Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ผมไม่ทราบว่ามีคนเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ของแซนด์วิชเป็นภาษาไทยบ้างหรือยัง รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับแซนด์วิช ที่มีเรื่องน่าสนใจหลายประการ เลยอยากจะขอนำเสนอเรื่องนี้สักหน่อยในสัปดาห์นี้ครับ

คำว่า แซนด์วิช หรือที่เขียนกันแบบนิยมว่า แซนวิช นั้นมาจาก Sandwich ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมอย่างหนึ่งของโลกตะวันตก และเป็นอาหารที่เก่าแก่ และจะว่าไปแล้ว ในวันนี้แซนด์วิชก็ถูกพัฒนาขึ้นแบบแตกแขนงออกไปทั่วโลก เอาตัวอย่างใกล้บ้านเราอย่างเวียดนามและลาวเนี่ย เราก็อาจจะได้กินแซนด์วิชที่เขาทำสดๆ ให้เรากินข้างถนน โดยเอาหมูยอ กุนเชียงใส่ไปในขนมปังฝรั่งเศสที่ขายกันในราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับราคาขนมปังในประเทศเรา

ในเว็บไซต์อย่าง Wikipedia ได้อ้างอิงถึงคำนิยามจากพจนานุกรม Webster ว่า แซนด์วิชคืออาหารที่ประกอบด้วยการเอาอาหารหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นมาใส่ระหว่างขนมปัง หรือจะแปลง่ายๆ ว่าอาหารที่มีขนมปังมากกว่าหนึ่งชิ้นที่ห่อหุ้มอาหารอื่นอยู่ นอกจากนั้นแซนด์วิชยังเป็นที่รู้จักในนามของอาหารที่กินเล่นด้วยมือ (แปลแบบฝรั่งคือ finger food และ light meal)

กำเนิดที่เป็นทางการของแซนด์วิชนั้นก็มาจากศตวรรษที่ 18 โดย จอห์น มองตากู หรือ 4th Earl of Sandwich ซึ่งเป็นขุนนางของอังกฤษที่อ้างว่าตนได้คิดค้นทั้งอาหารและชื่อของอาหารชนิดนี้ และจากประวัติศาสตร์เรื่องนี้ทำให้หนังสือพิมพ์อย่าง Wall Street Journal กล่าวยกย่องว่าการคิดค้นแซนด์วิชถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวอังกฤษต่อวงการอาหาร ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่แซวกันเล่นด้วย เพราะธรรมดาอังกฤษจะขึ้นชื่อว่ารสชาติอาหารไม่อร่อย แต่กระนั้นก็ดี เดี๋ยวผมจะย้อนมาเล่าเรื่องการเมืองเรื่องแซนด์วิชในอังกฤษตอนนี้ในช่วงต่อไปของบทความครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสืบค้นเรื่องแซนด์วิชออกไปอย่างกว้างขวางแล้ว ภูมิภาคที่น่าจะให้กำเนิดแซนด์วิชก่อนที่มันจะถูกเรียกว่าแซนด์วิชก็คือเอเชียตะวันตกและแอฟริกาตอนเหนือนั่นแหละครับ ไล่มาตั้งแต่โมร็อกโก ถึงเอธิโอเปีย และไปถึงอินเดีย รวมกระทั่งอาหารของชาวยิวยุคโบราณที่ถูกบันทึกไว้ ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องของการเอาแป้งขนมปังมารองอาหารแล้วม้วนกิน ซึ่งต่างจากการเอาขนมปังมาหั่นบางเป็นแผ่นและ "ประกบ" กันเข้า หรือมีการตีความว่าขนมปังที่ใช้รองอาหารของผู้ดีนั้นก็ถูกโยนทิ้งพร้อมเศษอาหารไปให้คนยากจน ซึ่งก็เป็นต้นธารของการเกิดแซนด์วิชแบบเปิดหน้าที่เอาไปม้วนกินนั่นแหละครับ และแซนด์วิชแบบเปิดหน้าเช่นนี้ก็มีในยุโรปก่อนที่อังกฤษจะอ้างว่าให้กำเนิดแซนด์วิช โดยนับเอาอาหารที่เรียกว่า belegde broddje ของเนเธอร์แลนด์เป็นหลักฐานครับ

ในโลกตะวันตกที่อ้างว่าเป็นเจ้าของแซนด์วิชนั้น ประวัติศาสตร์แซนด์วิชเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของชนชั้นสูง (ไม่ใช่เรื่องของคนสมัยใหม่ที่เร่งรับในการกินแซนด์วิชในฐานะอาหารเช้าแบบของบ้านเรา หรือการกินแซนด์วิชเป็นอาหารกลางวันของฝรั่งในวันนี้โดยเฉพาะพวกคนอเมริกัน) เพราะแซนด์วิชถือกำเนิดมาในสังคมชนชั้นสูงในฐานะอาหารกินเล่นยามดึก ในช่วงที่พวกเขาเล่นพนันหรือดื่มสุรา (ดังที่จอห์น มองตากู ซึ่งได้รับชื่อว่า ท่านเอิร์ล ออฟ แซนด์วิช) นั้นภูมิใจในการคิดค้นของเขาเพราะทำให้เขากินอาหารโดยไม่ต้องละมือจากการเล่นไพ่ เพราะไม่ต้องใช้ซ่อม และไม่ทำให้มือเลอะไพ่ เพราะมีขนมปังรองอยู่)

ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นอาหารของชนชั้นล่างในศตวรรษที่ 19 เพราะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเกิดชนชั้นกรรมาชีพขึ้นและแซนด์วิชก็เป็นอาหารที่ทำได้ง่าย และเก็บรักษามากินได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องทำอาหาร ขณะที่ต่อมาในศตวรรษที่ 20 แซนด์วิชเริ่มถูกส่งเสริมมากขึ้นในอเมริกาให้เมื่อขนมปังได้กลายเป็นอาหารหลักของสังคมอเมริกา ดังที่ในภาพรวมในอเมริกาจะเรียนแซนด์วิชร้อน หรือที่ใส่ของร้อนเข้าไปว่าเบอร์เกอร์ (แต่ก็ไม่เสมอไป) ที่สำคัญอีกประการก็คือมันเป็นสัญลักษณ์แห่งความปลอดภัยในการทำอาหาร เพราะเด็กๆ ก็สามารถทำได้ด้วยว่าไม่ต้องใช้เครื่องครัวที่เป็นอันตรายทั้ง เตา และมีด (ตามที่เว็บไซต์ของ Public Broadcast Service ว่าไว้)

สำหรับเมืองไทยเองนั้นผมเองก็ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์พอที่จะค้นคว้าได้ แต่อย่างน้อยก็คงจะต้องนึกถึงทั้งเรื่องของการผลิตขนมปังขึ้นมา และเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหาร และการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต นั่นก็คือในปัจจุบันการหาซื้อขนมปังทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีบริษัทใหญ่ๆ และร้านสะดวกซื้อที่รองรับช่องทางดังกล่าว รวมทั้งความเร่งรีบในชีวิตเองที่ทำให้การซื้อหาแซนด์วิชมารับประทานนั้นเป็นเรื่องง่ายเช่นกัน แต่ก็คงไม่สามารถเอาชนะข้าวแกง หรือข้าวเหนียวหมูปิ้งได้

แต่อย่างไรก็ตาม เราก็คงจะละเลยไม่พูดถึงคุณศิริวัฒน์ ที่นำเสนอการขายแซนด์วิชสำเร็จรูปตามหน้าสำนักงานและป้ายรถขนส่งสาธารณะหลังจากที่เกิดปัญหาหลังวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ ดังนั้น แซนด์วิชสำเร็จรูปที่ได้มาตรฐานก็ไม่ใช่เรื่องที่หาซื้อได้ยากอีกต่อไป เมื่อเทียบกับยุคก่อนที่จะต้องทำกินเอง หรือสั่งในร้านอาหารแล้วให้ความรู้สึกโก้หรู ซึ่งวันนี้ความรู้สึกนั้นไม่น่าจะหลงเหลืออยู่แล้ว มิหนำซ้ำอาจจะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยไปในทางการเมืองอีกต่างหาก

กลับมาเขียนเรื่องประวัติศาสตร์แซนด์วิชต่ออีกหน่อยครับ มีข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องของการสืบเชื้อสายของจอห์น มองตากู ในสภาขุนนางของอังกฤษ ว่าตอนนี้ลูกหลานของท่านลอร์ดแซนด์วิชนั้นก็มาถึงรุ่นที่สิบเอ็ดแล้ว แต่ท่านลอร์ดแซนด์วิชคนปัจจุบันนั้นไม่ได้มาแนวกินเหล้าเล่นไพ่ แต่มีชื่อเสียงในแง่ของการอภิปรายในเรื่องของกิจการของสหภาพยุโรป รวมถึงเรื่องวิกฤตในซีเรีย และเรื่องการพัฒนารวมทั้งการลี้ภัย และมีชื่อเสียงในแง่ของการเป็นคนที่ไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด ตั้งแต่ ค.ศ.1995 และที่สำคัญก็คือนอกจากท่านจะเป็นผู้ที่ทำงานในสภาขุนนางอย่างเอาจริงเอาจัง ตอนหลังท่านยังมาเปิดร้าน Earl of Sandwich ที่มีสาขาในหลายประเทศด้วย (อธิบายต่ออีกหน่อยก็คือ แซนด์วิช นั้นเป็นชื่อเมืองเล็กๆในตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ ต่อมาก็ผูกกับชื่อขุนนาง ในศตวรรษที่ 17 และรุ่นที่ 4 นั้นคิดค้นอาหาร แต่มารุ่นที่ 11 ก็เปิดร้านแซนด์วิชนั่นแหละครับ -- ข้อมูลจาก Wikepedia และ Australia Institute of International Affairs)

สำหรับการเมืองเรื่องแซนด์วิชนั้นก็จะขออธิบายว่าในช่วงสองถึงสามปีนี้ มีเรื่องการเมืองที่เกี่ยวข้องกับแซนด์วิชอยู่มากมายทั่วโลก จะขอยกตัวอย่างสักสามกรณีใหญ่ๆ คือ เรื่องของเรื่องการต่อต้านเกย์ในอเมริกา เรื่องของการเมืองเรื่องความเป็นผู้หญิงในออสเตรเลีย และเรื่องของการเมืองเรื่องชนชั้นในกรณีของอังกฤษ

2012: แซนด์วิชกับการเมืองเรื่องเกย์ในอเมริกา: เรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของกิจการ Chick-fill-A แซนด์วิช ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องแซนด์วิชไก่ และมีสาขามากกว่าหนึ่งพันหกร้อยสาขา นับตั้งแต่ ค.ศ.1946 รวมทั้งเป็นธุรกิจที่สะท้อนความเคร่งของศาสนาคริสต์ คือจะไม่เปิดให้บริการวันอาทิตย์ เพราะถือว่าเป็นวันพักผ่อนและไปโบสถ์ ได้ออกมาแถลงต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เรื่องราวเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะว่าหลังจากที่หนึ่งในครอบครัวเจ้าของกิจการออกมาประกาศจุดยืนทางการเมืองและสังคมเช่นนี้ กลับได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากบรรดาลูกค้าที่มีจุดยืนแบบเดียวกัน ขณะที่เจ้าของกิจการถูกวิจารณ์จากนายกเทศมนตรีบอสตัน ซานฟรานซิสโก และชิคาโก รวมทั้งประชาคมคนรักเพศเดียวกันทั้งหลาย

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่ท้าทายเรื่องของการทำธุรกิจเป็นอย่างมากว่าตกลงธุรกิจกับจุดยืนทางการเมืองของเจ้าของหรือบริษัทควรจะเป็นอย่างไร ขณะที่ในโลกสมัยใหม่ บริษัทมักจะต้องทำตามค่านิยมที่เป็นที่เชิดชูเช่น รักษาสิ่งแวดล้อม หรือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส แต่ในกรณีของร้านแซนด์วิชนี้ก็ถือว่าจัดหนักจัดเต็มกันเลยทีเดียว ส่วนร้าน Chick-fill-A นี้ก็เน้นบริหารตามเมืองที่เคร่งศาสนา (Bible Belt และตั้งต้นกิจการที่แอตแลนต้า ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้) และน่าสนใจว่าคนที่ออกมาซื้อและกินแซนด์วิชไก่ในช่วงนั้นก็ถือว่าเป็นการเปิดเผยว่าไม่เอาการแต่งงานของเพศเดียวกัน ขณะที่บริษัทที่เชิดชูคุณค่าอื่นเช่น Jim Henson ก็ถึงกับถอดของเล่น Muppet ออกจากโปรโมชั่นของแถมของแซนด์วิช (รายละเอียดจาก Foxnews.com และ National.ca)

2013: แซนด์วิชกับการเมืองเรื่องความเป็นผู้หญิงในออสเตรเลีย: (อดีต)นายกรัฐมนตรีหญิง Julia Gillard ของออสเตรเลียนั้นมักจะถูกโจมตีในเรื่องผลงานมาโดยตลอด และหนึ่งในการรณรงค์ที่สำคัญก็คือ เรื่องของการปาแซนด์วิชใส่กิลลาร์ด โดยมีการปาแซนด์วิชอย่างน้อยสองครั้งใส่เธอ ขณะที่ไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยม ในช่วงที่เธอกำลังรณรงค์นโยบายการศึกษาใหม่ ซึ่งแม้ว่ากิลลาร์ดจะบอกว่าไม่เป็นไร กับเคราะห์ร้ายเล็กๆ น้อยๆ ของเธอ และเด็กๆ เหล่านั้นคงจะหิว แต่เด็กที่ปาแซนด์วิชใส่เธอนั้นก็ถูกพักการเรียนไปสองสัปดาห์

เรื่องในรายละเอียดนั้นก็คือ แซนด์วิชที่ปาใส่เธอนั้นเป็นแซนด์วิชออซซี่แท้ๆ เพราะว่าเป็นแซนด์วิชที่ทา Vegemite ซึ่งเป็นเสมือนอาหารหลักประจำชาติที่ใช้ทากับขนมปังหรือทำอาหารอย่างอื่นมากมายในประเทศออสเตรเลียนั่นแหละครับ

อย่างไรก็ดี การปาแซนด์วิชใส่เธอนั้นถูกตีความอย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้นมีการมองว่าอาจเป็นเรื่องของการเหยียดเพศ เหมือนกับที่ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐนั้นเคยถูกวิจารณ์ว่าให้ไป "รีดเสื้อให้ฉันที" ซึ่งในกรณีของการใช้คำว่า "make me a sandwich" ในอินเตอร์เน็ต ก็หมายถึงการที่สั่งให้เพศหญิงนั้นทำอาหารให้กิน และผู้หญิงไม่ควรจะออกนอกบ้าน นอกครัว มาทำงานการเมือง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่กิลลาร์ดนั้นมักจะโดนวิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรมในเรื่องความเป็นผู้หญิงของเธอว่าไม่เหมาะสมที่จะมาทำงานการเมือง โดยเฉพาะในฐานะนายกรัฐมนตรี

2014: แซนด์วิชกับการเมืองเรื่องชนชั้นในอังกฤษ: เรื่องที่ถือเป็น "งานเข้า" ประการหนึ่งของผู้นำฝ่ายค้าน Ed Miliband แห่งพรรคแรงงานก็คือ ความล้มเหลวในการกินแแซนด์วิชใส่เบคอน ต่อหน้าผู้ใช้แรงงานที่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค และเอาเข้าจริงในวันนั้นเอ็ดก็ไม่สามารถรับประทานได้สำเร็จ เพราะขนมปังกับไส้ข้างในมันไม่สามัคคีกับความพยายามเคี้ยวและกลืนลงไป และภาพความกระอักกระอ่วนกับการเคียวแซนด์วิชต่อหน้ากรรมกรก็กลายเป็นภาพข่าวที่โด่งดังไปทั่ว จนนำมาสู่การล้อเลียนว่าเอ็ดนั้นไม่สามารถจะทำอะไรที่แสนจะธรรมดาได้ แถมท้ายว่าคนที่เสิร์ฟกาแฟให้กับเอ็ดในงานเปิดตัวหาเสียในเช้าวันนั้นก็ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าเขาไม่เลือกเอ็ด เพราะพรรคอนุรักษนิยมดูจะเข้าใจเรื่องราวการทำมาค้าขายมากกว่า ทีนี้เรื่องสำคัญก็คือ ข่าวที่ถูกเล่นในวันนั้นมาจากหนังสือพิมพ์แทบลอยด์อย่าง London Evening Standard ที่ขายกรอบบ่ายในราคาที่ถูกกว่าหนังสือพิมพ์ระดับสูงที่เรารู้จักกันดี นอกจากนั้นเอ็ดยังโดนกระหน่ำในการสัมภาษณ์ทางวิทยุในกรณีที่ไม่รู้ค่าใช้จ่ายในบ้านตัวเอง และลืมชื่อสมาชิกพรรคตัวเองในพื้นที่ที่มีการรณรงค์กันอยู่

การเมืองในเมืองผู้ดีเล่นเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ เพราะโดยเฉพาะ Nick Clegg หัวหน้าพรรคเสรีนิยม หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งตอนนี้คะแนนนิยมก็ไม่ดีนัก ซึ่งโดนจัดหนักโดยรายการวิทยุของอังกฤษที่ถ่ายทอดภาพด้วย โดยยื่นแซนด์วิชเบคอนให้กินโดยไม่บอกก่อน นิค ถึงกับอุทานว่า เรื่องนี้ไม่เป็นธรรมกับเอ็ดนัก เพราะว่าคงไม่ไม่ใครกินแซนด์วิชแล้วดูดี แต่ผลออกมานั้นนิคกินได้เรียบร้อยและสำเร็จ ซึ่งก็ถือว่า "สอบผ่าน" ไปได้อย่างหวุดหวิด

2014: แซนด์วิชกับการเมืองไทย?: ในบรรยากาศแบบนี้คงเขียนอะไรมากไม่ได้ แต่ข่าวเรื่องการต่อสู้กันทางการเมืองด้วยแซนด์วิชในเมืองไทยนั้นกระจายไปทั่วโลก ผมก็คงจะตั้งข้อสังเกตว่าเพราะทั่วโลกมันมีการไม่กินแซนด์วิช ขว้างแซนด์วิช หรือกินแซนด์วิช เป็นเรื่องราวมาก่อนแล้ว เรื่องราวของเมืองไทยก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของโลกไปด้วย

แต่กระนั้นก็ตาม เรื่องราวของโลกนั้นแซนด์วิชมันผูกโยงกับเรื่องของเพศที่สาม เพศหญิง หรือชนชั้นอยู่ ทีนี้การกินแซนด์วิชในที่สาธารณะในบ้านเราในฐานะสัญลักษณ์การต่อต้านการคืนความสุขให้ประชาชนนี้คงจะต้องน่าจับตาดูว่าจะถูกตีความอย่างไรบ้าง และในบรรยากาศแบบนี้หากเขียนเรื่องนี้มากไม่ได้ ก็คงต้องบันทึกเอาไว้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนการรณรงค์จากการพยายามไปกินแซนด์วิชร้อน หรือแฮมเบอร์เกอร์ ของคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่แมคและถูกปิดกั้น จนกลายมาเป็นการแจกแซนด์วิชของนักศึกษาให้มีกิจกรรมดังกล่าวในสถานศึกษาและก็ถูกห้าม จนมาถึงการทำเองหรือซื้อเองไปกินในที่สาธารณะก็ถูกห้าม ไม่นับการถ่ายรูป/โพสต์รูปสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐประหารในโลกออนไลน์ก็ถูกตักเตือนนั่นแหละครับ

เขียนได้เท่านี้หล่ะครับ เขียนตามข้อมูลปรากฏการณ์แซนด์วิชล้วนๆ ...
 

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน1 ก.ค.57

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net