Skip to main content
sharethis

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวทั้งบีบีซีและเดอะการ์เดียนถูกนำลิงก์บทความออกจากเว็บไซต์กูเกิล หลังมีผู้ร้องเรียนให้นำออกโดยอ้าง "สิทธิในการถูกลืม" ที่มาจากคำสั่งศาลยุโรป แต่ต่อมาก็มีการนำลิงก์กลับคืน ในขณะที่โฆษกรองประธานคณะกรรมการยุโรปติงกูเกิลว่าอย่าให้คนอ้างสิทธินี้ในการ "ตัดต่อข้อมูลชีวิตของตัวเองได้แบบโฟโต้ช็อป"


6 ก.ค. 2557 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่ากูเกิลบริษัทเว็บไซต์ค้นหาชื่อดังได้ทำให้ลิงก์ที่เคยถูกนำออกไปกลับมาอีกครั้ง หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จากการที่กูเกิลนำลิงก์หรือการเชื่อมโยงสู่เว็บไซต์บางแห่งออกตามคำสั่งศาลที่อ้างเรื่อง "สิทธิในการถูกลืม"

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว กูเกิลได้นำลิงก์บางส่วนที่นำไปสู่เว็บไซต์เดอะการ์เดียน ออก แต่ในตอนนี้ได้นำกลับคืนมาแล้ว ซึ่งกูเกิลกล่าวปกป้องการกระทำของตนว่าเนื่องจากกระบวนการมี "ความยากลำบาก" และพวกเขา "กำลังเรียนรู้"

ปีเตอร์ บาร์รอน หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารของกูเกิลในยุโรปกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อรายการเรดิโอ4 ของบีบีซีว่าพวกเขาไม่ได้จงใจปล่อยผ่านคำร้องขอให้นำลิงก์ออกทุกคำร้องเพื่อเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินศาลยุโรป แต่พวกเขาพยายามจัดการในเรื่องนี้ด้วยควาามรับผิดชอบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

"คำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) ไม่ใช่สิ่งที่พวกเรายินดีหรือต้องการ แต่ในเมื่อมันกลายเป็นกฎหมายในยุโรปแล้วพวกเราก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม" บาร์รอนกล่าว

บาร์รอนบอกอีกว่า ทางกูเกิลต้องพยายามสร้างสมดุลในด้านความโปร่งใสเพื่อปกป้องตัวตนของผู้คน และจะมีการนำลิงก์ออกจากเว็บค้นหา หากข้อมูลเหล่านั้น "ล้าสมัย, ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเคยมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ในอดีต"

นอกจากกรณีของเดอะการ์เดียน แล้ว โรเบิร์ต เพสตัน บรรณาธิการฝ่ายเศรษฐกิจของบีบีซีก็ถูกนำลิงก์บทความในปี 2550 ออกจากกูเกิล ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยื่นคำร้องให้นำออก แต่กูเกิลบอกว่าสิ่งที่ผู้ยื่นคำร้องต้องการให้นำออกไม่ใช่เนื้อหาตัวบทความเอง แต่เป็นข้อความแสดงความคิดเห็นที่อยู่ใต้บทความนั้น

ทั้งนี้ยังมีบทความอีก 7 หน้าที่ถูกนำลิงก์ออกจากกูเกิล ขณะที่เดอะการ์เดียนถูกนำลิงก์ออกไป 6 บทความก่อนหน้านี้ แต่ต่อมากูเกิลก็นำลิงก์เหล่านี้กลับคืนมาอีกครั้ง

เจมส์ บอล ผู้เขียนบทความในเดอะการ์เดียน ระบุว่าการกระทำของกูเกิลอาจเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่ง เนื่องจากโดยปกติแล้วองค์กรสื่อย่อมไม่อยากให้ข้อมูลของตัวเองถูกปิดกั้นการเข้าถึง ทำให้มีการส่งข้อความอัตโนมัติแจ้งสื่อต่างๆ ว่ามีการนำลิงก์เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของพวกเขาออกในบางบทความ แต่ไม่นานหลังจากนั้นการเชื่อมโยงก็กลับคืนมา

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมสหภาพยุโรปได้ตัดสินให้กูเกิลต้องแก้ไขข้อมูลหากมีผู้ร้องเรียนไม่พอใจการแสดงผลซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและเข้าข่ายข้อมูลล้าสมัยหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจุบันของบุคคลนั้นๆ แต่นักกิจกรรมก็เกรงว่าคำสั่งอาจนำมาใช้ลิดรอนเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลหรือการนำเสนอข้อมูลได้

ไรอัน ฮีทธ์ โฆษกของรองประธานคณะกรรมการยุโรปแสดงความคิดเห็นว่าการนำลิงก์ออกในกรณีของเพสตันไม่ใช่การตัดสินใจที่ดี ฮีทธ์กล่าวอีกว่าการตัดสินใจปฏิบัติตามคำร้องพวกนี้ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากและไม่ควรทำให้กลายเป็นการอนุญาตให้ผู้คนใช้มันเพื่อ "ตัดต่อข้อมูลชีวิตของตัวเองได้แบบโฟโต้ช็อป"


เรียบเรียงจาก

Google reinstates 'forgotten' links after pressure, BBC, 04-07-2014
http://www.bbc.com/news/technology-28157607

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net