Skip to main content
sharethis

'นิวัฒน์ธำรง' ติดภารกิจงดชี้แจงวุฒิสภา-'อภิสิทธิ์' เสนอให้ลาออกยก ครม.เปิดทางตั้งรัฐบาล "คนกลาง" จัดเลือกตั้งที่มีหลักประกันให้การปฏิรูป แก้ไขระเบียบให้อำนาจ กกต.สั่งฟัน ส.ส.-พรรคการเมือง ที่ไม่ยอมปฏิรูป แนะรัฐบาลถอย 4-5 เดือนให้บ้านเมืองเข้าที่-ไม่กระทบสถาบันกษัตริย์ - และหากไม่มีแนวทางที่ทุกฝ่ายพอใจ ก็ขอวุฒิสภาตัดสินใจเร็วๆ เพราะบ้านเมืองบอบช้ำนานแล้ว

ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี-ไม่เข้าหารือวุฒิสภาเนื่องจากติดภารกิจ

13 พ.ค. 2557 - สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงวาระการประชุมหารือวุฒิสภานอกรอบเพื่อหารือการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในวันนี้ว่า ในช่วงแรกจะมีการหารือในห้องประชุมใหญ่ เพื่อให้สมาชิกที่ยังติดใจ ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

ตลอดจนวันนี้ยังได้เชิญ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมหารือด้วย โดยได้รับแจ้งว่า นายนิวัฒน์ธำรง ติดภารกิจไม่สามารถเข้าร่วมหารือได้ ส่วน นายอภิสิทธิ์ นั้น จะเดินทางมาหารือในเวลา 18.00 น.

จากนั้น จะย้ายไปประชุมห้อง 306-308 เพื่อหารือในทางลับ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง พร้อมฝากย้ำไปยังทุกฝ่ายว่า สมาชิกวุฒิสภา ต้องการช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ เพราะที่ผ่านมาได้ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองมาโดยตลอด ซึ่งไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลง ทั้งนี้ย้ำว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการเสนอแนะอะไรทั้งนั้น อย่ามีการนำไปบิดเบือน

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานด้วยว่า นายสุรชัย ยืนยันว่าไม่เคยเสนอนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 แก้ปัญหาประเทศ วอนสังคมเข้าใจ และอย่าบั่นทอนการทำงานของสมาชิกวุฒิสภา

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางมาชี้แจงสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2557 (ที่มา: เพจอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

 

อภิสิทธิ์ชี้แจงสมาชิกวุฒิสภา เสนอให้จัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป

ต่อมาเมื่อเวลา 19.03 น. ที่รัฐสภา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต ส.ส. และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาชี้แจงต่อวุฒิสมาชิก ตอนหนึ่งอภิปรายว่า การทำให้มีการเลือกตั้งจนได้ อีกฝ่ายก็ไม่ยอมรับ แต่หากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่มีการเลือกตั้ง อีกฝ่ายก็ไม่ยอมรับ ดังนั้นการทางออกทางการเมืองที่เป็นความสมัครใจของทุกฝ่ายเป็นทางออกดีที่สุด โดยขอมองในแง่ดีว่าจะมีจุดร่วมที่สามารถทำให้เกิดการขับเคลื่อนให้เกิดการเดินไปข้างหน้าได้

"การปฏิรูปไม่อาจสำเร็จลงได้ในระยะเวลาสั้นๆ วุฒิสภาทราบดี ปฏิรูปเรื่องเดียวใช้เวลาหลายปี นี่จะปฏิรูปประเทศหลายเรื่องยิ่งต้องใช้เวลา ต้องแก้ไขกฎหมาย และแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่องค์ประกอบของฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่มี จะมีได้ต้องมีการเลือกตั้ง ในการแก้ปัญหานี้อย่างไรก็ต้องกลับไปสู่การเลือกตั้งไม่ช้าก็เร็ว แต่จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเรียบร้อย สุจริต เที่ยงธรรม ทำให้ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป เพราะที่มีการต่อต้านการเลือกตั้งเพราะไม่ไว้ใจนักการเมืองว่าจะมีการปฏิรูป"

เสนอให้ทำประชามติเพื่อเป็นหลักประกันว่าการปฏิรูปจะไม่ถูกขัดขวาง

"ดังนั้นจะต้องสร้างความชอบธรรมและสร้างหลักประกันให้กับการปฏิรูปว่าจะไม่ถูกขัดขวางและล้มเหลว เสนอให้ทำประชามติให้ประชาชนเห็นชอบสามเรื่อง หนึ่ง เห็นชอบว่าจะมีสภาปฏิรูปจัดทำข้อเสนอต่างๆ ไม่มีนักการเมือง พรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบในสภาปฏิรูปสอง สอง ประเด็นสาระที่จะปฏิรูปจะทำอะไรบ้าง เช่น แก้ไขคอร์รัปชั่น หรือปฏิรูปการใช้อำนาจ สาม รับรองรัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งต่อไป ต้องสนับสนุนสภาปฏิรูปที่จะต้องมีการดำเนินการ"

กกต.สั่งยุบพรรค ถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ที่ไม่สนับสนุนการปฏิรูป เพราะถือว่าหลอกลวง

อภิสิทธิ์ ยังเสนอให้ กกต. ดำเนินในการไปแก้ระเบียบการเลือกตั้ง ขยายความคำว่าหลอกลวงในกฎหมายเลือกตั้ง ให้นักการเมืองรับรองว่าจะสนับสนุนการปฏิรูป ถ้าเข้าไปแล้วไม่สนับสนุนการปฏิรูป ถือว่าหลอกลวง ถ้าเป็นบุคคลให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ถ้าเป็นพรรคให้ยุบพรรค ก็เป็นหลักประกันที่ดีที่พอจะสร้างได้

แต่กระบวนการประชามติมีความสำคัญ ถ้าทุกพรรคจริงใจสนับสนุนการปฏิรูป ช่วงประชามติพรรคการเมืองต้องพิสูจน์ด้วยการไปรณรงค์ปฏิรูป เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นไปเคลื่อนไหวเสรี เหมือนการซ้อมใหญ่การเลือกตั้ง ถ้าจะให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ ต้องให้ไปรณรงค์เรื่องปฏิรูปได้ ดีไม่ดี พรรคการเมืองก็อาจทำกิจกรรมร่วมกัน ก็คือลดอุณหภูมิความขัดแย้งก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งได้

เสนอให้ ครม.ลาออกเพื่อเปิดทางตั้งรัฐบาล "คนกลาง" เพื่อจัดเลือกตั้ง-ปฏิรูป

อภิสิทธิ์เสนอต่อไปว่า "ประการสำคัญ วันที่ผมเสนอแผนมีรัฐบาลสมบูรณ์อยู่ แต่ตอนนี้มีข้อถกเถียงทางกฎหมายว่ารัฐมนตรีท่านใดอยู่ระหว่างรักษาการได้บ้าง หรือองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี แต่เมื่อมีสภาพการโต้แย้งอย่างนี้ ข้อเท็จจริงที่ผมว่าต้องพูดกันคือ การเดินหน้าประเทศจัดประชามติตามแผนของผม ต้องมีรัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับและไว้วางใจ ไม่ใช่ท่านที่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรีตอนนี้ แต่ไม่ใช่เอาคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคนเหล่านี้เข้ามา"

"แนวทางของผมคือ เหตุการณ์คล้ายๆ กันตอนปี 2549 อาจมีคนเข้าใจผมว่า ผมเคยเสนอใช้มาตรา 7 เพื่อให้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ขอเรียนว่าไม่เคยเสนอแบบนี้ วิธีคือคนที่อยู่ในตำแหน่งต้องเปิดทางให้ประเทศ ให้รัฐมนตรีลาออกด้วยความสมัครใจ ถามว่าลาออกจะมีคนมาโต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญบังคับให้อยู่ในตำแหน่งรักษาการนั้น ไม่จริงครับ การสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 182 ว่าตาย ลาออก หรือมีคำวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญห้ามไม่ได้ รัฐธรรมนูญห้ามท่านเสียชีวิตได้หรือครับ มันเป็นเอกสิทธิ์ ท่านรองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองามปฏิบัติหน้าที่รักษาการณ์ลาออก ก็ไม่มีใครว่าท่านผิดรัฐธรรมนูญ"

"การลาออกก็เพื่อเปิดทาง ถึงไม่ลาออกก็ไม่มีใครปฏิบัติรัฐธรรมนูญได้ครบถ้วน แต่ถ้าลาออก ก็คือมีความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีใครลุกออกจากอำนาจโดยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ต้องมาพูดกันให้ชัด คนที่จะเข้ามา ก็มาด้วยความยินยอมพร้อมใจ เหมาะสม ทุกฝ่ายยอมรับ ถ้าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมรับ ก็ไปไม่ได้ คนที่จะเข้ามาไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด รัฐบาลก็ไม่ไป หรือมวลชนก็เคลื่อนไหวต่อ"

"ในความเห็นของผม แม้จะมีรัฐบาลที่เรียกว่าคนกลางเข้ามา ก็คือทำหน้าที่ให้เกิดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย เกิดการปฏิรูป เพราะแม้จะมีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ลุกออกไปแล้วเดินได้ตามใจชอบ แต่ต้องมาตามกรอบรัฐธรรมนูญคือมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความประสงค์ของผู้มีอำนาจขณะนี้"

