กรรมการสิทธิฯ ขยับ วอน คสช.เคารพสิทธิ ยกกรณี 66/23

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2557  ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และมี อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ร่วมประชุมด้วย

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้สัมภาษณ์ว่า หลังมีคำร้องร่วม 10 คำร้องให้ กสม.ติดตามเป็นคนกลาง ช่วยคดี กรณีถูกเรียกรายงานตัว ควบคุมตัว กสม.มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนว่าด้วยสิทธิพลเมือง ติดตามให้ความช่วยเหลือและปกป้องการละเมิดสิทธิ อย่างไรก็ตาม การทำงานนี้ไม่ใช่การตรวจสอบ แต่เป็นการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ในที่นี้คือ คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น เรือนจำ ค่ายทหาร โดยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ กสม. ไปเยี่ยมเยียน คุยกับฝ่ายปฏิบัติให้ประสานงานกับญาติ เพราะในการควบคุมตัวมีปัญหาหลากหลาย อาทิ เรียกรายงานตัวแล้วไม่แจ้งสถานที่ควบคุมให้ญาติและครอบครัวทราบ ก่อให้เกิดความวิตก ไม่แจ้งญาติเป็นผู้มารับ ไม่รู้ว่ามีการดำเนินการอย่างไรใต้กฎอัยการศึก บางรายมีการฟ้องคดีต่อ ฯลฯ

ทางกสม.มีข้อเสนอในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎอัยการศึกว่า ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น แจ้งญาติหรือครอบครัวได้รู้ถึงสถานที่ควบคุมและกำหนดการปล่อยตัว อาจไม่ต้องแจ้งต่อสาธารณะ แต่ควรแจ้งต่อครอบครัว นอกจากนี้ กสม.จะประสานกับองค์กรด้านกฎหมายเข้าในการช่วยเหลือในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม เพราะคนเหล่านี้เป็นเพียงผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง

สำหรับการช่วยเหลือรูปธรรมนั้น ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ กสม.เดินทางไปค่ายทหารที่ราชบุรีและประสานงานจนสามารถเข้าพบสื่อ 2 รายคือ นายธนาพล อิ๋วสกุล บก.วารสารฟ้าเดียวกัน และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวนสพ.เดอะเนชั่น รวมถึงนักวิชาการ คือนายสุรพศ ทวีศักดิ์ โดยทหารอนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมได้และต่อมามีการปล่อยตัว การพาญาติไปพูดคุยทำให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการทำงานและทำความเข้าใจกับหัวหน้าหน่วยในพื้นที่ว่าเข้าไปส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่การแทรกแซง

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า กรณีที่ห่วงคือ ต่างจังหวัด ซึ่งมีความขัดแย้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไปผูกโยงกับกลุ่มอำนาจและอิทธิพลในพื้นที่ กสม.ไม่ได้มองเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเดียว ขณะนี้ก็มีความขัดแย้งระดับลึกที่ทหารจะเข้าไปมีส่วนแก้ไขด้วยในการทำศูนย์ปรองดองและสมานฉันท์

“กรณีที่กังวลมากคือ จ.เลย ที่เหมืองทอง อ.วังสะพุง ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการทำร้ายร่างกายประชาชน เกี่ยวเนื่องกับการจัดการทรัพยากรของรัฐ ข้อมูลล่าสุด มีการปรามนักศึกษาไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งที่นักศึกษาเข้าไปทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้เรื่องกฎหมายกับสังคมเรื่องของการจัดการฐานทรัพยากรซึ่งมีอยู่มากในอีสาน เพื่อให้นักศึกษากฎหมายเรียนรู้ว่า ความขัดแย้งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร  นักศึกษาเข้าไปทำงาน ช่วยเหลือชาวบ้านในประเด็นกม โดยไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการเมือง”นพ.นิรันดร์กล่าว

กรณีการเรียกพบทหารโดยไม่เป็นทางการในต่างจังหวัด นพ.นิรันดร์  ระบุว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทางพื้นที่ กอ.รมน.จังหวัด พูดคุยให้ชัดว่าเรียกคุยเรื่องอะไร ขณะเดียวกันต้องให้ความสนใจเรื่องความขัดแย้งนอกเหนือจากเรื่องการเมืองในพื้นที่ด้วย ในฐานะที่ คสช. ทำศูนย์ปรองดอง ความขัดแย้งหลักในต่างจังหวัดไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการจัดการทรัพยากร การพัฒนา ความไม่เป็นธรรม เรื่องของปัญหาความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ สังคม

“หากโครงการศูนย์ปรองดอง เข้าใจตรงนี้ ก็จะมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ ขอย้ำว่าชาวบ้านในแต่ละจังหวัดไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องขัดแย้งทางการเมืองมากเท่าส่วนกลาง” นิรันดร์กล่าวและว่า ต้องระวังอย่านำความขัดแย้งทางการเมืองส่วนกลางไปปะปนกับความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างเรื่องฐานทรัพยากร การพัฒนา ไม่เช่นนั้นจะสร้างแนวร่วมมุมกลับ สร้างความขัดแย้งมากขึ้น และความปรองดองสมานฉันท์ก็จะไม่เกิด

ชูสามนิ้ว..คสช.อย่าเหมารวมเป็นผู้ต่อต้าน
สำหรับกรณีการจับกุมผู้แสดงออกโดยการชูสามนิ้วนั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ให้ความเห็นไว้ถูกอยู่ คือให้ความเคารพในเรื่องความเห็นต่าง เพียงแต่ท่านก็มองว่า ความเห็นต่างจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนต่อต้าน คสช.

"ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องแยกให้ออกคือเรื่องการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ สันติวิธี กับการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. หมายความว่า จะต้องวางหลักการเรื่องการจัดการคนที่มีความเห็นต่าง อย่าเอาเป็นพวกเดียวกันกับผู้ต่อต้าน ไม่งั้นแล้วก็ยิ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้ขยายแนวร่วมของฝ่ายที่ต้องการต่อต้าน ด้วยการแบ่งแยกดินแดน ด้วยการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะขยายไปถึงขนาดนั้น" นพ.นิรันดร์กล่าว

แยกปลาออกจากน้ำ รีบเลือกตั้ง
“ส่วนที่มีแอคชั่น เช่น การตั้งกองกำลังอาวุธ สะสมอาวุธ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งคิดว่า คสช.เขาไม่ต้องการ โอเค เขาจัดการตรงนั้นไป แต่ถ้าเราที่มีความเห็นต่าง ต้องการให้ คสช.รีบกลับคืนระบอบประชาธิปไตย มีรัฐบาล การเลือกตั้ง คิดว่าเป็นเรื่องความเห็นต่าง ที่ คสช.ต้องรับฟัง และดีเสียอีก เพื่อแสดงให้ต่างชาติรู้ว่า คสช.รับฟังความเห็นต่าง และจะช่วยกระตุ้นให้ คสช.ระมัดระวังในการไม่ใช้อำนาจที่เกินเลย หากปะปนกับฝ่ายที่การกระทำที่ชัดเจนเรื่องการแยกดินแดนจะขยายความขัดแย้งมากขึ้น พูดง่ายๆ คือต้องแยกปลาออกจากน้ำ”

กรณีที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร นิรันดร์ กล่าวว่า วันศุกร์นี้ (13 มิ.ย.) กสม.จะประชุมกันว่าจะมีข้อเสนออย่างไรก็ตาม  ส่วนตัวคิดว่าศาลทหารเป็นศาลที่ปฏิบัติตามภาวะพิเศษที่ใช้กฎอัยการศึก แต่อย่างไรก็คงต้องยึดโยงกับการทำงานที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ต้องมีทนายความ นักกฎหมาย มีโอกาสไต่สวนพยาน ซึ่งจะทำให้การทำงานของ คสช.เป็นที่ยอมรับ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศจะได้ตอบคำถามในคณะมนตรีสิทธิมนุษชนได้ว่าแม้จะเป็นกระบวนการพิเศษในสถานการณ์รัฐประหาร ไทยก็ยังดำรงไว้ซึ่งการให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาได้

แนวปฏิบัติเรื่องรายงานตัว
สำหรับแนวปฏิบัติเรื่องการรายงานตัว นพ.นิรันดร์กล่าวว่า มีตัวอย่างจากกรณีสามจังหวัด ที่กสม.ทำงานกับทหาร เรื่องความมั่นคง เพียงแต่โจทย์มากขึ้น เพราะเป็นการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ การยึดหลักสิทธิมนุษยชนจะทำให้ คสช.เป็นที่ยอมรับ และทำให้เห็นว่าแม้ใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศก็ยังทำงานใต้หลักการให้ความเป็นธรรม ทำให้กระบวนการไม่ถูกกล่าวหา และไม่ถูกมองว่าใช้อำนาจเด็ดขาดเหมือนอย่างในอดีต ตรงนี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ แต่สอดคล้องกับกรณี คำสั่งที่ 66/2523 ที่สังคมไทยสามารถสรุปบทเรียนได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย เราสามารถใช้นโยบายทางการเมืองเข้าไปจัดการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเมื่อช่วงบ่าย แบ่งเป็นประเด็นคือเรื่องของผู้ถูกเรียกรายงานตัวและควบคุมตัวและการเก็บข้อมูลการควบคุมตัวและการจับกุม โดยผู้เคยถูกควบคุมตัวรายหนึ่งระบุว่า ระหว่างถูกคุมตัวไม่ได้รับอนุญาตให้โทรแจ้งครอบครัวว่าถูกพาไปที่ไหน ทั้งยังถูกละเมิดสิทธิด้วยการขอรหัสเฟซบุ๊กและอีเมลส่วนตัว ขณะที่ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวต้องการทราบว่าเจ้าหน้าที่ทหารนำญาติของตนเองไปไว้ที่ใดและทำอะไรบ้าง

ด้านการเก็บข้อมูล พบว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและด้านกฎหมายหลายองค์กรพยายามรวบรวมข้อมูลของผู้ถูกเรียกรายงานตัวทั้งกรณีถูกเรียกอย่างเป็นทางการและถูกเรียกปากเปล่าในต่างจังหวัด โดยมีการเรียกร้องให้ คสช.เปิดชื่อคนที่ถูกกักตัวและคนที่ปล่อยตัวแล้วทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส นอกจากนี้พบปัญหาว่าบางครั้งมีการเข้าจับกุมผิดคน จึงเรียกร้องให้มีหมายจับให้ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว โดยควรให้ญาติ สื่อ หรือองค์กรสิทธิฯ เข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัว เสนอให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวในเวลากลางวันและแจ้งญาติให้มารับ เพื่อความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัว ขณะที่กระบวนการเก็บข้อมูลพบปัญหาว่าผู้เก็บข้อมูลกลายเป็นผู้ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่เสียเอง จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ช่วยคุ้มครองอาสาสมัครเหล่านี้ด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท