Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



เพื่อทบทวนวรรณกรรมที่พูดถึงชีวิตที่แก้ผ้าล่อนจ้อนและการถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่านั้น

คำว่า “ข่มขืน” (Rape) หมายถึง ความพยายามที่จะบังคับจิตใจด้วยความรุนแรง เลื่อนไหลมาจากคำว่าRapere (V.) ในภาษาลาติน  น่าสนใจ คือ คำกริยาอย่าง Rapio ยังแปลว่า การไขว่คว้าหาโอกาสอีกด้วย นั่นแปลว่า แง่หนึ่งการข่มขืนเป็นการแสวงหาโอกาส และฉกฉวยเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ฉกฉวยได้ ซึ่งพฤติกรรมการข่มขืนเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในทุกยุคทุกสมัย จะสังเกตว่า การข่มขืนหลายครั้งลงเอยด้วยการฆ่า และถึงไม่ฆ่าก็ส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้ถูกกระทำอย่างหนักหน่วง คำถาม คือ รัฐฐาธิปัตย์ทำอย่างไรกับผู้ที่ได้ลงมือข่มขืน และพวกเขามีความชอบธรรมอะไรที่จะลงมือบังคับใช้กฎที่ตราไว้? สำคัญกว่านั้น  ตกลงแล้ว “รัฐฐาธิปัตย์ธำรงความยุติธรรม” หรือ “รัฐฐาธิปัตย์กำลังเลียนแบบความยุติธรรม” กันแน่?  ต่อยอดไปได้อีกว่า การตัดสินใจฆ่าผู้ที่ได้ลงมือข่มขืนเป็นการตัดสินใจทางจริยศาสตร์ที่เหมาะสมหรือไม่? แล้วถ้าเป็นการข่มขืนที่ไม่ได้ฆ่า โทษต้องเป็นการประหารชีวิตหรือไม่? สิ่งนี้อาจให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบคิดของผู้คนในสังคมภายใต้รัฐได้ เพราะถ้าเราอยู่ในสังคมที่สนับสนุนให้มีการฆ่าล่ะ?  ถ้าสักวันเราต้องถูกฆ่าล่ะ?

ต่อยอดจากแนวคิดของ Butler เรื่องความไม่รู้สึกรู้สาต่อความตายและความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ (the insensitivity to human suffering and death) ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของมนุษย์ที่สนับสนุนความรุนแรง [1]  จะเห็นว่า อารมณ์โรแมนติกชั่วขณะหนึ่งที่แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อชีวิตที่ไม่สมควรตาย ไม่ได้หมายความว่า การสนับสนุนความรุนแรงของคุณในอดีตจะถูกลดทอนลงไป ถึงอย่างไรคุณก็ยังมีคนที่คุณอยากจะฆ่าให้ตาย และคุณต้องใช้อำนาจเท่าที่มีประหารเขาเสียในนามแห่งความชอบธรรม แบบนี้กลายเป็นว่า มีบางคนสมควรตาย และมีบางคนสมควรอยู่ อะไรเป็นเกณฑ์ที่แม่นตรงเชื่อถือพอที่จะแยกแยะคนสองกลุ่มนี้ออกจากกัน ซึ่งในความพยายามที่จะให้คนเหล่านั้นตายด้วยกรรมวิธีซับซ้อน มีอะไรที่แตกต่างจากการข่มขืนหรือไม่?

ในกรอบของ “การเป็นสิ่งมีชีวิตภายใต้การพัฒนาของรัฐ” เริ่มจากอริสโตเติลมาโดยลำดับ ถึงจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ Hobbes  ได้เสนอว่า มนุษย์โดยธรรมชาติควรมีองค์อธิปัตย์ (Sovereign) เข้าปกครองเพื่อควบคุมความป่าเถื่อนอนารยะของสัญชาตญาณดิบ และด้วยการมีองค์อธิปัตย์นี้ “ชีวิต” จะได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยจากภยันตราย ดูเหมือน Hobbes คงไม่รู้จักนิทานเรื่อง “เวตาลปัญจวิงศติ” (Vetal Panchavimshati) ซึ่งตอนหนึ่งพูดถึงองค์อธิปัตย์ว่า “ถ้าแม้นใครประมาทอาจตายเอย” [2]  และ Hobbes คงลืมนึกถึงการข่มขืนที่บรรดาเจ้าอาณานิคมได้กระทำต่อคนพื้นถิ่น แต่ Agamben ดูจะเห็นด้วยกับเวตาล เขาเห็นว่า ชีวิตมนุษย์ซึ่งถูกรู้จักและนิยามโดยรัฐ ย่อมเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะถูกทำลายโดยรัฐได้ทุกเมื่อ คำใหญ่คำหนึ่งที่ Agamben ใช้ คือ “ชีวิตที่แก้ผ้าล่อนจ้อน” (Naked life) นั่นคือ ชีวิต (Bios) ที่ถูกรัฐใช้อำนาจปลดเปลื้องให้เปลือยเปล่าสำหรับฆ่า[3] ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนธรรมชาติของความเป็นคน (Denaturalize) หรือการลดทอนความเป็นสมาชิกในรัฐ (Denationize) นั่นคือแนวคิดทำนองเดียวกับการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป เพราะ รัฐกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นและชี้ขาดว่าใครควรเป็นหรือตาย การครอบงำลักษณะนี้ ถูกพิสูจน์และแสดงให้เห็นโดยนักคิดหลายคน เช่น Foucault ที่เสนอว่า รัฐเข้าแทรกแซงเราอย่างลึกซึ้งลงไปถึงระดับเพศสัมพันธ์ เพศสภาวะ และเพศวิถี เรียกว่า ในระดับที่กายภาพเปลือยเปล่าหน้ากระจกกันเลยทีเดียว [4]

ในบรรยากาศที่เราถูกฉีกทึ้งเสื้อผ้าจนล่อนจ้อนต่อหน้าอำนาจแห่งรัฐฐาธิปัตย์ เราแตกต่างอะไรจากชนเผ่าพื้นถิ่นที่กำลังเผชิญหน้ากับนักล่าอาณานิคมตรงไหน? สำนวนพื้นถิ่นที่ว่า “ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า” อาจแผลงเป็น “ข่มขืนโคเขาให้กินหญ้า” ได้ด้วยโดยรัฐฐาธิปัตย์เป็นผู้ข่มขืน และคงไม่คาดคิดกันว่า “การข่มขืนเชิงนามธรรมแบบนายกับทาส” ทิ้งร่องรอยทางจิตวิทยาเอาไว้อย่างมีนัยสำคัญ และจะแตกต่างอะไรจากความผิดปรกติทางจิตของทหารหลายคนที่เคยลิ้มรสเนื้อมนุษย์ในสงครามใหญ่ครั้งต่างๆล่ะ? สิ่งนี้เองเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของความรุนแรงที่เข้ากระทบกระแทกจิตใจของมนุษย์ ผ่านกระบวนการหล่อหลอมที่อนุญาตโดยรัฐ ครั้นมีการละเมิดข้อตกลงที่กำหนดโดยรัฐ “การลงโทษ” จึงถือกำเนิดขึ้น และคำว่า “ความยุติธรรม” ก็ทยอยตามมาในรูปลักษณ์แห่งการรับใช้รัฐ โดยวิธีผลิตซ้ำ และโฆษณาชวนเชื่อ นั่นจึงทำให้เกิดคำถามขึ้นในหมู่นักคิดว่า รัฐกำหนดความยุติธรรม? แล้วอะไรคือความยุติธรรม?

