Skip to main content
sharethis

กระทรวงไอซีทีระบุกำลังประสานไปที่ เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ และไลน์ เพื่อขอความร่วมมือในการบล็อคเนื้อหาที่ขัดประกาศ คสช. ชี้ไม่สามารถเข้าไปดักข้อมูลไลน์เองได้ แต่จะใช้วิธีสอดส่องผ่านกรุ๊ปไลน์ ผ่านการสมัคร "เป็นเพื่อน" เพื่อหาข่าว

29 พ.ค.2557 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดการประชุม "คณะทำงานกำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์" เพื่อประสานความร่วมมือและเน้นย้ำกับ "ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต" (Internet service provider: ISP) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม หมิ่นประมาท และเป็นภัยต่อความมั่นคงตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยในการประชุมครั้งนี้ ทางกระทรวงไอซีทีได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนร่วมซักถามข้อสงสัยก่อนจะเริ่มประชุมด้วย

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงไอซีที และหัวหน้าคณะทำงานกำกับควบคุมสื่อตามประกาศของ คสช. แถลงว่า ขณะนี้ทางกระทรวงไอซีทีกำลังเร่งดำเนินการประสานงานไปยังสำนักงานผู้ให้บริการเว็บไซต์เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ และแอพลิเคชั่น ไลน์ เพื่อขอความร่วมมือในการระงับการเข้าถึง (บล็อค) เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12, 17 และ 26 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2553 ซึ่งในขณะนี้ได้ทำการปิดเว็บไซต์ที่เข้าข่ายไปบางส่วนแล้ว

ปัดสั่งปิดเฟซบุ๊ก

โดยในเบื้องต้น พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ยืนยันว่า กระทรวงนั้นไม่ได้เป็นผู้สั่งปิดเว็บไซต์เฟซบุ๊ก แต่เป็นปัญหาทางเทคนิค เนื่องจากในขณะนั้นเป็นเวลาเลิกงาน จึงมีผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้ไปเกิดจุดหน่วงอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์ประเทศสิงคโปร์ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบจึงเกิดการติดขัดได้ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เว็บไซต์เฟซบุ๊กในอีกหลายประเทศก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน


ส่วนในกรณีที่มีผู้ใช้งานบางคน ที่พบรูปภาพ (แบนเนอร์) ที่มีข้อความว่า "ปิดชั่วคราว ตามประกาศของคสช.” ขณะที่กำลังเข้าเว็บไซต์เฟซบุ๊กนั้น ทาง พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ได้ชี้แจงว่า "เป็นความเข้าใจผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่พอเห็นเว็บไซต์เข้าไม่ได้ ก็คิดว่าถูกสั่งปิดจากทางกระทรวงไอซีที เนื่องจากก็มีบัญชีเฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งที่ถูกระงับการเข้าถึงโดยคำสั่งไอซีทีเช่นกัน ซึ่งในวันนี้ก็ได้เรียกให้ทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมาทำความเข้าใจ แต่ขอยืนยันว่าทางกระทรวงไม่ได้มีนโยบายระงับการเข้าถึงเฟซบุ๊กทั้งหมด แต่จะทำเป็นกรณีๆ ไป”

"ส่วนในกรณีของแอพพลิเคชั่น ไลน์ (Line) นั้น ต้องประสานกับทางเซิร์ฟเวอร์หรือผู้ให้บริการเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทางผู้ใช้คงจะสบายใจได้ว่าจะไม่ถูกล้วงความลับ และไม่ถูกตรวจสอบทุกข้อความ หรือเข้าไปในรายบุคคล เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

สอดส่องไลน์กรุ๊ป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระบวนการการระงับนั้น จะเป็นในลักษณะของการสอดส่องผ่านกลุ่มไลน์ (Line group) มากกว่า โดยทางเราอาจจะมีมาตรการเข้าไปสมัคร “เป็นเพื่อนกับท่าน” แล้วพอท่านกดรับ (accept) ผมก็จะคอยดูว่าในกลุ่มนั้น มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายการเผยแพร่ข้อมูลที่ขัดต่อประกาศ คสช. หรือไม่" พร้อมกันนี้ พล.ต.ต.พิสิษฐ์  ยังได้กล่าวอย่างติดตลกว่า "ระวัง..เรากำลังจะไปเป็นเพื่อนกับท่าน"

"ดังนั้น ในส่วนของการควบคุมการใช้ แอพลิเคชั่น ไลน์ นั้น จะเป็นการเข้าควบคุมกลุ่มไลน์ (Line group) มากกว่า หากท่านคุยกัน 2 คน ทางเราก็คงจะไม่เข้าไปดู ฉะนั้น จึงขอเน้นย้ำว่า หากท่านได้รับข้อความที่ขัดต่อประกาศฯ ก็ไม่ต้องส่งต่อหรือเผยแพร่ เพราะเท่ากับเป็นการยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยก"

ส่วนในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ทาง พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ได้ชี้แจงว่าทางกระทรวงนั้นได้มีการประสานงานในเรื่องในลักษณะนี้มาก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากเป็นกรณีของความมั่นคง ในส่วนของการดำเนินการสั่งระงับนั้น ทางเราจะมีกระบวนการกันอยู่ จะมีคณะกรรมการคอยตรวจสอบเนื้อหา ว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนว่าผิดกฎหมายหรือไม่ แล้วจึงสั่งปิด

โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า "ขณะนี้มีเว็บไซต์ที่ถูกปิดไปแล้วจำนวนเท่าใด” พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า "เท่าที่ได้คุยกับท่านปลัดกระทรวงฯ มีประมาณร้อยเศษๆ ในจำนวนนี้คือเว็บเพจ ไม่ใช่เว็บไซต์”

โดยทางกระทรวงฯจะเป็นคนส่งรายชื่อเว็บไซต์ที่เข้าข่าย ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อทำการปิดเว็บไซต์เอง ไม่ใช่ทาง คสช. เนื่องจากในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26 นั้น ได้ให้อำนาจกระทรวงไอซีทีในการกำกับดูแลอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนิการปิดนั้น สามารถทำได้เร็วที่สุดไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะทางเรามีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง"

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า "หากทางสำนักงานเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออื่นๆ ไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตามมติของกระทรวงไอซีที จะมีมาตการการดำเนินการอย่างไรต่อ เนื่องจากทางบริษัทเหล่านี้ มีนโยบายที่ป้องกันเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนค่อนข้างมาก”

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า “ในขั้นแรก เราก็ต้องแจ้งเขาก่อน แต่ในกรณีที่เขาไม่ยอมให้ปิด เราก็ต้องประสานกับทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของเรา ให้ดำเนินการในส่วนนั้นแทน”

ในช่วงท้ายของการแถลง ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า “ดูเหมือนว่าวันนี้จะไม่มีตัวแทนจากเฟซบุ๊ก หรือไลน์มาตามคำเชิญ เป็นไปได้หรือไม่ว่าทางนั้นจะปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือ”  โดย พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ตอบว่า “นี่คือปัญหา เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ไม่มีตัวแทนในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเช้านี้ ผมได้โทรไปคุยกับทางตัวแทนที่ประเทศสิงคโปร์แล้ว ว่าเรามีแผนการที่จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ไปพูดคุยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีกำหนดการประมาณต้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยตัวแทนของเฟซบุ๊ก กูเกิล และยูทูบ จะมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนไลน์นั้นอยู่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่"

"ก่อนหน้านี้ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางไปติดต่อบ้างแล้ว ที่สิงคโปร์ 5 ครั้ง และที่ญี่ปุ่น 3 ครั้ง ซึ่งครั้งนั้นไปในนามของ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แต่ครั้งนี้ที่จะส่งไปจะเป็นครั้งแรกในนามของไอซีทีที่ต้องดำเนินการตามคสช."พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์และโพสต์ทูเดย์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net