ศัพท์ภาษาอังกฤษที่น่ารู้เกี่ยวกับการเมืองไทยในปัจจุบันกาล (ภาค 3)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

Power corrupts; absolute power corrupts absolutely.
อำนาจนั้นล้วนฉ้อฉล อำนาจที่ล้นฟ้าก็ย่อมฉ้อฉลอย่างไร้ขอบเขต
                                                                        ลอร์ด จอห์น แอ็คตัน

1.Military intervention - การแทรกแซงโดยกองทัพ

มีนายทหารท่านหนึ่งออกมาบอกว่าควรใช้คำว่า "การแทรกแซงโดยกองทัพ" ดีกว่าคำว่า "รัฐประหาร" (coup d'etat) และก็มีนักวิชาการท่านหนึ่งได้รับลูกโดยแปลเป็นภาษาอังกฤษคือ  Military intervention ลงประกอบกับบทความในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เท่าที่ผู้เขียนค้นหามาพบว่า สื่อต่างประเทศมักจะใช้คำนี้ในกรณีที่ประเทศหนึ่งส่งทหารเข้าไปแทรกแซงในอีกประเทศหนึ่ง มากกว่าการที่กองทัพเข้าไปแทรกแซงในการเมืองภายในประเทศของตัวเอง และถ้าพิจารณาบริบทของการเมืองไทยแล้ว ทั้งการแทรกแซงโดยกองทัพและรัฐประหาร (หรือการยึดอำนาจ ฯลฯ) ก็มีสารัตถะไม่ต่างกันเท่าไรนัก จึงเป็นไปได้ว่าเกิดจากความตั้งใจเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สาธารณชนโดยเฉพาะต่างประเทศมอง คสช. ในด้านลบโดยการเล่นคำ ในกรณีนี้ก็เหมือนกับที่เราเลี่ยงการใช้คำว่าข่มขืนคือ rape มาเป็น  force someone to have sex with violence หรือ “การบังคับผู้อื่นให้มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ความรุนแรง” แทนนั้นแล

2.Junta (อ่านว่าฮุนตา) - กลุ่มทหารที่เข้ามาปกครองประเทศโดยไม่ใช่วิถีทางแบบประชาธิปไตย (คือรัฐประหารนั่นเอง)

ในที่นี้ก็คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อันมีชื่อภาษาอังกฤษคือ National Council for Peace and Order (NCPO) ซึ่งผู้เขียนเคยเหมือนกับนักคิดเสรีนิยมทั่วไปที่ไม่คาดคิดว่าคำนี้จะเกิดขึ้นมาในเมืองไทยอีก ภายหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  กระนั้นโปรดมั่นใจว่า ในอนาคตต่อให้ปฏิรูปประเทศอีกกี่ครั้ง คำนี้จะไม่เคยหายไปจากการเมืองไทย เพราะรัฐไทยจะเป็นดังข้อ 3 ตลอดไป สำหรับ junta ของไทยใน พ.ศ.นี้ จะจัดได้ว่าเป็น Aristocracy อันหมายถึงระบอบอภิชนาธิปไตย หรือการปกครองโดยกลุ่มบุคคลเพื่อผลประโยชน์ของชาติ หรือ Oligarchy อันหมายถึงระบอบคณาธิปไตย หรือการปกครองโดยกลุ่มบุคคลเพื่อผลประโยชน์ของตน ก็คงแล้วแต่มุมมองของคนอ่าน และกาลเวลาเป็นตัวพิสูจน์ แต่การไม่เปิดอิสระให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. ได้อย่างเต็มที่ ทำให้คำถามเช่นนี้ไม่สู้จะมีประโยชน์เท่าไรนัก

3.Praetorian state - รัฐที่ทหารมีอิทธิพลและบทบาทสูงโดยเฉพาะเหนือการเมือง

ถึงแม้ในอนาคตประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง (หรือแต่งตั้งก็ได้) มีการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐธรรมนูญ (ที่บั่นทอนอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเต็มที่) แต่เมืองไทยก็ยังคงตกอยู่ภายใต้การครอบงำขององค์กรกองทัพ (และสถาบันอื่น เช่น ศาลและระบบราชการ) ตลอดไป เพราะกองทัพสามารถควบคุมชี้นำมวลชนให้ซ้ายหันขวาหันได้ตามอำเภอใจ ตัวอย่างอื่นได้แก่ เพื่อนบ้านของเราคือ พม่า ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดให้ทหารมีสัดส่วนในรัฐสภาถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และประธานาธิบดีคือ เต็ง เส่ง เป็นอดีตนายพล มีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพ ส่วน นางออง ซาน ซูจี หรือตัวแทนของนักการเมืองสายพลเรือนและเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น ต้องผิดหวังกับการที่รัฐตัดสินใจไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เธอสามารถลงแข่งขันเพื่อเป็นประธานาธิบดีในปีหน้าได้  อันสะท้อนถึงอิทธิพลและอำนาจของกองทัพที่ต้องการรักษาสถานภาพเดิม (status quo) ของตนไว้ในสังคมพม่า ถึงแม้ว่าจะเปิดประเทศก็ตาม

4.Hybrid regime - การปกครองลูกผสม

การปกครองเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในอีก 2 ปี ข้างหน้า หากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการปฏิรูปการเมืองเสร็จ (กล่าวอีกนัยคือ De-Thasinization หรือการถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณจนหมด) ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีลักษณะเป็นแบบไทยๆ  สูงมากจนไม่เหมือนใคร  ต้นแบบของการปกครองลูกผสม ได้แก่ อิหร่านภายหลังการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 ที่มีการปกครองร่วมกันระหว่างประชาธิปไตยกับเทวาธิปไตย คือ ประมุขฝ่ายบริหารเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ก็ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของประมุขสูงสุด (Supreme Leader) ที่มาจากการสรรหาของนักปราชญ์ทางศาสนาไม่ถึง 100 คน   สำหรับของไทยนั้นมีข่าวเล็ดรอดออกมาว่าจะลดทอนอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง   จึงเป็นที่น่าสนใจว่าจะเป็นแบบผสมเหมือนกับอิหร่านอย่างไร  (เช่น เปลี่ยนจากนักปราชญ์ทางศาสนามาเป็นกองทัพเหมือนพม่า) แต่ที่แน่ๆ ไทยไม่สามารถบอกใครได้เต็มปากว่า เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมเหมือนประเทศอื่น จึงได้แต่พูดอ้อมๆ แอ้มๆ ว่า เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ  ตลอดกาล

5.Authoritarian culture - วัฒนธรรมที่ปลูกฝังหรือส่งเสริมแนวคิดเผด็จการ

วัฒนธรรมที่ปลูกฝังหรือส่งเสริมแนวคิดเผด็จการ อันเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมข้อ 3 และ 4 ได้ถูกผลิตซ้ำตลอดมาเกือบตลอดเวลากว่า 80 ปีของการเมืองไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมเช่นนี้ได้ส่งเสริมและตอกย้ำความเชื่อที่ว่า มนุษย์เราไม่เท่าเทียมกัน (ดังที่เรียกว่า vertical relations หรือความสัมพันธ์ในเชิงดิ่ง) เช่น การให้ความสำคัญแก่แนวคิดเรื่องบุญทำกรรมแต่งกับเรื่องบารมี มากกว่าความสามารถของตัวบุคคล  ความชื่นชอบในเรื่องความเด็ดขาด หรือความเป็นนักเลง มากกว่าเรื่องสิทธิและเสรีภาพ คนไทยยังนิยมการใช้ความรุนแรงเพื่อสยบอีกฝ่าย มากกว่าการอดทนยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง  วัฒนธรรมเช่นนี้ทำให้การทำรัฐประหารในยุคปัจจุบันประสบความสำเร็จอยู่ตลอดเวลาและตลอดไป ถึงแม้ว่านักคิดหัวเสรีนิยมจะเคยหลงเชื่อกันตลอดเวลาว่า การทำรัฐประหารเป็นสิ่งล้าสมัยและไม่มีทางจะเกิดขึ้นก็ตาม ก็เพราะการประเมินอำนาจของวัฒนธรรมเช่นนี้ต่ำจนเกินไป

6.Whistleblower - นักเปิดโปง

หากแปลตามตัวหมายถึงนักเป่านกหวีด หรือผู้ที่ขุดคุ้ยเรื่องราวทุจริตหรือความชั่วร้ายขององค์กร ที่ผ่านมา ผู้ที่ทำให้คำนี้โด่งดังในสื่อมวลชนของโลก ได้แก่ เว็บไซต์วิกีลิกส์ ที่ไปขโมยข้อมูลลับขององค์กร หรือรัฐบาลของประเทศต่างๆ มาเปิดเผยทางออนไลน์ โดยมีผู้ก่อตั้งคือ นายจูเลียน อัสซานจ์ สำหรับเมืองไทย บุรุษที่น่าจะกล่าวถึงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลที่ผู้เขียนไม่เคยคิดจะยกย่อง หรือมองว่าเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นวีรบุรุษ (unlikely hero)  คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่กล้าออกมาแฉว่า เขามีการติดต่อกับท่านผู้นำสูงสุดว่าจะช่วยกันโค่นระบอบทักษิณตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งทาง คสช. ก็ออกมาปฏิเสธ จึงมีการสงสัยไปต่างนานาว่าใครโกหก ใครพูดความจริง ถ้านายสุเทพพูดจริง ข้ออ้างของ คสช. ในการทำรัฐประหารว่า เพื่อช่วยแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกลุ่ม กปปส.) ก็ชวนให้มีการตั้งคำถามเสียแล้ว

7.Bootlicking - การประจบประแจง

หากแปลตามตัวจะเห็นภาพของการเมืองไทยได้ชัดคือ รองเท้าบูต (boot) ของทหาร และมีสื่่อมวลชนจำนวนมากของไทยเข้ามาเลีย  (lick) เสียจนน้ำลายไหลเปรอะรองเท้า อาจมีผู้แก้ตัวว่าการสนับสนุน หรือแสดงความเห็นด้วยของสื่อเป็นสิทธิในการแสดงออก (แต่สิทธิของการต่อต้านและวิจารณ์ คสช.นั้นถูกลดทอนและควบคุมอย่างเต็มที่) หรือเป็นการเพื่อเอาตัวรอด ไม่ให้ทหารหมายหัว แต่จากการสังเกตการณ์มานานนับเดือน การประจบประแจงของสื่อไทย ซึ่งแสดงแต่ภาพที่ดีของ junta อย่างไม่ลืมหูลืมตา น่าจะเข้ากับ Bootlicking เสียมากกว่า และมีความหมายเดียวกับคำว่า "โฆษณาชวนเชื่อ " (Propaganda) จนเราน่าจะพูดกับสื่อมวลชนจำนวนมากของไทยว่า "shame on you" หรือ "คุณควรละอายใจบ้างนะ"

8.Boycott/Embargo  - การคว่ำบาตร

นับตั้งแต่การทำรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม ไทยต้องพบกับการข่มขู่ของต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปว่า จะตัดความสัมพันธ์ (cut the tie) จนนำไปสู่การคว่ำบาตร (embargo) ในรูปแบบต่างๆ  อันกลายเป็นสารเร่งการเดือดพล่านของเลือดไทยเป็นยิ่งนัก โดยเฉพาะพวกเซเลบไทยได้ปลุกเร้ามวลชนว่าจะคว่ำบาตร (boycott) ไม่ซื้อสินค้าของยุโรป เป็นที่คาดหมายกันว่า ถ้าเซเลบไทยสัก 500 คน รวมหัวกัน (กัดฟัน) ไม่ซื้อสินค้าของยุโรปสักเดือน คงทำให้เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปต้องถึงการล่มสลายยิ่งกว่าพบกับวิกฤตค่าเงินยูโรเป็นแน่ สมน้ำหน้าที่ไม่รู้จักการปกครองแบบ "คนดีธิปไตย" ของคนไทยเสียแล้ว นอกจากนี้ เซเลบไทยคนหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญวรรณกรรมเรื่อง 3 ก๊ก ได้บอกเป็นทำนองว่า การงดซื้อสินค้าต่างชาติเป็นเรื่องไม่เสียหายอะไร หากดูตัวอย่างจากพม่าที่ปิดประเทศตั้ง 50 ปี จึงเป็นเรื่องดีถ้าท่านลองไปถามแรงงานพม่าที่ทำงานบ้านของท่านว่า เหตุใดจึงลักลอบหรือกระเสือกกระสนเข้ามาทำงานในประเทศไทย

Embargo หมายถึง การตัดความสัมพันธ์ทางการค้าของประเทศหนึ่งที่มีต่อประเทศหนึ่ง  การกระทำเช่นนี้เกี่ยวข้องหรือมีผลทางกฎหมายระหว่างประเทศ

Boycott  หมายถึง การที่บุคคลหรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐเลิกสนับสนุนสินค้าขององค์การทางการค้า หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง  การกระทำเช่นนี้ไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลทางกฎหมายระหว่างประเทศแต่ประการใด

9.Spiral of silence - การเข้าปกคลุมของความเงียบ

Spiral of silence   คือ ทฤษฎีทางด้านรัฐศาสตร์และสื่อสารมวลชนของคุณเอลิซาเบท โนเอลเล  นัวแมนน์ ทฤษฎีนี้ได้อธิบายว่า ความคิดทางการเมืองใดความคิดหนึ่งได้มีอิทธิพลครอบงำทั้งสังคม ได้ผลักใสให้คนซึ่งมีความคิดแตกต่างเข้าใจว่าตนเป็นชนกลุ่มน้อยและไม่กล้าแสดงออก เพราะสังคมได้ข่มขู่ปัจเจกชนด้วยการคว่ำบาตร ไม่คบค้าสมาคมด้วย  ถึงแม้ในวิกิพีเดียจะไม่ได้กล่าวถึง แต่ผู้เขียนขอเพิ่มเติม เช่น การที่รัฐใช้กฎหมายและกำลังอาวุธเข้าข่มขู่ จึงทำให้คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างเงียบเสียง อันส่งผลให้คนในสังคมเกิดอุปาทานหมู่ หลงเชื่อต่อชุดแนวคิดที่รัฐยัดเยียดให้ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้สามารถอธิบายทั้งกับกฎหมายอาญามาตรา 112 และการเมืองไทยยุคหลังรัฐประหารได้อย่างดี  (ผู้เขียนขอให้เครดิตคำนี้แก่หนังสือพิมพ์ที่ผู้เขียนทั้งรักและเกลียดคือ บางกอกโพสต์ ซึ่งได้ยกคำนี้มาเมื่อหลายเดือนก่อน  ส่วนคำแปลเป็นของผู้เขียนเอง)

10.Hypocrite - พวกมือถือสาก ปากถือศีล

การที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปขู่ว่าจะคว่ำบาตรไทย ย่อมทำให้พวกเลือดไทยไหลรินประณามว่าฝรั่งทั้ง 2 กลุ่มนั้น เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล ดังเช่น สหรัฐฯ ซึ่งประณามการทำรัฐประหารไทยและเลือกที่จะลดความสัมพันธ์กับไทยก็เพราะปัญหาการค้ามนุษย์ (Human trafficking) ซึ่งคนไทยจำนวนมากเชื่อว่า เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร  พวกเลือดไทยไหลริน (ดังเช่นบทความของคุณนงนุช สิงหเดชะ) จึงมักยกตัวอย่างที่รัฐบาลสหรัฐฯ กระทำต่ออียิปต์ คือหลีกเลี่ยงที่จะประณามการทำรัฐประหารของทหารที่โค่นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของอียิปต์ ซึ่งผู้เขียนในฐานะที่สนใจนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ เองก็ยอมรับว่าเป็นความจริง (แต่สหรัฐฯ ก็ได้ลดการให้ความช่วยเหลือและความสัมพันธ์กับอียิปต์ลงในระดับหนึ่งเช่นเดียวกับไทย)

ปัญหาก็คือ การประณามของสหรัฐฯ แม้จะมีการเลือกปฏิบัติ และประชาธิปไตยในสหรัฐฯ ก็ไม่ได้สวยหรูเท่าไรนักก็คือความจริงอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะใช้หลักการประชาธิปไตยแบบสากลคือ ไม่อิงกับสหรัฐฯ หรือประเทศไหนก็ตาม การทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คือการล่วงละเมิดประชาธิปไตย  ซ้ำร้ายแล้วการอ้างว่าหยุดชะงักการทำงานขององค์กรต่างๆ ทางการเมืองเพื่อปฏิรูปเป็นเวลาปีๆ ไม่ว่ามองมุมไหน ก็คือการแช่แข็งประชาธิปไตยไว้  ไม่ว่ารัฐและสื่อของไทยจะอ้างว่า ต่างชาติไม่เข้าใจสถานการณ์แบบไทยๆ ก็ตาม แต่ตะวันตกจำได้เสมอว่า เผด็จการในประเทศโลกที่ 3 ก็มักจะมีข้ออ้างเช่นนี้

ขอปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า สมมติสหรัฐฯ ได้กล่าวประณามอียิปต์ และตัดความสัมพันธ์ หรือคว่ำบาตรอียิปต์อย่างรุนแรง แต่สำหรับไทย สหรัฐฯ ไม่กล้าประณาม และยังคงความสัมพันธ์ที่ดีไว้ คนไทยจะด่าสหรัฐฯ ว่าเป็นพวกมือถือสากปากถือศีลหรือไม่  หรือว่าจะชมว่า สหรัฐฯ นั้นเข้าใจสถานการณ์การเมืองของไทยเป็นอย่างดี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท