Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนคงถามว่านิสิตนักศึกษาหายไปไหน

ที่จริงคำถามนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดในตอนนี้ แต่ถูกถามมาเกิน 20 ปีแล้วกระมัง และมีคนที่พยายามจะอธิบายหลายอย่าง ซึ่งผมฟังแล้วรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง วันนี้ (3 มิ.ย.) วารสารออนไลน์ New Mandala ลงบทความของ อิลีนา วิลเลียมส์ ซึ่งเป็น ผอ.ศูนย์ร่วมมือเพื่อการศึกษาอินโดนีเซียของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ประจำที่เมืองยกยาเรื่อง "การเมืองของนักศึกษาในยุคเซลฟี" ผมคิดว่าคำตอบต่อคำถามข้างต้นของนักศึกษามหาวิทยาลัยคัชะมาดานั้นน่าสนใจดี เพราะทำให้หวนคิดกลับมาถึงสถานการณ์อย่างเดียวกันในเมืองไทยได้

ผมต้องย้ำก่อนว่า บทความนี้ไม่ใช่รายงานการวิจัย เป็นแต่เสนอให้เห็นว่าทรรศนะทางการเมืองปัจจุบันของนักศึกษามหาวิทยาลัยอินโดนีเซียแห่งนั้นเป็นอย่างไร และเสนอเหตุผลตามทรรศนะของนักศึกษาว่า เหตุใดคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยจึงเลิกใส่ใจกับการเมือง

ในระหว่างที่อินโดนีเซียกำลังอยู่ในบรรยากาศของการเลือกตั้งประธานาธิบดีคู่แข่งสำคัญคือจาโกวี ผู้ทำชื่อเสียงจากการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงจาการ์ตา เพราะเร่งรัดงานของข้าราชการประจำอย่างจริงจังออกสื่อให้สาธารณชนเห็น (จนอาจคิดได้ว่าหากเป็นประธานาธิบดี ก็อาจผลักดันการปฏิรูประบบราชการ) ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้สาธารณชนเห็นผ่านสื่อ และแสดงท่าทีเห็นใจคนจนในสลัมผ่านสื่ออีกเหมือนกัน ดูเหมือนเขามีคะแนนนำในหมู่ประชาชน แต่การเลือกประธานาธิบดีต้องทำในสภา ซึ่งขึ้นอยู่กับการเกาะกลุ่มสร้างพันธมิตรกันในหมู่พรรคการเมืองต่างๆ แม้กระนั้นก็ต้องไม่ขัดตาประชาชนจนเกินไป

คู่แข่งของเขาคือประโบโว เชื้อสาย "ผู้ดี" เก่า ตัวเขาเป็นนายทหารที่ร่วมกับการเมืองของ ซูฮาร์โต และมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงภายใต้ซูฮาร์โต ครอบครัวสั่งสมความมั่งคั่งล้นเหลือจากเส้นสายที่เขามีกับรัฐบาลซูฮาร์โต

ฉะนั้น ดูแล้วนักศึกษาไม่น่าจะเชียร์ประโบโวเลย แต่ตรงกันข้าม นักศึกษาที่คุณอิลีนา วิลเลียมส์ ไปสอบถาม กลับเชียร์ประโบโวมากกว่า บางคนเชื่อประสบการณ์ของเขาที่ได้ผ่านงานภาครัฐมานาน บางคนเชื่อความสามารถด้านการนำของเขาเพราะเป็นนายทหารเก่า (ทำไมคนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียจึงเชื่อว่า "การนำ" มีอยู่อย่างเดียว คือ "การนำ" ทางทหาร ผมก็ไม่ทราบ แต่คิดว่าพอทราบว่าทำไมคนรุ่นใหม่และเก่าของไทยจึงคิดอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ที่จะพูดถึงตรงนี้)

บางคนเชื่อตามโฆษณาของประโบโวเองว่า เขาเป็นคนเข้มแข็ง (tegas) และอินโดนีเซียกำลังต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง เพื่อจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย

นักศึกษาของมหาวิทยาลัยคัชะมาดานั้นได้ชื่อว่าเป็นหัวก้าวหน้าที่สุดก็ว่าได้พวกเขาคือหัวหอกที่ออกมาประท้วงในถนนเพื่อล้มเผด็จการซูฮาร์โต ใน ค.ศ.1998 แต่อีก 9 ปีต่อมา พวกเขากลับหันไปสนับสนุนลูกน้องซูฮาร์โตซึ่งมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาอย่างร้ายแรง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

หนึ่งในคำตอบที่นักศึกษาคิดก็คือ นักศึกษาปัจจุบันไม่เคยได้รับประสบการณ์อันเลวร้ายภายใต้เผด็จการซูฮาร์โต เพราะยังเล็กเกินไปหรือยังเกิดไม่ทัน (ซูฮาร์โตครองอำนาจจาก 1965-6 จนถึง 1998-9) นี่เป็นคำตอบที่ผมออกจะสงสัย ทำไมความจำถึงสั้นอย่างนั้น คนแต่ละคนอาจมีความจำสั้นได้ แต่สังคมทั้งสังคมมีความจำสั้นอย่างเดียวกัน คงมีปัญหามากแล้วล่ะครับ เผด็จการสุดท้ายของไทยที่พยายามจะออกลักษณะ "เบ็ดเสร็จ" คือพยายามแทรกเข้ามาในการดำเนินชีวิต (หรือแม้แต่วิธีคิด) ของผู้คนคือเผด็จการสฤษดิ์ ซึ่งนักศึกษาปริญญาตรีของไทยทั้งหมดในปัจจุบันเกิดไม่ทัน อาจพอฟังขึ้นบ้างหากใช้เหตุผลเดียวกันนี้ แม้ออกจะแคลงใจกับความจำของสังคมไทยก็ตาม

สรุปก็คือ ความจำอย่างเดียวไม่พอ หากสังคมมีความจำสั้น ก็ต้องการคำอธิบายอีกมากว่าทำไมจึงสั้น โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงทฤษฎีทางจิตวิทยาว่า ความจำเป็นกระบวนการ หมายความว่าเราจำหรือลืมอะไร ไม่ได้เป็นธรรมชาติ แต่มีกระบวนการที่ทำให้เราจำและลืม... ทั้งความจำของบุคคลและความจำของสังคม

และหนึ่งใน "กระบวนการ" ที่ทำให้นักศึกษาอินโดนีเซียลืมเผด็จการซูฮาร์โต มาจากคำตอบหนึ่งที่นักศึกษากล่าวว่า ไม่ว่าจะเลือกใครขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็เหมือนกันทั้งนั้น คือพอขึ้นสู่อำนาจแล้ว ก็โกงและเล่นพรรคเล่นพวกกันต่อไป ดูเหมือนนักศึกษาอินโดนีเซียไม่ได้ลืมว่า โกงและเล่นพรรคเล่นพวกกันต่อไปเหมือนกันกับเผด็จการกองทัพนั่นแหละ

ปัญหาเดียวกับไทยเลยนั่นคือเมื่อทำลายระบอบเผด็จการลงได้แล้ว ระบอบใหม่ซึ่งเรียกว่าประชาธิปไตยไม่ได้สร้างศรัทธาให้แก่ประชาชนพอที่ผู้คนจะช่วยกันผดุงมันเอาไว้ ทั้งอินโดนีเซียและไทยมีปัญหาเดียวกัน คือไม่มีระบอบการปกครองในอุดมคติทั้งคู่ เราต่างเป็นมนุษย์ "เจนโลก" ที่เหยียดมุมปากให้แก่รัฐมนตรีทุกคน ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือกระบอกปืน ทั้งคนอินโดนีเซียและคนไทย เราคือคนที่ไม่มีอุดมคติครับ เมื่อไม่มีอุดมคติ จะมีขบวนการนิสิตนักศึกษาได้อย่างไร

ศิษย์เก่าของคัชะมาดาคนหนึ่งให้คำตอบที่ผมคิดว่าน่าสนใจสำหรับไทยมากเขากล่าวว่ากระแสอนุรักษนิยมแพร่ระบาดไปตามมหาวิทยาลัยทั่วไป ไม่เฉพาะแต่คัชะมาดา เขายกสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ว่ามาจากการออกนอกระบบ (privatization) ค่าเล่าเรียนสูงขึ้นมาก ฉะนั้น นักศึกษาจึงต้องเร่งเรียนให้จบโดยเร็ว จนไม่มีเวลามาสนใจอะไรอื่นนอกจากการเรียนให้จบเร็วๆ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบ ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยไทยก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนกัน หากนี่เป็นปัจจัยให้นักศึกษาอินโดนีเซียเลิกสนใจการเมืองและสังคม ก็น่าจะให้ผลอย่างเดียวกับนักศึกษาไทย

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ายังมีปัจจัยอีกสองอย่างในสังคมไทยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าค่าเล่าเรียน ประการแรก ส่วนใหญ่ของตลาดงานของบัณฑิตไทยคือธุรกิจภาคเอกชน ไม่ใช่ราชการอย่างเดิมเสียแล้ว และในโลกงานจ้างภาคเอกชนนั้น หนทางก้าวหน้าในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันมาก คนหนึ่งอาจจบชีวิตการงานลงที่หัวหน้าแผนกบัญชีที่บริษัทพร้อมจะเอาคนใหม่มาแทนได้ทันที ในขณะที่อีกคนหนึ่งกลายเป็นผู้บริหารผู้มีชื่อเสียง จนไม่มีวันปลดสักที เพราะจะมีบริษัทอื่นคอยแย่งตัวด้วยเงินเดือนสูงลิบตลอดเวลา โลกของชีวิตบัณฑิตคือการแข่งขันกันในตลาดงานข้างหน้า ชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันจริงข้างหน้าเท่านั้น ดังนั้น ไม่เฉพาะแต่ความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยจะไร้ความหมายแล้ว แม้แต่มหาวิทยาลัยเองก็เริ่มจะไร้ความหมายในสังคมมากขึ้นทุกที

ปัจจัยอย่างที่สองเชื่อมโยงกับปัจจัยแรกที่กล่าวแล้วเมื่อผมเรียนมหาวิทยาลัยสืบมาจนถึง พ.ศ.2516 เมื่อเกิด 14 ตุลานั้น จำนวนของนักศึกษาที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยทั้งประเทศมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกันทั้งประเทศ นักศึกษารู้สึกตัวเองเป็นอภิสิทธิ์ชนในสองลักษณะ คือหวังได้เลยว่าจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนทั่วไป และหวังและถูกหวังว่า พวกเขาคือ "ผู้นำ" ของสังคม นักศึกษารู้สึกว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนั้น เป็นทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อตอบแทนอภิสิทธิ์ที่สังคมมอบให้ ผมคิดว่ามีเหตุน้อยลงที่นักศึกษาในปัจจุบันจะมีสำนึกเช่นนั้น

และเพราะมหาวิทยาลัยเริ่มไร้ความหมายแก่สังคมมากไปกว่าโรงเรียนฝึกอาชีพในเมืองไทยซึ่งเหมือนกับที่นักศึกษาอินโดนีเซียคนนั้นกล่าว ก็คือไม่มีนักคิดหรือแนวคิดสำคัญๆ เข้ามาร่วมจัดองค์กรหรือเผยแพร่หาผู้สนับสนุนในมหาวิทยาลัย ผู้นำ 14 ตุลาไม่กลับเข้าไปจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอีกแล้ว แม้แต่พรรคการเมืองก็มองข้ามมหาวิทยาลัยไป (อย่างน้อยผมก็ไม่ได้ยินชื่อพรรคยุวธิปัตย์ในมหาวิทยาลัยมานานแล้ว) ในอินโดนีเซียเหลือแต่พรรคเล็กๆ และความเคลื่อนไหวอิสลามที่ยังทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย เหมือนเหลือแต่กลุ่มธรรมกายที่ยังเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยไทยเวลานี้

นักศึกษาอินโดนีเซียอีกคนหนึ่งอธิบายว่ามือถือแบบใหม่ทำให้เกิดสังคมก้มหน้า ไม่มีใครสนใจคนอื่นอีกแล้ว ทุกคนได้แต่ก้มหน้าเชื่อมต่อสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยเรื่องส่วนตัวไร้สาระทั้งสิ้น คำอธิบายนี้คงใช้กับนักศึกษาไทยได้เท่าๆ กัน แต่ผมเห็นว่าผิวเผินเกินไป คนเราจะ "ก้มหน้า" อ่านอะไรที่หน้าจอโทรศัพท์ เกิดขึ้นจากการเลือกของเขาเอง ไม่ใช่เพราะถูกบังคับโดยเทคโนโลยี หรือจะพูดให้ยิ่งกว่านั้นว่า แม้แต่ข้อความอะไรจะปรากฏที่หน้าจอ ก็เกิดจากการเลือกของมนุษย์ ไม่ใช่ข้อบังคับของเทคโนโลยี

ฉะนั้น สังคมก้มหน้าอย่างเดียวจึงไม่ได้อธิบายอะไร เพราะเหตุใดจึงก้มหน้าเข้าหาความไร้สาระแทนที่จะก้มเข้าหาความเป็นสาระนั้น อธิบายด้วยเทคโนโลยีไม่ได้

ในสังคมสมัยใหม่ ขบวนการนักศึกษามีความสำคัญทางการเมืองอย่างสูง เพราะนักศึกษาเป็นคนกลุ่มเดียวในสังคมสมัยใหม่ที่อยู่ในองค์กรที่สามารถจัดองค์กรเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ง่ายและอย่างเสรีผมคิดว่าง่ายและเสรีกว่าสหภาพกรรมกรด้วยซ้ำ ทั้งนี้ เพราะองค์กรมหาวิทยาลัย ตามธรรมชาติของการทำงานแล้ว ย่อมไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนตายตัวเกินไป สถาบันวิจัยอาจมีเป้าหมายทำวิจัย แต่อาจทำโดยผนวกอยู่กับการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองหรือไม่ได้ห้ามที่จะนำผลวิจัยมาผลักดันนโยบาย ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจออกมาในรูปของการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้ ผิดจากองค์กรธุรกิจเอกชน มีเป้าหมายที่ชัดเจนตายตัวคือทำกำไร มีทั้งกฎหมายและระเบียบการทำงานที่ต้องรับใช้เป้าหมายนั้นอย่างแน่ชัด จึงไม่ใช่องค์กรที่บุคลากรในนั้นจะจัดตั้งเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองได้

ผมคิดว่าช่วงหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยซึ่งต้องอาศัยขบวนการนักศึกษาเป็นหัวหอกการเคลื่อนไหวได้ผ่านไปแล้ว ความล้มเหลวของสื่อไทยในการทำหน้าที่ ทำให้การเคลื่อนไหวยิ่งต้องกระจายไปในสังคมวงกว้าง เราจะเห็น "ม็อบ" น้อยลง แต่จะเห็นการเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์มากขึ้น ทำโดยคนเดียวหรือเพียงไม่กี่คน แต่แชร์กันระเบิดในโซเชียลมีเดีย เราจะเห็นสติ๊กเกอร์ทั้งข้อความและสัญลักษณ์ติดตามที่ต่างๆ มากขึ้น การเคลื่อนไหวของปัจเจกโดยขาดการจัดองค์กรที่กระชับ จะบังเกิดผลทางการเมืองหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างในแต่ละสังคม แต่สรุปแล้วเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือผู้มีอำนาจต้องตอบสนอง

หากตอบสนองน้อย และ/หรือ ช้าไป ผู้มีอำนาจก็จะสูญเสียอำนาจ ไม่โดยผ่านหีบบัตรเลือกตั้งก็ผ่านกระบอกปืนของอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่นอกการควบคุมของตน

สิ่งที่น่าจับตามองในการเมืองไทยปัจจุบันอย่างยิ่ง คือการจัดองค์กร เพราะมันเกิดรูปแบบที่หลากหลาย โดยคนและกลุ่มคนที่หลากหลายมาก หากเรายังมีจินตนาการเก่าๆ ของการจัดองค์กรทางการเมืองแบบเดิม เราจะงุนงงและสับสนกับการเมืองปัจจุบันอย่างมาก จนอาจตอบสนองมันอย่างสะเปะสะปะน่าสงสาร
 



เผยแพร่ครั้งแรกใน:มติชนรายวัน 9 มิ.ย.2557

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net