หวั่นข้อขัดแย้งกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์-แนะรัฐบาลถอย 4-5 เดือน

"ผมเคยถามว่าจะให้เลือกตั้ง 20 กรกฎาคมนั้น คิดว่าจะสำเร็จมั้ย กกต.บอกว่าอีก 6 เดือนถึงจะได้สมาชิกครบ แต่ถ้าตามแผนผมใช้เวลา 4-5 เดือน ถามว่าทำไมถึงทำไม่ได้"

"ถ้าวันนี้ข้อขัดแย้งโต้แย้ง นำไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ ผมว่าไม่พึงกระทำนะครับ ทำไมผู้อยู่ในอำนาจไม่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ยอมถอย 4-5 เดือน ให้บ้านเมืองเข้าสู่ระบบ สร้างหลักประกันให้มีการปฏิรูป แต่ตอนนี้ยังไม่มีการตอบรับ"

แต่ถึงไม่มีแนวทางที่ทุกฝ่ายพอใจ ก็ขอวุฒิสภาตัดสินใจเร็วๆ เพราะบ้านเมืองบอบช้ำนานแล้ว

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า "ขอบคุณท่าน ส.ว. แม้จะไม่ใช่การทำอย่างทางการ แต่ก็แสดงความรับผิดชอบในฐานะการเมือง ภารกิจของท่านถ้าตามแนวทางของผม ท่านคงต้องมีวิธีการทำงานที่หลากหลายกว่าการประชุมตรงนี้ แนวทางผม อย่างไรเสียต้องคุยกับผู้มีอำนาจคือรัฐบาล ท่านจะเชิญเขามาตรงนี้เกิดได้ยาก ท่านต้องคิดว่าจะมีวิธีการอย่างไร ไปสื่อสาร ไปหารือ ประการที่สอง ผมทราบจากข่าวว่า ท่านจะเดินสาย ประทานโทษ เชิญฝ่ายต่างๆ ในสังคมมาหารือ แต่ก็ต้องชัดเจนว่าถ้าเป็นองค์กรอิสระ หรือฝ่ายตุลาการ ไม่ใช่ให้ท่านเหล่านั้นมาทำเกินอำนาจหน้าที่ เพราะจะเป็นการดึงฝ่ายต่างๆ เข้าสู่ความขัดแย้งมากกว่าหาคำตอบ"

"ผมว่าประเด็นข้อกฎหมายเถียงกันไม่จบ แต่ผมหวังว่าจะเห็นผู้ทำหน้าที่ทางกฎหมาย เช่น ประธานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ ท่านเหล่านั้นสมควรมีบทบาท ไม่ใช่มาบอกว่าอะไรทำได้ แต่มาบอกว่าถ้าอยากให้บ้านเมืองเดินอย่างนี้ จะทำอย่างไร อย่าเอากฎหมายมาเป็นอุปสรรค แต่เอากฎหมายมาทำให้บ้านเมืองเดิน ผมกราบเรียนว่าสิ่งที่นำเสนอมานั้นคงไม่ง่ายที่จะประสบความสำเร็จ แต่ทุกวัน เวลา นาทีที่ผ่านไปคือการสูญเสียโอกาสของประเทศ ความรวดเร็วก็สำคัญ ถ้าแนวทางนี้ไม่สำเร็จ อย่างไรท่านก็ต้องตัดสินใจ ถ้าแนวทางผมไม่สำเร็จ ก็ต้องตัดสินใจ มีคนไม่เห็นด้วย และเห็นด้วย ท่านก็ต้องเลือก ถ้าท่านปล่อยไป ก็คงเห็นแล้วว่าไม่ดีแน่ และเมื่อถึงวันนั้นการไม่ตัดสินใจของท่านก็จะเป็นความรับผิดชอบของท่าน"

"หากไม่มีแนวทางที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องไม่ได้จริงๆ ท่านก็ต้องตัดสินใจและตัดสินใจเร็ว ทำเถอะครับ ประเทศชาติ บ้านเมืองประชาชนเจ็บช้ำมาพอแล้ว"

โดยภายหลังการอภิปรายของอภิสิทธิ์ สมาชิกวุฒิสภาได้ยกมือเพื่อขอถามเพิ่มเติม ได้แก่ คำนูณ สิทธิสมาน วันชัย สอนศิริ สมชัย แสวงการ ฯลฯ ขณะที่หลังการชี้แจงของอภิสิทธิ์ วุฒิสภาจะมีการหารือในทางลับที่ห้อง 306-308 อาคารรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net