Skip to main content
sharethis
เรื่องราวเริ่มต้นในหมู่บ้านอันสงบสุขและเงียบสงบท่ามกลางภูเขาสลับซับซ้อนที่ ประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำที่สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ขอตัดบทมาในวันที่พวกเขาต้องส่งหนังสือถึง “ทหาร”
 
วันที่ 24 เมษายน 2557 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ส่งหนังสือเปิดผนึก ขอให้ ผู้บัญชาการทหารบก ดำเนินการสอบสวนวินัย พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และพวก ที่อ้างตัวเป็นนายทหาร ได้เข้ามาข่มขู่คุกคามประชาชนในหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 21 – 22 เมษายน 2557 ในขณะที่ นายปรเมษฐ์ บันสิทธิ์ ลูกชายของ นายปราโมทย์ บันสิทธิ์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่แสดงตัวในฐานะผู้แทนของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เข้ามาในหมู่บ้านและยอมรับกับชาวบ้านว่า บริษัทฯ รู้ว่ามีกลุ่มทหารเข้ามาในหมู่บ้าน แต่ปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับวิธีการ-พฤติกรรมของกลุ่มทหารที่เข้ามาเหล่านั้น
 
วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หลังเกิดเหตุการณ์ "คืน 15 พฤษภาทมิฬ" กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกอีกครั้ง ขอให้ ผู้บัญชาการทหารบก เร่งดำเนินการตรวจสอบนายทหารนอกรีต ทั้งที่ปลดประจำการแล้ว และอยู่ระหว่างรับราชการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจหรือข้ออ้างภายใต้สถานการณ์การประกาศกฎอัยการศึกในการขนแร่ และปราบปรามประชาชนที่ปกป้องสิทธิชุมชนในการคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ และให้มีการลงโทษทางวินัยและกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด
 
วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 หลังการประกาศกฎอัยการศึกและมีการรัฐประหาร กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ส่งจดหมายเป็นฉบับที่ 3 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบนายทหารนอกรีต ทั้งที่ปลดประจำการแล้ว และอยู่ระหว่างรับราชการ ที่เป็นตัวการและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด อย่างเร่งด่วน โดยให้มีการลงโทษอย่างสูงสุดทั้งทางวินัยและดำเนินคดีอาญาหากพบความผิด
 
ขอให้ใช้อำนาจโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนใน 6 หมู่บ้านที่ถูกทำร้ายอย่างทารุณจากการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในเหตุการณ์ “คืน 15 พฤษภาทมิฬ” และเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องจากการข่มขู่คุกคามประชาชนในหมู่บ้านเพื่อขอขนแร่ โดย พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค พ.ท.ปรมินทร์ ป้อมนาค และพวก โดยออกคำสั่งระงับการออกใบอนุญาตขนแร่ และระงับการขนแร่ทั้งหมดของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีการเอาผิดทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชอบให้เป็นที่เปิดเผยอย่างกระจ่าง
 
และ ขอให้มีคำสั่งไม่ให้มีการใช้อำนาจหรือข้ออ้างภายใต้สถานการณ์การประกาศกฎอัยการศึก โดยห้ามไม่ให้ทหารเกี่ยวข้องพัวพันกับการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และใช้ความรุนแรงหรือปราบปรามประชาชนที่ต้องปกป้องความปลอดภัยของตนเอง และปกป้องสิทธิชุมชนในการคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนใน 6 หมู่บ้านเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด
 
ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว ยังคงมีเสียงปืนจากกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายยิงขู่อยู่รอบๆ หมู่บ้าน พร้อมๆ กับกระแสข่าวเรื่อง "คำสั่งจ้างสังหารแกนนำ" จนทำประชาชนทั้งหมู่บ้านหวาดกลัวและไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้อีกต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม หนังสือทั้งสามฉบับ ‘ไม่ได้มีเนื้อหาใดๆ’ ที่ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ‘เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาคามขัดแย้ง’ ระหว่าง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และ ประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
 
แต่กับเนื้อหาในหนังสือที่ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งหรือดำเนินการในเรื่องต่างๆ เหล่านั้น กลับออกมาในทางตรงกันข้าม
 
เมื่อ กองกำลังทหารหลายฝ่ายเริ่มทยอยเข้าไปในหมู่บ้านสอบถามข้อมูลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เปิดเผยชื่อ ตำแหน่ง และสังกัด ภายใต้คำสั่งที่ไม่เปิดเผย
 
และตามมาด้วย คำสั่งห้ามไม่ให้ กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น “ดาวดิน” ข้องเกี่ยวกับปัญหาเหมืองทองคำ ห้ามไม่ให้เข้าหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการคัดค้านรัฐประหาร แต่กลับถูกปิดกั้นความสัมพันธ์ฉันท์ลูกหลานระหว่างดาวดินกับชาวบ้านในหมู่บ้านที่มีใจต่อกันมากว่า 5 ปี
 
ต่อมา มีการนัดหมายตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ภายใต้คำสั่งของ แม่ทัพภาคที่ 2 โดย พ.อ.สวราชย์ แสงผล รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 และ พ.ท.วรวุฒิ สำราญ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 8 ซึ่งแสดงบทบาทอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในการทำหน้าที่เป็นคนกลางเพื่อขอเจรจาไกล่เกลี่ย โดยยกข้อเสนอจะให้ทุ่งคำถอนคดีทั้งหมด 7 คดี อีกทั้งยังให้เหตุผลว่าบริษัททุ่งคำมีการทำเหมืองถูกต้อง ดังนั้นต้องให้บริษัทฯ ขนแร่ทั้งหมด รวมทั้งให้ขนย้ายเครื่องจักรออกไปได้ จากนั้นจะปิดเหมือง แต่เรื่องการเพิกถอนประทานบัตร ทางทหารจะไม่ยกเลิก แต่จะปล่อยทิ้งไว้จนหมดอายุประทานบัตร (25 ปี) โดยลงนามทำความตกลงร่วมกันหลายฝ่าย (MOU) และมีหน่วยงานเข้ามาดูแลจนหมดอายุประทานบัตร
 
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 กองกำลังทหาร 120 นาย ถืออาวุธยกพลเข้าประจำการอยู่ในหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ด้วยคำสั่งสายทหารที่ยังไม่เคยเปิดเผย พร้อมกับการประกาศผ่านสื่อ “เพื่อความปลอดภัยของทั้งชาวบ้านและฝั่งเหมืองทอง” และ “เพื่อสร้างความปรองดอง” ดังนั้น ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง นักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ หยุดการทำงานและให้ออกไปให้หมดจากพื้นที่ในทันที เพื่อให้พื้นที่เหลือเฉพาะชาวบ้านกับฝ่ายเหมืองทองเท่านั้น
 
ปัจจุบัน กองกำลังทหารยังคงปักหลักอยู่ในหมู่บ้าน ทุกวันทหารพรานที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนจะปลดป้ายหรือกระดาษที่มีข้อความในการรณรงค์คัดค้านเหมืองทอง เช่น ถอดถอนประทานบัตร ปิดเหมือง ฟื้นฟู ชดเชย ยกเลิกสัญญา กพร. กับทุ่งคำ ยกเลิกสัญญาน้ำคิว-ภูขุมทอง ฯลฯ และประกาศว่า หากยังไม่มีการตกลงเจรจากันระหว่างชาวบ้านกับเหมืองทอง ห้ามติดป้ายที่มีเนื้อหาเหล่านี้ในหมู่บ้าน
 
นอกจากนี้ยังมีความพยายามหลายครั้งที่จะขอชาวบ้านเพื่อเคลียร์พื้นที่ทำความสะอาดบริเวณสี่แยกกำแพงใจ ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุจุดหนึ่งในเหตุการณ์ คืน 15 พฤษภาทมิฬ และเกี่ยวข้องกับคดีความอาญาและแพ่งทั้งหมด 7 คดีที่บริษัททุ่งคำได้ฟ้องร้องชาวบ้าน 33 คน โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 270 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านได้ปฏิเสธไม่ให้ทหารทำการกระทำดังกล่าวหลายครั้ง เนื่องจาก บริเวณดังกล่าวเป็นที่เกิดเหตุและเป็นวัตถุแห่งพยาน จึงต้องรักษาสภาพเดิมไว้เพื่อการต่อสู้คดี
 
และในที่สุดนายทหารก็ได้อ้างถึง “กฎอัยการศึก” ที่ทหารสามารถทำได้ทุกอย่าง ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านอดกลั้นไว้ไม่ไหว ต้องหลั่งน้ำตา
 
ส่วนอีกด้านหนึ่งเรื่อง คดีคืน 15 พฤษภาทมิฬ มีคำสั่งย้าย พ.ต.ท.รัฐพล เพ็ญสงคราม รองผู้กำกับ สภ.วังสะพุง และมีการย้ายคดีจาก สภ.วังสะพุง ไปที่ สภ.เมืองเลย ตำรวจขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องสงสัย 3 ราย คือ พ.ท.ปรมินทร์ ป้อมนาค ซึ่งเข้ามอบตัวและประกันตัวออกไปแล้ว พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค ตำรวจได้ขอให้ศาลออกหมายจับ แต่เหตุผลด้วยความเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง ศาลจึงออกหมายเรียกให้มารายงานตัว ถ้าไม่มาจึงจะออกหมายจับ ส่วน นายดลชัย อาจแก้ว ถูกตำรวจจับกุมในคืนวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา
 
ทว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ จากวันที่ 15 พฤษภาคม ร่วมเวลาเกือบเดือน ทั้ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อุตสาหกรรมจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดเลย และทหารผู้รับผิดชอบพื้นที่ ทุกฝ่ายล้วนยืนยันให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ว่า บริษัทฯ ได้ทำเหมืองแร่และขอขนแร่อย่าง “ถูกต้องตามกฎหมาย” มาโดยตลอด
 
อีกทั้ง ยังไม่มีการดำเนินคดีหรือดำเนินการอย่างไรทั้งจากตำรวจและทหาร ในการเอาผิดกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในฐานะเจ้าของแร่และเป็นผู้ขนแร่ที่ใช้วิธีการผิดกฎหมายหลายประการต่อการใช้กองกำลังติดอาวุธ 300 คนมาจับมัดชาวบ้าน 40 คนแล้วทุบซ้อมแต่อย่างใด
 
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จัดประชุมเพื่อวิเคราะห์พิจารณาข้อเสนอ 5 ข้อ ของบริษัททุ่งคำผ่านปากคำของนายทหารที่พยายามจะยัดเยียดให้ประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยอมรับ ผ่านสื่อมวลชนหรือการเจรจาซึ่งหน้า มาตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2557 จนถึงวันนี้
 
1. บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขอขนแร่ทั้งหมดในสต๊อก
 
แร่ทั้งหมดที่มีอยู่ ในสะต๊อกของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่แต่งแล้ว 1,900 ตัน ยังไม่แต่อีก 31,140 ตัน ต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นแร่ที่ถูกกฎหมาย
 
ส่วนแร่จำนวน 176 ตัน ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนไม่ทันในคืนวันที่ 15 พฤษภาทมิฬ (พิสูจน์ได้จากใบอนุญาตที่ออกให้ทุ่งคำเป็นผู้ได้รับอนุญาตในการขนแร่ออกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม จำนวน 476 ตัน) หากจะมีการขน จะต้องรอจนกว่าคดีขนแร่ “คืน 15 พฤษภาทมิฬ” จะมีการสืบสวนสอบสวน บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่เป็นเจ้าของแร่และเป็นผู้ขนแร่ และได้ตัวผู้กระทำผิดทั้งหมด รวมถึงการกระทำผิดของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ
 
การใช้ถนนร่วมกับชุมชน ต้องเป็นไปตามระเบียบชุมชน ว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก ที่กำหนดน้ำหนักบรรทุก รถทุกประเภทบรรทุกน้ำหนักวิ่งบนถนนชุมชนได้ไม่เกิน 15 ตัน และบรรทุกน้ำหนักบนทางหลวงได้ไม่เกิน 25 ตัน ตาม พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 (ฉบับปรับปรุงปี 2549) 
 
2. บริษัททุ่งคำ ขอขนอุปกรณ์เครื่องจักรทั้งหมดออก
 
อุปกรณ์เครื่องจักรทั้งหมดเป็นของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด บริษัทฯ มีสิทธิที่จะขนย้ายได้ ยกเว้นอุปกรณ์เครื่องจักรบางชนิดที่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดในเหตุการณ์คืน 15 พฤษภาทมิฬ โดยอุปกรณ์เครื่องจักรเหล่านั้น รวมถึงอุปกรณ์เครื่องจักรอื่นๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบพิสูจน์ เช่น รถเกรดดินและรถเครนที่นำมากระทำความผิดโดยการทำลายกำแพง ยกถุงบรรจุแร่ทองแดงในคืนที่มีการทำร้ายชาวบ้าน และหากจะมีการขนย้ายอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ออกจากเหมืองทอง บริษัทฯ ก็ไม่มีสิทธิที่จะขนน้ำหนักเกินกว่า 15 ตัน ตามระเบียบชุมชน และไม่เกิน ๒๕ ตัน บนทางหลวงชนบท ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 (ฉบับปรับปรุงปี 2549) 
 
3. บริษัททุ่งคำ จะปิดกิจการชั่วคราว  
 
บริษัททุ่งคำ อ้างไม่ได้ว่า ปิดกิจการชั่วคราว เพราะตอนนี้บริษัทฯ ถูกกฎหมายบังคับให้เหมืองทองปิดกิจการอยู่แล้ว เนื่องจากใบอนุญาตต่างๆ ยังไม่ได้รับอนุญาต เช่น ใบอนุญาตให้ใช้ที่ดิน สปก. ในอนุญาตให้ใช้ที่ดินป่าไม้ ยกเว้น ใบประกอบโลหะกรรม
 
4. บริษัททุ่งคำ จะทำการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด จากผลกระทบการทำเหมืองแร่
 
เป็นข้อเสนอที่ดี เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบ คือทั้งหมด 6 หมู่บ้าน โดยเฉพาะเรื่อง อาหาร และน้ำ น้ำกินจะทำอย่างไร ทั้งที่ต้องซื้อกินไปแล้ว และที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า น้ำใช้ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายไป แต่ยังไม่มีการพูดถึง
 
๕. บริษัททุ่งคำ จะฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม ภายหลังหยุดกิจการ  
 
บริษัททุ่งคำ ไม่ได้พูดถึง การเพิกถอนประทานบัตร คำว่า “ภายหลังหยุดกิจการ” หมายความว่า จะทำเหมืองไปจนหมดอายุประทานบัตร 25 ปี แล้วจึงฟื้นฟู หรือ ทำไป ฟื้นฟูไป แต่ถึงจะเป็นอย่างไรก็ตามความต้องการของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านที่ยืนยันมาโดยตลอด คือ เพิกถอนประทานบัตร 112 แปลง หมายถึง ประทานบัตรทั้งหมดของทุ่งคำ
 
ทั้งนี้ การจะดำเนินการอะไรที่บริษัทฯ หรือทหารได้เสนอมานั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการเอาบริษัททุ่งคำมาลงโทษก่อน เนื่องจากมีความชัดเจนว่า บริษัท ทุ่งคำเป็นผู้ขนแร่ตามใบอนุญาต และทำให้เกิดความบาดเจ็บ ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย
 
ส่วนคำอธิบายยาวๆ ผ่านการต่อสู้ของประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ที่เริ่มต้นคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด มาตั้งแต่ปี 2550 แต่การกำกับดูแลจากหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน เพื่อดูแลป้องกันไม่ให้กิจการทำเหมืองแร่ของบริษัททุ่งคำส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
 
เมื่อ เหมืองทองคำสร้างทับอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำ ไต่สวนประทานบัตรเป็นเท็จ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เป็นเพียงตรายาง
 
เมื่อ กระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัททุ่งคำ ตาม ‘สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง’ ที่ให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทุกชนิดกับบริษัททุ่งคำ บนเนื้อที่ประมาณ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่ ที่ทำกันมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2534
 
เมื่อ กพร. ได้รับเงินจากบริษัททุ่งคำ ร้อยละ 1.5 ของผลผลิตหลังจากชำระค่าภาคหลวงแร่แล้ว ในทุกสิ้นเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคมของทุกปี นับตั้งแต่งวดเดือนมีนาคม 2550 ตาม ‘สัญญาการกำหนดขั้นตอนการแบ่งผลผลิต’
 
เมื่อ ภูเขาถูกระเบิด ป่าหายไป ลำห้วย ลำธาร แหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน น้ำฝน ตะกอนดิน นาข้าว พืชพรรณ สัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ปนเปื้อนสารหนู ตะกั่ว แมงกานิส แคดเมียม เหล็ก ทองแดง นิกเกิล โครเมียม ฟีนอล และไซยาไนด์ เกินค่ามาตรฐาน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ น้ำกิน-น้ำใช้ต้องซื้อกิน การหาอยู่หากินเป็นไปด้วยความยากลำบาก
 
เมื่อ เลือดของชาวบ้านปนเปื้อน ปรอท ตะกั่ว ไซยาไนด์ โดยมีผลตรวจที่ยืนยันจากหน่วยงานของรัฐเอง ในปี 2554 พบเลือดของชาวบ้าน 124 ราย จาก 758 ราย ปนเปื้อน ปรอท ไซยาไนด์ เกินค่ามาตรฐาน จนมี มติ ครม. 8 กุมภาพันธ์ 2554 ให้ชะลอการขยายพื้นที่การทำเหมืองในพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรแปลงใหม่ของบริษัททุ่งคำ เอาไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน และให้ศึกษาความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA
 
แต่หลังจากนั้นบริษัททุ่งคำก็ขอประทานบัตรแปลงใหม่เพิ่มอีก 2 แปลง และมีการใช้กองกำลังตำรวจนับพัน บัญชาการโดย พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์ ปิดกั้นชาวบ้านไม่ให้เข้า เวทีพับลิก สโคปปิง ทั้ง 2 ครั้ง
 
เมื่อประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ประกาศใช้ระเบียบชุมชน ว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก ที่กำหนดน้ำหนักบรรทุก รถทุกประเภทบรรทุกน้ำหนักวิ่งบนถนนชุมชนได้ไม่เกิน 15 ตัน และก่อสร้างกำแพงใจ ซึ่งทำให้ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 33 คน ถูกบริษัททุ่งคำฟ้องคดีแพ่งและอาญา 7 คดี เรียกค่าเสียหายมากกว่า 270 ล้านบาท
 
แต่กำแพงใจแต่ละครั้งที่ถูกทำลาย มาจนถึงปัจจุบันกับคำขอเคลียร์พื้นที่สี่แยกกำแพงใจ ก็มีตำรวจเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม และล่าสุดมีทหารมาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ชื่อของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีตำแหน่งเป็น กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของทุ่งคำในเวลานั้น และปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง
 
มิหนำซ้ำ ข้อเสนอในการเจรจาที่ชาวบ้านปฏิเสธไม่รับทุกครั้ง เมื่อบริษัททุ่งคำต้องการจะให้ชาวบ้านทำลายกำแพงใจ เพื่อแลกกับการขนแร่หรืออุปกรณ์เครื่องจักรฯ แล้วจะถอนฟ้องคดี เพราะมันดูไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย เนื่องจากกำแพงใจไม่ได้ปิดตายถนนจนบริษัททุ่งคำไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ และทางสัญจรเพื่อเข้า-ออกเหมืองทองก็ยังมีอีกหลายเส้นทาง แต่บริษัททุ่งคำเองที่ไม่ยอมลงทุนเพิ่มในการทำทางให้รถบรรทุกหนัก ๑๘ ล้อขนแร่ขนสารพิษวิ่งขึ้นเหมืองได้โดยไม่ต้องผ่านถนนชุมชน
 
และเมื่อตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 322 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ เพิกถอนประทานบัตร ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และหนังสือยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของบริษัททุ่งคำ โดยศาลปกครองรับคำฟ้อง และดึงบริษัททุ่งคำเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2550
 
ผ่านคำอธิบายยาวๆ แต่ยังน้อยนิดหากเทียบกับช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ของประชาชนเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชน ปกป้องและรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมายาวนานถึง 7 ปี
 
