ประท้วงรัฐประหารด้วยการยืนอ่านหนังสือ

ประชาชน 4 คนนัดกันยืนอ่านหนังสือบนทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าหน้าหอศิลปวัฒธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยระบุได้แรงบันดาลใจจากการยืนอ่านหนังสือประท้วงรัฐบาลในตุรกี

 

27 พ.ค.2557 เวลา 17.40น. ประชาชน 4 คนนัดกันยืนอ่านหนังสือบนสกายวอร์กบีทีเอสหน้าหอศิลปวัฒธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยระบุได้แรงบันดาลใจจากการยืนอ่านหนังสือประท้วงรัฐบาลในตุรกี

หนังสือที่มีการนำมาอ่าน ได้แก่ 1984 นวนิยายของจอร์จ ออร์เวล, 1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา และ Why civil resistance works ของ Erica Chenoweth และ Maria J. Stephen ซึ่งตอบคำถามว่าทำไมปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจึงประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ

ผู้จัดกิจกรรมให้สัมภาษณ์ว่า การต้านรัฐประหารทำได้หลายวิธี โดยไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเสี่ยงเกิดการปะทะ โดยหากใครเห็นด้วยก็สามารถที่จะริเริ่มกิจกรรมลักษณะนี้กันได้ทันที

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน มิ.ย.2556 เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลตุรกี โดยมีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านแผนปรับปรุงพื้นที่สวนสาธารณะเกซี ในจัตุรัสทักซิม ให้เป็นห้างสรรพสินค้า ก่อนจะขยายกลายเป็นการประท้วงทั่วประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาล โดยมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมหลายครั้ง

ต่อมา วันหนึ่ง ศิลปินชื่อเออร์เดม กุนดุซ เดินไปหยุดบริเวณจัตุรัสทักซิม ที่เพิ่งมีการสลายการชุมนุมไปหมาดๆ เขาวางเป้ลงข้างตัว และยืนเอามือล้วงกระเป๋ากางเกง หันหน้าเข้าหาอาคารศูนย์วัฒนธรรมอาตาเติร์ก ซึ่งมีภาพวาดของมุสตาฟา เคมาล อาตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานาธิบดีคนแรกของตุรกี ติดอยู่ มีตำรวจเดินมาสอบถามและขอค้นกระเป๋าของเขา แล้วก็ถอยไป

หลังจากเขายืนอยู่ตรงนั้น 2-3 ชั่วโมง ข่าวการมายืนของเขากระจายไปทั่วในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เขาถูกเรียกว่า สแตนดิ้งแมน  คนหลายร้อยคน ออกมายืนร่วมกับเขาหลังรู้ข่าว เขาบอกกับสื่อว่า นี่คือการต่อต้านด้วยความเงียบ โดยหวังว่าคนจะได้หยุดและคิดว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมประชาชนออกมาถึงต่อต้านรัฐบาล รวมแล้ว เขายืนอยู่ที่นั่น ราว 8 ชั่วโมง

การออกมายืนประท้วงของเขา ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดไอเดีย นัดกันมายืนอ่านหนังสือเงียบๆ อยู่ที่จัตุรัสทักซิม โดยที่บางคนก็สวมหน้ากากด้วย

หนังสือที่ผู้ชุมนุมเลือกมา โดยหนังสือที่ผู้ชุมนุมนิยมมากที่สุดก็คือ นิยายคลาสิกอย่าง 1984 นอกจากนี้ ยังมีคนเอาเดอะมิสออฟซิซีฟัส ของอัลแบร์ กามู นักเขียนชาวฝรั่งเศส ซึ่งพูดถึงการค้นหาความหมายในการหายตัวไปของพระเจ้า รวมถึง เดอะสปีช หนังสือที่รวบรวมสุนทรพจน์ของ มุสตาฟา เคมาล อาตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งประเทศตุรกี บ้างก็อ่านชีวประวัติของ อาตาเติร์ก

 

ข้อมูลประกอบจาก

http://www.aljazeera.com/indepth/inpictures/2013/06/2013624105477515.html#.UcyH5RPjp1A.facebook
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท