Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 



รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยมีเหตุผลต่างๆนานา สุดแล้วแต่ว่าจะเอาเหตุผลใดมาอธิบาย แต่ที่แน่ๆนั้น เมื่อมองโลกด้วยสายตาของผู้มีอารมณ์สุนทรียะย่อมจะเห็นว่าทุกสิ่งเป็นเหรียญสองด้าน ในร้ายมีดี ในดีมีร้าย เรามาดูเฉพาะข้อดีกันดีกว่า

1.ในเชิงวิชาการรัฐศาสตร์ถือได้ว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะผู้คนทั่วไปรวมถึงสื่อมวลชนต่างๆมีความเข้าใจมากขึ้นถึงความแตกต่างระหว่างการปฏิวัติและการรัฐประหาร  จึงพากันเรียกการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภา 57 ว่า “รัฐประหาร”เพราะเป็นเปลี่ยนแปลงผู้กุมอำนาจรัฐไม่ใช่ “ปฏิวัติ”ที่เป็นการเปลี่ยนทั้งระบบทั้งเศรษฐกิจการเมืองการปกครองเช่น ปฏิวัติฝรั่งเศส ปฏิวัติรัสเซียหรือ ปฏิวัติจีน เป็นต้น แต่ก็มีหนังสือพิมพ์อยู่ 2-3 ฉบับที่ยังพาดหัวว่าปฏิวัติอยู่ ไม่รู้ว่าเชยหรือตั้งใจให้ดูดุเดือดเลือดพล่าน

2.ทำให้ผู้คนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักคิด นักเขียน นักวิชาการต่างๆ รวมไปถึงนักการเมืองและผู้ที่ถูกบังคับให้ไปอยู่นิ่งๆในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งรวมถึงผู้คนทั้งหลายที่ต้องจับเจ่าอยู่กับบ้านหรือในโรงแรมหากกลับไม่ทันเคอร์ฟิวนั้นว่าอึดอัดขัดข้องขนาดไหน ฉะนั้น หากพวกเขาเหล่านั้นกลับมามีอำนาจหรือมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก็น่าจะคิดคำนึงถึงผู้คนที่กำลังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการถูกขังฟรี ขังลืม ฯลฯ อยู่ในขณะนี้

3.ทำให้เราสามารถสรุปทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ได้ว่า การรัฐประหารในประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในศตวรรษไหนก็ตาม และลบล้างคำอธิบายการรัฐประหารที่ว่าการรัฐประหารนั้นต้องทำอย่างสายฟ้าแลบและฉับพลันทันด่วน แต่การรัฐประหารคราวนี้ทำให้รู้ว่ามีการเตรียมการมาเป็นอย่างดีและเป็นระบบ จะเห็นได้จากการอุดช่องว่างที่เป็นจุดอ่อนของการรัฐประหาร 19 กันยา 49 ไว้เกือบทั้งหมด ที่สำคัญที่สุดก็คือการต้อนหมูเข้าเล้าแล้วเชือดแบบเหนือเมฆ

4.ทำให้เรารู้ว่าบรรดาแกนนำทั้งหลายที่ปากดีๆนั้นเมื่อถึงเวลาแล้วก็ “ดีแต่พูด”กันทั้งนั้นแหล่ะ หมดสภาพแกนนำไปเลย กลายเป็นแกนอะไรไปไม่รู้ ทั้งๆที่บางคนแรกๆดูขึงขัง แต่ภายหลังถึงกับลงทุนไปปฏิญาณตนต่อหน้าอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งจริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องไปสาบานหรือปฏิญาณขนาดนั้นก็ได้ เพราะรู้เช่นเห็นชาติกันหมดแล้ว ขืนยังไปให้เป็นแกนนำอีก ไม่บ้าก็เมาเท่านั้นเอง

