Skip to main content
sharethis
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุกระบวนการยุติธรรมทางอาญาย่อมมีความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาด หากมีการประหารชีวิตไปแล้วไม่สามารถเรียกชีวิตกลับคืนมาได้ แม้ในภายหลังจะมีการสอบสวนว่าผู้ที่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม
 
4 ก.ค. 2557 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นข่าวชิ้นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางอยู่ในสื่อทุกแขนง นั่นคือรายงานข่าวเกี่ยวกับการที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีคำสั่งยกฟ้องนายวุฒิชัย ใจสมัคร หรือ "ปุ๊ วอร์มอัพ" จากคดีฆ่ารัดคอแฟนสาว หลังถูกจองจำนานกว่า 3 ปี ทั้งนี้เกิดจากการที่ญาติของผู้ต้องหาได้ทำการพิสูจน์จนพบหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในซอกเล็บผู้ตายและ DNA บนผ้าที่ใช้ปิดตาผู้ตาย ซึ่งไม่ตรงกับผู้ต้องหา จึงยื่นเรื่องไปที่กองปราบปราม ส่งผลให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ จากนั้นจึงได้ทำการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมและยื่นต่อศาลอีกครั้ง จนกระทั่งนำไปสู่การพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 27 มิถนายนที่ผ่านมา ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งคดีที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม 
 
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า จากคดีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมอาจมีความผิดพลาดได้ นับเป็นความโชคดีที่พ่อแม่และเพื่อนของผู้ต้องหาช่วยกันหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ แม้ว่าการพิสูจน์นี้ไม่ควรตกเป็นภาระของจำเลยและครอบครัว อย่างไรก็ตามยังคงมีอีกหลายคดีที่เกิดขึ้นในรูปแบบเดียวกันนี้ ซึ่งบางคดีมีโทษสูงถึงตัดสินประหารชีวิต
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ทำงานรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตมาเป็นระยะเวลานาน และหนึ่งในเหตุผลของการเรียกร้องนี้ นั่นคือกระบวนการยุติธรรมที่อาจเกิดความผิดพลาดได้ และนำมาซึ่งการลงโทษผู้บริสุทธิ์ และในหลายๆ กรณีของผู้ที่ได้รับโทษนี้มาจากการถูกทรมานระหว่างการสอบสวน
 
“ระบบหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาย่อมมีความเสี่ยงที่จะตัดสินผิดพลาด ไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอ โดยไม่มีข้อบกพร่อง หากมีการประหารชีวิตไปแล้วไม่สามารถเรียกชีวิตกลับคืนมาได้ แม้ในภายหลังจะมีการสอบสวนว่าผู้ที่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม” 
 
รัฐบาลต่างๆ มักเรียกร้องให้มีการใช้โทษประหารชีวิต ในกรณีที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมและความปลอดภัยสาธารณะข้อเรียกร้องนี้เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณะไปจากแนวทางแก้ปัญหาที่จำเป็นและยั่งยืน ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและสาเหตุที่รากเหง้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
“กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม รวดเร็ว และถูกต้อง ต่างหากที่ยับยั้งอาชญากรรมรุนแรง การลงโทษ ไม่ใช่การแก้แค้นหรือทดแทน แต่เพื่อการอบรม เพื่อที่จะให้บุคคลเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง เพราะพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตทางสังคมเหมือนเช่นเรา พวกเขากระทำความผิดย่อมหมายถึงบางสิ่งบางอย่างในสังคมของเราทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไป สิ่งที่เราควรกระทำไม่ใช่การ “กำจัด” พวกเขาให้ออกไปจากสังคม แต่เราควรที่จะหาต้นตอของปัญหา ค้นหาฟันเฟืองที่ทำงานผิดพลาดเพื่อหาวิธีการแก้ไข ไม่เช่นนั้นสักวันหนึ่งระบบสังคมของเราอาจล้มเหลว และเราอาจมีจุดจบไม่ต่างไปจากผู้กระทำความผิด” 
 
นอกจากนั้นยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าการใช้โทษประหารชีวิตช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ดีกว่าการลงโทษแบบอื่นๆ งานศึกษาอย่างรอบด้านขององค์การสหประชาติ เรื่อง “คำถามเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและคุณูปการใหม่ของอาชญวิทยาที่มีต่อประเด็นนี้: รายงานต่อคณะกรรมธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและยุติธรรมทางอาญา” เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารชีวิตกับอัตราการฆาตกรรมสรุปได้ว่า
 
 “งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สามารถค้นพบข้อยืนยันในทางวิทยาศาสตร์ว่า การประหารชีวิตส่งผลในเชิงป้องปรามได้ดีไปกว่าการลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และไม่น่าเชื่อว่าจะมีข้อยืนยันเหล่านั้นอยู่จริง หลักฐานที่มีอยู่ไม่มีข้อสนับสนุนในเชิงบวกต่อสมมุติฐานในแง่การป้องปรามเลย” 
 
นั่นได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งได้รับการรับรองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง
 
 “การคัดค้านโทษประหารชีวิตไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้คนผิดลอยนวล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตระหนักดีถึงความทุกข์ทรมานของเหยื่ออาชญากรรมรุนแรงและครอบครัวของพวกเขา และตระหนักดีถึงหน้าที่ของรัฐบาลในการคุ้มครองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าบุคคลที่ผ่านการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมว่ามีความผิดควรจะถูกลงโทษ แต่ต้องไม่ใชโทษประหารชีวิต ” คุณปริญญากล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net