กระบวนการสันติภาพปาตานีได้รับไฟเขียวแล้วหรือ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผ่านไปแล้วกว่าหนึ่งเดือนที่คณะทหารก่อการยึดอำนาจในประเทศไทยในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ซึ่งนำโดยผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ซึ่งได้รับหน้าที่เป็นเลขาธิการของ คสช. ก็ได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานีในที่สุด

ในการแถลงครั้งดังกล่าวทางคณะรัฐประหารได้เห็นพ้องที่จะสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับฝ่ายขบวนการนักต่อสู้ปาตานีที่มีขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นแกนหลักอีกครั้ง หลังจากที่หยุดชะงักมาเป็นระยะเวลายาวนานจากสถานการณ์การเมืองไทยที่ไม่มีเสถียรภาพ พวกเขายังยืนยันว่าบทบาทของประเทศมาเลเซียในฐานะเป็นฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกนั้นยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็น

สำหรับผุ้คนที่ติดตามความเคลื่อนไหวในปาตานีอย่างใกล้ชิดรวมไปถึงประชาชนทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ ปฏิกริยาล่าสุดนั้นแตกต่างหลากหลายกันไปอย่างมาก บางส่วนอาจรู้สึกโล่งใจขึ้นมาเมื่อกระบวนการสันติภาพที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้จะเริ่มใหม่อีกครั้ง ถึงแม้นว่าจะยังไม่รู้ว่าจะบรรลุผลเมื่อไหร่อย่างไรคนอีกบางส่วนก็อาจเกิดความกังวลใจว่า ทหารจะสามารถสวมบทบาทนำในคณะเจรจาได้หรือไม่ในเมื่อที่ผ่านมานั้น พวกเขาเองก็ไม่ค่อยจะ “เห็นด้วย” เท่าไหร่กับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ริเริ่มโดยรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือที่ว่าทหารจะไม่ประนีประนอมต่อประเด็นการปกครองตนเองหรือออโตนอมิที่ทางฝ่ายขบวนการได้หยิบยกขึ้นมาหารือเมื่อปีที่แล้ว หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าหากว่าทางทหารยังคงมีท่าทีแข็งกร้าว แน่นอนกระบวนการสันติภาพคงจะต้องพบกับทางตันอีกครั้งเป็นแน่

หากเราย้อนไปดูกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เริ่มเมื่อวันที่28 กุมภาพันธ์ 2013ปีที่ผ่านมานั้น
ทุกคนต่างทราบกันดีว่าการพบปะอย่างเป็นทางการระหว่างคณะผู้แทนฝ่ายไทยและฝ่ายขบวนการต่อสู้(BRN)ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2013 ประเด็นสำคัญที่ทางฝ่ายไทยได้หยิบยกขึ้นมาหารือในเวลานั้นคือ การยื่นข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การลดการปฏิบัติการทางทหารจากทั้งสองฝ่ายในช่วงเดือนรอมฏอนเมื่อปีที่แล้วถึงแม้ว่าทางฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวด้วยการเตรียมที่จะยุติปฏิบัติการทั้งหมดเป็นเวลา 40 วัน พร้อมด้วยเพิ่มเติมเงื่อนไขบางประการ ซึ่งเราทุกคนพอจะทราบกันดีแล้วว่าผลสุดท้ายเป็นอย่างไร

ความล้มเหลวของการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฏอนนั้นได้นำมาสู่การแถลงของฝ่ายกองกำลังบีอาร์เอ็น (AngkatanBersenjata BRN) ว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะไม่มีการดำเนินการอีกต่อไป ตราบใดที่ฝ่ายไทยไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนต่อข้อเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ประการดังกล่าวและจนกว่าจะได้รับการรับรองจากรัฐสภาไทย เพื่อให้กระบวนการสันติภาพนั้นกลายเป็นวาระแห่งชาติ ฝ่ายบีอาร์เอ็นยังได้เน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งด้วยการออกมาแถลงของอุสตาซฮาซัน ตอยิบ ด้วยการบันทึกวิดีโอผ่านทางยูทูป เมื่อวันที่1 ธันวาคม 2013ที่ตอกย้ำในเรื่องเดียวกัน พร้อมกับประกาศถึงสถานะของตัวเองในฐานะอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุย ในขณะเดียวกันวิกฤติการเมืองภายในของไทยนับวันยิ่งมีความร้อนแรงขึ้นทุกขณะ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในขณะนั้นได้ประกาศออกมาว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะต้องยุติไปก่อน จนกว่าสถานการณ์การเมืองของไทยจะมีเสถียรภาพอีกครั้ง

มีคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่มีความคิดในแง่ร้ายและในเชิงลบ ที่ด่วนสรุปว่ากระบวนพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้นได้ถูกฝังดินไปแล้ว การออกมาประกาศของพล.ท.ภราดรดังกล่าว ประกอบกับการยุติบทบาทในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายบีอาร์เอ็นของอุสตาซฮาซัน ตอยิบ ทั้งหมดนี้ล้วนถูกตีความสัญญาณจากทั้งสองฝ่ายแล้วว่าพวกเขาค้นพบเหตุผลที่ดีสำหรับการถอนตัวออกจากโต๊ะเจรจา

ความจริงแล้ว ทัศนะดังกล่าวค่อนข้างที่จะห่างไกลจากความเป็นจริงไปมาก ควรเข้าใจด้วยว่ากระบวนการสันติภาพ ที่ยังสดใหม่และอายุยังน้อยเพียงขวบปีเศษนั้น เป็นการทำงานร่วมของทั้งสามฝ่ายหลักด้วยกันคือ: คณะฝ่ายไทย คณะฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น และฝ่ายมาเลเซียในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกจนกระทั่งถึงวันนี้ยังไม่มีฝ่ายใดประกาศถอนตัวอย่างเป็นทางการ สำหรับฝ่ายไทยนั้น ถึงแม้จะมีการก่อรัฐประหารโดยกองทัพ และสามบุคคลสำคัญในคณะพูดคุยได้ถูกโยกย้ายพ้นตำแหน่งหน้าที่ของตนไป (นั่นคือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก) แต่กระนั้น ก็ยังไม่ได้ถือว่าคณะพูดคุยสันติภาพนั้นถูกยุบเลิกไปแต่อย่างใด  ขณะนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่า คสช.กำลังทำการสับเปลี่ยนโครงสร้างและองค์ประกอบใหม่ของคณะพูดคุยฝ่ายไทย ภายหลังจากที่พวกเขาได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อการพูดคุยต่อไป

ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็นสถานะของอุสตาซฮัสซัน ตอยิบ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นหัวหน้าของคณะพูดคุยอีกต่อไป แต่ท่านยังคงอยู่ในคณะการพูดคุยของบีอาร์เอ็นเช่นเดียวกับสมาชิกของบีอาร์เอ็นคนอื่นๆ รวมไปถึงตัวแทนจากกลุ่มพูโลและกลุ่มบีไอพีพีการพบปะและการพูดคุยกันระหว่างภายในและกับกลุ่มอื่นๆ นั้นยังคงดำเนินอยู่ ไม่ได้หยุดชะงักลงแต่อย่างใด ยกเว้นการพบปะอย่างเป็นทางการบนโต๊ะพูดคุยกับฝ่ายไทยที่ไม่สามารถดำเนินการได้ และการสื่อสารระหว่างกันของทั้งสองฝ่ายจะส่งผ่านทางผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้นอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการนี้จะสามารถขับเคลื่อนไปได้อีกครั้ง ภายหลังจากที่บางเงื่อนไขที่ได้ยื่นไปก่อนหน้านี้จะถูกสนองตอบ คงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะผู้แทนฝ่ายนักต่อสู้เองเช่นกัน ด้วยการแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่หรืออาจแต่งตั้งฮัสซันตอยิบกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมอีกครั้งก็เป็นได้

เช่นเดียวกับทางฝ่ายมาเลเซีย สถานะของดาโต๊ะศรีอะฮ์หมัด ซัมซามิน ในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวก ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียท่านนาจิบ ตนราซัค เป็นการเฉพาะ เพียงแต่รอคำตอบที่เป็นทางการจากฝ่ายไทยเท่านั้นก่อนที่ทางฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกจะจัดวางจังหวะก้าวต่อไป

ยังมีข้อกังวลอยู่เล็กน้อยจากผู้คนบางส่วนเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของคณะทหารไทยที่มีอำนาจเต็มอยู่ในขณะนี้เพราะเป็นการครองอำนาจที่ได้มาจากวิธีการก่อรัฐประหาร หาได้มาจากวิธีการของระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า หากมีการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐบาลเมื่อต้องเข้าสู่การเจรจาและการจัดทำข้อตกลงสันติภาพ?จากมุมมองของเรา หากว่าฝ่ายทหารกุมอำนาจในระยะเวลาที่จำกัดและมีการจัดการถ่ายโอนอำนาจใหม่ไปทีละขั้นตอนและส่งคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการลงมติโดยรัฐสภาหลังการเลือกตั้งที่โปร่งใสในเวลาที่เหมาะสมปัญหาความชอบธรรมดังกล่าวของคณะทหารจึงไม่ใช่ประเด็น เป็นที่เข้าใจกันว่ากองทัพเองจะพยายามจัดการเลือกตั้งหลังจากนี้อีกราวหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่งต่อจากนี้ เราจะเฝ้ารอและติดตามดู

สำหรับฝ่ายนักต่อสู้ปาตานีแล้ว จุดยืนของเรานั้นชัดเจน เราพร้อมที่จะเข้าร่วมในกระบวนสันติภาพเมื่อมีการสานต่ออีกครั้งอย่างแน่นอนเราจะไม่ถอนตัวออกจากกระบวนการสันติภาพเป็นแน่เราขอกล่าวย้ำถึงพันธกิจของเราอีกครั้งในกระบวนการแสวงหาทางออกที่ยุติธรรม ครอบคลุมรอบด้าน และยั่งยืน ให้กับความขัดแย้งที่ปาตานีซึ่งต้องหาหนทางของการพูดคุยสนทนา ถึงแม้ว่าในเส้นทางของการแสวงหาสันติภาพที่แท้จริงนั้นบางครั้งก็จำเป็นต้องเสียสละชีวิตเลือดเนื้อและทรัพย์สินก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วการคลี่คลายปัญหานั้นจะต้องลงเอยบนโต๊ะเจรจาอยู่ดี

สันติภาพเป็นความปรารถนาและความต้องการของชาวปาตานีทั่วทั้งมวล และบนบ่าของเราเต็มไปด้วยภาระอันหนักอึ้งเหล่านั้น ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากประชาชนทุกระดับชั้นที่มีต่อบรรดานักต่อสู้คือสิ่งที่คาดหวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากแรงหนุนเสริมจากบรรดานักเคลื่อนไหว กลุ่มองค์กรเอกชน/องค์กรภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางสังคมนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะช่วยทำให้ความปรารถนาของเราเป็นจริงด้วยการสถาปนาสันติภาพที่ถาวรในดินแดนปาตานีดารุสซาลามแห่งนี้

 

อาบูฮาฟิซ อัล-ฮากีม
น้ำส้มสายชูและน้ำผึ้ง – จากนอกรั้วปาตานี.
 

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้แปลมาจากบทความเดิมในภาษามลายูชื่อ “PROSES DAMAI PATANI MENDAPAT LAMPU HIJAU ?” ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกของ Abu Hafez Al-Hakimเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม2557

เผยแพร่ครั้งแรกใน: http://www.deepsouthwatch.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท