เครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลองเตรียมยื่น จม.ถึง 'ประยุทธ์' ค้าน สบอช.ฟื้นโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน

 
29 พ.ค. 2557 ภายหลังจากที่มีข่าวนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย (สบอช.) เตรียมเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท มาดำเนินการต่อ โดยนายอภิชาต อนุกูลอำไพ อนุกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ระบุว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้วได้โดยเฉพาะแผนงานก่อสร้างฟลัดเวย์ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถทำได้ทันที
 
ขณะที่เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้คัดค้าน "โครงการแม่น้ำสายใหม่" หรือ "ฟลัดเวย์” มาโดยตลอด ได้เตรียมนำจดหมายเปิดผนึกยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการหยิบยกโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ขึ้นมาดำเนินการใหม่
 
จดหมายเปิดผนึกระบุว่า ในอดีตศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไว้ว่า “ต้องกลับไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง หรือ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเสียก่อน” ซึ่งโครงการแม่น้ำสายใหม่ หรือฟลัดเวย์ อยู่ในโมดูล เอ5 ได้มีการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จ.ราชบุรี เมื่อ27 พฤศจิกายน 2556 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งในเวทีมีชาวบ้านกว่า20,000 คน ไปร่วมแสดงประชามติเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการ พร้อมกับมีรายชื่อผู้คัดค้านกว่า 10,000 รายชื่อ
 
จดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ระบุอีกว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ EHIA) ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และตามประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปี 2552 แต่ขณะนี้ยังไม่มีการจัดทำรายงานฉบับนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ในแต่ละเวทีของจังหวัดต่างๆ ที่มีการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้น มีประชาชนจำนวนมากซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ออกมาแสดงการคัดค้านโครงการอย่างชัดเจน และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อเป็นการสื่อสารความต้องการของภาคประชาชนที่มีต่อนโยบายของภาครัฐ
 
นายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีต สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการต่างๆ ภายใต้โรดแมป และ คสช.ได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ไปแล้ว แต่โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ยังคงอยู่ภายใต้หลักกฎหมายมหาชน ซึ่งต้องทำตามคำสั่งศาลปกครองที่ให้ชะลอโครงการและจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน
 
ทั้งนี้ ตามโรดแมปของ คสช.ที่จะมีการดำเนินโครงการเร่งด่วนนั้น คาดว่าจะเป็นโครงการย่อยๆ และเป็นโครงการดั้งเดิมของกรมชลประทานที่สามารถดำเนินการได้โดยงบประมาณปกติ เช่น การสร้างสะพาน ขุดลอกทางน้ำ และการฟื้นฟูลำน้ำเดิม
 
อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่า ส่วนในโครงการขนาดใหญ่ที่เสี่ยงมีผลกระทบรุนแรง และต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะการก่อสร้างแนวฟลัดเวย์ หรือการสร้างเขื่อนนั้น คสช.คงไม่กล้าที่จะดำเนินการในขณะนี้ เนื่องจากจะขัดต่อคำสั่งศาลปกครอง และอาจจะมีกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตามอยากเสนอให้ภาคประชาชนได้พยายามสื่อสารข้อเสนอหรือความคิดเห็นต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทโดยตรงถึง คสช. อย่างต่อเนื่อง และอาศัยช่องทางการตรวจสอบที่ยังมีอยู่ ผ่านองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ เป็นต้น
 
 
ที่มา: Paskorn Jumlongrach
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท