Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เดือนมิถุนายน ของทุกปีจะเป็นช่วงที่ฝนตกค่อนข้างมาก น้ำฝนที่ตกลงมาจะชะล้างหน้าดินไหลลงสู่ลำน้ำต่างๆ ทำให้น้ำในลำน้ำกลายเป็นสีแดง คนหาปลาจึงเรียกช่วงนี้ว่า “ฤดูน้ำแดง” หน้าดินที่ถูกชะล้างจะนำเอาบรรดาจุลินทรีย์ปะปนมาด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารชั้นเลิศของบรรดาสัตว์น้ำน้อยใหญ่ ฤดูน้ำแดง ยังเป็นช่วงที่ปลาจำนวนมากหลากหลายชนิดเริ่มตั้งท้อง พฤติกรรมของปลาน้ำจืดก็คือ พวกเขาจะต้องแหวกว่ายทวนน้ำขึ้นไปว่างไข่ยังพื้นที่ต้นน้ำ หรือตามริมตลิ่งเพื่อวางไข่ ตามรอบริมสองฝั่งแม่น้ำมูนซึ่งคราครั่งไปด้วยป่าบุ่ง – ป่าทาม จึงเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การวางไข่ของปลาอย่างดี ในช่วงนี้จึงปลาช่วงที่ปลาจากแม่น้ำโขงจะต้องเดินทางอพยพเดินทางเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำมูน แต่ก็ไม่สามารถเดินทางเข้าสู่แม่น้ำมูนได้ เพราะประตูเขื่อนปากมูลปิดกั้นไว้

โศกนาฏกรรมคนหาปลา
นับตั้งแต่ความขัดแย้งกรณีเขื่อนปากมูล ที่เริ่มต้นในปี 2533 ส่งผลให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการพัฒนาประเทศ  โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้ที่อยู่ในท้องถิ่น ที่ต้องแลกกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผลการศึกษาจำนวนมาก ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในทุกด้านของโครงการเขื่อนปากมูล ซึ่งไม่เพียงทำลายระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ยังล้มเหลวในการสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้า และการชลประทาน ตามวัตถุประสงค์หลักของการสร้างเขื่อน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ไม่อาจยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว และได้พยายามต่อสู้ปกป้องความล้มเหลวของการดำเนินโครงการ ทั้งที่ นักวิชาการทั้งในประเทศ และในระดับโลก ได้พยายามอธิบายผลกระทบ และการได้ไม่คุ้มเสียที่เกิดขึ้น ผ่านงานศึกษาหลายชิ้น  โดยเฉพาะงานศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก(WCD) ในปี 2543  ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯที่เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของธนาคารโลก เนื่องจากแรงกดดันจากนานาชาติ ในประเด็นผลกระทบและการทำลายระบนิเวศจากการสร้างเขื่อน

เขื่อนปากมูล เป็น 1 ใน 10 เขื่อนทั่วโลก ที่ได้รับการคัดเลือกให้มีการศึกษาแบบละเอียดในทุกด้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด และอ่อนไหวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผลการศึกษา สอดคล้องกับการศึกษาจำนวนมากในประเทศ แต่ทุกรัฐบาล ไม่ได้ใช้ผลการศึกษาดังกล่าว เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนาน

นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน และที่ผ่านมามีดำเนินการหลายอย่างในการแก้ไขปัญหาจากฝ่ายรัฐ แต่มักจะละเลยมิติทางด้านนิเวศวิทยา สนใจเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถประมวลสรุปได้ ดังนี้

1) บริเวณปากมูลช่วงก่อนการสร้างเขื่อน ระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์มาก ประกอบไปด้วยแก่งใหญ่น้อยมากกว่า 50 แก่ง และประกอบขึ้นเป็นระบบนิเวศย่อยที่เรียกว่า ขุม วัง เวิน โบก เป็นต้น สภาพเช่นนี้มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลา นอกจากนี้แล้ว พื้นที่รอบริมตลิ่งแม้น้ำมูลที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น คือ “ป่าบุ่ง ป่าทาม” ยังอุดมไปด้วยพรรณพืช 265 ชนิด มีธาตุอาหารสูง (ดินตะกอนแม่น้ำ) เหมาะต่อการปลูกพืชผัก และชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรริมมูล

การสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำมูล เป็นการขัดขวางเส้นทางอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงสู่แม่น้ำมูล และจากแม่น้ำมูล กลับไปสู่แม่น้ำโขงตลอดทั้งปี การกักเก็บน้ำเหนือเขื่อน ส่งผลให้เกิดการสูญเสียแก่งธรรมชาติและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้านอื่นๆ รวมถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับแก่งในฐานะที่เป็นสถานที่สำคัญในเชิงนิเวศวิทยาสังคม  ผลกระทบที่สำคัญคือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่ของพันธุ์สัตว์น้ำ  การเกิดตะกอนทับถมแก่ง  และการเกิดวัชพืชตามแก่ง  การสูญเสียความงดงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแก่งธรรมชาติต่างๆ และการสูญเสียกิจกรรมทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งใช้แก่งธรรมชาติต่างๆ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมตามความเชื่อของชุมชน

2) ชุมชนที่อยู่สองริมฝั่งแม่น้ำมูลเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่สืบย้อนไปได้กว่าหลายร้อยปี บรรพบุรุษของพวกเขาเลือกตั้งถิ่นฐานจากความอุดมสมบูรณ์ของปลาและทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำมูล ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นอาชีพหลักในการสร้างรายได้ ขณะเดียวกันทรัพยากรที่มีอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำมูลก็เป็นแหล่งอาหารสำหรับชาวบ้าน ส่วนในพื้นที่สูงขึ้นไปมักจะเป็นดินปนหินซึ่งไม่เหมาะต่อการทำการเกษตร ชาวบ้านจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน

3) การสร้างเขื่อนปากมูล ได้ทำลายวิถีชีวิตชาวประมง ชาวบ้านในชุมชน คนหนุ่มสาวในวัยแรงงานจำนวนมากละทิ้งชุมชน ไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น สถาบันครอบครัวล่มสลาย ส่งผลให้โครงสร้างประชากรของชุมชนขาดสมดุล แต่ละชุมชนเหลือเพียงเด็กและคนแก่  ความสูญเสียที่เกิดจากการขาดรายได้เฉพาะอาชีพประมง คำนวณได้ปีละ 140 ล้านบาท ยังไม่นับความสูญเสียที่เกิดจากการทำลายระบบนิเวศสองฝั่งแม่น้ำ ที่เป็นแหล่งอาหาร การทำลายเกาะแก่ง ที่เป็นแหล่งรายได้การท่องเที่ยว นอกจากนั้น การใช้ประโยชน์เขื่อนปากมูล ยังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่คิดว่าตนถูกทำลายฐานทรัพยากร กับกลุ่มคนที่ปรับตัวได้หรือมีบทบาทในการปกครอง ที่ต้องการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐ ทำให้ชุมชนปากมูลเกิดความแตกแยกขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

การล่มสลายของวิถีชีวิต และชุมชน นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมหลักและวัฒนธรรมประจำถิ่นที่เกี่ยวโยงกับการหาปลาในแม่น้ำมูล ส่งผลให้เกิดความยากจน และคุณภาพชีวิตที่ลดต่ำลง

4) มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการล่มสลายของชาวประมงด้วยมาตรการหลายอย่าง ทั้งการสร้างบันไดปลาโจน การสร้างศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวนกว่า 299 ล้านตัว(ปลาและกุ้งก้ามกราม) รวมทั้งการพยายามในการเปลี่ยนอาชีพชาวประมงให้หันมาทำการเกษตรด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า 1,162 ล้านบาท สำหรับจัดสร้างสถานีสูบน้ำจำนวนมาก ทั้งที่การศึกษาจากหลายหน่วยงานพบว่า ชาวบ้านไม่นิยมทำนาปรัง เนื่องจากสภาพของดินและภูมิประเทศ ความพยามทั้งหมดจึงไม่เกิดประสิทธิผล (ตั้งเป้าพื้นที่ชลประทานไว้ 160,000 ไร่ ดำเนินการผ่านมา 20 ปี ได้พื้นที่ชลประทาน 4,606 ไร่ คิดเป็น สัดส่วน 2.87875 %)

5) การทดลองเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลในปี 2544-2545 ทำให้เกิดการฟื้นฟูของระบบนิเวศอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านมีรายได้จากการจับปลามากขึ้น ความขัดแย้งต่างๆลดลง วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆกลับคืนมา

6) การผลิตไฟฟ้าของเขื่อนปากมูล ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าจะผลิตปริมาณไฟฟ้าได้เกินกว่าเป้าหมาย แต่เมื่อหักรายจ่ายแล้ว พบว่ามีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าเหลือปีละ 99 ล้านบาท เมื่อคิดว่าต้องแลกกับการสูญเสียรายได้ครัวเรือนประมงปีละ 140 ล้านบาท  เขื่อนปากมูลจึงมีมูลค่าขาดทุนไม่น้อยกว่าปีละ 40 ล้านบาท ไม่นับรวมค่าความเสียหายที่เกิดจากการทำลายระบบนิเวศ และความล่มสลายของชุมชน ที่ไม่อาจคำนวณเป็นตัวเลขได้
 


แฟ้มภาพ (2556)

วิบากกรรมคนแม่มูน : ข้อตกลง สัญญาลวง ของรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ไม่ต่อเนื่องทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข
หลังจากที่เขื่อนปากมูลเปิดใช้งาน ในปี 2537 เป็นต้นมา มีผลการศึกษาจำนวนมากที่สอดคล้องกันว่า การสร้างเขื่อนปิดกั้นที่ปากแม่น้ำมูล ทำให้ชนิดของปลาในแม่น้ำมูลลดลงเป็นจำนวนมาก  มีปลาจำนวนมากถึง 169 ชนิด ที่ไม่มีรายงานการจับได้เลยนับตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อน แม้ว่า กฟผ.จะได้พยายามสร้างบันไดปลาโจนเพื่อแก้ปัญหาการอพยพของปลา แต่ผลการศึกษาได้ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของการแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าว ผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ รายได้และอาหารจากการจับปลาของชาวบ้านลดลงจนนำไปสู่การดิ้นรนแสวงหาอาชีพใหม่เพื่อความอยู่รอด โดยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเขื่อนปากมูล ก็ไม่ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ขณะที่ชาวบ้านที่เป็นคนหาปลา ต้องชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐบาลชุดต่างๆ เพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งสามารถประมวลข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาของแต่ละรัฐบาล ได้ ดังนี้

1) ปี 2540 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ชาวบ้านปากมูนได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา และเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2540 รัฐบาลได้มีข้อตกลงกับสมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ว่าเห็นชอบในหลักการว่า ให้ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชาวบ้านครอบครัวละ 15 ไร่ โดยคิดอัตราไร่ละ 35,000 บาท แต่ต่อมาพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้อสรุปดังกล่าวจึงไม่มีการดำเนินการ

2) ปี 2543 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย (รัฐบาลชวน 2) ชาวบ้านปากมูนก็ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งต่อมารัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้น ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกลางฯ ได้มีข้อสรุปเสนอต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2543 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ กฟผ. เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน

3) ปี 2544 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ชาวบ้านปากมูนก็ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเขื่อนปากมูล ซึ่งรัฐบาลได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2544 เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง  8 บานสุดบานประตูเป็นระยะเวลา 4 เดือน(พ.ค.-ส.ค.44 ) และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดทำโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล

และในวันที่ 11 ธันวาคม 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ กฟผ.ขยายเวลาในการเปิดประตูระบายน้ำออกไปให้ครบ 1 ปี เพื่อให้การศึกษาได้ครบรอบวัฏจักรการอพยพของปลาและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ตามหลักวิชาการ ในเดือนสิงหาคม 2545 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้สรุปผลการศึกษาโดยเสนอทางเลือกให้กับรัฐบาล โดยเสนอว่าทางออกที่ดีที่สุดคือ การเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลตลอดปี ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม  2545 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เปิดประตูระบายน้ำปีละ 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1  กรกฎาคม ถึง 31  ตุลาคมของทุกปี ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเสนอของการศึกษา และชาวบ้านไม่ยอมรับ

4) ในปี 2550 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ชาวบ้านปากมูนได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล และต่อมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและให้ดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จากวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ตุลาคม  เป็นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนเป็นต้นไป จนครบ  4  เดือน  โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รักษาระดับน้ำในเขื่อนปากมูลไว้ที่ประมาณ  +106-108 เมตร/ระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองอุบล ซึ่งไม่ได้แก้ไขปัญหาของชาวบ้านเลย และยังซ้ำเติมปัญหาความเดือดร้อนให้หนักมากยิ่งขึ้น

5) ในปี 2553  รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชาวบ้านปากมูนได้ยื่นเรียกร้องและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ขึ้น ต่อมาคณะกรรมการฯ ได้สรุปข้อเสนอการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ยอมดำเนินการ ทำให้ชาวบ้านปากมูนต้องชุมนุมเพื่อเปิดการเจรจา และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 รัฐบาลได้เจรจากับตัวแทนชาวบ้านปากมูน

โดยมีข้อสรุป 3 ข้อ ดังนี้ (1) เห็นควรทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 5 ปี (2) ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 และเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 เกี่ยวกับเรื่องการเปิดปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี คำสั่ง หรือประกาศอื่น ใด ที่ขัดหรือแย้งกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของ ขปส. (3) เห็นควรเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม ให้แก่ผู้มีอาชีพประมง ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล รายละ 310,000 บาท โดยผลการเจรจา ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ยุบสภา ผลการดำเนินการดังกล่าว จึงไม่มีการดำเนินการต่อ

6) ในปี 2555 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชาวบ้านปากมูนได้เรียกร้องและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล โดยรัฐบาลได้ทำการแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ขึ้น โดยมี รมต.นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นประธาน แต่ไม่มีการดำเนินการใด เลย จนกระทั่งชาวบ้านต้องทำการชุมนุมและเปิดการเจรจา ซึ่งผลการเจรจา เห็นชอบร่วมกันในนำข้อสรุปในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ฯ มาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่หลังจากนั้นรัฐบาลก็ไม่ดำเนินการอะไรเลย ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2556 ชาวบ้านปากมูนได้ร่วมกับผู้เดือดร้อนจากการพัฒนาและโครงการพัฒนาของรัฐบาล ในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จัดการชุมนุม ขึ้น และในการชุมนุมครั้ง ดังกล่าว และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ได้มีการ MOU ร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลและตัวแทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) 

โดยในส่วนของกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 เห็นชอบข้อเสนอ ทั้ง 3 ข้อ และให้ดำเนินการ ดังนี้ (1) ให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล จำนวน 1 คณะ (2) ให้นำผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มาใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

แต่หลังจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ต่อการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ดังกล่าว รัฐบาลก็ได้มอบหมายให้ รมต. วราเทพฯ ซึ่งได้มีการเจรจาหลายครั้งโดยรัฐบาลจะแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล แต่ก็ไม่มีการแต่งตั้งกรรมการจนกระทั่งรัฐบาลยุบสภา

ในอุ้งมือของผู้นำ 13 นายก 16 รัฐบาล ปัญหานี้ ยังไม่มีใครกล้าแก้ไข ?
เป็นเวลากว่า 24 ปี ผ่านมา 13 นายก ผ่านมา 16 รัฐบาล แต่ปัญหาความเดือดร้อนจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูลก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข คนหาปลายังคงต้องเดินขบวนเรียกร้อง และยังต้องเรียกร้องอีกต่อไป แม้จะมีข้อมูล มีงานวิชาการจำนวนมากที่ระบุชัดเจนว่าทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนที่สุดคือ การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตลอดปี แต่จนแล้วจนรอดรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครกล้ายืนหยัดในความจริง

ขณะนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารและปกครองประเทศ มีการดำเนินการสะสางปัญหาหลายอย่างด้วยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกคน ทุกภาคส่วนในสังคมไทย ปัญหาที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ก็เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทยเช่นกัน ที่ต้องการความกล้าในการตัดสินใจเช่นเดียวกัน

การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล คือการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ที่ท้าทาย คสช. ว่าจะกล้าหักกับการไฟฟ้าฯ ไหม และจะเลี่ยงบ่ายเบี่ยงเช่นผู้มีอำนาจที่ผ่านๆ มา

คสช. กล้าทุบโต๊ะ ไหม ?

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: โศกนาฏกรรมคนหาปลา วิบากกรรมคนแม่มูน ในอุ้งมือของผู้นำ 13 นายกฯ 16 รัฐบาล ปัญหานี้ยังไม่มีใครกล้าแก้ไข?
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net