Skip to main content
sharethis

ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว กรณีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขา สมช. ให้ ครม. รักษาการต่อ เว้น รมว.ที่เอี่ยวประชุมวันที่ 6 ก.ย.54 

7 พ.ค. 2557 เวลา 12.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.หลังยุบสภาความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ พ้นไปหรือไม่ 2.การโยกย้าย นายถวิล ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ยิ่งลักษณ์ให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ 3.คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.พ้นตำแหน่งไปด้วยหรือไม่ 

ประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า มีอำนาจในการรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ โดยเห็นว่า นายกฯ และ ครม.ยังไม่พ้นตำแหน่งจากการยุบสภาตามคำร้อง โดยเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรียังอยู่ แม้ยุบสภาไปแล้ว ซึ่งต่างจากการสิ้นสุดผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอื่น ดังนั้นศาลมีอำนาจรับฟ้องคดีนี้


ประเด็นต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าผู้ถูกร้องใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (2) และ (3) และถือเป็นการกระทำตาม รธน. มาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7)

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 181 (1) บัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ส่วนมาตรา 182 วรรค 1 บัญญัติว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (7) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267, 268 หรือ 269 จากข้อความที่ปรากฏในบทบัญญัติทั้ง 2 มาตรา แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้บัญญัติให้เฉพาะกรณีที่คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 (1) เท่านั้น ที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 182 ด้วย

ดังนั้นคดีนี้เมื่อผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 วรรค 1 (2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(1) แล้ว ผู้ถูกร้องจึงไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้อีกต่อไป

ประเด็นต่อมา มาตรา 180 วรรค 1 (1) บัญญัติว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 และ มาตรา 181 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 ยังคงต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ในคดีนี้เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) เป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1 (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ย่อมทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ที่ไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของความเป็นรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้

อย่างไรก็ตามหากรัฐมนตรีคนใดได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (1) ถึง (8) ย่อมมีผลให้รัฐมนตรีคนนั้นไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตาม รธน. มาตรา 181 ได้เช่นกัน

ในกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำระดับสูงจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ดังนั้นในคดีนี้หากรัฐมนตรีคนใดมีส่วนร่วมในการลงมติอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงข้าราชการประจำโดยการโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งเป็นการกระทำอันต้องห้ามตาม รธน. มาตรา 268 ด้วยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมย่อมเป็นเห็นให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีผู้นั้นสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตาม รธน. มาตรา 182 วรรค 1 (7) ตามไปด้วย และไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่ามีการนำเรื่องการโยกย้ายนายถวิล และการให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติอย่างเร่งรีบ รวบรัด ในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามปกติ เป็นวาระเพื่อทราบจรในวันที่ 6 ก.ย. 54 และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเอกฉันท์อนุมัติให้กระทำการโยกย้ายและให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายไปในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐมนตรีทุกคนที่ร่วมประชุมและลงมติในวันนั้นจึงมีส่วนร่วมโดยทางอ้อมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำอันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) เป็นเห็นให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ไปด้วย

สำหรับประเด็นตามคำขอของผู้ร้อง ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยให้ดำเนินการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และ 173 โดยรวมนั้นไม่อยู่ในขอบเขตการเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในคดีนี้ ศาลไม่รับพิจารณาวินิจฉัยจึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายโอนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง จึงต้องด้วยรัฐธรรนูญมาตรา 266(2) และ(3) และถือเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) และรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย.54 จึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำ อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบ มาตรา 266(2) และ(3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ไปด้วย

ทั้งนี้ นายกฯ และรัฐมนตรีที่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 10 คน ประกอบด้วย

1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
2.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
3.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ
4.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ
5.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
6.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
7.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม
8.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
9.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที
10.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net