Skip to main content
sharethis

หลังจากที่เฟซบุ๊กออกมายอมรับว่ามีการทดลองการโต้ตอบอารมณ์โดยการปรับแต่งให้เห็นแต่นิวส์ฟีดบางส่วนจริงในผู้ใช้เกือบ 700,000 คน นักวิจัยคนอื่นก็พากันวิจารณ์ว่าการทดลองนี้ผิดหลักจรรยาบรรณ เนื่องจากไม่มี "ความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว" ของกลุ่มตัวอย่าง


30 มิ.ย. 2557 นักวิจัยในต่างประเทศประณามการทดลองของเว็บไซต์เฟซบุ๊กซึ่งทำการปรับหน้านำเสนอข่าวหรือ 'นิวส์ฟีด' ของผู้ใช้เกือบ 700,000 คน เพื่อค้นหาว่าการปรับแต่งเช่นนี้มีผลต่ออารมณ์ของผู้ใช้หรือไม่ โดยนักวิจัยซึ่งไม่ได้ร่วมกับการวิจัยของเฟซบุ๊กกล่าวว่าเป็นวิธีการที่ผิดหลักจรรยาบรรณการวิจัย เนื่องจากเป็นการวิจัยที่ไม่มี "ความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว" ของกลุ่มตัวอย่าง

เจมส์ กริมเมลมานน์ ศาตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์กล่าวถึงเรื่องนี้ในเว็บล็อกของตนว่าเฟซบุ๊กไม่ได้ขอความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าวจากผู้ใช้ที่ถูกสำรวจ ซึ่งการยินยอมดังกล่าวคือการให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าพวกเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างการวิจัยหรือไม่ เรื่องนี้มีการอ้างอิงตามหลัก "กฎหมายว่าด้วยกลุ่มตัวอย่างทดลองที่เป็นมนุษย์" ของสหรัฐฯ

กริมเมลมานน์กล่าวว่าการวิจัยชิ้นนี้เป็นอันตรายต่อผู้เข้าร่วมเพราะมีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่แม้กระทั่งสำหรับเฟซบุ๊กเอง

อย่างไรก็ตาม อดัม เครเมอร์ หนึ่งในทีมนักวิจัยเรื่องดังกล่าว กล่าวปกป้องการวิจัยของพวกตนว่า การวิจัยของเฟซบุ๊กเป็นไปเพราะพวกเขาห่วงใยในเรื่องผลกระทบต่ออารมณ์ของเฟซบุ๊กและต่อผู้ใช้ เช่นในกรณีที่มีความกังวลว่าเมื่อผู้ใช้มองเห็นเนื้อหาในแง่บวกของเพื่อนตนแล้วจะทำให้พวกเขารู้สึกในแง่ลบหรือรู้สึกถูกทอดทิ้งหรือไม่

การทดลองดังกล่าวกระทำในช่วงปี 2555 ใช้ระยะเวลา 1 สัปดาห์ โดยมีการซ่อนเนื้อหาบางส่วนของนิวส์ฟีดในกลุ่มตัวอย่าง 689,003 คน คิดเป็นร้อยละ 0.04 ของผู้ใช้ทั้งหมด พวกเขาอ้างว่าได้ซ่อน "คำที่แสดงอารมณ์" โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัวเพื่อทดสอบว่าผู้ใช้มีการตอบสนองหรือการแสดงออกอย่างไร

ผลการทดสอบออกมาต่างจากที่พวกเขาคาดคิดไว้ คืออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจะได้รับการส่งเสริมจากสิ่งที่พวกเขาได้เห็น นักวิจัยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "การติดต่อแพร่กระจายทางอารมณ์" ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มตัวอย่างรายหนึ่งถูกจำกัดไม่ให้เห็น "เนื้อหาแสดงอารมณ์ทางบวก" ของเพื่อนเขา ทำให้เขาโพสต์เรื่องทางบวกของเขาเองน้อยลง อีกรายหนึ่งถูกจำกัดไม่ให้เห็น "เนื้อหาแสดงอารมณ์ทางลบ" ของเพื่อนเขา ทำให้เกิดผลต่างจากกรณีแรก

งานวิจัยสรุปว่า "การแสดงออกทางอารมณ์ของเพื่อนในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของพวกเรา เท่าที่พวกเราทราบนี่ถือเป็นการทดลองครั้งแรกที่เผยให้เห็นการติดต่อแพร่กระจายทางอารมณ์ในวงกว้างผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก"

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ เฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักกฎหมาย, นักกิจกรรมอินเทอร์เน็ต และนักการเมืองว่า ลักษณะของการวิจัยที่มีการปรับเปลี่ยนอารมณ์ของคนจำนวนมากนั้นเป็นเรื่อง "อื้อฉาว" , "น่ากลัว" และ "ชวนให้ไม่สบายใจ"

แม็ก มาสนิก นักวิจัยด้านระบาดวิทยาซึ่งต้องทำงานกับกลุ่มผู้ถูกทดลองที่เป็นมนุษย์ทุกวันก็วิจารณ์การวิจัยผ่านเฟซบุ๊กนี้เช่นกันว่าไม่มีการขอความยินยอมจากกลุ่มตัวอย่างที่ถูกทดลอง

"ในฐานะนักวิจัยแล้ว คุณไม่สามารถละเลยจรรยาบรรณได้เพียงเพราะผู้ใช้กดเช็คที่กล่องข้อความเงื่อนไขการให้บริการในลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์ นักวิจัยมีหน้าที่ต้องทำให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมทุกคนมีความยินยอม ในหลายกรณีผู้วิจัยต้องกล่าวตามแบบฟอร์มการยินยอมกับผู้ใช้เป็นรายประเด็นซึ่งใช้เวลานาน ผู้วิจัยบางคนถึงขั้นใช้แบบสอบถามหลังจากมีการยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าวแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ถูกทดลองเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาทำจริงๆ" มาสนิกกล่าว

ทางด้านเครเมอร์ไม่ได้ระบุถึงประเด็นเรื่องความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าวในโพสต์ปกป้องการวิจัย แต่เขาก็ได้ขอโทษด้วยตัวเขาเองและขอโทษแทนเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับสิ่งที่ระบุในเอกสารการวิจัยและการสร้างความกังวลหลังจากนั้น และยอมรับว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยของพวกเขาอาจจะไม่สามารถให้ความชอบธรรมต่อความกังวลที่พวกเขาสร้างขึ้นได้

 


เรียบเรียงจาก

Facebook emotion study breached ethical guidelines, researchers say, The Guardian, 30-06-2014
http://www.theguardian.com/technology/2014/jun/30/facebook-emotion-study-breached-ethical-guidelines-researchers-say

Facebook reveals news feed experiment to control emotions, The Guardian, 30-06-2014
http://www.theguardian.com/technology/2014/jun/29/facebook-users-emotions-news-feeds

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net