Skip to main content
sharethis
 
20 พ.ค.2557 หลังกองทัพบกประกาศกฎอัยการศึก ออกประกาศเรียกองค์กรต่างๆ เข้าพบและสั่งปิดสื่อหลายแห่ง สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เขียนบล็อกเรื่อง "ในฐานะองค์กรกำกับดูแลควรแสดงจุดยืนอย่างไรในสถานการณ์ที่เราถูกต้อนไปจนถึงทางตันในทุกวันนี้?" ระบุวันนี้ กสทช.หลายคนไปร่วมประชุมกับกองทัพบก หรือ กอ.รส.ด้วย ขณะที่ตนเองไม่ได้ไปและคงไม่ไปหากมีการบังคับ ชี้หากมีการรับแนวทางใดมา ขอให้นำเข้าที่ประชุม เพราะตนเองอาจไม่เห็นด้วย พร้อมตั้งคำถามการให้อำนาจกองทัพสั่งปิดเลยแบบเต็มสูบถือเป็นการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 คุ้มครองหรือไม่ อย่างไร มีจุดถ่วงดุลหรือไม่ 
 
"ในฐานะเป็น กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อและผู้บริโภค ดิฉันเห็นว่า อำนาจของ กอ.รส. ทับซ้อนกับ อำนาจของ กสทช. ระดับหนึ่ง ซึ่งเราต่างมีอำนาจตามกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง กสทช. ควรธำรงความเป็นอิสระในการทำงาน ยึดเอาผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง และ ถ่วงดุลกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งอำนาจที่เบ็ดเสร็จของทหารด้วย" สุภิญญา ระบุ
 
สุภิญญา ชี้ด้วยว่า กสทช. ต้องเป็นองค์กรที่ยืนข้างสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชน แต่ก็ต้องหาทางออกให้สังคมในวันที่สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความเกลียดชัง หรืออาจนำไปสู่ความรุนแรง ในขณะที่เรากำลังรอดูอยู่ว่า การรัฐประหารจะเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทยหรือไม่ กสทช. ต้องร่วมกับสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตในการหาจุดที่สมดุลระหว่างเสรีภาพกับความรับผิดชอบ จนกว่าจะไม่ต้องทำอีกแล้ว เพราะคำสั่งคณะปฏิวัติอาจจะมายึดอำนาจจาก กสทช.ไป 
 
รายละเอียดบล็อกดังกล่าว มีดังนี้ 
 
00000
 
 
20 พ.ค. 57
 
อรุณรุ่งวันนี้พร้อมกับการประกาศกฎอัยการศึก เป็นเดจาวูแบบสโลโมชั่นที่ท้ายสุดอาจนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง เศร้าลึกซึ้ง
 
วันนี้ยุ่งทั้งวันกับงานที่ กสทช. ตามกำหนดการเดิม เช้ามีเวทีเรื่องสัมปทาน ทรู วิชั่นส์ หมดลง กับการดูแลผู้บริโภค บ่ายประชุมอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ แต่ไม่มีสมาธิเลย
 
จริงๆ ช่วงบ่ายทางกองทัพ หรือ กอ.รส. เขาเรียกตัวแทนหน่วยราชการรวมองค์กรอิสระไปเข้าพบเพื่อหารือ มีบอร์ดบางส่วนและเลขาธิการ กสทช. ไปร่วมประชุมด้วย แต่ดิฉันไม่ไปร่วมและคงไม่ไปแม้ถูกบังคับ …. ยืนยันทำงานตามหน้าทีปรกติของเราไปจนกว่าจะมีเหตุให้ทำไม่ได้ในอนาคตถ้ามีการฉีกรัฐธรรมนูญ ถึงขั้น ยุบ กสทช.หรืออื่นใด
 
ถ้ากรรมการ กสทช. ท่านใดไปรับแนวทางของ กอ.รส. มา ดิฉันเสนอให้นัดประชุมบอร์ดเพื่อหารือร่วมกันด้วย เพราะดิฉันอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางทั้งหมดก็ได้
 
ดิฉันเข้าใจเหตุผลของการประกาศกฎอัยการศึกที่ต้องการยุติเหตุความรุนแรงและการเผชิญหน้าที่อาจสูญเสียเลือดเนื้อ ถึงจุดหนึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุมสถานการณ์ แต่ไม่เห็นด้วยที่ให้กองทัพใช้อำนาจได้แบบเบ็ดเสร็จในหลายเรื่อง เช่นเดียวกับการควบคุมสื่อสารมวลชนที่มักจะเริ่มต้นจากการขอความร่วมมือเป็นการขยายความเข้มข้นมากขึ้น การจำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 45 อาจทำได้ แต่ต้องไม่ล้ำเส้นหรือละเมิดหลักการ ถามว่าตอนนี้ความพอดีอยู่ตรงไหน ตอบยากมากจริงๆ
 
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมการเมือง และ สถานีวิทยุที่โดน กอ.รส. สั่งปิด ส่วนหนึ่งเป็นสถานีที่ออกอากาศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือผิดกฎหมายอยู่แล้ว กรณีนี้จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายปรกติของ กสทช.
 
