Skip to main content
sharethis

สื่อตะวันตกหลายแห่งให้ความสนใจกับกรณีที่สำนักข่าวรัฐบาลกลางเกาหลีเหนือ (KCNA) เขียนบทวิเคราะห์วิจารณ์สหรัฐฯ ในหลายประเด็นหลังจากไม่พอใจที่ยูเอ็นทำรายงานวิจารณ์สิทธิมนุษยชนประเทศของพวกเขา แต่ดูเหมือนว่าสื่อเกาหลีเหนือจะทำการบ้านมาดีเกินคาด จนสื่อตะวันตกรู้สึกว่าเถียงไม่ออกหลายเรื่อง

6 พ.ค. 2557 หลังจากที่ทางการเกาหลีเหนือแสดงความไม่พอใจต่อรายงานของสหประชาชาติซึ่งระบุถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเกาหลีเหนือ สำนักข่าวรัฐบาลกลางเกาหลีเหนือ (KCNA) ได้โต้ตอบด้วยการนำเสนอบทวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ในประเด็นสิทธิมนุษยชน

บทวิเคราะห์ KCNA ระบุว่าสหรัฐฯ เป็น "ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดในโลก" และระบุอีกว่า "เป็นนรกบนดินที่มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเลวร้าย"

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ดังกล่าวใน KCNA เปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงพิธีรำลึกครบรอบ 50 ปี กฎหมายสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ปี 2507 (ซึ่งในเนื้อความต้นฉบับใช้คำว่า "ครบรอบสถาบันด้านสิทธิพลเมือง") โดยระบุว่าในงานประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้กล่าวยอมรับว่าเรื่องเชื้อชาติยังถือเป็นปัญหา

แต่ KCNA ก็นำคำกล่าวของโอบามามาตีแผ่ว่าจริงๆ แล้วมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในสหรัฐฯ โดย KCNA ระบุว่า "ภายใต้กฎหมายสิทธิพลเมือง การเหยียดสีผิวมีมากขึ้นในสหรัฐฯ ช่องว่างระหว่างชนกลุ่มน้อยและคนผิวขาวก็มีมากขึ้นเช่นสิทธิในการเข้าถึงงานและสิทธิในการเลือกตั้ง"

แอนโธนี่ ซูเชอร์ บรรณาธิการบีบีซึกล่าวถึงบทวิเคราะห์ของ KCNA ว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ด้วยลักษณะราวกับมาจากบทความแสดงความคิดเห็นของสื่อฝ่ายซ้ายในสหรัฐฯ ปนไปกับการกล่าวถึงความเสื่อมถอยของสหรัฐฯ ด้วยความรู้สึกยินดีแบบสื่อยุคสมัยสหภาพโซเวียต

ในบทวิเคราะห์ของ KCNA มีการวิจารณ์เรื่องการเหยียดผิว อาชญากรรม การตกงาน ในสหรัฐฯ สื่อเกาหลีเหนืออ้างอีกว่ากฎหมายอาวุธปืนของสหรัฐฯ ทำให้อัตราอาชญากรรมเพิ่มขึ้น และราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ แพงขึ้นจนทำให้มีคนเป็นคนไร้บ้านจำนวนมาก

"จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 46.5 ล้านคน ในปีที่แล้ว" KCNA ระบุในบทวิเคราะห์ "มีประชากร 1 ใน 6 และเด็กอีกราวร้อยละ 20 ในนิวยอร์กซิตี้อยู่ในภาวะแร้นแค้น" นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่าประธานาธิบดีโอบามาใช้ชีวิตอย่างหรูหรา นำเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ไปเยือนต่างประเทศโดยไม่สนใจสภาพชีวิตที่เลวร้ายของผู้คน

สื่อเกาหลีเหนือยังกล่าวรวมไปถึงกรณีอื้อฉาวของเครื่องบินโดรนและโครงการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ นอกจากนี้ยังได้อ้างถึงคดีสังหารชายหนุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน เทรย์วอน มาร์ติน ซึ่งศาลรัฐฟลอริดาตัดสินให้ผู้ลงมือคือจอร์จ ซิมเมอร์แมน ไม่มีความผิด โดยวิจารณ์ว่าเป็นการแสดงให้เห็นธาตุแท้เรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามสำนักข่าว KCNA อ้างผิดว่าซิมเมอร์แมนเป็นตำรวจ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ซูเชอร์ กล่าวว่าท่าทีของเกาหลีเหนือเหมือนต้องการแสดงออกว่าฝ่ายสหรัฐฯ อย่ามาถือดีวิจารณ์พวกเขา ข้อกล่าวหาของสำนักข่าวเกาหลีเหนืออาจจะมีความสับสนและแปลความผิดพลาด แต่ในหลายข้อกล่าวหาก็ยากจะแก้ตัว

