Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับตั้งแต่รัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศหลายฉบับ เรียกบุคคลในหลายอาชีพเข้าพบเพื่อ “ปรับความเข้าใจ” บุคคลในหลายสาขาอาชีพนี้รวมไปถึงนักการเมือง ผู้ทำกิจกรรมทางการเมือง สื่อมวลชน นักเขียน รวมถึงนักวิชาการ

อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาที่นักวิชาการถูกเรียกให้เข้ารายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร ในจำนวนนี้ มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. อีกส่วนหนึ่งนั้น ปฏิเสธการรายงานตัว หรือหลบหนีจากการเรียกตัวดังกล่าว ในกลุ่มหลังนี้ คสช. ได้ออกหมายจับในโอกาสต่อมา ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในบุคคลดังกล่าวที่ได้รับหมายจับนั้น

บทความนี้จะพูดถึงเรื่องปฏิกิริยาตอบสนองของ คสช. ต่อนักวิชาการที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ รวมไปถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ คสช. ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ ในการยุติกิจกรรมของบุคคลเหล่านั้นในต่างประเทศ โดยอาศัยการประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของไทยในต่างประเทศ รวมไปถึงการขอความร่วมมือจากรัฐบาลท้องถิ่น ในการประสานงานเพื่อให้การติดตามบุคคลที่ได้รับหมายจับเดินทางมายังประเทศไทย

แต่ที่ผ่านมา คสช. อาจลืมนึกไปว่า ข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการเรียกให้หลายๆ บุคคลเข้ารายงานตัวทั้งๆ ที่ไม่มีความผิดใดๆ ไม่ใช่เป็น”ทางเลือก” แต่เป็น “การบังคับ” และหากผู้ใดปฏิเสธที่จะรายงานตัว ก็จะถือว่าละเมิดคำสั่งของ คสช. ทันที จึงอาจกล่าวได้ว่า การเรียกบุคคลจำนวนหนึ่งทั้งๆ ที่รู้ว่า บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้ เป็นกาสร้างกับดัก เพื่อให้มีการ “สร้างความผิด” จากบุคคลที่ไม่มีความผิดมาก่อน

การออกคำสั่งให้คนไทยทุกคนยุติการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. หรือการแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ไม่อาจทำได้กับกลุ่มนักวิชาการที่มีภารกิจหลักในการวิเคราะห์และให้คำชี้นำต่อสังคมอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะนักวิชาการไทยที่พำนักในต่างประเทศ นับว่าเป็นการออกคำสั่งที่ไม่อาจสามารถปฏิบัติได้จริงด้วยเหุตุผลของความชอบธรรม ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งจึงกลายเป็น “เหยื่อ” ทางการเมือง หรืออีกนัยหนึ่ง ได้กลายเป็น”นักโทษทางการเมือง” ไปแล้ว

คสช.ได้มีการพบปะกับกระทรวงการต่างประเทศหลายครั้ง เพื่อย้ำถึงนโยบายที่จะต้องนำตัวผู้ได้รับหมายจับที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ผลที่ปรากฏก็คือ (โดยเฉพาะในกรณีของผม) ได้มีการส่งผู้แทนจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา เพื่อเดินทางมาพบกับผู้บริหารของศูนย์ที่ผมทำงานอยู่ เพื่อรายงานเกี่ยวกับความจำเป็นในการทำรัฐประหาร เพื่อ “กล่าวโทษ” หรือ “ตำหนิ” ผม ในการแสดงความเห็นทางการเมือง ที่ถูกกล่าวหาว่า “อคติ” และ “ไม่เป็นกลาง”

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเกียวโต หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ในโลกที่เจริญแล้ว ย่อมไม่รับแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงกดดันทางด้านการเมือง ในหลายกรณีที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายในต่างประเทศ ตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตของไทยจะเดินทางมาร่วมฟัง และมักจะแสดงความเห็นในเชิงของการให้ความชอบธรรมต่อรัฐประหาร ซึ่งมักสร้างสภาพที่กระอักกระอ่วนใจต่อผู้เข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการเป็นอย่างมาก แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่ระดับของการต่อต้านรัฐประหารที่สูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหากมีความเกี่ยวโยงกับราชวงศ์ของไทย กรณีของฉัตรวดี “โรส” อมรพัฒน์ ที่ได้โพสต์ข้อความจาบจ้วง จนเป็นเหตุให้ คสช. ต้องดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดในการติดต่อประสานงานกับทางการของประเทศอังกฤษในการส่งตัวคุณโรสกลับมารับโทษที่ประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจำเป็นต้องเป็นตัวกลางในการประสานงาน ขณะที่ต้องใช้ทั้งแรงกดดันหรือข้อต่อรองกับทางการอังกฤษเพื่อของให้มีการส่งตัวกลับคุณโรสให้ได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้

ในฐานะที่ผมเองเคยรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน และในฐานะที่ผมเองตกอยู่ในสถานการณ์ของการถูกไล่ล่าอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบธรรม ผมขอเสนอความเห็นต่อกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินการด้านประสานกับต่างประเทศ ในเรื่องการไล่ล่าผู้ไม่เห็นด้วยกับ คสช. หรือการดำเนินการใดๆ ทางกฎหมาย รวมไปถึงจุดยืนของกระทรวงการต่างประเทศเองต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทย และการตอบสนองต่อคำสั่งของ คสช. ว่าควรเป็นไปในทิศทางใด

เป็นที่เข้าใจได้ว่า กระทรวงการต่างประเทศก็เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ ที่ต้องนำนโยบายของรัฐบาล (หรือในกรณีนี้ คสช.) ไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศถือเป็นประตูด่านแรกของไทยในการติดต่อกับประชาคมโลก จุดยืนของกระทรวงการต่างประเทศ (แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลและนโยบายต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง) จำเป็นต้องมีความคงเส้นคงวาในเรื่องที่มีความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติ จุดยืนที่ไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็นั้นคือ การเคารพต่อหลักการประชาธิปไตย การที่กระทรวงการต่างประเทศตกเป็นเครื่องมือหนึ่งของ คสช. ในการไล่ล่าผู้เห็นต่างโดยเฉพาะนักวิชาการในต่างประเทศนั้น นับว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อจุดยืนหลักของไทย ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาช้านาน (แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบสักเท่าใด) การใช้แรงกดดันกับสถานการศึกษาในต่างประเทศนั้นๆ เป็นเรื่องที่ควรจะต้องงดเว้น สถาบันการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่เปิดโอกาสให้แรงกดดันจากภายนอกเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจกิจการของมหาวิทยาลัยเอง

ในกรณีของญี่ปุ่น เป็นที่รู้กันว่า มหาวิทยาลัยนั้นมีอำนาจของตัวเองสูง (autonomy) ที่จะไม่รับคำสั่งจากนอกประเทศ หรือแม้แต่คำสั่งจากรัฐบาลของญี่ปุ่นเอง การยังคงใช้แรงกดดันจากไทยในการสั่งให้ญี่ปุ่น “ปิดปาก” นักวิชาการในญี่ปุ่นนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ประการต่อไปนั้น การขอความร่วมมือจากต่างประเทศในเรื่องการส่งตัวผู้ต่อต้าน คสช.กลับนั้น ในประเทศที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้มาจากปัญหาความชอบธรรมของ คสช. เองที่ได้ขึ้นสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหาร ขณะเดียวกัน การที่กระทรวงการต่างประเทศยังคงปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. อย่างเคร่งครัดในเรื่องการไล่ล่าผู้เห็นต่างในต่างประเทศนั้น ขัดต่อภาพลักษณ์ที่ คสช. ได้พยายามสร้างภายในประเทศ ภาพที่ต้องการสื่อถึงการปรองดอง และความต้องการของ คสช. ในการปฏิรูปการเมืองไทยให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังที่ คสช. เองก็ได้อ้างมาตลอด

ขณะที่เอกอัครราชทูตของไทยต้องทำงานหนักอย่างมากในการให้ความชอบธรรมต่อ คสช. และการให้ความมั่นใจว่าไทยจะจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ขณะเดียวกัน ก็ขอร้องให้ประเทศนั้นๆ ไล่ล่าผู้เห็นต่าง ดังนั้น นโยบายที่ขัดแย้งกันเองนี้สร้างภาพลักษณ์ในทางลบต่อการทูตของไทย ที่สำคัญ กระทรวงการต่างประเทศควรตระหนักดีว่า ผู้ถูกไล่ล่าที่ขณะนี้มีสถานะเป็นนักโทษการเมืองนั้น แทบจะไม่มีประเทศใดในโลกที่ยินยอมที่จะส่งนักโทษการเมืองกลับไปรับโทษในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็ตาม

ในกรณีของคุณโรสนั้น แม้การทำผิดของคุณโรสอาจจะหนักหนาสาหัส แต่คุณโรสกลายเป็นคนสัญชาติอังกฤษไปแล้ว และเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้ออกมาย้ำหลายครั้งเช่นกันว่า แม้ทั้งสองประเทศจะมีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่เนื่องจากอังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้อังกฤษไม่สามารถส่งตัวคุณโรสกลับมารับโทษที่ไทยได้ นอกจากนี้ ในสายตาของทางการอังกฤษ ความผิดที่เกิดจากการละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ นั้น เป็นความผิด “ทางการเมือง” ซึ่งทำให้กรณีของคุณโรสนั้น ยิ่งได้รับการปกป้องจากอังกฤษมากขึ้น การที่ฝ่าย คสช. และกระทรวงการต่างประเทศยิ่งโหมโรงเรื่องการจับตัวคุณโรสมากเท่าใด ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อ คสช. เองและต่อ “intelligence” ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทั้งๆ ที่รู้ว่าการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีนี้เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังฝืนทำต่อไป

นอกจากนี้ การโหมโรงทำข่าวเรื่องของคุณโรสยิ่งจะนำมาซึ่งการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น การแพร่ขยายของ “ความดัง” ของโรสมากขึ้น ไม่ส่งผลดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างมาก การเปิดโอกาสให้มีผู้เห็นต่างกับ คสช. บ้าง โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการนั้น อาจจะส่งผลดีต่อ คสช. ด้วยซ้ำ เพราะเท่ากับเป็นการแสดงถึงสปิริตของ คสช. เองที่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในกรอบของวิชาการได้ย้ำจุดยืนถึงการต้องการสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย การไล่ล่าผู้เห็นต่างภายในประเทศนั้น ได้รับการประณามจากองค์กรสิทธิมนุษยชนมากเพียงพอแล้ว ดังนั้น การตามล่าผู้เห็นต่างที่อาศัยในต่างประเทศ ยิ่งทำให้ประชาคมโลกมองดูการทำรัฐประหารครั้งนี้แบบหมดความชอบธรรมอย่างที่สุด

จากจุดนี้ กระทรวงการต่างประเทศอาจแนะนำ คสช. ให้คำนึงถึงภาพลักษณ์ของไทยในต่างประเทศให้มากกว่านี้ ส่วนหนึ่งเพื่อคงจุดยืนเรื่องการเคารพในหลักการประชาธิปไตยด้วย กระทรวงการต่างประเทศต้องมีความกล้าทางจริยธรรมในการชี้นำ คสช. มากกว่าที่จะรับคำสั่งและปฏิบัติแม้ว่าสิ่งนั้นจะนำไปสู่การลดความน่าเชื่อถือของกระทรวงการต่างประเทศเอง การที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลล์ส่งเจ้าหน้าที่ไปปกป้องการทำรัฐประหารในเวทีที่ผมได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ที่กรุงบรัสเซลล์นั้น (ซึ่งต่อมา ผมได้เล็คเชอร์ผ่านสไกป์จากนครเกียวโต) เป็นการกระทำที่น่าละอายใจอย่างยิ่งในสายตาผู้ที่เข้าร่วมการประชุมวันนั้น

กระทรวงการต่างประเทศมีบุคลากรที่มีความสามารถและเข้าใจการตอบสนองต่อประชาคมโลกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในยุคที่ไทยนำโดยรัฐบาลทหาร จึงน่าจะเป็นหน่วยงานสำคัญในการให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ คสช. ที่จะไม่ทำให้ภาพลักษณ์ไทยในต่างประเทศเสียหายไปมากกว่านี้

 

ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตรจารย์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net