Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


หากคิดตามมุมมองของนักปรัชญาชาวเยอรมันอย่าง คานต์ (Immanuel Kant)  สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์นั้นอยู่ที่ความมี “เหตุผล” และ “เสรีภาพ” แต่มนุษย์ก็มีธรรมชาติของความเป็นสัตว์ หรือ “ตัวตนแบบสัตว์ (animal self)” อยู่ในตัวเองด้วย คือตัวตนที่แสดงออกตามอำนาจของอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ แรงโน้มต่างๆ ตามสัญชาตญาณ เมื่อมนุษย์กระทำการต่างๆ ตามอิทธิพลของตัวตนแบบสัตว์  การกระทำของเขาย่อมไม่มีค่าเป็นความดีทางศีลธรรม

ต่อเมื่อเขากระทำการต่างๆ ด้วยเหตุผลและเสรีภาพเท่านั้น การกระทำของเขาจึงจะมีค่าเป็นความดีทางศีลธรรม แต่คำว่า “เหตุผล (reason)” ในความเห็นของค้านต์ไม่ใช่เหตุผลในความหมายของ “การใช้เหตุผล (reasoning)” ตามที่เข้าใจกันทั่วไป ที่หมายถึง การใช้ข้ออ้างต่างๆ มาสนับสนุนข้อสรุปของตนเอง ในแบบที่เรา “ชอบ” สิ่งใดอยู่ก่อนแล้วจึงหาเหตุผลมาสนับสนุนว่าสิ่งนั้น “ดี” การใช้เหตุผลในความหมายนี้ คือการใช้เหตุผลแบบที่ จี.อี.มัวร์เรียกว่า “เหตุผลเป็นทาสของอารมณ์ความรู้สึก”

แต่เหตุผลในความเห็นของค้านต์ หมายถึงเหตุผลที่เป็นอิสระจากอารมณ์ ความรู้สึก แรงโน้มต่างๆ ตามสัญชาตญาณ ผลประโยชน์ หรืออิทธิพลภายนอกใดๆ เช่น ศาสนา จารีตประเพณี ครอบครัว อำนาจรัฐ บางทีเขานิยามเหตุผลที่เป็นอิสระจากอิทธิพลต่างๆ ดังกล่าวว่า หมายถึง “เหตุผลบริสุทธิ์ (pure reason)” หรือใช้คำว่า “เหตุผลปฏิบัติ (practical reason)” แทน หมายถึง เหตุผลที่ทำให้เราเป็นอิสระ ปกครองตนเองได้ (autonomy) ในทางศีลธรรม

กล่าวคือ ตามความคิดของค้านต์ เรื่องถูก ผิด ควร ไม่ควรไม่ใช่เรื่องที่ศาสนาหรือรัฐกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าให้เราต้องปฏิบัติตามอย่างจำยอม มิเช่นนั้นเราก็ไม่มีเสรีภาพ ไม่ต่างอะไรกับลูกสนุกเกอร์ที่ถูกกระทำให้กระเด็นไปตามอิทธิพลต่างๆ ที่กำหนดให้ต้องเป็น แต่มนุษย์ต้องปกครองตนเองได้ในทางศีลธรรม นั่นคือต้องมีเสรีภาพในการใช้เหตุผลกำหนดหลักการที่ถูกต้องสำหรับตัวเองได้

ทว่า “ตัวเอง” ในที่นี้หมายถึงตัวเองในฐานะเป็นสมาชิกของมนุษยชาติทั้งหมด ที่ทุกคนต่างมีเหตุผลและเป็นเป้าหมายในตัวเอง ฉะนั้น หลักการที่ถูกต้องที่เราแต่ละคนจะกำหนดขึ้นด้วยตัวเอง จึงต้องเป็นหลักการที่ใช้ได้อย่างสากลกับมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม

เช่น ตามทัศนะของค้านต์ หลักการที่ว่า “จงให้ฉันใช้เหตุผลสนับสนุนการใช้อำนาจบังคับให้คนอื่นทำตาม โดยห้ามคนอื่นใช้เหตุผลโต้แย้งฉัน” ย่อมเป็นหลักการสากลไม่ได้ แต่หลักการที่เป็น “กฎสากล (universal law)” ให้ทุกคนปฏิบัติร่วมกันได้อย่างยุติธรรม คือ “เราแต่ละคนต้องมีเสรีภาพในการใช้เหตุผลและมีหน้าที่เคารพเสรีภาพในการใช้เหตุผลของกันและกัน”

ฉะนั้น คุณค่าของศีลธรรมของค้านต์ จึงอยู่ที่การปลดปล่อยปัจเจกบุคคลจากอิทธิพลของศาสนา รัฐ จารีตประเพณีใดๆ ที่ครอบงำกดขี่ และส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลใช้เหตุผลและเสรีภาพกำหนดหลักการทางศีลธรรมสำหรับตนเอง อย่างเคารพความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์

รอลส์ (John Ralws) ได้นำความคิดของค้านต์มาประยุกต์ใช้ในการสร้าง “หลักความยุติธรรม (principles of justice)” เขาเสนอว่า หลักความยุติธรรมที่จะมีความเป็นธรรม (fairness) แก่ทุกคนนั้น ต้องกำหนดขึ้นจากการยอมรับ “ความเท่าเทียมในความเป็นคน” คือขณะที่เรากำลังอภิปรายว่า จะสร้างหลักความยุติธรรมอย่างไรนั้น เราต้องตระหนักว่าคนทุกคนเป็นมนุษย์ที่ต้องการได้รับประโยชน์ต่างๆ ในการดำรงชีวิตเฉกเช่นกัน โดยตัดเรื่องความแตกต่างในแง่อื่นๆ (เช่นสถานภาพทางสังคม ฯลฯ) ออกไปให้หมด แล้วสร้างหลักความยุติธรรมขึ้นบนฐานของการยอมรับ “ความเป็นคนเท่ากัน” ที่ต่างก็ต้องการได้รับประโยชน์ต่างๆ ในการดำเนินชีวิตด้วยกันทั้งนั้น

รอลส์คิดว่า หลักความยุติธรรมที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของ “ความเป็นคนเท่ากัน” จะมี 2 หลักกว้างๆ คือ “หลักเสรีภาพ” กับ “หลักความแตกต่าง” โดยหลักเสรีภาพนั้น ถือว่าทุกคนต้องมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียม ส่วนหลักความแตกต่างนั้น รัฐสามารถปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มอย่างเป็นพิเศษแตกต่างจากคนทั่วไปในสังคมได้ หากเป็นการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือคนที่เสียเปรียบ หรือคนด้อยโอกาสในสังคม เช่น คนยากจน คนทุพพลภาพ คนประสบภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น

ความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลและเสรีภาพในการกำหนดตัวเอง ตามทัศนะของค้านต์ และหลักความยุติธรรมบนความเท่าเทียมในความเป็นคน ตามทัศนะของรอลส์ ย่อมมีความหมายสำคัญต่อการสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะในสังคมประชาธิปไตยนั้น ประชาชนต้องมี “ความเป็นคน” ที่มีเหตุผลและเสรีภาพ หรือมีเสรีภาพที่จะใช้เหตุผลกำหนดชะตากรรมและสร้างสรรค์สังคมของตนเองได้ เขาต้องได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างยุติธรรมภายใต้หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม และหลักการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเป็นกรณีพิเศษ หากเขาตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพนั้นมีความหมายซับซ้อนและแตกต่างกันไปตามนิยามของนักปรัชญาต่างๆ เช่น รุสโซ (Jean-Jaques Rousseau) กล่าวไว้ในหนังสือ “สัญญาประชาคม” (แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท) ตอนหนึ่งว่า

มนุษย์เกิดมาเสรี แต่เขาถูกพันธนาการอยู่ทั่วทุกแห่งหน ผู้เชื่อว่าตนเป็นนายคนอื่นกลับเป็นทาสเสียยิ่งกว่า...เมื่อประชาชนถูกบังคับให้เชื่อฟัง เขาก็เชื่อฟัง เขาย่อมทำดีแล้ว แต่ทันทีที่เขาสามารถสลัดแอกทิ้งไปได้ เขาก็สลัดมันทิ้ง...”

หมายความว่า ในความเป็นจริงมนุษย์ต่างตกอยู่ในภาวะที่ถูกพันธนาการ แต่เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์คือเสรีภาพ เขาจึงปรารถนาที่จะมีเสรีภาพ และพยายามสลัดแอกพันธนาการ นอกจากนี้รุสโซยังกล่าวอีกว่า

การละทิ้งเสรีภาพนั้น คือการละทิ้งความเป็นคน และกระทั่งละทิ้งสิทธิและหน้าที่แห่งมนุษยชาติ ไม่มีการชดเชยใดๆ เป็นไปได้สำหรับผู้ที่ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนี้ การละทิ้งนี้ขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์ และการลบล้างเสรีภาพทั้งหมดออกไปจากเจตจำนงของเขา ก็คือการลบล้างศีลธรรมทั้งหมดออกไปจากการกระทำของเขา ท้ายที่สุด นี่ก็คือข้อตกลงที่ไร้สาระและขัดแย้ง เมื่อกำหนดให้ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจสัมบูรณ์ ขณะที่อีกฝ่ายต้องเชื่อฟังอย่างไร้ขีดจำกัด...

จะเห็นได้ว่า ตามทัศนะของนักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่อย่างค้านต์, รอลส์, รุสโซ ดังที่กล่าวมา ความมีเหตุผล- เสรีภาพ-ศีลธรรม ย่อมเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกัน และเป็นสิ่งบ่งบอกถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ หากปราศจากการใช้เหตุผลและเสรีภาพมนุษย์ก็อยู่ร่วมกันอย่างมีศีลธรรมไม่ได้ ความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งที่ดีอื่นๆ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

แต่พึงเข้าใจว่า คำว่า “ศีลธรรม (Moral)” ในความหมายของปรัชญาตะวันตกนั้น กินความกว้างกว่าศีลธรรมทางศาสนา คือหมายรวมถึงหลักการ กฎกติกาใดๆ ทางสังคมการเมืองที่ปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข 7-13 มิ.ย.57

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net