Kant ผู้มองกฎของรัฐในฐานะข้อตกลงทางศีลธรรม (Moral convention) เห็นว่า การลงโทษจะทำให้เกิดตัวบทกฎหมาย ดังนั้น จากกรอบคิดแบบนี้เน้นที่การมีอยู่ของโครงสร้าง และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่สิ่งที่น่าถาม คือ การลงโทษที่ฟังแล้วดูดีดังกล่าวต้องไม่แฝงนัยแห่งการแก้แค้นใช่หรือไม่? คำตอบคือ ใช่ เพราะเราจะไม่กล่าวว่านี่เป็นการแก้แค้นที่รัฐตอบโต้บรรดาผู้ที่บังอาจต่อต้านอำนาจรัฐ แต่อย่าได้ลืมว่า การลงโทษเป็นสิ่งที่กระทำลงบนชีวิตที่แก้ผ้าล่อนจ้อน  หากไม่ยอมรับก็จะถูกยัดเยียดด้วยลึงค์ที่ชื่อ Phallocentrism ข่มขืนให้รับได้ด้วยอำนาจที่พยายามฉกฉวยโอกาส (Rapio) ดังนั้น เราทำอะไรได้บ้างกับบทลงโทษที่อาจไม่ชอบด้วยเหตุผลเหล่านี้ คำตอบคือ แทบไม่อาจทำได้ ดังนั้น การลงโทษ แม้กระทั่งในศตวรรษที่ 21 จึงไม่หลุดพ้นจากการสวนโต้แก้แค้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ลงโทษ=แก้แค้น

ถ้าชีวิตที่ล่อนจ้อนต่อหน้ารัฐฐาธิปัตย์ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมากพอ ย่อมเกิดการเรียนรู้จนนำไปสู่ความกลัวและที่สุดอาจกลายเป็นการเพิกเฉยที่จะต่อสู้ นั่นเป็นสาเหตุทางจิตวิทยาที่ผู้ถูกข่มขืนมักยอมให้การข่มขืนเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง จนที่สุดเป็นการข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อตอกย้ำความมีอำนาจเหนือของผู้ข่มขืน และเมื่อใดก็ตามที่ผู้ถูกข่มขืนแสดงกิริยาขัดขืนหรือพยายามต่อต้านแล้ว จุดจบของบทสนทนาที่รุนแรงนี้อาจเป็นการประหารชีวิตหรือการทำให้ทนทุกข์ทรมาน นั่นหมายถึง พฤติกรรมที่ต่อต้านการครอบงำต้องถูกกำจัดออกไปให้หมด จึงไม่แปลกที่จะมีการข่มขืนฆ่า

จากมุมมองนี้รัฐในฐานะสิ่งที่มนุษย์อุปโลกน์ ประกอบสร้าง และเฝ้าจินตนาการถึงยูโทเปีย ดูจะเป็นชายชราผู้มีความเจ็บป่วยทางจิตใจ (เรามีรัฐฐาธิปัตย์และพัฒนาการในประวัติศาสตร์มายาวนานและหลากหลายรูปแบบ) ซึ่งจิตใจที่เจ็บป่วยอาจขาดศักยภาพในการสำนึก คือไม่มีมโนธรรม เช่นนั้น การทำอะไรผิดที่ผิดเวลาอาจเกิดขึ้นได้เสมอ และเป็นอะไรที่คาดคิดไม่ถึง เป็นต้น  การย้อนไปสู่วิถีแห่งการรวบอำนาจ แทนที่จะกระจายอำนาจ ลักษณาการแบบนี้ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ข้ารับใช้ที่แอบอ้างว่าจงรักภักดีต่อรัฐ (Loyalty) เพราะคนเหล่านี้มักฉกฉวยโอกาสจากความเจ็บป่วยนี่เอง ยุยง เสี้ยมให้แตกแยก และสนับสนุนให้กระทำรุนแรงต่อชีวิตที่ล่อนจ้อนเหล่านั้น  โดยหวังเพียงจะยกระดับฐานะของตนให้สูงขึ้น หรือผลประโยชน์มหาศาลด้านเศรษฐกิจในกระเป๋าสตางค์  นั่นเป็นวิธีที่ชนชั้นกลางใช้และได้กลายเป็นพ่อค้าที่อยู่ท่ามกลางวังวนเหล่านั้น ซึ่งปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ ประเทศไทยรับเอาวัฒนธรรมนี้มาจากเจ้าอาณานิคม ต่อเนื่องมาจนถึง สหรัฐอเมริกา ผู้ชัดเจนเรื่องความพยายามจะเป็นเจ้าโลกจอมยัดเยียด

ถ้าคิดจะครอบครองร่างกายของอีกฝ่ายแล้ว  ไม่ว่าใครก็ต้องการร่างกายที่ว่านอนสอนง่าย (Docile body) ซึ่งกระบวนการทำให้ยอมในศตวรรษที่ 21 มีความซับซ้อน หลากหลาย และมีความเฉพาะกรณีสูง (Case by Case) เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนามาอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ยุคกลาง ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดระเบียบ, การอ้างคัมภีร์, การโน้มน้าวกล่าวคือ รัฐหรืออำนาจมีกลวิธีที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้นที่จะเปลี่ยนแปลงความดิบเถื่อนของมนุษย์ให้กลายเป็นร่างกายที่ว่านอนสอนง่าย ซึ่งวิธีข่มขืนแบบจับกด ฉุดกระชากฉีกเสื้อผ้าให้ล่อนจ้อน ถูกพัฒนาไปเรียบร้อยแล้ว น่าสังเกตว่า รัฐเล่นบทบาทไม่สนใจต่อมิติทางจิตวิทยา (หรือแง่หนึ่ง คือมี Hidden Agenda ทางจิตวิทยา) แต่ทว่า กระบวนการยัดเยียดลึงค์ (Phallus) สำเร็จไปแล้วเรียบร้อย (Fin-ish) ทั้งๆ ที่อีกฝ่ายอาจไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังถูกข่มขืน และยิ่งนานวันยิ่งแนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นแบบนี้เป็นธรรมดามากที่จะกลบเกลื่อนการข่มขืนที่เป็นการสำเร็จความใคร่ไปแล้วในระดับหนึ่งของตน ด้วยการแสร้งเป็นผู้ศิวิไลซ์ (Civilize) ด้วยการต่อต้านลักษณาการแห่งการข่มขืนในทุกกรณี อย่างไรก็ตาม หลักฐานการข่มขืนก็ยังปรากฏอยู่ ผ่านการมีอยู่จริงของผู้ถูกกระทำนั่นเอง ก็ในเมื่อเป็นการกดบังคับผู้ไม่สมัครใจ

