นิธิ เอียวศรีวงศ์: อำนาจที่ไม่รู้จัก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หลังประกาศจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของคณะทหาร ชาวกัมพูชาและพม่าจำนวนมากเดินทางกลับประเทศอย่างรีบด่วน แม้ว่าประกาศนั้นไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า จะจับแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนส่งกลับในฐานะลักลอบเข้าเมืองก็ตาม อันที่จริงถ้าถูกส่งกลับก็ยังทุ่นค่ารถไปถึงชายแดน

ทำไมจึงต้องรีบกลับ เหตุผลก็คือ ในชีวิตปกติของแรงงานข้ามชาติซึ่งไม่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางการ ต้องเผชิญกับการรีดไถและเอาเปรียบของเจ้าหน้าที่ และเจ้าของกิจการหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว การจัดระเบียบซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะทำอะไร อาจเป็นโอกาสเปิดกว้างแก่การรีดไถเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่มีขีดจำกัดก็ได้ (เช่น ให้เลือกระหว่างการถูกส่งตัวกลับ กับการถูกฟ้องฐานลักลอบเข้าประเทศซึ่งมีโทษจำคุกอยู่ด้วย) ฉะนั้นรีบกลับไปเสียก่อนพร้อมทั้งเงินเก็บจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

เป็นเวลากว่าทศวรรษมาแล้วที่ไทยต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติ เพราะแรงงานไร้ฝีมือและค่าแรงต่ำมีไม่พอในประเทศ แม้แต่สมมติว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัวในอัตราที่สูงดังประมาณการไว้ก่อนหน้า ไทยก็ยังต้องพึ่งแรงงานต่างชาติต่อไป ยิ่งในระยะ 10 ปีข้างหน้า ความขาดแคลนแรงงานก็จะยิ่งตึงเครียดมากขึ้น เมื่อพม่า กัมพูชา และเวียดนามพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไปมากกว่านี้ คาดการณ์กันมานานแล้วภูมิภาคอุษาคเนย์ทั้งภาคจะขาดแคลนแรงงาน (ทั้งไร้ฝีมือและมีฝีมือ) ใน 10 ปีข้างหน้า

ฉะนั้น การอพยพกลับด้วยความตื่นตระหนกของแรงงานข้ามชาติในครั้งนี้ ซึ่งไม่รู้ชัดว่ามีจำนวนเท่าไร (บางแหล่งประมาณการว่าเฉพาะชาวกัมพูชามีกว่าแสน) แต่คงต้องมากพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการตามชายแดนร้องโวยวายเสียงดัง เท่าที่กฎอัยการศึกจะยอมให้ดังได้

และด้วยเหตุดังนั้น จึงมีประกาศของ คสช. ยืนยันว่า ทางฝ่ายผู้ถืออำนาจยังไม่ได้ตัดสินใจชัดเจนว่า จะจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติอย่างไร หากแรงงานพม่าและกัมพูชารู้ข่าวนี้ ก็คงอยู่รอดูท่าทีไปก่อนจะรีบย้ายกลับตามเพื่อนไป

อำนาจสูงสุดที่ คสช. ยึดไว้ได้นั้น ต้องมาเผชิญกับอำนาจอีกอย่างหนึ่งซึ่งประชาชนในอุษาคเนย์ใช้ต่อสู้กับอำนาจรัฐมาตั้งแต่โบราณ นั่นคือ อำนาจเท้า สิ่งที่ผู้ปกครองรัฐโบราณของอุษาคเนย์กลัวที่สุดก็คือ ประชาชนจะใช้อำนาจนี้พาตัวเองออกไปจากรัฐที่เรียกเก็บส่วยสินค้าหรือแรงงานสูงเกินไป เพราะรัฐโบราณในภูมิภาคนี้ล้วนตั้งอยู่ไม่ไกลจากดินแดนปลอดรัฐ คือเขตป่าเขาหรือเกาะแก่งในท้องทะเล ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจปกครองของใคร หากรัฐใดสูญเสียกำลังไพร่ไปกับอำนาจเท้ามาก ๆ รัฐนั้นก็จะเสื่อมโทรมลง จนในที่สุด ก็อาจตกเป็นประเทศราชของคนอื่น

การยอมรับอำนาจรัฐนั้นเป็นการเลือกของคนจำนวนมาก ที่ยังอยู่ในรัฐก็เพราะเลือกจะอยู่ ที่กลายเป็น "คนป่า" ก็เพราะเลือกจะเป็นคนป่า แม้รัฐสมัยใหม่ไม่เหลือพื้นที่ปลอดรัฐให้ใครอีกแล้ว แต่ประชาชนระดับล่างสุดซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นแรงงานข้ามชาตินี่แหละที่ยังเหมือนประชาชนในรัฐโบราณ นั่นคือ ยังมีทางเลือกจะอยู่หรือไม่อยู่ในรัฐได้ในระดับสูงกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ เพราะในฐานะคนระดับล่าง เขาก็ไม่ค่อยได้อะไรจากรัฐอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐของเขาเอง หรือรัฐของคนอื่นที่อพยพเข้าไปทำมาหากิน

อำนาจเท้าเป็นอำนาจอีกอย่างหนึ่งที่กองทัพซึ่งยึดอำนาจบ้านเมืองในทุกแห่ง ไม่ค่อยรู้จัก

ในช่วงเวลาใกล้กันกับเรื่องแรงงานข้ามชาติ ก็มีเรื่องที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้วยเงิน 3.3 ล้านบาท ข่าวคราวในระยะแรกดูเหมือนผู้ใหญ่ใน คสช. ก็ให้ความเห็นชอบ แม้ไม่มีในรายละเอียด แต่ก็เห็นชอบโดยหลักการ

เกือบจะเป็นการสวนทันควันทันที คือคำวิจารณ์จากสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทีแรกก็เย้ยว่า ยกเอาโครงการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาทั้งดุ้น (ซึ่งทำให้เกิดคำถามกับความชอบธรรมในการยึดอำนาจ) แถมยังเป็นโครงการที่ศาลรัฐธรรมนูญและพรรคฝ่ายค้านต่อต้านมาอย่างอื้อฉาว ต่อมา เมื่อรายละเอียดของโครงการปรากฏเป็นข่าวมากขึ้น คำวิจารณ์ก็ขยับไปสู่เนื้อหาของโครงการ เช่น ด้วยเงินจำนวนที่สูงกว่า เหตุใดจึงไม่มีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นการ "ปฏิวัติ" ระบบขนส่งของไทยให้ทันกับเพื่อนบ้าน

มีคนตั้งคำถามกับการลงทุนผิดประเภทไปกับสายการบินแห่งชาติ ซึ่งประสบการขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาหลายปี เพราะไม่เคยถูก "ยกเครื่อง" ด้านการบริหารภายในเลย (เช่น แทนที่จะซื้อเครื่องบิน เอาเงินมาจ้างให้พนักงานที่มีล้นเกินออกเสียบ้างจะดีกว่า อย่างน้อยเงินก็ยังไหลอยู่ในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา) เงินจำนวนมากขนาดนี้ ไม่มีทางจะได้มาโดยทางอื่นใดนอกจากการกู้ ซึ่งเคยเป็นจุดอ่อนของโครงการตามข้อเสนอของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต่อมาสื่อกระแสหลักซึ่งอยู่ในความควบคุมของ คสช. ก็เริ่มมีบทความวิจารณ์โครงการนี้บ้าง (แม้อย่างไม่รุนแรงและตรงไปตรงมาเท่าไหร่)

ในที่สุด หัวหน้า คสช. ก็ต้องออกมาปฏิเสธว่า โครงการนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติ เป็นเพียงข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมเท่านั้น (หลังจากเป็นข่าวมาร่วม 10 วันแล้ว) พร้อมกันนั้นก็ยืนยันว่าหนี้ของรัฐบาลไทยยังไม่เกินเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้

นี่ก็เป็นอำนาจที่กองทัพไม่รู้จักอีกอย่างหนึ่ง ซ้ำเป็นอำนาจที่ซับซ้อนกว่าอำนาจเท้าของแรงงานข้ามชาติเสียอีก

ความซับซ้อนอันแรกคือ "ออนไลน์" หรือเส้นทางสื่อสารบนพื้นที่ไซเบอร์ ในขณะที่อำนาจรัฐหลายแห่งพยายามเข้าไปควบคุมมัน ทั้งด้วยอำนาจดิบที่ถืออยู่ในมือ และอำนาจเทคโนโลยีซึ่งต้องคิดหรือซื้อมาใช้ แต่อำนาจรัฐเป็นฝ่ายวิ่งตามตลอดมา เพราะเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง การแสวงหากำไรในตลาดทำให้เกิดเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่อยู่ตลอดเวลา รัฐต้องคิดหรือซื้อเทคโนโลยีใหม่เพื่อไล่ตาม แต่ก็ไม่เคยตามทัน เพราะเมื่อเทคโนโลยีเป็นสินค้า ก็ย่อมมีผู้คิดสินค้าใหม่ที่ไม่เหมือนเก่ามาขายเสมอ

อำนาจรัฐบนพื้นที่ไซเบอร์ทุกแห่งจึงมีช่องโหว่เสมอ แม้แต่ในจีนซึ่งผู้มีอำนาจในไทยอยากใช้เป็นต้นแบบ ก็มีช่องโหว่มากมาย

ปัญหาคือกองทัพจะใช้อำนาจอะไร เพื่อเอาชนะอำนาจของเทคโนโลยีการสื่อสารบนพื้นที่ไซเบอร์ซึ่งกองทัพไม่รู้จัก และว่าที่จริงก็ไม่มีใครรู้จักมันพอจะควบคุมมันได้จริงสักคน

ความซับซ้อนประการที่สอง คือ สื่อกระแสหลัก เมื่อกองทัพทำรัฐประหาร อำนาจที่ควบคุมสื่อกระแสหลักจึงกลายเป็นสองอย่าง หนึ่ง คือ อำนาจของ คสช. และสอง คือ อำนาจของเจ้าเก่า ได้แก่ ตลาด อำนาจเจ้าเก่านี้ไม่เคยจากไปไหน และมีภาษีเหนือกว่าอำนาจใดก็ตามที่เข้ามาแบ่งปันอำนาจไปถือร่วมด้วยเสมอ อย่าลืมว่าสื่อคือธุรกิจ ซ้ำในสมัยนี้เป็นธุรกิจเต็มตัว เรื่องที่อื้อฉาวขนาดนี้ในสื่อออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ค จะให้สื่อซึ่งมุ่งขายตลาดเป่าสากอยู่ได้อย่างไร เสนอตรง ๆ ไม่ได้ก็ต้องเสนออ้อม ๆ พูดบนบรรทัดไม่ได้ก็พูดระหว่างบรรทัด เขาทำหนังสือพิมพ์ขายนะครับ ไม่ได้ทำหนังสือพิมพ์แจก และความขายได้คือ ทางมาแห่งโฆษณา

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ทีวี ซึ่งเคยเป็นสื่อเซื่อง ๆ ของรัฐตลอดมา บัดนี้เขาลงทุนหากำไรกับทีวีเป็นพัน ๆ ล้าน ซ้ำยังต้องแข่งกันอย่างถึงพริกถึงขิง ไม่ช้าก็เร็ว ทีวีย่อมต้องตอบสนองต่อเจ้าพ่อ คือตลาดมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จะไม่พูดถึงการใช้เงิน 3.3 ล้านล้านสักแอะเดียว ใครจะดูช่องคุณล่ะครับ

อำนาจอะไรเล่าครับที่เก่งพอจะคุมอำนาจตลาดได้ รัฏฐาธิปัตย์หรือ? แปลว่าอะไร ใครรู้ช่วยบอกที

ความซับซ้อนแห่งอำนาจอย่างที่สาม คือ อำนาจแห่งการวิจารณ์ การวิจารณ์คือการประเมิน (ด้วยอคติ - รัก โลภ โกรธ หลง - หรืออย่างเที่ยงธรรม หรือด้วยความรักชาติ รักทหาร) คือท่าทีของการทำให้วัตถุแห่งการประเมินด้อยอำนาจลง อย่างน้อยก็ชั่วคราว แต่การประเมินของสาธารณชนกลายเป็นวัฒนธรรมปกติในสังคมไทยมานานแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นการประเมินที่มีคุณภาพหรือไม่ก็ตาม) กองทัพจึงต้องมาเผชิญกับอำนาจที่ไม่รู้จัก และไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร อีกอย่างหนึ่ง ห้ามวิจารณ์โดยเด็ดขาด ก็ฝืนธรรมชาติมนุษย์ ให้วิจารณ์ได้บ้าง ก็ไม่มีทางจะขวางกั้นมิให้กลายเป็นตำหนิอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในสื่อที่กองทัพคุมไม่อยู่ (บนพื้นที่ไซเบอร์ และสื่อต่างประเทศ)

อำนาจสูงสุดที่ไม่มีกฎหมาย, ประเพณี, ความชอบธรรม, หรือความยินยอมพร้อมใจรองรับ ต้องรักษาความเป็นอำนาจสูงสุดไว้อย่างไม่เสื่อมคลายเลย จึงเปิดพื้นที่ให้แก่การวิจารณ์ไม่ได้ เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า การประเมินย่อมทำให้วัตถุที่ถูกประเมินด้อยอำนาจลง ความด้อยอำนาจแม้ในระยะเวลาอันสั้นก็มีอันตรายอย่างใหญ่หลวง

ผบ.ทบ. เคยกล่าวก่อนการยึดอำนาจว่า อย่าสู้กับทหาร เพราะจะไม่มีทางชนะ แต่หากอำนาจที่จะสู้กับทหาร ไม่ใช่อำนาจทางทหารเล่า ทหารจะชนะตลอดไปหรือไม่ หลังยึดอำนาจแล้ว ทหารต้องเผชิญกับอำนาจที่ไม่รู้จักอีกมากมายในสังคม อำนาจที่ไม่อาจเอาชนะได้ด้วยการบดขยี้โดยกำลังทหาร และไม่ได้มีเพียงอำนาจไม่กี่อย่างที่ได้ยกมาให้ดูในบทความนี้ แต่ยังมีอำนาจอื่น ๆ ในสังคมไทยอีกมากที่ทหารหรือกองทัพไม่รู้จัก

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่ากองทัพหรือทหารไม่ฉลาด แต่ระบบการศึกษาแผนใหม่ทำให้ทหารก็ตาม, วิศวกรก็ตาม, แพทย์ก็ตาม, โปรแกรมเมอร์ก็ตาม รู้จักความจริงเพียงส่วนเดียวของโลก ซ้ำการศึกษาของไทยยังชวนให้เข้าใจผิดว่าความจริงส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ นี้คือ ทั้งหมดของความจริงในโลก จึงใช้ความรู้ที่เป็นส่วนเสี้ยวของความจริงทั้งหมดที่ตนเชี่ยวชาญไปจัดการกับโลก

ผลก็คือความสูญเสียที่ไม่จำเป็น ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 23 มิ.ย. 2557

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท