ตำรวจพม่าแอคทีฟ พบ 7 บ.ก. หนังสือพิมพ์ ถามรายรับ-จ่าย และการทำงาน

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิระวดี โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายเข้าพบเพื่อเชิญไปพบเจ้าหน้าที่ระดับสูง ก่อนหน้านี้ แผนกสอบสวนพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมียนมาร์ทำการสืบสวนสอบสวนรายงานการเงินจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไปแล้ว 6 ฉบับ

แยนี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิระวดี

ประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 26 มิ.ย. 2557 แยนี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิระวดี ภาคภาษาพม่า โพสต์สเตตัสบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายเข้าพบที่สำนักงานหนังสือพิมพ์อิระวดี และเชิญไปพบ “นาย” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกด้วยว่า “เชิญ” สื่อท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อช่วยแก้ปัญหาระหว่างหน่วยงานรัฐกับสื่อ “ผมจะไปพบกับนายของพวกเขาเร็วๆ นี้ และอิระวดีจะรายงานข่าว”

จากนั้นเขาโพสต์รายละเอียดการพบปะอีกครั้ง ในเวลา ประมาณ 18.30 น. ระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามเกี่ยวกับแหล่งทุนของอิระวดี ผู้ตีพิมพ์ รายรับรายจ่าย และการทำงานของกองบรรณาธิการข่าว ถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามา “เยี่ยม” สำนักข่าวแห่งนี้นับจากย้ายฐานการทำงานในประเทศไทยกว่า 20 ปี มาย่างกุ้งในปี พ.ศ. 2555

ก่อนหน้านี้ อิระวดีรายงานบรรยากาศที่ตึงเครียดขึ้นระหว่างรัฐกับสื่อว่า บรรณาธิการ 6 รายของหนังสือพิมพ์เอกชน ประกอบด้วย The Voice, Unity journal, Myanmar Thandawsint, the Myanmar Post, Popular News และ People’s Age ถูกแผนกสอบสวนพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติสอบถามตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 มิ.ย.) โดยต้องการทราบว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับอยู่รอดได้อย่างไรในช่วงเวลานี้ที่การตลาดสื่อหนังสือพิมพ์ค่อนข้างลำบาก

บ.ก.ทั้ง 6 รายเปิดเผยกับอิระวดีว่ารู้สึกแปลกใจที่ประเด็นการเงินของหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องที่ทางแผนกสอบสวนพิเศษสนใจ และปฏิบัติเหมือนกับกำลังสืบสวนคดีคอร์รัปชั่น

ทั้งนี้ บ.ก.ที่ถูกสอบสวนเปิดเผยด้วยว่า แผนกสอบสวนพิเศษมีแผนจะสืบสวนสอบสวนสื่อเอกชนทุกฉบับ รวมถึงสื่อของรัฐและสื่อของพรรคการเมืองต่างๆด้วย

ทัน ไทก์ ทู บ.ก. ของ เมียนมาร์ โพสต์ ซึ่งทางแผนกสอบสวนพิเศษเข้ามาสอบถามเขาที่สำนักงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (21 มิ.ย.) เปิดเผยว่าทางแผนกสอบสวนพิเศษบอกกกับทางผู้ที่ถูกสอบถามว่า ต้องการรู้รายละเอียดทางการเงิน เป็นต้นว่าได้ทุนมาจากไหน ค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้าง ยอดขายเท่าไหร่ และอยู่รอดอย่างไรหากขาดทุนทุกๆ สัปดาห์

ขณะที่ จอว์ มิน ชเว บรรณาธิการบริหารของ เดอะวอยซ์ วีกลีย์ วิพากษ์การทำงานของแผนกสอบสวนคดีพิเศษว่า กำลังทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง “พวกเขาไม่มีเอกสารราชการของทางกระทรวงที่ให้อำนาจในการสืบสวนสอบสวน นี่ดูเหมือนการคุกคามเสรีภาพสื่อ” เขากล่าวด้วยว่า สื่อของเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากใครทั้งนั้น ทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขียนสนับสนุนรัฐบาลด้วย ขณะเดียวกันก็นำเสนอเรื่องการปฏิรูป การเลือกตั้ง และการส่งเสริมการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน “เราได้รับคำเตือนจากคณะกรรมการเซ็นเซอร์ในอดีต และถูกระงับใบอนุญาตตีพิมพ์ชั่วคราว 6 ครั้ง รวมถึงเคยถูกฟ้องร้องโดยกระทรวงเหมืองแร่ด้วย

สำหรับนิตยสาร The Unity journal นั้นเพิ่งมีเหตุนักข่าว 4 คนถูกรัฐบาลฟ้องร้องกรณีรายงานข่าวเกี่ยวกับโรงงานผลิตอาวุธเคมีไปเมื่อต้นปีนี้

หนังสือพิมพ์รายวันของเอกชนในพม่า เพิ่งได้รับการอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้วหลังจากที่ถูกปิดกั้นมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่เมื่อเริ่มชิมลาง ก็ต้องต่อสู้กับภาวะขาดทุนอย่างหนัก มีรายงานว่าหนังสือพิมพ์รายวันบางแห่งขาดทุนถึงวันละ 3,000 เหรียญสหรัฐต่อวัน

เรื่องนี้ ทัน ไทก์ ทู กล่าวว่า แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะขาดทุนทุกสัปดาห์ แต่ก็ยังอยู่รอดได้ และมีที่มาที่ไปทางการเงินชัดเจน ไม่มีอะไรเป็นความลับ ซึ่งในอดีตนั้น สื่อมักได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายผู้มีอำนาจและรัฐมนตรี นี่จึงเป็นเหตุให้ทางแผนกสอบสวนพิเศษสนใจว่า ขณะที่ราคาต้นทุนหนังสือพิมพ์ตกฉบับละ 300 จ๊าด ทำไมถึงตรึงราคาขายอยู่ที่ฉบับละ 100 จ๊าดได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท