Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การก่อตัวของปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนจีนกับคนมลายูในมาเลเซีย

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประชากรส่วนใหญ่ของแหลมมลายูได้แก่ คนมลายู บางพวกจะเป็นคนมลายูที่มีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่ในแหลมมลายู บางพวกเป็นคนมลายูที่อพยพมาจากเกาะสุมาตราตั้งแต่สมัยอาณาจักรมะละกา (บุษกร กาญจนจารี,ม.ป.ป. :1-2) คนจีนเริ่มอพยพเข้ามาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อจักรวรรดินิยมอังกฤษได้เข้ามายึดครองดินแดนแถบแหลมมลายู พอมาถึงช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 คนจีนก็เริ่มอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในระหว่างปี 1860-1930 ทำให้อังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมและชนพื้นเมืองมลายูเอง เริ่มตระหนักถึงอิทธิพลของคนจีน โดยส่วนใหญ่แล้วคนจีนจะตั้งหลักแหล่งในเกาะปีนังและสิงคโปร์ คนจีนที่อพยพมานั้นส่วนใหญ่มาจากมณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเช่น กวางตุ้ง ฟูเกียน กวางลี คนจีนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในมาเลเซียจะประกอบอาชีพ ค้าขาย การทำเหมืองแร่ โดยเป็นลูกจ้างให้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากชนพื้นเมืองมลายูไม่อยากทำงานด้านนี้ อังกฤษจึงใช้นโยบายสนับสนุนชาวจีนและเป็นการตระหนักดีว่าการรับเอาคนจีนเข้ามาเป็นแรงงานย่อมจะเป็นการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้กับแผ่นดินใหม่ของตน

อย่างไรก็ตาม คนจีนที่อพยพเข้ามาก็ไม่ใช่จะเป็นพวกกรรมกรรับจ้างอังกฤษทั้งหมด แต่ยังมีคนจีนจำนวนมากที่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวน เช่นทำไร่สัปปะรด สวนยาง ปลูกเครื่องเทศ ฯลฯ ซึ่งการปลูกพืชประเภทนี้ต้องอาศัยการดูแลเป็นอย่างดี จึงเหมาะกับคนจีนที่มีนิสัยขยันขันแข่งมากกว่าชนพื้นเมือง  (สุทัศน์   นำพูนสุขสันติ,ม.ป.ป. : 19) ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือทำให้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับคนจีน ทำให้เกิดความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจและเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงของคนมลายูและชนชั้นนำมาเลเซีย ทั้งนี้วิถีชีวิตของคนจีนส่วนใหญ่อยู่ในระบบเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก คนจีนจึงเป็นกลุ่มที่มั่งคั่งและแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบใหม่ได้ดี แต่ชาวมลายูนั้นยังคงอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบจารีตด้วยการเป็นชาวนาและชาวประมงกันส่วนใหญ่ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ล้าหลัง (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ กาญจนี ละอองศรี,2541:18)

เมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) พรรคอำโน (UMNO) เป็นพรรคที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกรราชจากอังกฤษ ภายใต้การนำของ ตนกู อับดุล ราห์มาน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียและหลังจากนั้นก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมอร์เดกา โดยตัวรัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิของชาวมลายูจะอยู่เหนือเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

  1. สงวนที่ดินบางส่วนไว้สำหรับชาวมลายู
  2. สงวนตำแหน่งราชการบางตำแหน่งให้แก่ชาวมลายูเท่านั้น
  3. จำกัดโควตาการออกใบอนุญาตและใบทะเบียน ในส่วนที่เกี่ยวกับถนนและคมนาคมให้แก่ชาวมลายูเท่านั้น
  4. จำกัดโควตาการให้ทุนช่วยเหลือการศึกษาให้แก่ชาวลายูเท่านั้น
  5. ให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ
  6. ให้ภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ

โดยรัฐธรรมนูญเมอร์เดกาทีออกมานั้น ทำให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากต่อคนจีนในมาเลเซีย จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างคนมลายูกับคนจีน ในวันที่ 13 พฤษภาคม 1969 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการสะสมและข้างคาใจในปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติที่ดำเนินมาตั้งแต่อังกฤษเข้ามาปกครองดินแดนมลายูหรือมาเลเซียและหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียโดยพรรค UMNO จะพยายามแก้ไขปัญหามาตลอด ด้วยการดึงเอาพรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มคนจีนมาร่วมปกครองในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวแทนของคนจีนต่างก็มีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่างที่จะทำให้คนมลายูส่วนใหญ่เชื่อใจ และยิ่งมีการพยายามผลักดันให้คนจีนเข้ามาดูแลกระทรวงและมนุษยศาสตร์ หน่วยงานสำคัญๆ ของรัฐบาล ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคนมลายูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งอยู่กันด้วยความยากลำบากแร้นแค้น และสะสมความไม่พอใจของกลุ่มชาติพันธุ์และความแตกแยกในสังคมเห็นได้ชัด

หลังจากผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 1969 คะแนนเสียงของพรรคฝ่ายค้านที่คนจีนสนับสนุนในอดีตได้เพียง 2-5 ที่นั่ง แต่ครั้งนี้กลับได้เพิ่มขึ้นมากถึง 38 ที่นั่ง ทำให้ชาวจีนจำนวนมากออกมาเดินขบวนเพื่อแสดงความดีใจตามท้องถนนในเมืองใหญ่เช่น กัวลาลัมเปอร์  ปีนัง  อลอร์สตาร์และ อิโปห์ซึ่งการแสดงออกของคนจีนดังกล่าวเป็นไปอย่างคึกคะนอง มีการดื่มสุราและกล่าววาจาถากถางเยาะเย้ยชาวมลายูทุกคน แม้ว่าตนกูอับดุล ราห์มาน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าระวังและดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา แต่ความคึกคะนองของคนจีนก็ไม่มีทีท่าสิ้นสุดลง แม้กระทั่งตำรวจที่มารักษาความปลอดภัยก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและคนมลายูที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ ก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน นอกจากการเดินขบวนก่อความเดือดร้อนและสร้างความไม่พอใจแก่คนมลายูแล้ว ยังมีการทะเลาะวิวาทหลายแห่งเกิดขึ้นทั่วกรุงกัวลาลัมเปอร์  จากความคึกคะนองของคนจีนดังกล่าวทำให้สมาชิกพรรค UMNO รวบรวมสมาชิกออกมาเดินขบวนเช่นกัน เหตุการณ์ความรุนแรงจึงมีระดับของความรุนแรงมากขึ้นการจลาจลทางเชื้อชาติได้ลุกลามบานปลายไปตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศมาเลเซีย คนมลายู คนจีนได้ปะทะกันกินระยะเวลาร่วม 2 เดือน คือระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1969 เหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศรวมกันประมาณ 196 คน รถยนต์ถูกเผามากกว่า 300 คัน มีผู้ถูกคุมขังมากกว่า 5,000 คน บ้านเรือนและอาคารที่ทำการถูกเผามากกว่า 500 หลัง (ศุภการ สิริไพสาล และอดิศร ศักดิ์สูง, 2554:70-90) หลังจากนั้นรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาความแตกแยกทางสังคมโดยการประกาศ  รูกูเนการา (Rukunekara) หรืออุดมการณ์แห่งชาติ ด้วยจุดมุ่งหมายอยู่ที่การกระจายความมั่นคงให้แก่ทุกเชื้อชาติ และสร้างสังคมก้าวหน้ามุ่งไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (กิติมา อมรทัต,จรัญมะลูลีม และ  ชปา จิตต์ประทุม, 2548:1-2)

 

นโยบายภูมิปุตราที่มีผลต่อความไม่เท่าเทียมทางสังคมและชาติพันธุ์จีน

“ภูมิบุตร” คือ ใช้เรียกคนมาเลเซียเชื้อสายมลายูหรือเชื้อสายอื่นๆ ที่เป็นมุสลิม ที่ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมในอาณาเขตของประเทศมาเลเซีย ซึ่งภูมิปุตรานี้คือนโยบายของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนคนมลายูดั้งเดิมเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษต่างๆ เหนือคนจีนที่เป็นผู้อพยพเข้ามาทีหลัง โดยชนชั้นนำมลายูให้เหตุผลว่าจำเป็นจะต้องรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าของดินแดนในฐานะลูกของแผ่นดินซึ่งจะไม่ยอมให้คนต่างชาติที่เข้ามาภายหลัง    (ศุภการ สิริไพสาล และอดิศร ศักดิ์สูง, 2554: 30) เข้ามาเป็นเจ้าของหรือผู้ปกครองดินแดนมลายูแห่งนี้  แนวคิดนี้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ของมลายูเป็นใหญ่และมีอำนาจเหนือชาติพันธุ์อื่นๆ  นโยบายภูมิปุตราเป็นนโยบายเพื่อลดความยากจน และการปรับโครงสร้างทางสังคม โดยจะแบ่งสิทธิพิเศษของคนมลายูที่ต้องได้รับในด้านต่างๆ อาทิเช่น ด้านเศรษฐกิจ ผลักดันและพัฒนาคนมลายูให้เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนจีนจะเป็นพ่อค้าอาศัยอยู่ในเมืองและเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจต่างๆ ส่วนคนมลายูส่วนมากจะประกอบอาชีพเกษตรกรและอาศัยอยู่ในชนบท นอกจากนั้นยังมีความพยายามให้คนมลายูเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่รัฐเป็นหุ้นส่วนและเป็นผู้ร่วมดำเนินการ  รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่คนมลายูที่ต้องการจะลงทุน อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้แก่คนมลายูโดยเฉพาะการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนให้คนมลายูสามารถเข้าไปควบคุมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ และทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่นั้นเกิดขึ้นภายใต้คนมลายู นโยบายดังกล่าวทำให้คนมลายูมีโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นและมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  (ศุภการสิริไพศาล, 2552: 28-33) ด้านการศึกษา คนมลายูมีสิทธิในโอกาสด้านการศึกษามากกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ กล่าวคือรัฐบาลมีการกำหนดโควตาการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยให้แก่คนมลายู ทำให้คนมลายูเหล่านี้ถึงแม้จะมีผลการเรียนต่ำแต่ก็สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น  แต่คนจีนกลับต้องสอบแข่งขันในหมู่คนจีนด้วยกันเองเพื่อทีจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้อัตราการแข่งขันของคนจีนมีสูงกว่า (เหมือนขวัญ เรณุมาศ และ ภูวิน บุณยะเวชชีวิน, 2556: 70) ด้านการประกอบอาชีพ นโยบายภูมิบุตรจะให้สิทธิพิเศษให้กับคนมลายูในการประกอบอาชีพเป็นข้าราชการ ข้าราชการการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นคนมลายูที่เข้าไปมีบทบาท และดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ไม่ว่าเป็นผู้บริหาร ผู้ว่าการรัฐ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าเปอร์เซ็นการเป็นข้าราชการของคนจีนแถบจะไม่มีเลย ส่วนใหญ่แล้วคนจีนจะประกอบอาชีพค้าขายและเป็นนักธุรกิจ

จากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้สถานะของคนจีนตกอยู่ในสถานะคนชนชั้นสอง ไม่สามารถมีพื้นทีที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือมีสิทธิที่เท่าเทียมกับคนมลายู เป็นการแสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมถึงแม้จะมีการเรียกร้องแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากตัวรัฐธรรมนูญได้ระบุสิทธิของชนพื้นเมืองไว้อย่างชัดเจนเป็นการยากที่คนจีนจะไปแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญเพราะคนจีนเป็นชาติพันธุ์ที่ไม่ได้เป็นชนพื้นเมืองเป็นเพียงคนที่อพยพเข้ามาอาศัยเท่านั้น

 

สถานะของคนจีนในมาเลเซียในปัจจุบัน

หลังจากเหตุการณ์การจลาจล ในปี ค.ศ.1969 การเมืองในมาเลเซียก็เปลี่ยนไป นายกรัฐมนตรี  ตนกูอับดุล ราห์มาน ได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้นายตุน กู อัลดุลราซัก ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้หาแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหาด้านเชื้อชาติใหม่ก็คือการแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง โดยได้ดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศภายใต้ “นโยบายเศรษฐกิจใหม่” หรือ NEP     (New Economic Policy) โดยวัตถุประสงค์ 2 อย่าง อย่างแรก เพื่อลดความยากจนของประชาชนทุกชาติพันธุ์ อย่างที่สอง เพื่อปรับโครงสร้างทางสังคมโดยใช้กิจกรรมทาง นโยบายเศรษฐกิจใหม่จึงถูกประกาศใช้เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนมลายูกับคนจีน กล่าวคือคนมลายูที่เป็นชาวนาและอาศัยอยู่ในชนบท คนจีนที่เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ ที่อาศัยอยู่ในเมือง ดังนั้นรัฐบาลจึงพลังดันให้ชาวมลายูเข้าไปมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ โดยวิธีการปรับและการกระจายการจ้างงาน การศึกษาให้กับชาวมลายูและให้สิทธิในการเข้าไปถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้ชาวมลายูเข้าไปมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจมากขึ้นทั้งที่เป็นผู้ประกอบการรายใหม่และพนักงานรัฐวิสาหกิจก็คือ รัฐบาลพยายามส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับคนมลายูที่ต้องการเข้าสู่วงการธุรกิจโดยการออกกฎหมายและระเบียบการต่างๆ เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินและรัฐวิสาหกิจรวมไปถึงธุรกิจของเอกชนสามารถเข้าไปควบคุมส่วนที่เป็นเศรษฐกิจของประเทศและในที่สุดก็สามารถผลักดันธุรกิจที่เกิดขึ้นมาใหม่เปลี่ยนจากคนจีนมาเป็นคนมลายู ในด้านการเงินรัฐบาลก็ได้สนับสนุนทางเงินโดยจัดตั้งสถาบันการเงินคือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภูมิบุตรและธนาคารภูมิบุตร โดยทั้งสองสถาบันได้รับการสนับสนุนและการวางแผนในการปล่อยสินเชื้อจากธนาคารมาเลเซียแห่งชาติ (ศุภการ สิริไพศาล และ อดิศร ศักดิ์สูง, 2552: 31-33) นโยบาย NEP ทำให้คนมลายูมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งในแง่ของเงินทุน โอกาส และประสบการณ์ ในขณะที่รัฐบาลพยายามให้โอกาสและสิทธิพิเศษแก่คนมลายูในการทำธุรกิจ โดยการออกกฎหมายสงวนอาชีพบางอย่างซึ่งกำหนดเฉพาะไว้ให้กับคนมลายูเท่านั้นที่จะได้รับใบอนุญาตในการขอดำเนินกิจการ อาทิเช่น สัมปทานป่าไม้ แต่คนมลายูกลับขี้เกียจไม่ยอมดำเนินกิจการ แต่กลับไปทำสัญญาทางธุรกิจกับคนจีนโดยการขายสิทธิบัตรสัมปทานให้คนจีน ผลก็คือทำให้สัมปทานตกไปอยู่ในมือของคนจีนสะส่วนใหญ่ส่งผลให้คนมลายูกลายเป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น การที่คนมลายูไม่อาจแข่งขันกับคนจีนในด้านธุรกิจทั้งที่รัฐได้ให้สิทธิพิเศษและเอื้ออำนวยความสะดวกในด้านต่างไว้ให้แล้ว อาจเป็นเพราะคนมลายูยังคงยึดติดกับจารีตประเพณีและวัฒนธรรมแบบเก่าอยู่ ซึ่งไม่ได้หวังที่จะแสวงหาผลประโยชน์และความมั่งคั่งเหมือนคนจีน นี้จึงเป็นช่องว่างของนโยบายที่คนจีนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ได้

ในความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่า ตัวนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (NEP) คนจีนกลับมองว่ายังคงเป็นนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ต่อคนมลายูมากเป็นส่วนใหญ่เพราะสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินการทางธุรกิจ การเข้าไปถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ การจัดตั้งกองทุนภูมิบุตรและการให้สิทธิบัตรแก่คนมลายูเท่านั้นในการได้รับสัมปทาน เป็นต้น กลับมีสัดส่วนที่ว่าคนมลายูมากกว่าคนจีนอย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่มีการแบ่งสัดส่วนเท่ากัน ทำให้นโยบาย NEP มีลักษณะคล้ายกับนโยบายภูมิปุตรา ถึงมีแม้นโยบาย NEP จะให้สิทธิแก่คนมลายูมาก  แต่โดยนิสัยของคนมลายูแล้วจะขี้เกียจในการดำเนินการด้านธุรกิจแต่กลับนิยมและให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพเป็นข้าราชการ ทำให้พื้นที่ทางเศรษฐกิจคนจีนยังคงครอบครองได้มากกว่าคนมลายู สถานภาพทางด้านเศรษฐกิจคนจีนยังคงมีอิทธิพลต่อไปถึงแม้ตัวนโยบาย NEP กำหนดให้คนมลายูมีสิทธิมากกว่า

สถานะของคนจีนในด้านการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.2008 ได้ส่งสัญญาณด้านบวกต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะลดอคติทางชาติพันธุ์ แต่ละพรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองพยายามที่จะหาพื้นที่ทางการเมืองของตน โดยการพยายามเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคใหญ่ โดยพรรคการเมืองของคนจีน (Malayan Chinese Association) หรือ MCA ได้เข้าร่วมกับพรรคอัมโน (United Malay National Organization) หรือ UMNO ภายใต้การนำของนาจิบ ราซัก และใช้ชื่อพรรคร่วมรัฐบาลว่าบาริซัน เนชันแนล หรือว่า BN การที่พรรค MCA เข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลนั้นมีจุดประสงค์เพื่อเข้าไปมีพื้นที่ทางการเมืองและรักษาผลประโยชน์ให้คนจีน ส่วนพรรคตรงกันข้ามซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญได้แก่ พรรคเกออาดิลันหรือพรรคยุติธรรมแห่งชาติ (People’s Justice Party) ของอดีตรองนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม และพรรคพาสหรือพรรคอิสลามแห่งชาติมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia) หรือ PAS สรุปแล้วผลการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาก็ปรากฏว่าพรรคร่วมรัฐบาลชนะการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2013 ผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคการเมือง 13 พรรคที่เป็นพันธมิตรฝ่ายรัฐบาล ที่เรียกตัวเอง “บาริซัน เนชันแนล” (BN) ที่มีพรรค “United Malays National Organization” หรือ UMNO ของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค เป็นแกนนำยังคงสามารถคว้าชัยชนะมาครองได้อีกครั้ง ด้วยจำนวนที่นั่งในสภา 133 ที่นั่ง แม้ที่นั่งจะลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 7 ที่นั่ง ขณะที่พรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรคในนาม “ปากาตัน รักยัต” ภายใต้การนำของ นาย อันวาร์ อิบราฮิม คว้ามาได้ 89 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 7 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ถึงแม้ว่าผลจากการเลือกตั้งพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรค MCA ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของคนจีนสามารถชนะการเลือกตั้งกับพรรคร่วมรัฐบาลแต่ผู้ที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญๆ และดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่างส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนมลายู แม้ว่าชัยชนะของพรรค MCA ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของคนจีน ทำให้สถานะของคนจีนเริ่มดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเพราะสามารถต่อรองกับพรรค UMNO ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ว่านโยบายที่ออกมานั้นคนจีนควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่การเข้าไปเป็นข้าราชการนั้นคนจีนยังไม่สามารถเข้าไปเป็นได้สะเท่าไร ถึงแม้จะเป็นข้าราชการได้แต่จะอยู่ในอัตราส่วนที่น้อยมากๆ เนื่องจากตัวรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้นานแล้ว ตัวรัฐธรรมนูญของมาเลเซียเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้มายาวนานมาก  การแก้ไขตัวรัฐธรรมยังไม่ค่อยมีหรือมีน้อยมากเพราะเมื่อแก้ไขแล้วคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวมลายูไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เนื่องจากไปกระทบต่อสิทธิพิเศษของความเป็นภูมิบุตรหรือบุตรของแผ่นดิน

จากที่กล่าวข้างต้นถึงแม้สิทธิของคนจีนยังถูกจำกัดอยู่แต่มีอยู่รัฐหนึ่งในมาเลเซียที่คนจีนมีอิทธิพลเป็นอย่างมากคือ รัฐปีนัง รัฐนี้ในสมัยอังกฤษเข้ามายึดครอง อังกฤษให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ปีนังเป็นแหล่งพักพิงและที่อยู่อาศัยของผู้อพยพชาวจีนเป็นจำนวนมากตั้งแต่สมัยยุคการล่าอาณานิคม โดยเฉพาะการเข้ามาเป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งหลักถิ่นฐานอย่างถาวรและเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ (ศุภการ สิริไพศาล และ อดิศร ศักดิ์สูง, 2552: 34) ในปัจจุบันปีนังเป็นเขตอิทธิพลของชาวจีนซึ่งครอบครองและเป็นเจ้าขอธุรกิจการค้า แม้กระทั้งผู้ว่าการรัฐยังเป็นคนจีนคน ไม่เพียงแค่นั้นปีนังยังเป็นแหล่งสำคัญของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองใต้ดิน เพื่อต้อต้านรัฐบาลและคนมลายูโดยจัดตั้งในรูปแบบของสมาคม ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 10 กลุ่ม โดยในแต่ละกลุ่มได้มีการเชื่อมความสัมพันธ์ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ พื้นที่ทางเศรษฐกิจหลายอย่างทีคนจีนในปีนังครอบครอง อาทิเช่น เจ้าของธุรกิจการค้าและอสังหาริมทรัพย์เกือบทั้งหมด ถ้าได้ไปเยือนปีนังจะสังเกตเห็นได้ว่าได้มีการก่อสร้างคอนโดหลายแห่งบนเกาะ มีห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่โดยมีเจ้าของกิจการคือคนจีนไม่ใช่เพียงแค่นั้นบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ได้เข้ามาตั้งโรงงานฐานการผลิตส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบริเวณแถบนี้ไม่ว่าจะเป็น Intel Dell Hewlett Packard เป็นต้น เนื่องจากเป็นเมืองท่าเรือสำคัญในการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ต่างของประเทศมาเลเซียและป้อนไปยังภูมิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ปีนังยังเป็นพื้นที่ทีมีอัตราการว่างงานต่ำสุดของประเทศและเป็นที่สองรองจากกัวลาลัมเปอร์ นอกจากเศรษฐกิจด้านภาคอุตสาหกรรมรวมถึงการบริการและการค้าขาย คนทุกเชื้อชาติต่างก็มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้กลุ่มทุกเชื้อชาติต้องเข้ามาร่วมในการดำเนินการ โดยปัจจุบันเมืองจอร์จทาวน์ของเกาะปีนังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยเบื้องหลังของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นได้รับความร่วมมือและร่วมใจเป็นอย่างดีจากชาวปีนังทุกเชื้อชาติ สามารถทำให้ปีนังเป็นที่รู้จักของคนโลกนำมาซึ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ความทันสมัยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากนโยบาย “วิสัยทัศน์ 2020” (Vision 2020) ภายใต้การนำของนาย มหาธีร์ มูฮัมหมัด ถึงแม้ปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่นโยบายยังคงได้รับการสานต่อโดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอย่าง นาจิบ ราซัค โดยมีเป้าหมายหลักแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสลายความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ รวมถึงการพลักดันส่งเสริมทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมให้มาเลเซียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

โดยภาพรวมแล้วสถานะของคนจีนยังคงอยู่ในสถานะพลเมืองชนชั้นสองเหมือนเดิมแต่มีเล็กน้อยกว่าเมื่อก่อนเพราะการพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐในด้านชาติพันธุ์ให้มีความเท่าเทียมกันอย่าง Vision 2020,1 Malaysia  ส่วนในด้านเศรษฐกิจคนจีนยังคงมีอิทธิพลอยู่ โดยเฉพาะปีนังซึ่งคนจีนมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก คนจีนที่อาศัยอยู่ที่นี้ส่วนใหญ่จะมีสถานะที่ดีกว่าอยู่รัฐอื่นๆ ในมาเลเซียเพราะประชากรส่วนใหญ่ของปีนังเป็นคนจีน ผู้ว่าการรัฐก็เป็นคนจีนเปอร์เซ็นของคนจีนมีมากกว่า ไม่ใช่เพียงแค่นั้นสถานะของคนจีนในปีนัง ด้านการศึกษาก็ยังมีความเท่าเทียมกับคนมลายูคือรัฐบาลได้มีการตั้งโรงเรียนจีน โรงเรียนนานาชาติปีนัง และมหาวิทยาลัซายน์ มาเลเซีย (Uiversiti sians Malaysia) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า USM ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบที่แสดงถึงความเท่าเทียมกันของทุกเชื้อชาติและเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาศึกษาต่อได้อย่างเท่าเทียมกันเพราะที่นี้มีหลายสาขาวิชาที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาทิเช่น สาขาทางวิทยาศาสตร์ คนจีนจะนิยมเรียนมาก สาขาทางมนุษยศาสตร์และภาษา เป็นที่นิยมของคนมลายู และสาขาศิลปะการแสดง เป็นที่นิยมของชาวอินเดีย เป็นต้น (ศุภการ สิริไพศาล และ อดิศร ศักดิ์สูง, 2554: 126) ผลพวงเหล่านี้เกิดจากการที่รัฐบาลพยายามที่จะลดความขัดแย้งด้านเชื้อชาติเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ประกอบกับการรองรับการเข้ามาของประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งมีแนวคิดที่ว่าทุกคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้คือประชาชาติเดี่ยวกัน ดังนั้นความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์จะต้องหมดไปจากภูมิภาคนี้


บทสรุป

ปัญหาชาติพันธ์ในมาเลเซียยังคงมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่มีอยู่ ต่างพยายามสร้างอำนาจเพิ่มบทบาทการเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมและเมือง เพื่อแสดงถึงบทบาทกลุ่มของตนให้อยู่เหนือกลุ่มอื่น และพยายามสร้างอิทธิพลของความเป็นอัตลักษณ์ของตนให้อยู่เหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่นเดียวกัน

ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในมาเลเซีย ที่เราเห็นได้ชัดจากความขัดแย้งระหว่างชาวมลายูกับคนจีนที่พยายามเข้ามาหรือเป็นเพียงผู้อาศัย ยังเป็นปัญหาที่รัฐบาลมาเลเซียต้องเข้าไปแก้ไข ซึ่งปัญหาดังกล่าวล้วนเกิดจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับชาวมลายูเหนือชาติพันธุ์อื่น โดยกำหนดนโยบายภูมิปุตราที่ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมลายูเหนือชาติเชื้ออื่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิด้านการศึกษา ชาวมลายูมีสิทธิในโอกาสด้านการศึกษามากกว่าชาติพันธุ์อื่น ถึงแม้จะมีผลการเรียนต่ำแต่ก็สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ แต่คนจีนต้องสอบแข่งขันเพื่อให้มีสิทธิได้รับการศึกษา การให้สิทธิส่วนใหญ่กับคนมลายูในการประกอบอาชีพเป็นข้าราชการ คนมลายูเข้าไปมีบทบาทและดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในทางการเมือง ส่วนคนจีนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขายและเป็นนักธุรกิจ โดยไม่มีสิทธิ์เข้าไปมีบทบาททางการเมืองเหมือนคนมลายู ซึ่งนี้เป็นการแสดงถึงความเหลือมล้ำทางสังคมที่รัฐมลายูได้ระบุสิทธิของชนพื้นเมืองไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความเข้ากันไม่ได้จนนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด แต่ภายหลัง ตนกู นาจิบ อับดุลราซัก ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิด จนทำให้สถานะของคนจีนในด้านการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมีมากขึ้น จะเห็นได้จากพรรคการเมืองของชาวจีน MCA ได้เข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคอัมโน UMNO พรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปมีพื้นที่ทางการเมืองและสามารถหาผลประโยชน์ให้ชาวจีนได้มากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พรรคตัวแทนของคนจีน MCA ได้เข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงต่างๆส่วนใหญ่แล้วยังเป็นคนมลายู ถึงแม้สิทธิของคนจีนยังถูกจำกัดแต่มีรัฐหนึ่งที่คนจีนมีอิทธิพลอย่างมาก ซึ่งก็คือปีนัง เป็นเมืองท่าที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เกาะปีนังเป็นแหล่งพักพิงของผู้อพยพชาวจีนโดยเฉพาะการเข้ามาเป็นผู้ใช้แรงงานเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งหลักถิ่นฐานอย่างถาวรและเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันผู้ว่าการรัฐเป็นคนจีน เจ้าของธุรกิจการค้าและอสังหาริมทรัพย์เกือบทั้งหมดก็ยังเป็นของคนจีนสะส่วนใหญ่ คนจีนที่อาศัยอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่จะมีสถานะที่ต่างจากรัฐอื่นๆ ในมาเลเซีย ถึงแม้คนจีนจะเป็นผู้ว่าการรัฐปีนัง แต่ในความเป็นจริงแล้วคนจีนก็ยังไม่ได้มีสิทธิเกินในตัวรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คนจีนจึงถูกจำกัดสิทธิอยู่เช่นเดิม

 

บรรณานุกรม

กิติมา อมรทัต, จรัญมะลูลีมและชปา จิตต์ประทุม. (2542).ประเทศมาเลเซีย.กรุงเทพฯ: โครงการ Global Cometence Project

โคริน เฟื่องเกษม, ชัยโชค จุลศิริวงศ์, วิทยา สุจริตธนารักษ์, สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, สีดา สอนศรี. (2548).  ผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์                      มาเลเซีย และไทย.  กรุงเทพฯ: โครงการวิชาโทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บาร์บารา วัตสัน อันดายา และ ลีโอนาร์ด วาย อันดายา ; พรรณี ฉัตรพลรักษ์, แปล; มนัส เกียรติธารัย,               บรรณาธิการ. (2549). ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโตโยต้า

บุษกร กาญจนจารี. (2544). เปลวไฟเลื่อมลายนาค : รวมบทอ่านคัดสรรประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก  เฉียงใต้. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

ประณต นันทิยะกุล. (2527). การเมืองเอเชีย : อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์. กรุงเทพฯ : เจ้าพระยาการพิมพ์

พัชรินทร์สวนฐิตะปัญญา. (2541).มาเลเซีย : เอกภาพกับการศึกษา.กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ศุภการ สิริไพศาล และ อดิศร ศักดิ์สูง. (2552). การดำเนินนโยบายสังคมพหุวัฒนธรรมในรัฐเคดาร์และปีนัง ของมาเลเซียค.ศ.1970-2008. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ศุภการ สิริไพศาล และ อดิศร ศักดิ์สูง. (2554). ภูมิปุตรา: ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งและ       กระบวนการพัฒนาประเทศของมาเลเซีย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน อัฟฟาน ตุลยศักดิ์ เรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ชั้นปีที่ 3

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net