หากเราเพ่งพินิจการข่มขืนทางร่างกาย จะเห็นว่าเราอาจกระทำไปเพื่อกลบเกลื่อนบาดแผลทางจิตใจที่ถูกรัฐข่มขืนไปเรียบร้อยก่อนหน้านี้ หลักฐานคือความขมขื่น สภาพที่ชีวิตที่ถูกบังคับ โลกที่เรากลายเป็นเพียงวัตถุ เพราะจริงๆแล้ว ในทุกๆวัน และในทุกๆ ที่ การข่มขืนร่างกายมีปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ทั้งที่เก็บสถิติได้จากโรงพยาบาลและสถานีตำรวจ และที่นอกเหนือไปกว่านั้นในความเงียบของ Subaltern ซึ่งน่าจะมีมากกว่าอื่นใดหมด กระนั้นดี เราไม่ได้ใส่ใจมันมากนัก จนกระทั่งสื่อได้นำเสนอ (ทั้งที่จริงสื่อก็นำเสนอข่าวการฆ่าข่มขืนหรือการข่มขืนมายาวนานมากแล้ว แทบจะเคียงข้างไปกับประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ของแต่ละประเทศด้วยซ้ำ) แต่การที่เราไม่ได้ใส่ใจมันมากพอนี้เอง ทำให้เราต้องแสดงอากัปกิริยาเห็นอกเห็นใจ ก็อย่างที่ Butler ว่า การมีอยู่ (There exist) ของการข่มขืน นั่นคือเครื่องหมายของการเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ไปก่อนหน้า เพราะถ้าไม่เพิกเฉยย่อมมีการต่อสู้ และเมื่อมีการต่อสู้ย่อมปรากฏให้เห็นฉากของมวลมหาประชาชนที่เข้าต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้การข่มขืนและใช้กำลังขู่บังคับเพื่อสำเร็จความใคร่หมดไปจากรัฐ หรือเป็นไปได้ที่หลายคนกำลังร้อนตัวต่อหลักฐานแห่งการเพิกเฉยจนเหตุการณ์เลยเถิดขึ้นมาถึงขนาดนั้น ซึ่งการฆ่าดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายและกระชับ ตลกร้ายที่มนุษย์พยายามโหยหาวิธีจบปัญหาแบบโบราณ ด้วยความหวังว่ามันจะแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้?

รัฐฐาธิปัตย์นิยมแก้ปัญหาในลักษณะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ด้วยการ “ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า” และมิใช่เพื่อแก้ปัญหาแต่อย่างใด แต่เพื่อแสดงให้เห็นความมีอำนาจของรัฐฐาธิปัตย์เอง ดังนั้น เมื่อไม่ได้แก้จึงเป็นธรรมดาที่ปัญหาจะคงอยู่ บ่อยครั้ง รัฐฐาธิปัตย์เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะการข่มขืนมักควบคู่กับสภาพรัฐเผด็จการ ต่อให้ความเผด็จการนี้เป็นการสถาปนาธรรมรัฐอย่างในยุคกลางก็ตาม การข่มขืนในลักษณาการต่างๆ ก็ยังปรากฏโดดเด่นโดยท้าทาย เพราะการข่มขืนเป็นเรื่องเดียวกับการใช้กำลังบังคับด้วยความรุนแรง ที่สำคัญเป็นเรื่องของการฉกฉวยแสวงหาโอกาส และเมื่อโลกรู้จักกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural violence) นั่นคือ โลกเริ่มสงสัยสภาวะทางนามธรรมของตนเอง เราจึงเริ่มตื่นขึ้นมาในสภาพที่ล่อนจ้อน (Naked life) และเห็นได้ชัดว่าเราถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความรุนแรงเชิงนามธรรม แต่อำนาจได้ไว้ชีวิตเรา มากไปกว่านั้น เราขอบคุณอำนาจที่ไว้ชีวิตเราด้วย เนื่องจาก เราสยบยอมและพร้อมให้กระทำ แม้จะขัดขืนบ้างพอเป็นพิธี จึงเป็นเรื่องก้ำกึ่งว่าตกลงเราสมยอมหรือไม่ ที่แน่ๆ เป็นคำถามที่จะมีคำตอบแน่นอนว่า เอาเข้าจริงๆแล้วเราสมัครใจหรือไม่? เพราะเหตุใด? เราอาจไม่สมัครใจแต่อาจถูกทำให้เคลิบเคลิ้มก็เป็นได้

จึงกล่าวว่า “การข่มขืน” ถูกเลียนแบบจาก “การกดบังคับ” คือ กระบวนหล่อหลอมให้รู้สึกชอบธรรม ด้วยวิธีการต่างๆ กล่าวคือ สามารถบังคับจิตใจของอีกฝ่ายได้อย่างไรภายใต้การฉกฉวยโอกาสอย่างฉ้อฉล และนั่นหมายถึง ผู้ที่จะข่มขืนคนอื่น หากไม่ผิดปรกติทางจิตจนเกิดอาการผิดหลง (Delusion disorder) เขาเองก็น่าจะเคยเป็นเหยื่อของการถูกบังคับจิตใจมาก่อนในลักษณะอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวกับประเด็นทางเพศ และความที่เคยมีผู้ที่บังคับจิตใจของเขาได้สำเร็จ อาจทำให้เขาเรียนรู้ว่า เพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ท้ายที่สุดต้องจบลงด้วยความรุนแรง (อย่างที่ตนเองเคยประสบ) ดังนั้นไม่แปลกที่จะเกิดการเลียนแบบ เพราะการหล่อหลอมด้วยความคิดแบบชายเป็นใหญ่เป็นเช่นนั้น (Patriarchy) และด้วยวัฒนธรรมทหารนิยมเป็นเช่นนั้น (Militarism) “ใหญ่กว่าข่มขืนได้ ก็เป็นแค่ทาสในเรือนเบี้ย เป็นลูกไก่ในกำมือ หากสั่งให้สำเร็จความใคร่ให้ก็ต้องทำ” มิใช่ด้วยการสนทนา (Dialogue) แต่ด้วยคำสั่ง (Command) และในกรณีที่เธอขัดคำสั่ง เธอต้องทนทุกข์ทรมาน หรือไม่ก็ต้องตาย เพื่อยืนยันว่า ฉันมีอำนาจเหนือเธอจริงๆ และการตายของเธอก็เพื่อปกปิดความอ่อนแอที่ฉันฉกฉวยทุกอย่างให้มาบำเรอด้วยการกดบังคับ เพราะไม่เคยมีใครสมัครใจ หรือรักฉันจริง แต่ฉันก็พอใจที่จะได้มาซึ่งการครอบครอง ทั้งที่ไม่สมัครใจก็ตาม น่าสังเกตว่าเป็นท้องเรื่องคุ้นๆ ของละครฉากหนึ่งในรัฐ

ก็ในเมื่อ “ความตาย” เป็นสิ่งที่มีอยู่เพื่อแสดงอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายของรัฐ “การข่มขืน”จะยังปรากฏอยู่เคียงข้างในฐานะอากัปกิริยาที่กดบังคับให้ใครเป็นหรือตายได้ และที่กล่าวมาทั้งหมด มันอาจซับซ้อนเกินไปก็ได้สำหรับ สังคมที่ยังไม่รู้จักความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural violence) ดังนั้น การข่มขืนในบางรัฐที่สนับสนุนการประหาร หากย้อนไปใช้กฎหมายของโมเสส หรือของพระเจ้าฮัมมูราบี หรือวิธีเอาหินเขวี้ยงให้ตาย ก็น่าจะเป็นอะไรที่ถูกอกถูกใจบรรดาชีวิตที่แก้ผ้าล่อนจ้อนซึ่งอวัยวะเพศเต็มไปด้วยร่องรอยแห่งการข่มขืนด้วยอำนาจมากกว่า และ ไม่ใช่เรื่องตลก เพราะดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น ข่มขืน=ประหาร, ลงโทษ=แก้แค้น นั่นแหละ “สาแก่ใจบ่าวเสียเหลือเกิน”

 

อ้างอิง

[1] ศึกษาวิธีการใช้ภาษาของ Judith Butler ใน Prevarious Life: The Power of Mourning and Violence (New York: Verso, 2004) คำถามในท้ายบทที่ 5  http://programaddssrr.files.wordpress.com/2013/05/butler-judith-precarious-life.pdf

[2] พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.). (2543). นิทานเวตาล. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม. (ดูเรื่องที่ 6) http://olddreamz.com/bookshelf/vetal/vetala.html

[3] Giorgio Agamben. Sovereign Power and Bare Life (New York: Standford University Press: 1988)

[4] Michel Foucault. The History of sexuality Vol 1 : An introduction trans. Robert Hurly (New York: Penguin Books: 1997)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net