พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ข้อด้อยของพลังนักเรียนนักศึกษา (ไทย)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความแตกต่างของระหว่างวัฒนธรรมและความคิดของคนอเมริกันกับคนไทยในเรื่องต่างๆ   โดยเฉพาะเรื่องแนวความคิด วิธีการปฏิบัติเชิงวัฒนธรรมโดยทั่วไป และวัฒนธรรมการทำงานในส่วนของเยาวชนคนหนุ่มสาวอเมริกันในฐานะนักเรียนนักศึกษา และผู้ทำงานใหม่ที่เพิ่งออกจากรั้วสถาบันการศึกษา มีบางประเด็น น่าสนใจดังนี้

1.วัฒนธรรมอเมริกันมุ่งหรือมีเป้าหมายไปที่การช่วยเหลือตัวเองของเยาวชนคนหนุ่มสาว พ่อแม่หรือผู้ปกครองทำหน้าที่ตามกฎหมายจนกระทั่งลูกหรือผู้ที่อยู่ภายใต้ปกครองมีตามเกณฑ์อายุ 18 ปี หลังจากนั้น เยาวชนหนุ่มสาวเหล่านี้ส่วนใหญ่จะต้องลงสนามหาประสบการณ์ในการศึกษาและการทำงานเอาเอง เพราะฉะนั้นเยาวชนอเมริกัน จะโตในทางความคิดและเข้มแข็งไวกว่าเยาวชนไทยมาก โดยเฉพาะจิตสำนึกของการช่วยเหลือตัวเอง ไม่หวังพึ่งบารมีของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง  มีส่วนน้อยมากที่อาศัยบารมีพ่อแม่ในเรื่องค่าใช้ในการเรียนในมหาวิทยาลัย

2. สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับอายุและเพศในระบบอเมริกันได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าอายุเท่าใดหรือวัยใดต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในการทำงานตามลักษณะของงาน มิใช่ว่าพอมีอายุเกิน 35 หรือ 40 ปีขึ้นไป ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่รับ ซึ่งหากผู้โดนปฏิเสธการเข้าทำงานดังกล่าวเห็นว่าไม่ยุติธรรมก็สามารถดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้รับสมัครนั้นได้ ยกเว้นงานที่ต้องใช้กำลังกายหรือทักษะพิเศษบางประเภท แต่ถ้าหากเป็นงานโดยทั่วไปแล้วผู้รับสมัครงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น รวมถึงเงื่อนไขการปล่อยกู้ของธนาคารจะเอาเกณฑ์เรื่องอายุมาใช้ไม่ได้ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนแบงก์ไทยและกฎหมายไทย รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไม่ได้แยแสต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านอายุและเพศแต่อย่างใด เพราะยังไม่เคยเห็นการรณรงค์เพื่อให้เกิดการปฏิบัติในเรื่องนี้ในประเทศไทย

3. การทำกิจกรรมเชิงส่วนรวมหรือจิตสาธารณะของนักเรียนนักศึกษาอเมริกันตั้งอยู่บนพื้นฐาน “จำเพาะสถานะของตนเอง”ในรูปแบบแคบๆ ได้แก่ การเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่ตนเองศึกษาอยู่ อันเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงกับตนเอง เช่น การไม่เห็นด้วยการออกฎระเบียบบางประการของสถาบันการศึกษา (โดยที่ต้องไม่ลืมว่าการออกกฎระเบียบของสถาบันการศึกษาอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการสร้างแรงบีบคั้นให้กับนักเรียนนักศึกษาอเมริกันมากนักอยู่แล้ว) นักศึกษาอเมริกันไม่กระทำการเรียกร้องแบบครอบจักรวาล ที่เรียกว่า จิตสาธารณะครอบจักรวาล ตามแบบอย่างวัฒนธรรม “นักเรียนนักศึกษาคือฮีโร่ของประเทศ” เหมือนประเทศไทยที่นักเรียนนักศึกษาไทยมักเรียกร้องด้านการเมืองการปกครอง สิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนในระดับชาติที่ต้องไปยุ่งเกี่ยว (deal) กับรัฐ ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าวไม่มีในวัฒนธรรมอเมริกัน เพราะถือว่าสำนึกเรื่องการเป็นผู้ใหญ่ของนักเรียนนักศึกษาที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้นยังไม่สมบูรณ์ คือ ยังเป็นผู้อยู่ใต้อาณัติของพ่อแม่ผู้ปกครองในเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษาอยู่

ตราบใดที่นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ยังอยู่ใต้อาณัติของพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ ช่วยเหลือตัวเองด้านการเงินไม่ได้ การไปช่วยเหลือผู้อื่นก็ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะหมายถึงการตกอยู่ในภาวะเตี้ยอุ้มคร่อม จนหากนักเรียนนักศึกษาช่วยเหลือตัวเองได้แล้ววุฒิภาวะแบบผู้ใหญ่จึงค่อยปรากฏ ต่างจากนักเรียนนักศึกษาไทยที่ปรากฏอาการเตี้ยอุ้มคร่อมให้เห็นเป็นวัฒนธรรม คือ อาศัยเงินพ่อแม่ไปทำกิจกรรม รณรงค์เรียกร้อง กิจกรรมจิตสาธารณะต่างๆ ตามแบบอย่าง “นักเรียนนักศึกษาคือฮีโร่ของประเทศ”

ในแง่ของการการทำกิจกรรมทางการเมือง นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้จึงตกเป็นเครื่องมือของผู้ใหญ่เสียมากกว่า เพราะความอ่อนด้อยประสบการณ์ชีวิต(จริง) ที่นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ของไทยอาศัยจากจินตนาการจากชีวิตในหนังสือ หรือในนวนิยายที่อ่าน หรือแม้กระทั่งในภาพยนตร์ดราม่าที่รับชม การหวังถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศ เช่น การเป็นประชาธิปไตย หากไม่ดราม่าจนเกินไป นักเรียนนักศึกษาย่อมต้องตระหนักจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของหลายประเทศว่า ต้องอาศัยการปลุกหรือกระแสตื่นตัวของประชาชนทั้งประเทศ  โดยเฉพาะประชาชนวัยผู้ใหญ่ที่กำลังทำงานทุกการงานอาชีพ โดยเฉพาะการงานอาชีพที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบ ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ก็คือ  ภาคเกษตรกรและภาคผู้ใช้แรงงาน ที่เรียกกันว่ารากหญ้า

4. นักเรียนนักศึกษาอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เล่นบทเป็นคุณชายหรือคุณหญิงผู้เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่อาศัยเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาไว้ข่มทับ(ทางวัฒนธรรม)บุคคลอื่นในสังคมเพื่อให้ดูว่า ความเป็นนักเรียนนักศึกษามีสถานะพิเศษเหนือกว่าและไม่เหมือนคนอื่น ข้อนี้หมายถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันด้านสถานะทางสังคม ซึ่งน่าจะต่างจากนักเรียนนักศึกษาไทยที่อาศัยสิทธิแห่งการสวมเครื่องแบบในการกระทำการที่แตกต่างจากคนทั่วไปได้ เช่น การยอมรับให้เข้าสังคมที่มีอยู่เป็นชั้นๆ ให้เข้าถึงทุนหรือรางวัลมากกว่าชาวบ้านโดยทั่วไป เป็นต้น เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้านักเรียนนักศึกษาอเมริกันกับนักเรียนนักศึกษาไทยเดินมา เราสามารถทายได้ว่าคนไหนคือ นักเรียนนักศึกษาไทย แต่เราจะไม่ทราบว่า หรือยากที่จะทราบว่าอเมริกันคนไหนอยู่ในสถานะนักเรียนนักศึกษา

5. เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาสะท้อนตัวตนและวัฒนธรรมของนักเรียนนักศึกษาไทยฉันใด วัฒนธรรมองค์กรทำงานก็ฉันนั้น ที่มุ่งไปทางเรื่องหน้าตาและวัยละอ่อนสะคราญเป็นหลัก ดังกรณีผู้ประกาศโทรทัศน์ ผู้ประกาศข่าว  พิธีกร และผู้วิเคราะห์ข่าว ที่ใช้วัฒนธรรมเดียวกันด้วยการตีไข่ใส่สีให้สตูดิโอเต็มไปด้วยสีสันฉูดฉาด มากกว่าการมุ่งเน้นภูมิปัญญาและประสบการณ์ชีวิตของคนทำงานประเภทนี้ สวนทางกับวัฒนธรรมการทำสื่อของอเมริกัน ที่เน้นคุณภาพและประสบการณ์ของคนทำงานเป็นหลัก เห็นได้จากความเก๋าและมีกึ๋นของพิธีกรข่าวหรือพิธีกรรายการต่างๆตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆในอเมริกา โดยที่พิธีกรเหล่านี้มีประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน เหล่านี้เป็นจุดแข็งสำหรับการค้าขายด้านวัฒนธรรม (cultural trading) ของอเมริกัน นำไปสู่ภาวการณ์เป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมของโลกทั้งในอดีตตลอดถึงปัจจุบัน  นอกเหนือไปจากการมุ่งอัตลักษณ์ของคนและองค์กร ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมมากมาย มากกว่าการอาศัย “วัฒนธรรมการเลียนแบบ”เหมือนที่แพร่หลายในองค์กรสื่อของไทย