แม้กระทั่ง นายปราโมทย์ บันสิทธิ์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ได้ยื่นข้อเสนอ จะแบ่งหุ้นให้กับชาวบ้าน 20% จะผลิตทองคำโดยไม่ใช้ไซยาไนด์ จะให้ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน เข้าตรวจสอบการดำเนินกิจการเหมืองแร่ได้ตลอดเวลา และจะแบ่งผลกำไรให้กับชาวบ้านในรูปแบบกองทุน
 
แม้กระทั่ง นายปรเมษฐ์ บันสิทธิ์ ได้ยื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านเปิดการเจรจากับบริษัททุ่งคำอีกครั้ง โดยยกประเด็นจะถอนคดี และบริษัทฯ พร้อมจะพิจารณาเรื่องการ “ปิดเหมือง ฟื้นฟู” เพียงแลกกับการขนแร่
 
แต่ข้อเสนอทั้งหมดล้วนถูกปฏิเสธจากชาวบ้าน
 
ดังนั้น ความเข้มแข็งจากความรักษ์บ้านเกิดที่ชาวบ้านในพื้นที่นี้ได้ต่อสู้มาต่างหาก คือ กำแพงใจที่แท้จริง
 
และสุดท้ายทำให้บริษัททุ่งคำตัดสินใจขนแร่อย่างเลวร้าย โดยใช้กองกำลังติดอาวุธ 300 คน เข้ามาปิดล้อมหมู่บ้าน และจับมัดทุบซ้อมชาวบ้านเพื่อระบายความโกรธเคือง
 
ที่น่าเศร้าไปยิ่งกว่านั้น ภายหลังเหตุการณ์ “คืน 15 พฤษภาทมิฬ” ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับการเพิกเฉยอย่างหน้าไม่อายของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ควรจะมีความรับผิดชอบแต่กลับละเลยเบิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซ้ำร้ายในห้องแห่งความยุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ และประธานกรรมการบริหารบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ทำการไกล่เกลี่ยกับชาวบ้านแต่ล่มไม่สามารถตกลงกันได้ ชาวบ้านยังต้องได้ยินถ้อยคำจากปากของผู้รักษาความยุติธรรมในทำนองว่า การต่อสู้ของชาวบ้านยาวนานช่างน่า “เอือมระอา”
 
คำถามที่ย้อนกลับไปยังทหารในเวลานี้ คือ ทหารกำลังเข้าหมู่บ้าน มาดำเนินการนอกเหนือไปจากที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ร้องขอให้ทหารเข้ามาช่วยเหลือเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน และดำเนินการเอาผิดกับนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดร่วมกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในการขนแร่ที่ทำร้ายชาวบ้าน เท่านั้น
 
การที่ทหารออกหน้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับเหมืองทอง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการขนแร่ทองแดงและเครื่องจักรของเหมืองทอง หรือการเจรจาอื่นๆ ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก ภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร เป็นเรื่องควรไม่ควร
 
ชาวบ้านที่ถูกกระทำ ถูกละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสายน้ำ สายเลือด หยาดเหงื่อ สายน้ำตาล้วนปนเปื้อนไปด้วยสารพิษและความเจ็บช้ำยาวนาน 7 ปี และความต้องการของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน คือ ต้องการให้มีการเพิกถอนประทานบัตรทั้ง 6 แปลงของบริษัททุ่งคำ ต้องการให้บริษัททุ่งคำปิดเหมือง ทำการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และชดเชยความเสียหายจากผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ทหารสามารถใช้เวลา 10 วัน นำอำนาจกองกำลังมาออกคำสั่ง เยียวยารักษา หรือปิดกั้นการต่อสู้ของพวกเขาได้หรือ
 
แต่หากทหารยังยืนยันจะใช้กองกำลังกองทัพมาเป็นตัวกลาง กดดัน จนบริษัททุ่งคำสามารถขนแร่ทองแดงและเครื่องจักรของเหมืองทองออกไปได้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากชาวบ้าน โดยยังมีการตรวจสอบโดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าสินแร่ทั้งหมดที่เหลืออยู่ถูกกฎหมาย โดยคดีขนแร่ “คืน 15 พฤษภาทมิฬ” ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวน บริษัททุ่งคำ ที่เป็นเจ้าของแร่และเป็นผู้ขนแร่ และได้ตัวผู้กระทำผิดทั้งหมด รวมถึงการกระทำผิดของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ โดยไม่เป็นไปตามระเบียบชุมชน ว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก ที่กำหนดน้ำหนักบรรทุก รถทุกประเภทบรรทุกน้ำหนักวิ่งบนถนนชุมชนได้ไม่เกิน 15 ตัน และไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 (ฉบับปรับปรุงปี 2549) บรรทุกน้ำหนักวิ่งบนทางหลวงได้ไม่เกิน 25 ตัน
 
บทบาทของทหารสำหรับการปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ คงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะถูกสังคมมองว่าเลือดเย็นและน่าประณามอย่างที่สุด
 
เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจผ่านกฎอัยการศึก โดยนำกองกำลังติดอาวุธเข้ามาปิดล้อมหมู่บ้าน และบังคับข่มขู่ขืนใจให้ชาวบ้านต้องทำตาม ไม่ต่างไปจากวิธีการบริษัททุ่งคำที่ใช้กองกำลังติดอาวุธมาทำร้ายชาวบ้านเพื่อการขนแร่ในคืน 15 พฤษภาทมิฬ แต่อย่างใด
 
ในประเด็นสุดท้าย ต่อการที่บริษัททุ่งคำเลือกที่จะขนแร่ด้วยวิธีการโหดร้าย การที่ทหารมาทำหน้าที่คนกลางเพื่อเจรจาขนแร่และอุปกรณ์เครื่องจักรฯ ให้กับบริษัททุ่งคำ รวมถึงการให้ข้อเสนอแก่ชาวบ้านอย่างสุดตัว เริ่มจากจะให้ชาวบ้านถือหุ้น 20% จะหยุดกิจการ จะปิดเหมือง ฟื้นฟู ด้านหนึ่งก็อาจจะทำให้มองได้ว่า บริษัททุ่งคำที่กำลังเป็นหนี้ถูกฟ้องล้มละลายและขาดทุนมาหลายปีกำลังจะขอขนทรัพย์สินก้อนสุดท้าย ก่อนถูกยึดทรัพย์จากเจ้าหนี้หรือก่อนจะขายทอดกิจการเหมืองทองแห่งนี้ที่มีที่ดินโฉนดเพียงแค่ 35 ไร่ให้กับนายทุนอื่น
 
และหากบทสรุปของเรื่องราวออกมาเป็นเช่นนั้นจริง การปิดเหมือง ฟื้นฟูจะไม่เกิดขึ้นจริง และคำยืนยันไม่ยกเลิกประทานบัตรทั้ง 6 แปลง แต่จะปล่อยทิ้งไว้จนหมดอายุประทานบัตร 25 ปี โดยการทำความตกลงร่วมกันหลายฝ่าย (MOU) และมีหน่วยงานเข้ามาดูแลจนหมดอายุประทานบัตร ที่ทหารบอกกับชาวบ้านนั้นก็ไม่มีความหมาย หากบริษัททุ่งคำขายทอดกิจการเพื่อให้ผู้ประการการรายใหม่ที่กล้าหาญพอจะเข้ามารับช่วงทำเหมืองแร่ต่อ
 
กระทรวงการคลัง ก็ยังถือหุ้นของบริษัททุ่งคำที่ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทุกชนิด บนเนื้อที่ 340,605 ไร่ โดย 112 แปลง อยู่ในขั้นตอนการขอประทานบัตร
 
กพร. ที่อย่างไรก็ไม่ระงับใบอนุญาตซื้อ-ขาย-ขนแร่ ของบริษัททุ่งคำ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถซื้อ-ขาย-ขนแร่ได้อีก 2 ปี ก็สามารถเปลี่ยนคู่สัญญาจากบริษัททุ่งคำ มาทำสัญญากับผู้ประการการรายใหม่ และได้รับเงิน ร้อยละ 1.5 ของผลผลิตหลังจากชำระค่าภาคหลวงแร่แล้วต่อไป
 
ส่วนทรัพย์สินก้อนสุดท้ายของบริษัททุ่งคำที่จะขนออกมาจากเหมืองทองคำแห่งนี้ จะมีการแบ่งส่วนแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะคาดเดา
 
 
 
 
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net