Skip to main content
sharethis

ประวิทย์ กสทช. เตือนอย่าหาทางออกให้กับปัญหาซิมดับด้วยวิธีการขยายเวลาใช้มาตรการเยียวยา หวั่นทำรัฐเสียหายซ้ำ และอาจบิดเบือนระบบการแข่งขันของอุตสาหกรรม แนะแจ้งทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ และปล่อยเป็นหน้าที่ผู้ให้สัมปทานรับช่วงต่อ

20 มิ.ย.2557 หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งชะลอ 4 โครงการใหญ่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ไว้ชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อตรวจสอบความโปร่งใส พร้อมทั้งต้องปรับปรุงโครงสร้างและจัดทำเป็นข้อบังคับ ข้อกฎหมาย ในการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน และเกิดประโยชน์กับรัฐอย่างเต็มที่ โดยหนึ่งในโครงการดังกล่าวคือการดำเนินการจัดประมูลคลื่นบนย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ในส่วนที่สัญญาสัมปทานหมดลงตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีกำหนดว่าจะจัดให้มีการประมูลคลื่นย่านดังกล่าวในเดือนสิงหาคมนี้ 

ทั้งนี้ ปัญหาอย่างหนึ่งคือ กรณีที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือหลายล้านเลขหมายจะประสบปัญหาซิมดับหากไม่มีการโอนย้ายออกจากระบบเดิมก่อน 15 ก.ย. 2557 ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดมาตรการเยียวยาตามที่ กสทช. ได้เคยประกาศไว้ โดยในเรื่องนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงในระหว่างการแถลงข่าวคำสั่งของ คสช. ว่า แม้จะมีการชะลอการประมูลคลื่นความถี่ออกไป แต่ยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยสำนักงานจะทำแผนเยียวยาผู้ใช้บริการที่เหลืออยู่ประมาณ 6 ล้านเลขหมายเสนอบอร์ด กสทช. พิจารณา และเสนอต่อ คสช. เป็นการเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ

ขณะที่ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นแผนเยียวยาผู้ใช้บริการที่จะมีการเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาว่ามีเนื้อหาเป็นอย่างไร แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่า ต่อให้มีการจัดประมูลคลื่นทันตามกำหนดเดิมที่ตั้งใจไว้ก็ตาม ปัญหาซิมดับก็จะยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี หากยังมีผู้ใช้บริการที่ไม่โอนย้ายออกจากระบบเดิม เพราะตามแผนเดิมของ กทค. ที่จะจัดประมูลเดือนสิงหาคมนั้น หมายความว่าจะมีการออกใบอนุญาตได้อย่างเร็วที่สุดปลายเดือน หรือต้นเดือนกันยายน ขณะที่วันสิ้นสุดของบริการเดิมคือวันที่ 15 กันยายน ดังนั้นผู้ชนะการประมูลที่จะเป็นผู้ให้บริการต่อไปย่อมไม่สามารถเข้ามารองรับได้ทันการณ์ ไม่ว่าจะเป็นรายใหม่หรือรายเก่า ต่างก็มีสิ่งที่ต้องเตรียมการ ทั้งเรื่องโครงข่ายการให้บริการ ระบบต่างๆ ที่รองรับการให้บริการ หรือแม้แต่แบบสัญญาให้บริการที่ต้องส่งให้ กสทช. พิจารณา ซึ่งปกติต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจพิจารณาพอสมควร

นายประวิทย์กล่าวว่า แม้การจัดประมูลคลื่นความถี่กับปัญหาเรื่องซิมดับจะมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการจัดสรรคลื่นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานเป็นการให้ใบอนุญาต แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นเรื่องคนละส่วนกัน โดยสาเหตุเบื้องต้นของปัญหาซิมดับเกิดจากผู้ให้บริการรายเดิมไม่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการได้ต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม ในปีก่อน กสทช. โดย กทค. เลือกที่จะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการเปลี่ยนผ่าน โดยประกาศใช้มาตรการเยียวยา ที่อนุญาตให้ผู้ให้บริการรายเดิมใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการในส่วนของผู้ใช้ที่ตกค้างอยู่ต่อไป แต่กำหนดระยะเวลาไว้ 1 ปี ดังนั้นเมื่อถึงกลางเดือนกันยายนปีนี้ ปัญหาก็จะกลับมาสู่จุดเดิม

“ประกาศเยียวยานี้ กทค. อ้างว่าเป็นประกาศห้ามซิมดับ แต่ผมเรียกมาตลอดว่าเป็นประกาศ “เลื่อนซิมดับ” คือ ถึงอย่างไรก็ต้องมาถึงวันที่มีการเปลี่ยนผ่าน เพียงแต่ว่าถ้าหากเปลี่ยนผ่านให้ถูกทาง ซิมอาจไม่ดับก็ได้ เช่น ถ้าไม่มีลูกค้าคงค้างอยู่ ก็ไม่มีซิมเหลือให้ดับ การย้ายไปใช้บริการเครือข่ายอื่นจึงถือเป็นทางออกหนึ่ง แต่ทางออกนี้ต้องแล้วแต่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายเลือก ไม่สามารถบังคับย้ายค่ายได้ อีกทางหนึ่งที่ซิมอาจไม่ดับคือ หากทางผู้ให้สัมปทานพร้อมจะรับช่วงจัดให้มีบริการต่อ ก็สามารถรับลูกค้าไปดูแล แบบนี้ก็ไม่เกิดซิมดับเหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนเป็นการโอนหน้าที่การให้บริการระหว่างผู้ให้บริการด้วยกันโดยผู้บริโภคไม่ต้องเดือดร้อน”

นายประวิทย์ระบุด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศเยียวยาฯ มาแต่ต้น และยืนยันว่าไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอนที่จะแก้ปัญหาที่วนมารอบใหม่นี้ด้วยวิธีการที่ผิดเช่นเดิม เพราะเป็นการขยายระยะเวลาให้ใช้คลื่นแก่ผู้ให้บริการออกไปอีกโดยที่ไม่อยู่ทั้งในระบบสัมปทานแบบเดิมและระบบใบอนุญาตแบบใหม่ อีกทั้งในระยะเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาก็ปรากฏข้อมูลชัดเจนแล้วว่า การยืดเวลาให้บริการออกมานั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง แต่รัฐต้องเสียประโยชน์อย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ทรัพยากรสาธารณะถูกใช้ประโยชน์ฟรี ส่วนกรณีที่ประกาศกำหนดว่าให้ผู้ให้บริการต้องนำส่งรายได้ทั้งหมดให้กับ กสทช. หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่จากการรายงานของบริษัททรูมูฟ ระบุว่าผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมาติดลบ นั่นหมายความจะไม่มีการนำส่งรายได้เข้ารัฐเลย และซ้ำร้ายอาจมีการเรียกค่าชดเชยส่วนที่ติดลบ

“บอกได้ว่า ถ้าขยายมาตรการเยียวยาก็จะไม่แก้ปัญหา แต่จะทำให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งตลอดช่วงของการดำเนินมาตรการเยียวยาที่ผ่านมา มีประเด็นปัญหาหลายประการ และ กทค. ก็รู้ดีอยู่แล้ว ผมจึงคิดว่า ถ้าพิจารณาโดยสุจริตจะต้องไม่ยอมให้มีการใช้มาตรการเยียวยาอย่างเดิม แต่จะต้องเร่งป้องกันปัญหาซิมดับด้วยวิถีทางอื่นๆ”

นายประวิทย์กล่าวต่อว่า ตามข้อมูลที่มีการรายงานในปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการที่ตกค้างอยู่ในระบบของบริษัทดิจิตอลโฟนไม่กี่พันเลขหมาย ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีปัญหาเมื่อถึงวันสิ้นสุดมาตรการเยียวยา ส่วนผู้ใช้บริการที่ตกค้างในระบบของบริษัททรูมูฟ ยังมีอีกกว่า 6 ล้านเลขหมาย ในจำนวนนี้เป็นเลขหมายที่มีการใช้งานประจำประมาณ 4 ล้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งโอนย้ายผู้ใช้บริการนับตั้งแต่ตอนนี้

“ตอนนี้ยังพอมีเวลาที่ผู้ใช้บริการจะโอนย้ายได้ทัน โดยเฉพาะในส่วนเลขหมายที่มีการใช้งานประจำ เพียงแต่ต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้ใช้บริการถึงความจำเป็นเร่งด่วน และอำนวยความสะดวกในการโอนย้ายให้กับผู้ใช้บริการ ส่วนในด้านผู้ให้บริการ แม้จะเคยมีข้อตกลงกันเองภายในผู้ให้บริการว่า แต่ละรายมีขีดความสามารถในการให้บริการคงสิทธิเลขหมายรายละ 60,000 เลขหมายต่อวัน แต่สำนักงาน กสทช. ก็สามารถอำนวยความสะดวกให้เกิดข้อตกลงในการหยิบยืมโค้วต้าระหว่างผู้ให้บริการได้ โดยเฉพาะโค้วต้าในส่วนของ CAT และ TOT ซึ่งโดยปกติแทบไม่มีการโอนย้าย เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดในการโอนย้าย ซึ่งหากทุกฝ่ายเร่งทำงานกันจริงๆ คาดว่า 4 ล้านหมายเลข ก็สามารถโอนย้ายได้หมดภายในเดือนเศษ” นายประวิทย์กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net