5.ทำให้รู้ว่าศาลซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายอันเป็นที่สุดแล้วยังตีความข้อกฎหมายของตนเองไม่แตกถึงกับต้องจัดประชุมเป็นพิเศษว่าจะส่งไปสอบถาม คสช.ดีหรือไม่ถึงสถานภาพของ กศป.(คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง) ซึ่งอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ออกมาเชียวว่าต้องการหนีคดีฝากตำรวจ และที่ตลกที่สุดก็คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกยุบแต่ก็ไม่มีงานทำ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย เลยนอนกินเงินเดือนที่มาจากภาษีอากรของประชาชนฟรีๆเดือนละเป็นแสน ซึ่งประเด็นนี้หมายความรวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เงียบเหมือนเป่าสากอยู่ในขณะนี้ด้วย

6.ทำให้รู้ว่าทหารไทยนอกจากการรบแล้วยังเก่งในอีกหลายเรื่องมาก อาทิ เรื่องทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุน การรัฐวิสาหกิจ การกีฬา การปฏิรูปประเทศ การปรองดอง การแต่งเพลง การจัดการน้ำ การจัดการรถไฟรางคู่ การสร้างถนนเลียบแม่น้ำ ฯลฯ

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องจิปาถะ คือ

7.ทำให้รู้ว่านักแต่งเพลงเรามีฝีมือในความว่องไวไม่แพ้ใครในโลก เพราะเพียงแค่ไม่กีอึดใจ ก็สามารถแต่งเพลง “นาวารัฐบุรุษ”ได้แล้ว ทำให้ปลัด “ฮิตาชิ” ถ้ายังมีชีวิตอยู่คงต้องยกมือยอมแพ้ในเรื่องของความไวเป็นแน่

8.ทำให้เราได้ขุดกรุเอาซีดีหนังที่ซื้อไว้ตั้งนานแล้วแต่ไม่ได้มีโอกาสเปิดดูได้เปิดเสียที่เพราะในช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆจะกดทีวีไปช่องไหน มีแต่ช่อง “Must See” ทั้งนั้น ทำเอา “Must Have” ของ กสทช.จืดไปเลย

9.ทำให้เราได้รู้จักผู้คนเพิ่มขึ้นจากคำสั่งให้บุคคลไปรายงานตัว ว่า “คนนี้ใครวะ” ทำให้ต้องใช้บริการของ “อาจารย์กู(Google)”กันอย่างขนานใหญ่ แต่บางที “อาจารย์กู”ก็ส่ายหัวเหมือนกันเพราะบางคนยังดังไม่พอน่ะครับ

10.ทำให้เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่มีความสำคัญทางการเมืองกว่าเดือนตุลาคมขึ้นมาโดยอัตโนมัติเพราะแต่เดิมเรามีเหตุการณ์ “14 ตุลา 16 ”และ “6 ตุลา 19 ”ที่ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่เดี๋ยวนี้นอกจากเราจะมี “17 พฤษภา 35” “19 พฤษภา 53” แล้วเรายังมี “ 22 พฤษภา 57 ”อีกด้วย

11.ทำให้เรามีสมาธิดีขึ้นเพราะเราต้องตั้งใจฟังประกาศและคำสั่งเป็นพิเศษ เพราะไม่มี “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” เหมือนที่ผ่านๆมา หรืออาจเป็นเพราะผู้ประกาศอาจไม่ว่างพอ เพราะต้องปลีกตัวไปโปรโมทหนังที่ตัวเองแสดงอยู่ด้วยในบางครั้ง

โลกเราทุกวันนี้เครียดพอแล้ว เราลองมองเรื่องเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ขัน จะทำให้เราสามารถอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขได้ คิดเสียว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีมานับตั้งแต่มีมนุษย์อุบัติขึ้นในโลก หมดเรื่องหนึ่งก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง ขนาดหนีไปบวชแล้วก็ยังวุ่นไม่เลิกอยู่ดี นอกเสียจากว่าจะหนีไปอยู่ในถ้ำคนเดียวเสียให้รู้แล้วรู้รอด เอ๊ะ ก็ไม่ได้อีกเพราะอยู่ในเขตอุทยานเดี๋ยวโดนจับหรืออาจถูกทำให้สาบสูญแบบบิลลี่ได้

ก็อยู่ๆกันไปอย่างนี้แหล่ะ อย่าลืม “ยิ้มวันละนิดจิตแจ่มใส”นะครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ  11 มิถุนายน 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net