Skip to main content
sharethis


28 พ.ค.2557 สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องกับสื่อนั้น ส่งผลต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมทีวีและสิทธิเสรีภาพต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ทำให้สถานีโทรทัศน์ และวิทยุหลายช่องที่ปิดไป มีทั้งช่องที่อยู่ในกลุ่มน้ำดีทำถูกกฎหมาย และช่องที่ทำผิดกฎหมาย อีกทั้งตอนนี้มีแนวทางการออกอากาศได้เฉพาะช่องฟรีทีวีภาคพื้นดินแอนะล็อก ฟรีทีวีภาคพื้นดิจิตอล และ ช่องทีวีที่อยู่ในประเภทกิจการบอกรับสมาชิกดาวเทียม ประเภท (Pay TV) เท่านั้น จึงทำให้ทีวีกว่า 200 ช่อง ได้รับผลกระทบ

“กสทช.เอง ควรเป็นตัวกลางเจรจาแนวทางเรื่องนี้ เนื่องจากมีผลกระทบวงกว้างที่ควรสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ควรฟังเสียงเอกชนและผู้บริโภค ตลอดจนการเยียวยาผู้บริโภคในทีวีบอกรับสมาชิกด้วย รวมทั้งแยกแยะช่องที่ทำถูกกฎหมาย เช่น ช่องการ์ตูน ช่องการศึกษา ช่องสารคดี ออกจากช่องที่ทำผิดกฎหมาย เช่น ช่องที่โฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ช่องไสยศาสตร์ เป็นต้น  ทั้งนี้ จึงน่าที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นกับผู้ประกอบการกิจการและผู้บริโภคก่อนการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด” สุภิญญา กล่าว

สุภิญญา กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกับสถานีวิทยุที่ถูกปิด ทั้งสถานีวิทยุกลุ่มน้ำดีทำถูกกฎหมาย และสถานีวิทยุที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งควรมีการทยอยอนุญาตให้สถานีกลุ่มที่ทำถูกกฎหมาย เช่น วิทยุชุมชนที่ไม่มีโฆษณา วิทยุธรรมะ วิทยุธุรกิจที่ทำตามกฎหมายควรมีแผนกลับมาออกอากาศด้วย เพราะการปิดยาวไป อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ด้วย อย่างคนตกงานจำนวนมาก ควรต้องมีการชี้แจงแนวทางให้ชัดเจน

ทั้งนี้ ส่วนตัวมีความกังวลการปิดสื่อใหม่ อย่างสื่อออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งในทางปฏิบัติยากจะที่ทำได้จริง เว้นแต่จะทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อยลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมองภาพความเป็นจริงในยุคดิจิตอลว่าการควบคุมทำได้จริงหรือไม่ เพราะการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้แผ่ปกคลุม อาจจะสร้างผลกระทบมุมกลับมากกว่าความสงบเรียบร้อย เพราะต้องยอมรับว่าสื่ออินเทอร์เน็ต มีธรรมชาติที่กระจายตัวทางเทคโนโลยี อย่างโซเชียลมีเดีย และเป็นช่องทางสุดท้ายที่ประชาชนจะสามารถหาข้อมูลได้รอบด้าน ในขณะที่สื่ออื่นจำกัดตัวเองด้วยการเซ็นเซอร์ หน่วยงานอย่าง กสทช. ควรช่วยถ่วงดุล สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net