นีนา สโตรชลิก จากเว็บไซต์เดลี่บีสต์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสหรัฐฯ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องชวนรู้สึกรบกวนจิตใจเมื่อรู้ว่าทางการเกาหลีเหนือไม่จำเป็นต้องใส่สีตีไข่ในเชิงสถิติมากนักเพื่อกล่าวหาสหรัฐฯ

สโตรชลิกกล่าวถึงกรณีที่ KCNA อ้างเรื่องโอบามาใช้งบประมาณหลายร้อยล้านกับการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ว่าฟังดูคล้ายนักวิจารณ์ฝ่ายอนุรักษนิยมเกลน เบ็ก ซึ่งเคยอ้างข่าวผิดๆ ในประเด็นนี้ รวมถึงเปรียบเทียบกับกรณีเกาหลีเหนือเองในประเด็นอื่นเช่นการสอดแนม โดยสโตรลิกบอกว่าเกาหลีเหนือสั่งซื้อกล้องวงจรปิดมากกว่า 100,000 ตัว เพื่อคอยสอดส่องประชาชนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แต่สำหรับสโตรชลิกแล้วเรื่องที่เกาหลีเหนือพูดถูกคือปัญหาความยากจน จากข้อมูลสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ปี 2555 ระบุว่ามีเด็กในเมืองนิวยอร์กซิตี้จำนวน 1 ใน 5 ที่ต้องดิ้นรนเพื่อมีเงินจ่ายค่าอาหาร มีอีกเรื่องหนึ่งที่ KCNA อ้างถูกคือจำนวนคนว่างงานในสหรัฐฯ

"เกาหลีเหนือสามารถจี้จุดในประเด็นเรื่องที่มีการถกเถียงในสหรัฐฯ ได้ โดยไม่ใช่การอ้างอิงที่ผิดเพี้ยน และการวิจารณ์สหรัฐฯ จะไม่กลายเป็นเรื่องตลกถ้าหากว่าไม่ได้มาจาก 'ปาก' ของผู้กล่าวหาที่ทำสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า" สโตรชลิกระบุในบทความ

อย่างไรก็ตามสโตรลิกชี้ว่า KCNA อ้างผิดในเรื่องที่ว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมสูงที่สุดซึ่งจริงๆ แล้วประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมสูงสุดคือฮอนดูรัส

ทางด้านแมตต์ ฟอร์ด จากสื่อดิแอทแลนติก กล่าวว่าถึงแม้สื่อเกาหลีเหนือจะพูดถูกกรณีเด็ก 1 ใน 5 ในนิวยอร์กซิตี้ขาดแคลนอาหาร แต่การใช้คำว่า "อยู่ในภาวะแร้นแค้น" ก็ดูเกินจริงไป

อีกเรื่องหนึ่งที่ถือว่า "ยังต้องถกเถียงกันอยู่" คือเรื่องของกฎหมายอาวุธปืน ซึ่งอดัม เทย์เลอร์จากวอชิงตันโพสต์กล่าวว่าจริงอยู่ที่อัตราอาชญากรรมการกราดยิงผู้คนมีเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ แต่จากสถิติแล้วอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงโดยรวมมีจำนวนลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุฆาตกรรมก็ลดลงในเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ

ทางด้าน แมตต์ เอสเซิร์ต จากเว็บไซต์โพลิซีมิค กล่าวว่าอย่างน้อยชาวสหรัฐฯ ก็รับรู้ปัญหาในประเทศของตนเอง และสามารถถกเถียงกันได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกส่งไปยังค่ายกักกันใช้แรงงาน

อย่างไรก็ตามการที่สื่อเกาหลีเหนือวิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบสหรัฐฯ แล้วพบว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่กลายเป็นเรื่องเล่าของตัวตลก ก็ชวนให้ประเทศโลกเสรีพิจารณาตัวเองเช่นกัน

"มีบางอย่างทำให้รู้สึกแปลก เมื่อประเทศที่ฉาวโฉ่ในเรื่องละเมิดสิทธิ์มีข้อมูลที่สามารถอ้างอิงในการยกระดับการวิจารณ์ของตัวเองได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีความน่าเชื่อถือในการวิจารณ์คนอื่นก็ตาม" สโตรชลิกระบุในบทความ


เรียบเรียงจาก

North Korea: Life in US is a 'living hell', BBC, 05-05-2014
http://www.bbc.com/news/blogs-echochambers-27285885

Now It’s North Korea’s Turn to List U.S. Human Rights Abuses, The Daily Beast, 03-05-2014
http://www.thedailybeast.com/articles/2014/05/03/now-it-s-north-korea-s-turn-to-list-u-s-human-rights-abuses.html

News Analysis on Poor Human Rights Records in US, KCNA, 30-04-2014
http://www.kcna.co.jp/item/2014/201404/news30/2014-0430-23ee.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net