Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ต่อสู้ หรือต้องสู้ ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด...
อีกกี่คนต้องสังเวยเป็นเหยื่อ กับความอยุติธรรม...

 

อะไรคือสิ่งที่จะประกันได้ว่า ชีวิตของผู้ที่ต่อสู้เพื่อคนอื่น พี่น้องของตน และผู้ที่เผชิญชะตาชีวิตเดียวกันจะอยู่อย่างปลอดภัย   อะไรคือสิ่งที่ประเทศไทยเผชิญตลอดมา และยังหาทางออกไม่ได้ นั้นคือ การบริหารจัดสรรทรัพยากรที่คนส่วนใหญ่ควรจะได้รับ เป็นสิทธิที่คนไทยซึ่งประกอบด้วยหลากเผ่า หลากชาติพันธุ์ หลากศาสนาควรจะได้รับ

กรณีการหายตัวไปของบิลลี่ กะเหรี่ยงแห่งแก่งกระจาน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า คำที่เขียนลงบทตัวบทกฏหมายหรือ รัฐธรรมนูญ กลายเป็นคำที่ลักลั่นในเชิงของผรุสวาจาและการกระทำ  ความขัดแย้งของตัวบทกฏหมาย ที่ตลอดระยะเวลา กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนคนที่ได้ขึ้นชื่อว่า คนไทย  ไท ซึ่งมี ย นี้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง  

แก่งกระจาน เป็นชื่อที่ปรากฏครั้งแรกในโสตของผู้เขียน คราที่สื่อประโคมข่าวเรื่องเครื่องบินตก ผสานกับเรื่องราวของคนที่อยู่บนผืนป่า ซึ่งเรียกตัวเองว่า “กะหร่าง” ส่วนใหญ่ถูกขับไล่ให้ลงมาอยู่ข้างล่าง    คนกะเหรี่ยงและเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือตอนบนได้นำทัพเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องชาวแก่งกระจาน ด้วยการระดมข้าวจำนวนหลายกระสอบเพื่อแจกจ่ายให้กับพี่น้องแก่งกระจาน   การช่วยเหลือเช่นนี้ถือว่าเป็นความช่วยเหลือเฉพาะหน้าเพื่อให้พี่น้องที่ถูกอพยพมีอยู่มีกิน  แต่ก็เป็นการช่วยเหลือที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า  ปัญหาที่พวกเขาต้องกัดฟันสู้ ไม่ได้มีประเด็นเฉพาะการถูกพรากจากลำเนาที่ตนเคยอยู่ แต่เป็นเรื่องของการ  “แล้วฉันจะอยู่อย่างไร”

แล้วฉันจะอยู่อย่างไร”  คือใจความสำคัญที่ผู้เขียนปรารถนาที่จะสะท้อนในบทความชิ้นนี้  ผู้เขียนคงไม่ไปล้ำเลิกที่จะกล่าวโทษใคร หรือตอกย้ำเรื่องของการหายตัวไปของพอละจี รักจงเจริญ หรือ พี่น้องของเขาเรียกชื่อเขาว่า บิลลี่    เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า สภาพที่พี่น้องชาวกะเหรี่ยงโป่งลึกบางกรอยเผชิญนั้นเป็นเรื่องของ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่พวกเขาควรจะได้รับ   เหตุที่จำต้องเรียกว่าเป็นสิทธิที่พวกเขาควรได้รับแล้วนั้น  อันจะหมายความสื่อไปยังว่า ฉันควรจะอยู่อย่างไร หรือ ควรจะทำอย่างไร  คงจะต้องให้สังคมทำความเข้าใจดังนี้

ประการแรก  หากตัดคำว่า เขตป่าสงวนแห่งชาติออกไป  ผืนป่าแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ปาที่อยู่ในการครอบครองดูแลของคนไทยในเขตป่าด้านตะวันตก  ฉะนั้นคนที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้เขาย่อมที่จะอาศัยป่าในการหาเลี้ยงชีพ  การเก็บของป่าเป็นวิถีและวัฒนธรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาในระยะเวลา 10 กว่าปี  แต่เป็นวงจรชีวิตและวัฒนธรรมการดำรงอยู่ของผู้คนทุกกลุ่ม ทุกเผ่าพันธุ์ที่มีมาในระยะเวลานาน   ฉะนั้นการที่จะทำลายผืนป่าที่ตนเองอยู่ เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อไรที่เขาทำลาย เขาก็ไม่มีที่อยู่  ไม่มีแหล่งอาหารไว้บริโภค    การที่ถูกขับไล่จึงกลายเป็นเหตุที่ทำให้การดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้เผชิญกับความคลอนแคลน 