แต่สถานีอื่นๆ ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. แล้ว ดิฉันคิดว่าเขาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญระดับหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเขาเห็นว่าการถูกปิดไม่เป็นธรรม เขาควรที่จะร้องเรียนมาที่ กสทช. ในฐานะผู้ถือใบอนุญาต หรือกระทั่งร้องไปที่ศาลได้
 
การใช้อำนาจต้องมีการถ่วงดุลกันเสมอ ไม่ว่าใครจะมีอำนาจในขณะนั้นๆ ก็ตาม
 
ดิฉันเห็นด้วยว่า ที่ผ่านมาในบางเรื่องเกินขอบเขตอำนาจของ กสทช. หรือ กสทช.ล้มเหลวในการกำกับดูแลสื่อการเมืองที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุความรุนแรง แต่การให้อำนาจกองทัพสั่งปิดเลยแบบเต็มสูบถือเป็นการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 คุ้มครองหรือไม่ อย่างไร จุดถ่วงดุลมีไหม ใครตอบได้บ้าง
 
ในขณะที่รัฐธรรมนูญยังมีชีวิตอยู่ ทั้ง กอ.รส. — กสทช. — สื่อ ต่างได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจุดสมดุลย์ของการใช้อำนาจ หรือ ทางออกควรเป็นอย่างไร
 
ผู้บริโภคที่เป็นแฟนประจำของสถานี Bluesky หรือ Asia Update และ อื่นๆ ถ้าสถานีถูกปิดไปเรื่อยๆ ท่านคิดว่าสมควรหรือไม่ หรือ คิดว่าดีแล้ว?
 
การปิดทีวีดาวเทียมการเมืองให้หมดทุกสีอย่างเท่าเทียม หรือแม้กระทั่งควบคุมอินเทอร์เน็ต
ประเทศชาติจะได้สงบ จริงหรือไม่ ?
 
จุดที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร? แม้เราจะยอมรับอำนาจรัฐที่มีอยู่จริง แต่เราก็ต้องไม่หยุดตั้งคำถามเหล่านี้ เพื่อสิ่งที่เรียกกว่า check & balance จะได้ดำเนินต่อไป
 
กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลที่ต้องธำรงสิทธิเสรีภาพของสื่อ และรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ควรแสดงจุดยืนอย่างไรในสถานการณ์การเมืองที่เราถูกต้อนไปจนถึงทางตันในทุกวันนี้?
 
ในฐานะเป็น กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อและผู้บริโภค ดิฉันเห็นว่า อำนาจของ กอ.รส. ทับซ้อนกับ อำนาจของ กสทช. ระดับหนึ่ง ซึ่งเราต่างมีอำนาจตามกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง กสทช. ควรธำรงความเป็นอิสระในการทำงาน ยึดเอาผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง และ ถ่วงดุลกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งอำนาจที่เบ็ดเสร็จของทหารด้วย
 
กสทช. ต้องเป็นองค์กรที่ยืนข้างสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชน แต่ก็ต้องหาทางออกให้สังคมในวันที่สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความเกลียดชัง หรืออาจนำไปสู่ความรุนแรง …. ในขณะที่เรากำลังรอดูอยู่ว่า การรัฐประหารจะเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทยหรือไม่ กสทช. ต้องร่วมกับสถานีวิทยุ และ โทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตในการหาจุดที่สมดุลย์ระหว่าง เสรีภาพกับความรับผิดชอบ
 
พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่าวันหนึ่งจะไม่ต้องทำอีกแล้ว เพราะคำสั่งคณะปฏิวัติอาจจะมายึดอำนาจจาก กสทช.ไปทั้งหมดแล้วควบคุมทุกอย่างเอง เมื่อถึงวันนั้นจริงสังคมส่วนหนึ่งอาจจะดีใจ บางส่วนอาจจะเสียใจ ส่วนตัวก็จะถือเสมือนว่าได้ตายในหน้าที่คือทำงานด้วยความเป็นอิสระจนถูกยึดอำนาจไปในที่สุด
 
วันนี้เป็นวันที่ผู้นำกองทัพได้ประกาศกฎอัยการศึกผ่านโทรทัศน์ระบบคมชัดสูงแบบ HD และในวันที่ 25 พ.ค.นี้จะเป็นวันที่ กสทช.ให้ 24 ช่องใหม่ออกอากาศเต็มรูปแบบผังรายการในระบบดิจิตอลแล้ว …
 
แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ระบบดิจิตอลในภาวะกฎอัยการศึก ถ้าไม่ยอมรับว่าเศร้าก็ไม่รู้ว่าจะรู้สึกอะไรอีกแล้ว แม้จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็รู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น หดหู่กับตัวเอง เหมือนนั่งรอระเบิดเวลา ที่จะมาถึงไม่ช้าก็เร็ว ความหวังริบหรี่ลง แต่ยังมีอยู่และบอกตัวเองว่าทำหน้าที่ในวันนี้ให้ดีที่สุด จนกว่าวันที่อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่นี้อีกแล้ว ….


ที่มา: บล็อกสุภิญญา กลางณรงค์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net