Skip to main content
sharethis

นักวิชาการ นักศึกษาและภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ประณามรัฐประหารทำลายหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และขอใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี เรียกร้องหยุดละเมิดสื่อ จัดเลือกตั้งโดยเร็ว ปล่อยตัวนักวิชาการ/นักกรรมทันที

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์กลุ่ม 91
คัดค้านการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)


จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำยึดการอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  ทำให้การเมืองไทยย้อนกลับเข้าสู่วังวนของการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง พวกเรา กลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา ภาคประชาสังคม และประชาชนในภาคใต้ ในนามกลุ่ม 91 ขอแสดงจุดยืนคัดค้านการทำรัฐประหารดังกล่าว ดังนี้

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการทำรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้อย่างแท้จริง ในทางตรงข้ามกลับสร้างสมปัญหาให้เพิ่มพูนขึ้น ปลายกระบอกปืนอาจบังคับข่มขู่ให้เสียงแห่งความแตกต่างเงียบลงได้ในชั่วขณะหนึ่ง แต่มิอาจปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชนได้ เสียงแห่งความอัดอั้นที่ถูกกดทับรอวันปะทุ ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยจะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เมื่อนั้นการทำรัฐประหารที่อ้างว่าเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงนั้น จะนำมาซึ่งการนองเลือดที่รุนแรงยิ่งกว่า

ทั้งนี้ภายหลังการประกาศยึดอำนาจได้เพียงไม่กี่วัน เค้าลางของการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเริ่มปรากฏ คสช. ได้ออกประกาศเรียกนักวิชาการและนักกิจกรรมที่แสดงออกซึ่งการต่อต้านการรัฐประหารเข้ารายงานตัว และหากไม่มารายงานตัวก็จะไม่รับรองความปลอดภัยของบุคคลดังกล่าว ถือเป็นการข่มขู่คุกคามเสรีภาพอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังใช้กำลังจับกุมประชาชนที่รวมตัวกันต่อต้านการรัฐประหาร ทั้งที่การรวมตัวดังกล่าวเป็นไปอย่างสงบสันติและถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่จะปฏิเสธอำนาจการปกครองที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่กดทับเสียงแห่งความแตกต่างเช่นนี้ การแก้ไขปัญหาทางการเมืองในสังคมไทยย่อมไม่อาจเกิดมรรคผลและนำไปสู่เป้าหมายที่ชอบธรรมได้

พวกเราซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าการใช้อำนาจเผด็จการไม่อาจแก้ไขปัญหาการเมืองที่มีความซับซ้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้นตามวิถีทางประชาธิปไตย ในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางความคิด การแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างสันติและยั่งยืนเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้นและระยะเวลา เครื่องมือสำคัญในการค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาทางการเมืองคือการตัดสินใจผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความเท่าเทียมและเคารพการตัดสินใจของคนในสังคม เราจึงยืนยันว่าระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยซึ่งยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนและเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสมาชิกในสังคมเท่านั้น ที่จะให้หลักประกันได้ว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

เราขอคัดค้านอย่างถึงที่สุด และขอประณามการทำรัฐประหารที่ทำลายหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่รับรองให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และขอใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการทำรัฐประหารเพื่อให้ได้อำนาจในการปกครองประเทศมาโดยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้องต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ขอเรียกร้องให้คืนอำนาจการปกครองให้แก่รัฐบาลพลเรือนโดยทันที เพื่อให้ประชาชนแก้ไขปัญหาทางการเมืองร่วมกันตามวิถีทางประชาธิปไตย

2. ขอเรียกร้องให้องค์กรผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผู้มีอำนาจปกครองประเทศที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย

3. ขอเรียกร้องให้ยุติการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน การแสดงออกและสิทธิในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน นักวิชาการ และนักกิจกรรมภาคประชาสังคม รวมถึงขอให้งดเว้นการใช้อำนาจในลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ข่มขู่คุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

4. ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักวิชาการ นักกิจกรรมภาคประชาสังคมและประชาชนที่ถูกควบคุมตัวด้วยเหตุแห่งการแสดงการต่อต้านการรัฐประหารโดยทันที

ด้วยจิตยึดมั่นในเสรีภาพและประชาธิปไตย
24 พฤษภาคม 2557

ทั้งนี้ กลุ่ม 91 เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาบางส่วนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กลุ่มคนตรังพิทักษ์ประชาธิปไตย กลุ่มนักกิจกรรมภาคประชาสังคมชายแดนใต้ และกลุ่มประชาชนภาคใต้ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของ คสช. โดยมีตัวแทนกลุ่มดังรายนามแนบท้ายต่อไปนี้

1. กิตติศักดิ์ กองทอง
2. กุสุมา กูใหญ่
3. จีรศักดิ์ ขันทะเสน
4. ชลิตา บัณฑุวงศ์
5. ซอลาหุดดีน กริยา
6. ซะการีย์ยา อมตยา
7. ซาฮารี เจ๊ะหลง
8. ดวงมน จิตร์จำนง
9. ดวงยิหวา อุตรสินธุ์
10. ดันย้าล อับดุลเลาะ
11. ดาราณี ทองศิริ
12. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
13. ธนะวิชธ์  ปานน้อย
14. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
15. นรินทร์ ปากบารา
16. นิอารง นิเต๊ะ
17. บัณฑิต ไกรวิจิตร
18. ประพาส โรจนพิทักษ์
19. ผจญ คงเมือง
20. พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์
21. พุทธพล มงคลวรวรรณ
22. ภวิศ แก้วหอม
23. ภาวิณี ชุมศรี
24. รอมฎอน ปันจอร์
25. รุสนันท์  เจ๊ะโซะ
26. วุฒิพงศ์ ปอซู
27. แวอิบรอเฮม แวบือราเฮง
28. สามารถ ทองเฝือ
29. สิริไพลิน สิงห์อินทร์
30. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
31. อภิชญา โออินทร์
32. อรอนงค์ ทิพย์พิมล
33. อสมา มังกรชัย
34. อลิสา หะสาเมาะ
35. อนุสรณ์ อุณโณ
36. อันธิฌา แสงชัย
37. อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์
38. อัมพร หมาดเดน
39. อัสรี จะมะจี
40. เอกรินทร์ ต่วนศิริ
41. ฮาดีย์ หะมิดง
42. ฮาร่า ชินทาโร่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net