Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
รูปแบบการต่อสู้กันระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยของไทยตั้งแต่ปี 2549 คือ การปะทะใหญ่สามครั้ง ซึ่งประกอบด้วยการรุกโดยฝ่ายเผด็จการ “ล้อมตีเพื่อทำลาย” ฝ่ายประชาธิปไตย ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ทำการรับด้วยการ “ต่อต้านการล้อมตี” เพื่ออยู่รอด รักษากำลังและขยายตัวเข้มแข็งขึ้น
 
การปะทะใหญ่ครั้งแรกปี 2549 ฝ่ายเผด็จการใช้กลไกศาล ตุลาการ มวลชนเสื้อเหลือง “ล้อมตี” รัฐบาลพรรคไทยรักไทยและ “ชนะชั่วคราว” ด้วยรัฐประหาร 19 กันยายน แม้พลังประชาธิปไตย “แพ้ชั่วคราว” แต่ก็สามารถก่อตัวขึ้นเป็นฐานมวลชนที่เป็นรูปธรรมแล้วขยายใหญ่ขึ้น จนกลับมาชนะการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้สำเร็จในต้นปี 2551 การล้อมตีครั้งแรกของฝ่ายเผด็จการจึงประสบความพ่ายแพ้และ “การต้านการล้อมตี” โดยฝ่ายประชาธิปไตยประสบชัยชนะ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและสร้างฐานมวลชนจัดตั้งเริ่มแรกได้
 
การปะทะใหญ่ครั้งที่สองประกอบด้วยการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนปี 2551 และการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ในครั้งนี้ ฝ่ายเผด็จการใช้มวลชนเสื้อเหลือง ศาล ตุลาการ และทหาร เข้า “ล้อมตี” และโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน สถาปนารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น ฝ่ายเผด็จการจึง “ชนะชั่วคราว” เป็นครั้งที่สอง แต่เนื่องจากพวกเขาได้สูญเสียความชอบธรรมจากรัฐประหาร 2549 ไปมากแล้ว จึงไม่สามารถก่อรัฐประหารอย่างเปิดเผยโดยทหารซ้ำได้อีก ทำได้เพียง “รัฐประหารเงียบ จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” โดยที่จำต้องรักษาระบบการเมืองแบบเลือกตั้งและเปลือกนอกที่เป็นระบอบรัฐสภาเอาไว้ เปิดช่องให้ฝ่ายประชาธิปไตยทำการถอย รักษากำลัง ฟื้นตัว แล้วพัฒนาขยายตัวกลายเป็น ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดง ที่มีขนาดใหญ่โต
 
แต่เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยขยายกำลังเข้มแข็ง กระทั่งสามารถกลับมาเผชิญหน้าโดยตรงกับเผด็จการได้เป็นครั้งแรกด้วยการก่อการชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้ยุบสภาในต้นปี 2553 ฝ่ายเผด็จการซึ่งมีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นหุ่นเชิด จึงใช้โอกาสนี้ยกระดับ “ชัยชนะจากการล้อมตีทางการเมือง” (โค่นรัฐบาลพรรคพลังประชาชน) ไปสู่ “การล้อมปราบทางทหาร” ใช้กำลังอาวุธสงครามเข้าบดขยี้การชุมนุมและสังหารประชาชนโดยตรง ตามมาด้วยการจับกุมคุมขังแกนนำและประชาชนทั่วประเทศอีกจำนวนหลายร้อยคน
 
ในช่วงกลางปี 2553 ฝ่ายเผด็จการจึง “ชนะชั่วคราวทั้งทางการเมืองและทางทหาร” ถึงกระนั้น แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะถูกปราบปรามอย่างหนักและ “แพ้ชั่วคราว” ประสบความเสียหายในระดับหนึ่ง แต่ก็สามารถฟื้นคืนกลับมาเข้มแข็ง ขยายฐานมวลชนและการจัดตั้งให้เติบใหญ่ได้รวดเร็วและกว้างขวางยิ่งกว่าก่อนการชุมนุมใหญ่ปี 2553 เสียอีก สามารถผลักดันให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 จัดตั้งรัฐบาลอย่างชอบธรรมได้อีกครั้ง
 
การปะทะใหญ่ครั้งที่สองจึงยุติลง ฝ่ายเผด็จการประสบความพ่ายแพ้เมื่อการล้อมตีทั้งทางการเมืองและทางการทหารเพื่อทำลายขบวนประชาธิปไตยล้มเหลว ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถเปลี่ยนความพ่ายแพ้ทางการทหารให้เป็นชัยชนะทางการเมือง ชนะเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาล พร้อมด้วยฐานมวลชนสนับสนุนที่เข้มแข็งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
 
การปะทะใหญ่ครั้งที่สามเริ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกระทำความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ด้วยการผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง เปิดโอกาสให้ฝ่ายเผด็จการก่อการรุก “ล้อมตี” ด้วยมวลชน ศาล ตุลาการ และทหาร อีกครั้ง แต่การปะทะใหญ่ครั้งนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากการปะทะใหญ่ในสองครั้งแรกหลายประการ
 
ประการแรก การปะทะกันระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยครั้งนี้ ได้มีความเกี่ยวพันไปถึงความขัดแย้งและปัญหาการ “ถ่ายโอนสถานะและอำนาจระดับสูง” ภายในหมู่ผู้ปกครองไทยอย่างชัดเจน จริงอยู่ว่า ความเกี่ยวพันระหว่างปัญหาประชาธิปไตยกับปัญหาขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองดังกล่าวก็ได้ดำรงอยู่ในการปะทะใหญ่สองครั้งแรกด้วย แต่ในครั้งนั้น ความขัดแย้งภายในผู้ปกครองยังมีอิทธิพลเป็นเพียง “พื้นภูมิหลัง” ที่ยังไม่ปะทุออกมาอย่างเปิดเผย แต่ในการปะทะกันครั้งนี้ ปัญหาดังว่าได้ปรากฏเด่นชัดขึ้น จนกลายเป็นกระแสความขัดแย้งที่สำคัญควบคู่ไปกับความขัดแย้งระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้นคือ การแบ่งฝ่ายภายในหมู่ผู้ปกครองและกองทัพในปัญหาดังกล่าวยังแสดงออกอย่างชัดเจนว่า มีการ “เรียงตัว” ที่สอดคล้องกับการแยกเป็นค่ายเผด็จการกับค่ายประชาธิปไตยพอดีอีกด้วย
 
ความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองดังกล่าวมีนัยสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผลลัพธ์ของการต่อสู้ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยในขั้นตอนปัจจุบัน
 
ประการที่สอง ในการปะทะใหญ่ครั้งนี้ ฝ่ายเผด็จการได้สรุปบทเรียนแล้วว่า การที่พวกเขาประสบความพ่ายแพ้ในการปะทะใหญ่สองครั้งแรกก็เพราะพวกเขายังใช้เปลือกนอกของระบบรัฐสภาและการเมืองแบบเลือกตั้ง ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นสนามรบที่ฝ่ายประชาธิปไตยเข้มแข็ง แต่พวกเขาอ่อนแอและไม่สามารถเอาชนะได้
 
ในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายของพวกเขาจึงเป็น “สงครามครั้งสุดท้าย” มิเพียงแต่ทำลายพรรคเพื่อไทยและขบวนประชาธิปไตยเท่านั้น แต่มุ่งที่จะยกเลิกการเมืองแบบเลือกตั้งและระบบรัฐสภา สถาปนาระบอบเผด็จการอย่างเปิดเผยขึ้นมา พวกเขาใช้ทุ่มกำลังสุดตัว ระดมกลไกและเครือข่ายเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดของตน ทั้งตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่มมวลชนและทหาร แม้แต่องค์กรและเครือข่ายที่มิได้แสดงบทบาทในอดีต เช่น ปปช. ศาลยุติธรรม เครือข่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ ผู้บริหารโรงเรียนและโรงพยาบาล ตลอดจนเครือข่ายข้าราชการระดับสูง รัฐวิสาหกิจ สื่อมวลชน และวงการบันเทิง ประกอบขึ้นเป็นการล้อมตีที่มีขนาดใหญ่โต น่าประหวั่นพรั่นพรึงยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
 
ประการที่สาม แม้ฝ่ายเผด็จการจะระดมกำลังใหญ่ที่สุด ดูเข้มแข็งน่ากลัวที่สุด ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ภายนอกเท่านั้น แต่เนื้อในนั้น ฝ่ายเผด็จการได้อ่อนกำลังลงอย่างมาก จากที่เคยเข้มแข็งที่สุดในการปะทะครั้งแรกปี 2549 ที่สามารถทำรัฐประหารได้สำเร็จโดยง่าย มาสู่การปะทะครั้งที่สองปี 2551-53 ที่พวกเขาไม่สามารถทำรัฐประหารแบบเปิดเผยโดยทหารได้ แต่ยังสามารถบัญชากำลังอาวุธให้สังหารประชาชนได้ จนถึงในการปะทะใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งพวกเขาก็ยังไม่สามารถทำได้ทั้งรัฐประหารที่เปิดเผยหรือรัฐประหารเงียบ แม้แต่รัฐประหารด้วยตุลาการ คือการใช้ศาลรัฐธรรมนูญและปปช.ก็ประสบอุปสรรคและแรงต่อต้านอย่างหนักทั้งจากประชาชนและจากประชาคมนานาชาติ ขณะที่ฐานมวลชนของพวกเขาที่ช่วงแรกดูเหมือนยิ่งใหญ่อลังการ ก็พิสูจน์แล้วว่า ผิวเผินและชั่วคราวเท่านั้น
 
บัดนี้ ดุลกำลังทางการเมืองระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยจึงได้เข้าสู่สภาวะ “หมากตายทางยุทธศาสตร์” ที่ทั้งสองฝ่ายยันกันและไม่สามารถเอาชนะกันได้โดยทันที การปะทะกันครั้งนี้จะมีผลลัพธ์ในท้ายสุดเป็น “การแพ้หรือชนะชั่วคราว” ของแต่ละฝ่ายอีกครั้ง หรือจะเป็น “ชัยชนะถาวร” ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมขึ้นอยู่กับว่า ขบวนประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ พรรคเพื่อไทย จะดำเนินการต่อสู้ทางยุทธวิธีอย่างถูกต้องเพื่อต้านการล้อมตี แล้วกลับมาเป็นฝ่ายรุกทางยุทธศาสตร์ได้หรือไม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net