ประการที่สอง  การลงมาอยู่ในเขตที่เจ้าหน้าที่จัดสรรให้ เป็นเพียงการเข้ามาอยู่ เพื่อให้เกิดความสบายใจของทั้งสองฝ่าย  แต่หารู้ไม่ ชาวบ้านจะทำมาหากินอย่างไร  สภาพของพื้นที่ที่ส่วนใหญ่แล้วคนพื้นเมืองได้จับจองทำนา ปลูกไม้ผลกันหมดแล้ว  จึงไม่มีพื้นที่ว่างเพียงพอสำหรับให้คนโป่งลึกบางกรอยใช้เป็นที่ทำกิน  อีกทั้งตัวหมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง  การที่จะเดินทางเข้าออกก็ลำบาก จะมีบางครัวเรือนเท่านั้นที่จะสามารถออกไปทำงานในเมืองและติดต่อกับคนภายนอกได้ เฉพาะผู้ที่มีรถจักรยานยนต์ เท่านั้น   

ประการที่สาม โครงการที่เข้าไปช่วยเหลือ ช่วยได้มากน้อยเพียงใด  มีชื่อโครงการ มีหลักการ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่   เมื่อคนที่อยู่กับป่า เคยหาของป่า พึ่งพาป่า หุงหาอาหารตามที่ตัวเองหามาได้ ต้องมาทำนา ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ การเรียนรู้  และที่สำคัญการเข้าถึงแหล่งน้ำ  หากขาดแหล่งน้ำ  ข้าวนาไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่  การทำนาจึงกลายเป็นภาระ เพราะต้องอาศัยทั้งน้ำ และปุ๋ยบำรุง

ประการที่สี่ ด้วยข้อจำกัดด้านภาษาและการที่จำต้องปรับตัวเพื่อ “อยู่ให้ได้” ในวงล้อมของป่าอุทยาน และพื้นที่ที่ถูกจัดสรร  ส่งผลให้เขาพยายามที่จะหาตัวกลาง เพื่อสะท้อนเรื่องราว ปัญหา สิ่งที่พวกเขาเผชิญให้กับบุคคลภายนอกรับทราบ  ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่อง ของการที่จะเรียกร้องเพื่อหันกลับไปยืน ไปอยู่ในป่าที่เขาจากมา  หรือ การที่จะต้องกล่าวโทษใครอีก   เพราะพวกเขาก็รู้แล้วว่าการต่อรองเชิงอำนาจระหว่างผู้ที่มีสิทธิ์ขาดในการชี้ชะตาของคนบนผืนป่า คงเป็นไปได้ยาก    แต่หากรับทราบความต้องการเกี่ยวกับ แนวทางการต่อสู้ ว่าไม่ได้เป็นเรื่องของความต้องการโคนล้มอำนาจหรือ การที่จะไปขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยาน   ทว่าสารที่จะส่งให้กับพี่น้องคนรอบนอก องค์กรต่างๆได้รับทราบคือ  พวกเขาควรจะได้รับ “สิทธิ” ของการมีชีวิตอยู่อย่างคนปกติทั่วไป   การมีพื้นที่ทำกินเลี้ยงครอบครัว  เพียงแค่เลี้ยงครอบครัว เพียงให้ลูกหลานได้รับการศึกษา และชีวิตได้รับการปกป้อง  เพียงเท่านี้ !!

หากเรื่องประเภทนี้คนไทยด้วยกันไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจ หรือผู้ที่มีอำนาจไม่ยอมที่จะเข้าใจ  ประเด็นปัญหานี้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตกเสียที  แล้วชีวิตแล้วชีวิตเล่าที่ต้องการจะเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ที่มีชะตากรรมเดียวกันคงต้องสูญสลายไปอีกหลายชีวิต

เราปล่อยให้คนไทยด้วยกันทนทุกข์กับการถูกจำกัดเรื่องของ “สิทธิขั้นพื้นฐาน”  หรือ การเข้าไม่ถึงเรื่องสิทธิที่มนุษย์ควรจะได้รับอย่างแพร่หลาย  นั่นคงเป็นคำถามที่ค้างคาใจว่าเหตุไฉนเราสามารถโอนอ่อนผ่อนตาม และเปิดช่องทางให้นายทุนเข้าไปสัมปทานป่าได้อย่างโจ่งแจ้ง  สร้างโรงงานอุตสาหกรรมมโหราฐ  ตบแต่ง รีสอร์ทอย่างดาลดื่น  แต่เราให้พื้นที่ทำกินแก่คนซึ่งมีเลือดเนื้อ  มีหัวใจ และอยู่ด้วยการยังชีพเพียงเล็กน้อยไม่ได้  ตัวบทกฏหมายที่ถูกบัญญัติขึ้น และผู้มีอำนาจที่ใช้กฏหมายควรจะพิจารณาได้แล้วว่า  มันยุติธรรมแล้วหรือ?

 

ฉันขอป่าเพียง ไม่เกิน 10 ไร่ เพื่อพี่น้องได้ทำกิน

ไม่ได้ต้องการครอบครองผืนป่าทั้งผืน  …

 

แด่...ผู้ที่ต่อสู้ด้วยชีวิตและหัวใจ ทุกดวง
ศ.เสรีธรรม
14 มิถุนายน 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net