Skip to main content
sharethis
บริษัทเกมอินดี้ในสหรัฐฯ นึกสนุกจับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือมาเป็นตัวเอกเกมบู๊ออกตะลุยข้าศึกด้วยกราฟิกย้อนยุคและมุขตลกเสียดสีหลายเรื่อง แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นการลดความจริงจังต่อปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือหรือไม่


15 พ.ค. 2557 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2557 เว็บไซต์รัสเซียทูเดย์รายงานเรื่องบริษัทมันนี่ฮอร์สผู้พัฒนาเกมนอกกระแส ใช้ผู้นำเกาหลีเหนือเป็นตัวเอกในเกมแนวบู๊ที่มีลักษณะคล้ายเกมย้อนยุคคริสตทศวรรษ 1990

ในเว็บไซต์มันนี่ฮอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทในรัฐแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา นำเสนอภาพในเกมที่ชื่อ "Glorious Leader!" หรือ "ท่านผู้นำอันรุ่งโรจน์!" โดยมีคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีปัจจุบันยืนอยู่ระหว่างอนุสาวรีย์ของผู้นำในอดีตคือคิมอัลซุง และคิมจองอิล

เว็บไซต์มันนี่ฮอร์สระบุข้อความโฆษณาเกมในเชิงล้อเลียนไว้ว่า "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีขอสั่งการให้พวกคุณรับรู้ไว้ว่า พวกทุนนิยมที่บริษัทมันนี่ฮอร์สจำกัด กำลังพัฒนาเกมที่ชื่อว่า 'Glorious Leader!' ตำนานสุดอลังการเกี่ยวกับชัยชนะของคิมจองอึนผู้สู้รบกับกองทัพอเมริกัน มีการต่อสู้ผ่านด่าน 7 ด่านไปพร้อมๆ กับการพิชิตกองทัพของพวกจักรวรรดินิยม ประลองกับหัวหน้าใหญ่ที่ดูเว่อร์ๆ แล้วก็ขี่ม้ายูนิคอร์น"

รัสเซียทูเดย์ระบุว่าวิดีโอโปรโมทเกมนี้แสดงถึงฉากเปิดตัวที่มีเพลงประกอบอล่างฉ่างพร้อมคำบรรยายแสดงความเชิดชูผู้นำตามด้วยภาพคิมจองอึนถืออาวุธชนิดต่างๆ จากนั้นจึงตัดฉากเป็นเกมการเล่นในกราฟิกพิกเซล 16 บิต ผ่านฉากต่างๆ แล้วจบด้วยภาพของคิมจองอึนยืนอยู่กับเดนนิส รอดแมน นักบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอผู้เคยเข้าพบคิมจองอึนเมื่อปี 2556 และมักจะพูดถึงเกาหลีเหนือในทางบวก

เจฟฟ์ มิลเลอร์ หัวหน้าบริษัทมันนี่ฮอร์สกล่าวให้สัมภาษณ์ว่าโอเดียของเกมนี้เริ่มมาจากความที่เขาสนใจเกาหลีเหนือเพราะมี "ระบอบการปกครองแปลกๆ" และคิดว่าเกมของเขาจะประสบความสำเร็จตรงที่ "ความไม่เหมือนใคร" รวมถึง "เป็นเรื่องตลกและเป็นที่สนใจของผู้คน"

"ผมไม่เคยเห็นเกมของเกาหลีเหนือมาก่อน และคิดว่ามันน่าจะมีคนสร้างอะไรแบบนี้ออกมา" มิลเลอร์กล่าว

แม้ว่ามิลเลอร์จะวางกลุ่มเป้าหมายเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบเกมแนวบู๊ยุคคริสตทศวรรษ 1990 แต่ผลตอบรับก็ทำให้มิลเลอร์แปลกใจ เขาบอกว่ามีคนทั่วโลกจำนวนมากสนใจเกมนี้รวมถึงชาวเกาหลีใต้ซึ่งเขาไม่คิดว่าอยากจะเล่นเกมนี้

แต่มิลเลอร์ยังต้องตอบคำถามในเรื่องหนึ่งที่อาจจะเป็นปัญหา คือเรื่องที่เกมนี้ทำให้ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือซึ่งเป็นเรื่องจริงจังกลายเป็นเรื่องเล่นๆ หรือไม่ ซึ่งมิลเลอร์ตอบว่าเกมนี้จงใจทำให้เป็นเกมเชิงเสียดสี ไม่ใช่ในเชิงการเมือง เขาย้ำว่าผู้พัฒนาเกมนี้สร้างให้มันดูน่าขบขันเกินจริงมากๆ มิลเลอร์บอกอีกว่าเขาอยากให้คนเล่นได้คิดด้วยตัวเองแทนที่จะนึกว่าเขาเป็นฝ่ายยัดเยียดความคิดให้

Glorious Leader! ไม่ใช่เกมแรกที่เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ก่อนหน้านี้ในปี 2555 ก็เคยมีผู้สร้างเกมขับรถชื่อ "เปียงยางเรสเซอร์" ซึ่งจำลองการขับรถชมเมืองหลวงของเกาหลีเหนือ พัฒนาโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีคิมแช็ค (Kim Chaek) ร่วมมือกับบริษัทโนโซเทคซึ่งเป็นบริษัทตะวันตกรายแรกที่ร่วมลงทุนกับเกาหลีเหนือ

 


เรียบเรียงจาก

Glorious Leader! Kim Jong-un takes on US army in new video game, RT, 14-05-2014
http://rt.com/news/158928-korea-leader-video-game/

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรอดแมน

http://en.wikipedia.org/wiki/Dennis_Rodman

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net