Skip to main content
sharethis

ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนยูเอ็นเรียกร้องให้ไทยเคารพในสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ รวมถึงการแสดงออกทางการเมือง เตือนถึงข้อห้ามการทรมาน และเตือนว่าไม่ควรให้มีมาตรการเข้มงวดในไทยเป็นเวลานาน ขณะที่การต่างประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลียมองการรัฐประหารในไทยเป็นเรื่องน่าเสียใจ

23 พ.ค. 2557 นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ประเทศไทย "รับรองเรื่องการเคารพในสิทธิมนุษยชนและทำให้ประเทศกลับคืนสู่หลักนิติธรรมโดยเร็ว"

พิลเลย์กล่าวว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้คอยสอดส่องเหตุความวุ่นวายทางการเมืองไทยมาตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา และรู้สึกเป็นห่วงอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องการใช้กำลังบังคับเพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งแทนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึก เรื่องยุติการใช้รัฐธรรมนูญ รวมถึงมาตรการฉุกเฉินที่จำกัดสิทธิมนุษยชน

ในคำแถลงของพิลเลย์ระบุอีกว่า จากประกาศ 21 ฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มี 6 ฉบับที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและในการชุมนุม รวมถึงมีการเซ็นเซอร์สื่อทั้งหมด มีการปิดสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุ ห้ามนำเสนอข้อมูลเชิงวิจารณ์ คสช. การจำกัดการนำเสนอข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และห้ามการรวมกลุ่มที่มีจำนวนคนมากกว่า 5 คน

"ดิฉันรู้สึกเป็นห่วงอย่างมากในเรื่องการลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดย คสช." พิลเลย์กล่าว เธอบอกอีกว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยการหารือแลกเปลี่ยน

พิลเลย์ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงบ่ายวันที่ 22 พ.ค. ที่ทหารเชิญผู้นำทางการเมืองทั้งสองฝ่ายไปที่สโมสรทหารบกก่อนจะมีการจับกุมทั้งแกนนำทั้งสองฝ่ายส่งตัวไปที่กองพันทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ รวมถึงมีการเรียกตัวอีก 155 คนให้ไปรายงานตัวที่ฐานทัพทหาร ทั้ง ส.ส. และแกนนำเสื้อแดง ซึ่งพิลเลย์กล่าวว่าการกุมขังนักการเมืองและพลเรือนเช่นนี้เป็นเรื่องน่ารังเกียจมาก และเรียกร้องให้ คสช. ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทุกคน

"ฉันต้องการเตือนเจ้าหน้าที่ทางการไทยว่าการใช้มาตรการฉุกเฉินใดๆ ก็๋ตามต้องกระทำภายใต้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนนานาชาติ รวมถึงไม่ควรละเมิดสิทธิในการมีชีวิตและข้อห้ามการทรมานไม่ว่าจะอยู่ในสภาพการณ์ใดก็ตาม" พิลเลย์กล่าว

พิลเลย์ยังได้เรียกร้องให้ คสช. ดำเนินการโดยให้ประเทศไทยอยู่ในแนวทางสัตยาบันกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล โดยเฉพาะในด้านกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งระบุให้เคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของบุคคล ซึ่งรวมถึงสิทธิในชีวิต เสรีภาพในศาสนา เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการรวมตัว สิทธิเลือกตั้ง และสิทธิในการได้รับการพิจารณาความอย่างยุติธรรม

พิลเลย์บอกว่ามาตรการใดๆ ก็ตามที่นอกเหนือจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นมาตรการที่ใช้ในสถานการณ์พิเศษและเป็นการชั่วคราว ไม่ควรใช้เป็นเวลานาน


ญี่ปุ่นบอกการรัฐประหารในไทย เป็นเรื่อง "ชวนให้เสียใจอย่างสุดซึ้ง"

นอกจากนี้ในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมาหลังเกิดการรัฐประหารในไทย ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ โดยระบุแยกย่อยเป็นสามข้อได้แก่

ข้อที่ 1 เป็นเรื่องชวนให้เสียใจอย่างสุดซึ้งเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.

ข้อที่ 2 ญี่ปุ่นขอเรียกร้องอย่างหนักแน่นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

ข้อที่ 3 ขณะที่ในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ได้รับรายงานว่ามีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตในประเทศไทยจากเหตุการณ์ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นจะจับตามองอย่างใกล้ชิดในเรื่องสวัสดิภาพของชาวญี่ปุ่นต่อไป โดยการให้ข้อมูลและการเตือนภัยอย่างทันท่วงที


ออสเตรเลียเผยเสถียรภาพในไทยจะยั่งยืนกว่าหากคืนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ทางด้านรัฐมนตรีกิจการต่างประเทศของออสเตรเลีย จูลี่ บิชฮอป ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ว่ารัฐบาลออสเตรเลียมีความเป็นห่วงอย่างมากต่อสถานการณ์การยึดอำนาจของทหารในไทย

"พวกเรากำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์อันน่าสลดเช่นนี้ พวกเรากำลังพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับรัฐบาลไทย" บิชฮอปกล่าว "ฉันได้ปรึกษาเรื่องนี้กับเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในไทยและพวกเราจะแสดงถึงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์นี้ให้กับทางการไทยได้ทราบผ่านสถานทูตไทยในกรุงแคนเบอร์รา"

รมต.ต่างประเทศออสเตรเลียยังได้กล่าวเตือนนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียในประเทศไทยให้ระมัดระวัง และใส่ใจในสวัสดิภาพของตนเองมากขึ้น ให้ทำตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตามประกาศเคอร์ฟิว และหลีกเลี่ยงแหล่งชุมนุมทางการเมืองหรือการชุมนุมที่มีคนจำนวนมาก รวมถึงติดตามข่าวสารและคำแนะนำการท่องเที่ยวจากเว็บไซต์  www.smartraveller.gov.au

แถลงการณ์ระบุอีกว่าทางรัฐบาลออสเตรเลียเคยหวังว่าการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อให้มีการเจรจากันทั้งสองฝ่ายควรทำให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยเร็วขึ้น

"พวกเรายังคงหวังว่าประเทศไทยจะสามารถค้นพบทางออกให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาความแตกต่างได้ด้วยวิธีการหารือ ออสเตรเลียเชื่อว่าเสถียรภาพทางการเมืองที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้มากกว่าหากมีการคืนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยให้กลับเข้าทำงานภายใต้หลักนิติธรรม" จูลี่ บิชฮอประบุในแถลงการณ์

"ออสเตรเลียและไทยมีความสัมพันธ์อย่างอบอุ่นและเป็นรูปธรรมมาอย่างยาวนานมากกว่า 60 ปี ทั้งจากที่มีผลประโยชน์ร่วมกันและมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน พวกเราหวังว่าประเทศไทยซึ่งเป็นมิตรของเราจะมีเสถียรภาพทางการเมืองและเกิดความกลมเกลียวกันในสังคมได้อีกครั้ง" จูลี่ บิชฮอประบุในแถลงการณ์

 


เรียบเรียงจาก

Pillay condemns military coup and urges prompt restoration of rule of law in Thailand, OHCHR, 23-05-2014
http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=14633&LangID=E

Statement by Mr. Fumio Kishida, Minister for Foreign Affairs, on the coup d’État in Thailand, 22-05-2014
http://www.mofa.go.jp/press/release/press4e_000285.html

Military Coup in Thailand, Australian Embassy Thailand, 23-05-2014
http://www.thailand.embassy.gov.au/bkok/PR2014_Military_Coup.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net