6. วัฒนธรรมที่เน้นความเป็นปัจเจกของอเมริกัน หรือความเป็นอัตลักษณ์นั้น เป็นเหตุให้นักเรียนนักศึกษาอเมริกันไม่ค่อยมีวัฒนธรรมความต้องการเป็นเจ้านาย มากกว่าการบุคลคลธรรมดาผู้ได้รับสิทธิเต็มและเสมอภาคกันตามกฎหมาย  ยิ่งรูปการในปัจจุบันที่นักเรียนนักศึกษาอเมริกันจำนวนไม่น้อยต่างพยายามที่จะทำงานโครงการส่วนตัวแบบอิสระ (independent project) มากขึ้น มากกว่าการทำงานหรือมีตำแหน่งในองค์กร แม้ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงก็ตาม  วัฒนธรรมดังกล่าวนับว่าแตกต่างจากวัฒนธรรมของนักเรียนนักศึกษาไทยที่มักมุ่งมั่นต่อตำแหน่งบริหาร ประเภทนั่งเก้าอี้ เป็นนายคนที่เรียกว่า “งานสบายๆในห้องแอร์”  ขณะที่งานด้านเทคนิคหรือด้านช่างกลับถูกรังเกียจว่าเป็นงานที่ต่ำต้อย อย่างน้อยนักศึกษาด้านช่างก็ถูกมองเชิงวัฒนธรรมว่า ต่ำกว่านักศึกษาผู้ซึ่งกำลังเรียนมหาวิทยาลัย

7. นักเรียนนักศึกษาอเมริกันถูกฝึกมาในเรื่องของการพึ่งพาตนเอง อย่างเช่น การทำงานเพื่อหาเงิน ตามวัฒนธรรมที่ว่า การทำงานและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของคนเป็นเครื่องสะท้อนการบรรลุวุฒิภาวะ (เป็นผู้ใหญ่)ของคน ตราบเท่าที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานใดๆ ไม่พึงหวังว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้ใหญ่พอ ซึ่งการทำงานนั้นเองก็เชื่อมโยงกับนิยามของของนักเรียนนักศึกษาอเมริกันให้มีขอบเขตขยายกว้างมากขึ้นไปกว่าการมองแค่วัยวุฒิ หรือการเป็นเยาวชนเท่านั้น  หากแต่นักเรียนนักศึกษาอเมริกันหมายถึงคนวัยใดก็ได้ ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับใดๆก็ตาม วัฒนธรรมดังกล่าวเป็นไปในด้านตรงกันข้ามกับ “วัฒนธรรมเร่งโตเชิงปริมาณ” นักเรียนนักศึกษาอเมริกันจำนวนมากทำงานไปเรียนไป โดยเฉพาะหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลาย (high school) ซึ่งในความเป็นจริงมีนักเรียนมัธยมปลายจำนวนมากที่ทำงานพิเศษตามระบบกฎหมายการทำงานของอเมริกันผู้เยาว์ซึ่งว่าด้วยชั่วโมงการทำงานและประเภทของงาน เช่น ทำงานในร้านอาหารฟาสต์ฟู๊ด เป็นต้น  และน่าสนใจว่าผลพวงจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันทำให้นักเรียนนักศึกษาอเมริกันสามารถสร้างรายได้จากบ้านจำนวนมาก เช่น การผลิตซอฟท์แวร์ประยุกต์ประเภทใหม่ๆขึ้นมา จนมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ หรือกระทั่งธุรกิจอี-คอมเมิร์ชก็ตาม

ขณะที่ในส่วนของนักเรียนนักศึกษาไทยมีนิยามที่คับแคบเพียงเยาวชนผู้กำลังทำหน้าที่ศึกษาหรือเรียนเพียงอย่างเดียวและที่สำคัญคือ ต้องขอเงินจากพ่อแม่เพื่อการเรียนและการทำกิจกรรมทุกประเภท อย่างน้อยก็จนกว่าจะเรียนจบปริญญาตรี

ยังไม่ทราบว่าผลพวงของโลกาภิวัตน์หรือยุคสารสนเทศจะช่วยให้สังคมไทยเห็นข้อด้อยบางประการเหล่านี้ของนักเรียนนักศึกษาไทยด้วยการแปรเปลี่ยนวัฒนธรรม “นักเรียนนักศึกษาคือฮีโร่ของประเทศ” ให้เป็น “นักเรียนนักศึกษาไทย คือผู้ที่ยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้” ได้มากน้อยขนาดไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท