Skip to main content
sharethis

27 พ.ค.2557 ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลทวายรับฟ้องกรณีบริษัทเมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ของไทย และกรมกิจการเหมืองแร่ ลำดับ 2 สังกัดกระทรวงเหมืองแร่ของพม่า ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่เฮ็นดาในทวายก่อผลกระทบต่อชาวบ้าน กระบวนพิจารณาคดีจะเริ่มในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้

เหมืองเฮ็นดา ตั้งอยู่ในเมืองมยิตตา จังหวัดทวาย แคว้นตะนาวศรี หนึ่งในเหมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศพม่า ดำเนินการโดย บริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ บริษัทไทยที่จดทะเบียนในพม่า ภายใต้ความร่วมมือกับกรมกิจการเหมืองแร่ ลำดับ 2 สังกัดกระทรวงเหมืองแร่ ประเทศพม่า โดยโครงการเหมืองดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจของชุมชน

ชาวบ้านเมียวพิวที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองเฮ็นดาให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2542 ที่บริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ ได้เริ่มเข้ามาดำเนินการเหมืองตะกั่ว แม่น้ำ ลำธาร ก็เริ่มตื้นเขิน พืชและสัตว์หลายชนิดเริ่มสูญหาย พืชผลทางการเกษตร บ้านเรือน บ่อน้ำ และศาสนสถานถูกทำลายเนื่องจากการปล่อยของเสียและดินตะกอนลงมาตามลำน้ำ โดยเฉพาะในปี 2555 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน พืชผลทางการเกษตร และแหล่งน้ำตามลำน้ำมองเพียว ซึ่งปัจจุบันที่ดินและแหล่งน้ำของหมู่บ้านถูกทับถมด้วยของเสียและดินตะกอนที่มาจากเหมือง ผลจากการทดสอบน้ำจากแหล่งน้ำในหมู่บ้านพบว่า น้ำจากสองในสามแหล่งไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค โดยพบสารหนู และสารตะกั่ว ในระดับสูงเกินกว่าค่าสูงสุดที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งทางบริษัทไม่ได้ดำเนินการรับผิดชอบต่อความความเสียหายที่เกิดขึ้น

ต่อมาชาวบ้านได้ส่งจดหมายร้องเรียนไปยังบริษัทและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง อธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ถูกปฏิเสธ กลุ่มนักกฎหมายทวาย (Dawei Lawyer Group – DLG)) จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดทวายในนามของชาวบ้าน 9 คน เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และศาลนัดให้มีกระบวนพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 29 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

“เราช่วยชาวบ้านในการยื่นฟ้องครั้งนี้ เพราะพวกเขามีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าชดเชย” ติน ติน เต็ต นักกฎหมายจาก DLG กล่าว

ด้าน สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) ได้เรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบจากกรมกิจการเหมืองแร่ ลำดับ 2 สังกัดกระทรวงเหมืองแร่ของพม่า และบริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ ออกมารับผิดชอบต่อผลกระทบของเหมืองเฮ็นดาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในหมู่บ้านเมียวพิว

“เฮ็นดาเป็นเหมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของแคว้นตะนาวศรี เหมืองแห่งนี้ดำเนินการโดยไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม การยื่นฟ้องครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนต่อบริษัทอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในทวายและในพม่าในอนาคต และเพื่อให้บริษัทที่กำลังดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล” ทัน ซิน ผู้ประสานงานสมาคมพัฒนาทวายกล่าว

สภาพพื้นที่เหมืองเฮ็นดา (ภาพโดย Dawei Watch)

 
ตะกอนดินและน้ำเสียที่ถูกปล่อยมาตามลำน้ำ ท่วมเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือน ดินตะกอนเหล่านี้ทับถมจนแม่น้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านหายไป (ภาพโดย Dawei Watch)


 

ชาวบ้านกว่า 70% ต้องไปหางานทำที่เมืองไทย และบางครอบครัวไม่สามารถส่งเสียลูกให้เรียนต่อได้ เพราะสวนหมากที่เป็นรายได้หลักเสียหายทั้งหมด (ภาพโดย Dawei Watch)

..................................

เหมืองเฮ็นดา (Heinda Mine)

สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA)

เหมืองเฮ็นดา ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำตะนาวศรีตอนบนของเมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี ทางภาคใต้ของประเทศพม่า ชาวบ้านเล่าว่าพื้นที่นี้มีการทำเหมืองตะกั่วขนาดเล็กมาแล้วอย่างน้อย 70 ปีตั้งแต่ยุคอาณานิคม แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ ของไทยได้เข้าไปดำเนินการทำเหมืองขนาดใหญ่ และได้สร้างผลกระทบอย่างหนักต่อชาวบ้านในหมู่บ้านเมียวพิว (Myaung Pyo)

ชาวบ้านในหมู่บ้านเมียวพิวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทวาย โดยในปี 2526 ชาวบ้านเมียวพิวได้ถูกย้ายมาจากพื้นที่ดั้งเดิมมาอยู่บริเวณที่ตั้งที่เป็นพื้นที่เหมืองเฮ็นดาในปัจจุบัน โดยรัฐบาลได้แบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านจำนวน 200 เอเคอร์ สำหรับการตั้งหมู่บ้านใหม่และเพื่อการทำการเกษตร ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพื้นที่เดิมที่ชาวบ้านเคยอาศัยอยู่ โดยชาวบ้านไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ จากการย้ายที่ดังกล่าว (เช่นการสร้างบ้าน) และชาวบ้านก็ไม่ได้รับความมั่นคงในเรื่องสิทธิที่ดินอีกด้วย ไม่มีเอกสารใดๆ เกี่ยวกับการย้ายมาตั้งถิ่นฐานมาที่ ณ ปัจจุบัน นอกจากหลักฐานทางวัฒนธรรมที่มีการจารึกวันก่อตั้งหมู่บ้านไว้ที่พระธาตุประจำหมู่บ้านเท่านั้น

หมู่บ้านเมียวพิวมี 105 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรประมาณ 450 คน ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เช่น ทำสวนทุเรียน, หมาก และยางพารา ชาวบ้านบางส่วนปลูกผักเพื่อขาย บางครัวเรือนร่อนหาแร่ตะกั่วในแม่น้ำตะนาวศรีเป็นอาชีพเสริม ชาวบ้านได้ดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มาเป็นเวลาหลายปี ชาวบ้านประมาณ 40-50 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ประกอบอาชีพการหาแร่ในแม่น้ำซึ่งเป็นตะกอนที่ไหลมาจากเหมืองเฮ็นดา และผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนมากไปหางานทำที่เมืองไทย 

แม่น้ำตะนาวศรีไหลลงสู่ทะเลอันดามันโดยผ่านหมู่บ้านเมียวพิว และอีกอย่างน้อย 30 หมู่บ้านที่อยู่ปลายน้ำ ฉะนั้น ดินตะกอนและมลพิษที่ปนมากับแม่น้ำจึงมิได้กระทบเฉพาะหมู่บ้านเมียวพิวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ปลายน้ำด้วย

ในปี 2542 บริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ จำกัด บริษัทไทยที่จดทะเบียนในประเทศพม่า ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับกระทรวงเหมืองแร่ของพม่า และเป็นผู้ดำเนินการเหมืองแร่เฮ็นดาตั้งแต่นั้นมา โดยที่ไม่มีชาวบ้านจากหมู่บ้านเมียวพิวทำงานในเหมืองนี้เลย

ก่อนหน้าปี 2548 ฝนที่ตกหนักเป็นประจำในเขตทวายไม่เคยสร้างปัญหาให้กับหมู่บ้านเมียวพิว แต่ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา หมู่บ้านเมียวพิวเกิดน้ำท่วมอย่างหนักทุกปีในช่วงหน้าฝน ซึ่งชาวบ้านเล่าว่า มาระยะหลัง ฝนที่ตกอย่างหนักตามปกติของฤดูกาล แต่กลับเกิดภาวะน้ำท่วมหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะน้ำไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำได้อย่างสะดวกเหมือนก่อน เนื่องจากบริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ ได้ปล่อยน้ำจากบ่อเก็บน้ำในเขตเหมือง (ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะรองรับน้ำเสียของเหมืองในช่วงหน้าฝน) โดยไม่มีการแจ้งเตือนชาวบ้าน และในปี 2556 ภาวะน้ำท่วมนั้นรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา และสร้างความเสียหายรุนแรงต่อพื้นที่เกษตร บ้านเรือน และแหล่งน้ำ

ความเสียหายที่เกิดกับที่ดินทำกิน และปัญหาสารพิษที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดิน และไม่สามารถทำการเกษตรต่อไปได้ บ่อน้ำในหมู่บ้านที่ชาวบ้านใช้สำหรับดื่มกินถูกทับถมด้วยดินตะกอน หรือไม่ก็ปนเปื้อนด้วยสารเคมีที่เป็นอันตราย ผลจากการทดสอบน้ำพบว่าแหล่งน้ำของหมู่บ้านไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และระดับการปนเปื้อนของสารตะกั่วอยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ด้วย

ชาวบ้านวิตกกังวลอย่างยิ่งว่าในช่วงหน้าฝนของแต่ละปีจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ และก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ และทำลายพืชผลทางการเกษตรและบ้านเรือนสาหัสขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ กลุ่มนักกฎหมายทวาย (Dawei Lawyer Group : DLG) ได้เป็นตัวแทนของชาวบ้านในการร้องเรียนปัญหาดังกล่าว โดยในปี 2556 และต้นปี 2557 ทางกลุ่มทนายได้ส่งจดหมายเตือนไปถึง บริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ และกระทรวงเหมืองแร่ของพม่า ต่อกรณีที่จะยื่นฟ้องบริษัทหากชาวบ้านไม่ได้รับค่าชดเชยจากความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ทั้งบริษัทและกระทรวงเหมืองแร่ก็มิได้ดำเนินการเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ทางกลุ่มนักกฎหมายทวายจึงได้ยื่นเรื่องต่อศาลจังหวัดทวายในนามของชาวบ้านจำนวน 9 คน เพื่อฟ้องผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบของบริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ และกระทรวงเหมืองแร่ ของพม่า เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยต่อความเสียหายในทรัพย์สินของชาวบ้าน โดยกระบวนพิจารณาคดีครั้งแรกจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 นี้

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net