาร ก็เพราะเขาได้สังหารมนุษย์อีกคนหนึ่งมิใช่หรือ? แล้วการสังหารมนุษย์คนนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง? เปล่าเลย มันไม่ได้มีผลยับยั้งการก่ออาชญากรรมของผู้ร้ายที่อยู่ในสภาพมึนเมาและเสพยา หากแต่ทำให้ชีวิตของเราทุกคนมีคุณค่าน้อยลง การกำหนดให้การข่มขืนและฆ่าเด็กเป็นความชั่วร้ายสูงสุด ไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าบุคคลอื่น เพราะนั่นเป็นการลดทอนคุณค่าของชีวิตลง

ในเมืองไทยมีโทษประหารอยู่หรือไม่? คำตอบคือ มีอยู่ โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละสัปดาห์ศาลจะลงโทษประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อยหนึ่งคน แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการประหารชีวิตบุคคลใด รัฐบาลไทยได้กำหนดแผนการยกเลิกโทษประหารไว้ในแผนสิทธิมนุษยชนระยะห้าปีเป็นครั้งที่สองด้วย กระทรวงยุติธรรมได้จัดประชุมในห้าภูมิภาคเพื่ออธิบายต่อสาธารณะว่าเหตุใดจึงมีการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารทั่วโลก ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสามครั้งที่กำหนดให้มีข้อตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการประหารชีวิตอย่างเป็นสากล โฆษกกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวในการพูดคุยส่วนตัวหลายครั้งและการประชุมสาธารณะอย่างน้อยครั้งหนึ่งว่า จะไม่มีการประหารชีวิตอีกต่อไปในเมืองไทย

ระบบยุติธรรมไทยอยู่บนพื้นฐานการฟื้นฟูนักโทษ โดยนักโทษยังคงมีความเป็นมนุษย์ และคงความเป็นพลเมืองของประเทศ เราอาจไม่เข้าใจจิตใจของผู้เป็นอาชญากร แต่เราสามารถเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งมีร่วมกัน เริ่มต้นจากความตระหนักว่าการแก้แค้นไม่นำไปสู่ประโยชน์ใด ๆ เราได้เรียนรู้ว่าการแก้แค้นไม่ได้ช่วยแก้ไขสิ่งที่ผิด ทั้งไม่ได้ป้องกันการก่ออาชญากรรมในอนาคต เสียงเรียกร้องให้ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” จะทำให้โลกกลับไปสู่การแก้แค้นและความรุนแรง ซึ่งมนุษย์ต้องใช้เวลาหลายพันปีกว่าจะผ่านยุคนั้นมาได้ ถูกต้องแล้ว คุมขังผู้กระทำความผิดเลยให้ยาวนานจนแน่ใจว่าเขาจะไม่เป็นภัยต่อเด็กอีกต่อไป เปิดโอกาสให้เขาทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ของตนเอง การดำเนินการเช่นนี้ทำได้ และจะต้องทำหากยังมีอนาคตสำหรับความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน ในขณะเดียวกัน เราควรเปลี่ยนความโกรธเป็นความเห็นใจต่อครอบครัวของเด็กซึ่งเสียชีวิตอย่างโหดร้าย ให้ความใส่ใจต่อการคุ้มครองเด็กทุกคน และหาทางป้องกันไม่ให้มีการเมามายและเสพยาซึ่งนำไปสู่โอกาสที่จะกระทำสิ่งชั่วร้ายในที่สาธารณะ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net