Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในสังคมมหาวิทยาลัยของรัฐทุกวันนี้ ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานที่ดำรงสถานะหลากหลายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างประจำ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เองต่างก็ต้องการโอกาสในการเติบโตในสายงานของตน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรสายผู้สอนที่ปฏิบัติภารกิจหลักในด้านบริการการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือบุคลากรสายสนับสนุนที่ปฏิบัติภารกิจในการดำเนินการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย

การเติบโตในสายงานผ่านการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการและตำแหน่งบริหารตามสายงานของตน ย่อมนำมาสู่ความภาคภูมิใจและกำลังใจในการปฏิบัติงาน สนองตอบต่อการทำงานด้านบริการทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่การเติบโตในสายงานผ่านการก้าวสู่ตำแหน่งต่างๆ ยังนำมาซึ่งผลประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้ปฏิบัติงาน (Employee Benefits) หรือผลประโยชน์ที่หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลกิจการด้านอุดมศึกษาจัดให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่ดำรงสถานะต่างๆ นอกเหนือจากเงินเดือนหรือค่าจ้าง เพื่อสิ่งจูงใจในการปฏิบัติงานของผู้ดำรงสถานะต่างๆ เช่น เงินประจำตำแหน่งวิชาการและเงินค่าตอบแทนอื่นๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้ดำรงสถานะพนักงานมหาวิทยาลัยในหลายกรณีด้วยกัน โดยรัฐได้อาศัยการพัฒนาลักษณะของการจ้างบุคลากรภาครัฐในรูปแบบใหม่ๆ มาสร้างข้อจำกัดการให้ผลประโยชน์เกื้อกูลแก่พนักงานมหาวิทยาลัยในรูปแบบที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ข้าราชการกับพนักงานมหาวิทยาลัยสายผู้สอนมีภาระงานและมีหน้าที่เหมือนกันที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานภาระงานขั้นต่ำในฐานะอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยตามที่กฎหมายบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐได้กำหนดเอาไว้ แต่กลับได้รับการปฏิบัติในเรื่องของผลประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้ปฏิบัติงานอย่างไม่เท่าเทียม จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคลากรทั้งสองสถานะที่ต้องปฏิบัติงานอยู่ในสถาบันเดียวกันและอยู่ร่วมกันในสังคมอุดมศึกษา

ตัวอย่างที่สำคัญเรื่องหนึ่ง นั้นคือ เรื่องของอัตราเงินประจำตำแหน่งบริหารของพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบริหาร กรมบัญชีกลางในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านงบประมาณของภาครัฐ ได้ให้ความเห็นว่าพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบริหารนั้น ถือว่ามิได้มีสถานะเป็นข้าราชการตามกฎหมายบริหารงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายการคลังที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ พนักงานมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนรายเดือนเท่ากับอัตราเงินประจำตำแหน่ง เช่นเดียวกับข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารได้รับ เพราะกฎหมายบริหารงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายการคลังที่เกี่ยวข้องถือว่าการได้รับเงินประจำตำแหน่งของพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นการได้รับเงินประจำตำแหน่งจากเงินงบประมาณประเภทงบเงินอุดหนุน ซึ่งกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณกำหนดระเบียบเป็นการภายใน เพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขอตั้งงบประมาณนั้น

ด้วยเหตุนี้เอง พนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบริหารจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือน เท่ากับอัตราเงินประจำตำแหน่งของผู้ดำรงสถานะข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาดำรงตำแหน่งบริหาร ตามที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายบริหารงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายการคลังที่เกี่ยวข้อง (โปรดดูหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ 0406.4/25575 เรื่อง การเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนรายเดือนเท่ากับอัตราเงินประจำตำแหน่ง)

จากตัวอย่างนี้เองชี้ให้เห็นว่า มีความพยายามเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ดำรงสถานะต่างๆ ในสังคมมหาวิทยาลัย แต่กฎหมายบริหารงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายการคลังที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้เอื้อต่อการปฏิรูปความเท่าเทียมในด้านการบริหารงานบุคคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแต่อย่างใด เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเองก็อาจได้รับการปฏิบัติที่เหลื่อมล้ำจากภาครัฐได้ เพียงเพราะการดำรงสถานะที่แตกต่างกัน แม้นว่าภาระงานและหน้าที่ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยของพนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารจะเหมือนกันกับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหาร ในตำแหน่งเดียวกันก็ตาม

 

อ้างอิง: กฎหมายบริหารงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายการคลังที่เกี่ยวข้อง

- ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2547, http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/HR%20Pro/HR101/HR101_6.pdf

- พระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ.2538, http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/uploads/law/covil_sarary_manager_2538.pdf

 

ขอบคุณ: เพื่อนสมาชิกเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และ ผศ.ดร.ระวี พรหมหลวงศรี ที่ให้ข้อมูล

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net