Skip to main content
sharethis

จับตากสท. จันทร์ 9  มิ.ย. ลุ้นช่องวอยซ์ (ดิจิตอลทีวี) และทีนิวส์ (ไม่ใช้คลื่น) กลับมาออนแอร์อีกครั้ง ผู้ประกอบการพร้อมปรับตัว ยกผังรายการใหม่ ก่อน กสทช.หารือ คสช. ด้านช่องดาวเทียมอื่นต้องปรับตัวบอกรับสมาชิกและไม่ทำผิดกฎหมายโฆษณา และสรุปสุดท้ายแนวทางการรับชมถ่ายทอดบอลโลก 2014

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ 9 มิ.ย. 57  ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 24/57 มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ บ.วอยซ์ ทีวี จำกัด และ บ.กรีน อินเทลลิเจ้นท์ จำกัด หรือช่องทีนิวส์ ได้ขอความอนุเคราะห์ กสท.พิจารณาอนุญาตให้ทั้ง 2 บริษัท สามารถประกอบกิจการได้ ตามที่ประกาศ คสช. ได้ขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอล และสถานีวิทยุชุมชน ที่มีเนื้อหาบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย

สุภิญญา กล่าวว่า จากนี้เริ่มมีการผ่อนผันการออกอากาศ รวมทั้งสองช่องดังกล่าวได้ยื่นเรื่องยินยอมที่จะปรับตัว ปรับเปลี่ยนผังรายการและเนื้อหารายการ ตลอดจนเงื่อนไขการเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯตามที่ กสทช.กำหนด เพื่อให้กลับมาออกอากาศได้ หากช่องทีวีอื่นๆ ที่ถูกคำสั่งห้าม ก็สามารถลองมายื่นจดทะเบียนแบบบอกรับสมาชิก โดย กสทช.จะช่วยพิจารณาและนำไปหารือกับคสช.ต่อไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำใจว่าสถานการณ์อย่างนี้ คงไม่สามารถมีรายการที่เกี่ยวข้องทางการเมืองมาก แต่อย่างน้อยเพื่อจะช่วยแก้ปัญหาสำคัญในด้านอื่นๆ

“เช่นเดียวกับช่องดาวเทียมอื่นๆ ที่ตอนนี้การแก้ปัญหาเริ่มมีความคืบหน้าขึ้น ผู้ประกอบการช่องทีวีดาวเทียมจะต้องมายื่นขอรับใบอนุญาตแบบบอกรับสมาชิกใหม่ โดยมีเงื่อนไข ที่ช่องต้องส่งแบบเข้ารหัสได้ โฆษณาได้ 6 นาที ปัจจุบัน กสท.มีมติอนุญาตแล้ว 360 ช่อง ติดตามที่เวบไซต์ กสทช.broadcast.nbtc.go.th  และกำลังเตรียมพิจารณาอีก 100 กว่าช่องที่ขอมาแล้วยังไม่ผ่าน เนื่องจากพบว่า เป็นช่องที่มีประวัติในการเผยแพร่รายการ หรือโฆษณาที่ขัดกฎหมายต่างๆ อาทิ โฆษณาอาหาร และยาเกินจริง โฆษณาเครื่องรางของขลังต่างๆ โดย กสท.ได้มอบหมายให้อนุกรรมการฯช่วยกลั่นกรองพร้อมสำนักงานจะเชิญผู้ขอรับใบอนุญาต 100 กว่าช่องมาชี้แจงในวันศุกร์ 13 มิ.ย. นี้ โดยให้เตรียมเทปออกอากาศย้อนหลัง 1 สัปดาห์นับจาก 22 พ.ค.เป็นต้นไปรวมทั้งเอกสารอื่นเพื่อยืนยันหลักฐานการโฆษณาหรือเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนช่องอื่นๆที่ยังไม่ได้ยื่นขอและไม่ได้ทำกระทำผิดกฎหมายใดๆ ขอให้รีบมายื่นคำขอ รวมถึงสถานีวิทยุที่ที่โดนระงับการออกอากาศเช่นกัน กสทช.ได้มีมติส่งเรื่องถึง คสช.ให้ผ่อนผันคืนสิทธิ์กลุ่มที่มีใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการฯ แต่ต้องผ่านการตรวจเครื่องส่ง และให้สิทธิ 1 นิติบุคคลต่อ 1 สถานี เพื่อลดปัญหาคลื่นความถี่รวบกวน รวมทั้งช่วงนี้มีกระแสข่าวว่า มีนายหน้าวิ่งเต้น เพื่อให้สถานีสามารถกลับมาออกอากาศได้ ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริง หากท่านใดประสบพบเห็นแนะนำให้แจ้งความกับตำรวจ” สุภิญญา กล่าว

ส่วนวาระการถ่ายทอดสดการแข่งขันบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) ฤดูกาล 2014  ที่ใกล้จะมาถึงนี้ สุภิญญา กล่าวว่า  ตอนนี้เริ่มมีความสับสนอลหม่าน ตกลงว่าจะรับชมการแข่งขันได้ทางไหนบ้าง ดิฉันเสนอว่า กสทช.จะต้องทำให้ชัดเจนเพื่อลดความสับสนของผู้บริโภค และสร้างความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ

ส่วนวาระอื่นๆ น่าติดตาม ได้แก่ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี และหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียม  วาระรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานด้านเทคนิคสำหรับการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล วาระขอความเป็นธรรมโทษปรับทางปกครองจากเรื่องร้องเรียน กรณี การออกอากาศรายการไทยแลนด์ก็อตทาเล้นท์ ซีซั่น 3 ตอน สิทธัตถะฯ และวาระรายงานผลการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาของสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ของสำนักงาน กสทช. หรือ กรมไปรษณีย์โทรเลข(เดิม) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net