Skip to main content
sharethis

สุริชัย หวันแก้ว ทำหนังสือถึงกรรมการสิทธิ สนับสนุนการรวบรวมรายชื่อ-สำรวจสถานภาพผู้ถูกละเมิดสิทธิหลังรัฐประหาร และสร้างกลไกร่วมมือรัฐ-ประชาสังคม ลดความเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรงและการละเมิดสิทธิ

10 มิ.ย.2557 สุริชัย หวันแก้ว ในนาม ศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึงประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่องข้อสังเกต ข้อห่วงใย และข้อเสนอแนะเร่งด่วนต่อการดำเนินงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงวันที่ 2 มิ.ย.2557

โดยแจ้งข้อสังเกตต่อ กสม. ประกอบด้วย

ประการแรก ภายหลังจากการยึดอำนาจการปกครอง คสช. ได้มีออกคำสั่งอย่างต่อเนื่องเกือบทุกวันเพื่อเรียกบุคคลต่างๆ มารายงานตัว ควบคุมตัวหรือกักบริเวณเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีการจับกุมตัวบุคคลในระหว่างการชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องนี้ในต่างจังหวัด ที่ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ทั้งด้านจำนวนบุคคล รูปแบบในการควบคุมตัว และสาเหตุของการเรียกรายงานตัว

ประการที่สอง ขณะนี้มีกลุ่มสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมหลายองค์กร พยายามติดตามรวบรวมรายชื่อและจัดทำฐานข้อมูลสถานภาพการควบคุมตัวหรือการปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว ทว่า กระบวนการรวบรวมข้อมูลนี้ยังมีข้อจำกัดในหลายประการ อาทิ ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในส่วนภูมิภาคที่ไม่มีแหล่งข้อมูลเพียงพอที่จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หรือข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับของทาง คสช. หรือในบางกรณี การจับกุมจากพื้นที่ชุมนุมต่างๆ ก็ไม่มีการแถลงต่อสาธารณะ

ประการที่สาม การไม่มีศูนย์กลางในการประสานรวบรวมข้อมูลดังกล่างข้างต้นนี้ อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ปัจจุบันข้อมูลมีความสับสน ข้อมูลเกิดความซ้ำซ้อน หรือมีข้อมูลบุคคลที่ตกหล่น สภาพการณ์ดังกล่าวจึงอาจเป็นเงื่อนไขให้เกิดกลุ่มบุคคลที่ถูกละเลยหรือไม่ได้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตต่อสถานการณ์การจัดการกับการชุมนุมคัดค้านรัฐประหารเฉพาะหน้าปรากฏข้อมูลจากการประสานงานหลายฝ่าย รวมถึงจากการที่ศูนย์ฯ ได้ส่งอาสาสมัครลงสังเกตการณ์ในพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวหรือมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ว่า การปฏิบัติการในลักษณะการควบคุมฝูงชนขณะนี้เป็นปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นหลัก ซึ่งมีลักษณะเฉพาะและปัญหาหลายประการ เช่น ความพร้อมของการตระเตรียมกำลังพลและอุปกรณ์ในการควบคุมฝูงชน ทักษะความสามารถของเจ้าหน้าที่ผู้เจรจา การจัดการพื้นที่ชุมนุมและการจัดให้มีพื้นที่กันชนเพื่อป้องการเผชิญหน้าที่จะนำไปสู่การปะทะ การให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อสาธารณชน อาทิ การปิดกั้นเส้นทางสัญจรและระบบขนส่งสาธารณะ หรือการประกาศห้ามเข้าพื้นที่ เป็นต้น รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติการต่างๆ ในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานฉุกเฉินด้วย ประเด็นปัญหาเหล่านี้ ถ้าหากขาดการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมโดยเร็ว อาจส่งผลกระทบที่ไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดได้เลย นับว่าน่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าว ระบุข้อเรียกร้องต่อ กสม. ขอให้จัดการประชุมหารือและสนับสนุนให้มีการรวบรวมรายชื่อและสำรวจสถานภาพของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิอย่างเป็นระบบ และขอให้ประสาน ส่งต่อข้อมูลและสร้างกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งภาคราชการและประชาสังคม เพื่อร่วมกันลดความเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้สถานการณ์เงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ โดยระบุ ศูนย์ฯ และเครือข่ายยินดีให้ความร่วมมือทุกประการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net