ภัยของการขยายอายุราชการให้ตุลาการและข้าราชการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากการที่มีเสวนาวิชาการหัวข้อเรื่อง "ฤๅตุลาการเป็นตัวการสร้างความแตกแยก?" เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายคณิน บุญสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึงปัญหาขององค์กรตุลาการไว้ส่วนหนึ่งว่า "รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 306 มีการหมกเม็ด กำหนดให้มีการต่ออายุราชการให้ตุลาการ ซึ่งทำให้มีผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวนมากและตุลาการพวกนี้จะไปรวมอยู่ที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ ส.ว. เหมือนกับการสร้างปิรามิดหัวกลับ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะเลื่อนตำแหน่งยาก เพราะมีผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ไม่เกษียณราชการคอยคุมอำนาจ" นั้น  ปรากฏว่าข้อเสียจากการขยายอายุราชการ(ตำแหน่งสำคัญในศาลสูง)เป็น 70 ปียังมีอีกเยอะมากที่สังคมไทยยังไม่รู้ และเด็กนิติศาสตร์นับหมื่นนับแสนคนที่มีความฝันจะเป็นผู้พิพากษาต้องคิดหนัก

ผู้ที่เพิ่งสอบผู้พิพากษาได้จะต้องเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเกือบตลอดอายุราชการ โอกาสจะได้เลื่อนตำแหน่งชั้นสูงเช่นหัวหน้าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็ต่อเมื่ออายุใกล้ 70 ปี ส่วนคนที่ดำรงตำแหน่งสูงๆ ดังกล่าวอยู่แล้วในปัจจุบันก็จะยังผูกขาดตำแหน่งเดิม กินที่นั่งของเด็กรุ่นหลังไปอีกยาวนาน ต่างจากก่อนปี 2550 ที่ตำแหน่งสูงๆ ดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนถ่ายแทนที่โดยผู้พิพากษาศาลล่างทุกปี ในอดีตผู้ที่พ้นจากตำแหน่งในศาลสูงจะรับราชการต่อไปเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานจนอายุ 70 ปี เรียกว่า "ผู้พิพากษาอาวุโส" ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อองค์กรมาก แต่ปัจจุบันผู้พิพากษาอาวุโสจะหมดไป ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นอุทาหรณ์ให้กับหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่จะมีการผลักดันให้ขยายอายุราชการเป็น 65 หรือ 70 ปี เพราะหน่วยงานนั้นๆ จะเสียเปรียบหน่วยงานอื่นที่มีการเกษียณอายุราชการ 60 ปี เพราะหน่วยงานอื่นข้าราชการสามารถดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นเกียรติประวัติต่อวงศ์ตระกูลได้ตอนอายุใกล้ 60 ปี แต่หน่วยงานที่ขยายอายุราชการไปแล้ว ข้าราชการที่มีอายุ 60 ปี อาจดำรงตำแหน่งเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อยเท่านั้น เนื่องจากตำแหน่งราชการมีจำนวนจำกัด เมื่อคนผูกขาดตำแหน่งเดิมไม่เกษียณ ข้าราชการอื่นที่รอเลื่อนตำแหน่งก็ต้องรอตำแหน่งนั้นต่อไป บางคนยังไม่ทันได้เลื่อนตำแหน่งก็กลับต้องเกษียณราชการหรือเสียชีวิตไปก่อน ทางที่ดีที่สุดหากหน่วยราชการประสงค์จะขยายเวลาให้ข้าราชการทำงานจนถึงอายุ 65 หรือ 70 ปี ก็ควรให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของหน่วยงานซึ่งมีจำนวนไม่จำกัด แต่ไม่ควรให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารชั้นสูงจนอายุ 65 หรือ 70 ปี เช่นอธิบดี ผู้อำนวยการ ผู้ว่าการ ฯลฯ ซึ่งมีจำนวนจำกัด ซึ่งควรให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงนั้นถึงอายุ 60 ปี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อข้าราชการในองค์กรทุกคน

ผลกระทบที่ตามมาจากการขยายอายุราชการได้แก่ เมื่อถึงเวลาที่ควรจะได้รับเงินประจำตำแหน่งบริหาร ผู้พิพากษาศาลล่างก็จะไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่งบริหาร ไม่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสายสะพาย ไม่ได้ไปดูงานต่างประเทศ ไม่ได้เป็นกรรมการออกข้อสอบ กรรมการตุลาการ ฯลฯ ผู้พิพากษาศาลล่างต้องย้ายสถานที่ทำงานไปแต่ละจังหวัดทั่วประเทศตลอดชีวิต ไม่ได้พักอยู่ในภูมิลำเนาของตน ไม่ได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวจนอาจเกิดปัญหาในครอบครัวเพราะคนในครอบครัวไม่อาจย้ายบ้านย้ายโรงเรียนตามหัวหน้าครอบครัวได้บ่อยครั้ง เพราะมีกฎว่าผู้พิพากษาศาลล่างอาวุโสน้อยต้องรับราชการในต่างจังหวัด ห้ามอยู่ในภูมิลำเนา ห้ามอยู่ที่เดิมเกิน 5 ปี ซึ่งต่างประเทศไม่มีกฎเกณฑ์เหล่านี้

 ข้อเสียดังกล่าวแทบจะไม่เกิดกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมในระดับสูงเลยเพราะสามารถอยู่ที่เดิมได้เป็นเวลานาน มีโอกาสเป็นผู้มีอำนาจและสร้างอิทธิพลยาวนานทั้งในและนอกองค์กร ทั้งเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งผู้พิพากษา การให้คุณให้โทษ การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การได้วินิจฉัยคดีการเมือง การมีโอกาสถูกคัดเลือกไปดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด กกต. ปปช. ฯลฯ โดยผู้พิพากษาคนเดิมๆ นั้นเอง (เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนถ่ายตุลาการน้อยมาก ตุลาการคนเดิมๆ ก็มักจะผูกขาดธงเดิมๆ ทางการเมือง จนทำให้ประชาชนเข้าใจว่าตุลาการไม่เป็นกลาง ฝักใฝ่พรรคการเมืองและมีอคติในการพิจารณาพิพากษาคดี) แม้ในบางประเทศผู้พิพากษาจะทำงานจนกว่าจะเสียชีวิตและผูกขาดธงเดิมๆ แต่เขาไม่มีปัญหาทางการเมือง เพราะความเข้มข้นของระบบอุปถัมภ์ไม่สูงเท่ากับประเทศไทยซึ่งมีความเสี่ยงต่อความเป็นกลางของผู้พิพากษาหรือตุลาการในการตัดสินคดีหากไม่เปลี่ยนถ่ายตัวบุคคลในระยะเวลาที่ยาวนานเกินสมควร ผลกระทบก็จะมีต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่หวังให้ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย

อนิจจา กว่าเด็กนิติคนหนึ่งจะได้เป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีสำคัญในศาลฎีกาก็ต้องมีอายุใกล้ 70 ปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่คงเสียชีวิตก่อนจะถึงวันนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท