สถาบันความ(ไม่)ปลอดภัยใกล้จะคลอด....กับ 19 ปีที่ภาคประชาชนร่วมขับเคลื่อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่ 10 พฤษภาคม เมื่อยี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว โรงงานเคเดอร์ ที่พุทธมณฑลสาย 4 เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ คนงานในโรงงาน ถูกไฟเผาทั้งเป็น 188 ชีวิต เป็นโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตคนงานมากที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย

ไฟไหม้เคเดอร์ ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความรุนแรงของสังคมไทย ที่กระทำต่อผู้ใช้แรงงานอย่างโหดเหี้ยม กฎหมายที่ใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตของแรงงาน นอกจากจะล้าสมัย แล้ว ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง

การขูดรีดในระบบทุนนิยม ดำเนินไปอย่างไร้ความปรานี  ชีวิตของมนุษย์ที่ยากไร้ เป็นเพียงฟันเฟีองเล็กๆในระบบอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภายใต้นโยบายเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างดุเดือดไม่ลืมหูลืมตา  จำนวนคนงานที่ถูกดึงดูดเข้าสู่ระบบการผลิตเข้าสู่ประตูโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากมายมหาศาล เพราะผลของการหดตัวในภาคเกษตรกรรมที่ล่มสลาย  กลายเป็นเหยื่อชั้นดี ที่สร้างผลกำไรจากมูลค่าส่วนเกินของแรงงานจากความพิการแขนขา การเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน สารพิษเคมีร้ายแรง  และด้วยความอ่อนแอของการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน  กำไรสูงสุดของการผลิต  จึงเกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องสนใจกับชีวิตมนุษย์ เพราะนายทุนมองเห็นคนงานเป็นเพียงส่วนประกอบของการผลิต

พวกเขาเป็นเฟืองเล็กๆ ที่พร้อมจะถูกเปลี่ยน เหมือนอะไหล่เครื่องจักรที่ต้องได้รับการเปลี่ยนตามสภาพการใช้งาน  แรงงานที่บาดเจ็บ พิการ เป็นโรคเรื้อรังจากสารเคมี ฯลฯ  จำนวนมาก ตกเป็นภาระของครอบครัว ที่โดยปกติแล้ว คุณภาพชีวิตของครอบครัวก็ปริ่มๆที่จะล่มสลายหมดอนาคต หมดหนทางที่จะพยายามมีชีวิตอยู่ต่อไป  ไม่นับบางครอบครัวที่ต้องสูญเสียเสาหลักไป โดยได้รับค่าชดเชยชีวิต  เพียงพอให้อยู่รอดได้อีกชั่วลมหายใจสั้นๆเท่านั้น

ความทุกข์แสนสาหัสของแรงงานที่ถูกคัดทิ้งเหล่านั้น ถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้การป่าวประกาศถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมไทย ที่กำลังจะกลายเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย

เบื้องหลังตุ๊กตาที่สร้างความสุขให้กับเด็กๆทั่วโลก  กลับฉาบไปด้วยรอยเลือดและความเจ็บปวดของเหล่ากรรมกร  โศกนาฏกรรมเคเดอร์  ส่งผลสะเทือนขวัญอย่างกว้างขวางต่อสำนึก เรื่องความปลอดภัยในสังคมไทย  องค์กรผู้ใช้แรงงาน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ร่วมมือกันผลักดันมาตรการต่างๆที่จะให้ความคุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้ใช้แรงงานเป็นจริงขึ้นมา  หนึ่งในมาตรการที่สำคัญที่ได้ถูกนำเสนอ และถูกผลักดันต่อๆมาเพื่อเป็นความหวังของเหล่าผู้ใช้แรงงาน คือ  การจัดตั้ง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

โดยที่ภาคส่วนต่างๆ ตระหนักชัดถึงความล้มเหลวของภาครัฐ ในการจัดการความปลอดภัยในสถานประกอบการ ไฟไหม้ที่เคเดอร์ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ที่อยู่เบื้องหลังอุบัติเหตุที่โรงงานเคเดอร์

ซึ่งใหญ่โตเกินกว่าที่รัฐ จะแก้ไขปัญหาความปลอดภัยฯได้โดยลำพังอีกต่อไป

นโยบายเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยละเลยคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้ไม่มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน 

ปัญหาของกฎหมายที่ล้าหลัง และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นจริง ไม่อาจแก้ได้ด้วยการเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อบังคับใช้กฎหมาย เพราะ เพิ่มเท่าไหร่ก็ไม่มีทางเพียงพอกับการขยายตัวของโรงงาน   ปัญหาจำนวนและคุณภาพของบุคคลากรด้านอาชีวอนามัย ที่ผลิตได้น้อย มีน้อย และที่มีอยู่ก็ขาดความรู้ความเข้าใจ

ปัญหาการขาดแคลนแพทย์อาชีวเวชศาสตร์  ส่งผลให้เกิดปัญหาการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน และการพัฒนาต่อยอดความรู้ในเรื่องโรคจากการทำงาน ปัญหาการจัดการบริหารของกองทุนทดแทน ที่ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิของความคุ้มครอง ปัญหาที่เกิดจากนโยบายของรัฐที่มุ่งส่งเสริมสถานประกอบการดีเด่นที่ไม่มีอุบัติเหตุจากการทำงาน (Zero Accident)  กลายเป็นความพยายามในการปกปิดข้อมูลการบาดเจ็บ เสียชีวิตของแรงงานในสถานประกอบการ 

ปัญหาความไม่เข้มแข็งของสหภาพแรงงาน ที่นอกจากมีอยู่น้อยมาก (แรงงานในระบบประกันสังคม 9 ล้านคน สังกัดสหภาพประมาณ 3 แสนคน คิดเป็นประมาณ 2%)  เกือบทั้งหมดไม่ตระหนักถึงปัญหาความปลอดภัย ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การต่อรองค่าจ้างและสวัสดิการ

นอกจากรัฐจะไม่ส่งเสริมการรวมตัวเป็นสหภาพแล้ว ยังประยุกต์ระบบไตรภาคีตามคำแนะนำของ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) แบบไทยๆ ที่ทำให้ดูเหมือนเป็นตัวแทนจากทุกฝ่าย(รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายแรงงานที่เป็นธรรม หากโดยแท้จริงแล้ว กลายเป็นเครื่องมือที่ชอบธรรมของรัฐในการกำหนดนโยบายตามที่รัฐต้องการ  คณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติ ที่ใช้กรรมการจากระบบไตรภาคี จึงไม่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาความปลอดภัย และไม่เคยมีมาตรการใดๆที่คุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้ใช้แรงงานที่เป็นสาระอย่างแท้จริง

ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเพียงบางส่วน ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงความคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน   สถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ในความคาดหวังของภาคประชาชน จึงต้องเป็นองค์กรอิสระ ที่ทำหน้าที่ทั้งการค้นคว้าทางวิชาการ เพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นต่างๆ ที่มีปัจจัยและตัวแปรจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง และทำหน้าที่ขับเคลื่อน แนวทาง นโยบาย มาตรการต่างๆที่สำคัญ ในการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยฯทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค

การเป็นองค์กรอิสระ จะทำให้เกิดความคล่องตัวและไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และรับผิดชอบต่อการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆด้วยตัวเอง ส่วนการทำหน้าที่ทางวิชาการได้อย่างสมบูรณ์ ย่อมต้องการการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในระดับสถานประกอบการ โดยการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นองค์ประกอบสำคัญของการวิเคราะห์สถานการณ์และการนำเสนอมาตรการต่างๆที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงต่อไป

ส่วนการดำเนินการของสถาบันความปลอดภัยฯ ต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐที่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ  การเป็นอิสระ การจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ และงบประมาณที่เพียงพอ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการให้สถาบันฯดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่ผลักดันอย่างเต็มที่โดยฝ่ายข้าราชการกระทรวงแรงงาน และกำลังจะประกาศใช้ในอีกไม่นานนี้  ได้ปฏิเสธหลักการสามเรื่องข้างต้นโดยสิ้นเชิง  แม้ว่าจะถูกคัดค้านจากภาคประชาชนอย่างรุนแรง กระบวนการออกกฎหมายดังกล่าว ก็เดินหน้าโดยไม่สนใจฟังเสียงคัดค้าน รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่เร่งรีบ รวบรัด เหมือนกรณี การรับฟังความเห็น โครงการ 3.5 แสนล้าน

สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นในเร็วๆนี้ จะไม่มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ประธานคณะกรรมการสถาบันฯมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ซึงเป็นข้าราชการประจำก็ได้ ส่วนตัวแทนของนายจ้างและลูกจ้างเหลือเพียงฝ่ายละ 1 คนใช้ระบบการเลือกตั้งแบบไตรภาคี   งบประมาณให้ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของ กองทุนความปลอดภัยฯ ที่อยู่ใน พรบ.ความปลอดภัย ฯฉบับปี 2554  เป็นหลัก

สถาบันฯนี้ จะทำหน้าที่เป็นเพียงสถาบันทางวิชาการ ที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของฝ่ายราชการ  กระทรวงแรงงานคงเข้าใจว่า สถานการณ์ความปลอดภัยของคนงานไม่ได้ร้ายแรง  กลไกของราชการสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ มีเพียงความรู้บางด้านที่ยังขาดแคลน จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะยกระดับสถาบันฯตามความคาดหวังของภาคประชาชน อีกทั้งข้อเสนอของภาคประชาชน ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆของฝ่ายราชการ จึงมิอาจดำเนินการได้

นั่นคือคำอธิบายที่กระทรวงแรงงานและฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง จะตอบโต้กับเสียงคัดค้าน  แต่ความจริงก็คือฉากซ้ำๆตอนหนึ่ง  ของการต่อสู้เพื่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการดำเนินการต่างๆภายในสังคม พลังอนุรักษ์ที่ยึดครองพื้นที่ และผลประโยชน์เดิมมาอย่างยาวนาน ย่อมไม่ต้องการแบ่งอำนาจและผลประโยชน์ให้กับคนหน้าใหม่ อาวุธที่ใช้ลดทอนพลัง ของฝ่ายปรปักษ์ ด้วยการทำให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างความอ่อนแอในหมู่ศัตรู เป็นวิธีที่ได้ผล และยืดระยะเวลาของการแตกหักออกไป   สังคมไทย จะได้สถาบันฯทางวิชาการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง  จะเป็นสถานที่ถกเถียงกันของเหล่านักวิชาการผู้ชาญฉลาด  เสียงของการถกเถียงนั้นจะไม่มีวันรอดออกมานอกรั้วสถาบันฯ  ภายนอกกำแพงที่ใหญ่โตของสถาบันฯ เรายังคงเห็นซากปรักหักพังของโรงงานเคเดอร์ เมื่อ ยี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว ที่มีแต่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท