Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ก่อนหน้านี้ ผมเคยให้กำลังใจและเอาใจช่วยคุณอภิสิทธิ์ที่เดินสายหาทางออกของวิกฤตการเมืองไทย แต่เมื่อฟังข้อเสนอเดินหน้าประเทศไทย 9 ข้อของคุณอภิสิทธิ์เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2557 ผมรู้สึกทั้งใจหายและเสียดายโอกาส ยิ่งได้ฟังการตอบสนองในทางลบของหลายฝ่าย ก็รู้สึกว่าจะหวังผลจากความพยายามของคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้เสียแล้ว อย่างไรก็ดีในวันต่อมา จากปฏิกิริยาปฏิเสธก็เริ่มมีการภาคเสธบ้าง ก็เลยใจชื้นขึ้นมาหน่อย จึงอยากเสนอคุณอภิสิทธิ์ว่า น่าจะเดินหน้าต่อไป โดยไม่ถือว่าข้อเสนอ 9 ข้อ เป็นข้อเสนอสุดท้ายแบบขาดตัว ต้องได้ทั้ง 9 ข้อครบถ้วนจึงจะเดินหน้าได้ ผมอยากให้ทุกฝ่ายถือว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้น หรือจุดเริ่มต้น โดยขอให้พรรคเพื่อไทยรับหลักการที่คุณอภิสิทธิ์เสนอคือ

1) ไม่ใช้ความรุนแรง หลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิต

2) ดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หลีกเลี่ยงการปฏิวัติและการรัฐประหาร  

3) แก้ปัญหาด้วยมาตรการทางการเมืองโดยไม่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์สู่วังวนความขัดแย้ง

จากนั้น ขอให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ตั้งคณะกรรมการร่วมมาศึกษาและแปรญัตติข้อเสนอทั้ง 9 ข้อ โดยรับฟังข้อคิดเห็นของ กปปส. นปช. และภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมด้วย ภายใต้หลักคิดที่ว่า ข้อตกลงใดที่จะนำไปปฏิบัติใช้ต่อไปโดยหวังให้มีความยั่งยืนนั้น อย่างน้อยพึงมีลักษณะดังนี้

1) มีความสมมาตร ไม่มีฝ่ายใดที่รู้สึกว่าตนได้เปรียบหรือเสียเปรียบฝ่ายอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือทุกฝ่ายยอมรับข้อตกลงได้ แม้จะไม่ถึงขั้นได้ตามความพอใจของฝ่ายตนทั้งหมด

2) ผูกพันในแง่กระบวนการแต่อาจไม่ผูกพันในเรื่องเนื้อหาซึ่งต้องถกแถลงกันต่อไป เช่นยอมรับข้อผูกพันที่จะให้มีสภาปฏิรูปการเมืองซึ่งมีอำนาจหน้าที่และที่มาตามที่กำหนด แต่ไม่ใช่ว่าต้องยอมรับข้อเสนอทุกประการของสภาปฏิรูปการเมือง

3) มีกลไกที่จะติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลง

ต่อไปจะขอวิจารณ์ข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์อย่างคร่าว ๆ โดยหวังให้เป็นข้อวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อการถกแถลงกันต่อไป

1)เมื่อคุณอภิสิทธิ์ต้องการให้มีการลงประชามติเรื่องสภาปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการที่เป็นทางการต้องใช้เวลาอย่างน้อย 90 วัน จึงเสนอให้ชะลอพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกไปก่อน อย่างไรก็ดี อาจมีวิธีอื่นที่จะใช้เวลาน้อยกว่า ดังจะเสนอต่อไป จึงควรยกข้อนี้ไปคุยกันทีหลัง

2) กกต. ได้มีเวลาก่อนหน้านี้อยู่พอสมควรที่จะแก้ไขระเบียบของตน ซึ่งทำได้ตามอำนาจหน้าที่และต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว และ กกต. ไม่ควรมาทำข้อตกลงกับฝ่ายอื่น ๆ ในเรื่องนี้ จึงควรยกข้อนี้ไม่ให้เป็นเงื่อนไขโดยตรงของข้อตกลง

3)การเสนอให้เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ร่วมกับ กปปส. ใช้เวลาประมาณ 15-30 วันจัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในเรื่องของการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า "สภาปฏิรูป" ซึ่งจะเป็นองค์กรที่จะทำหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปทั้งหมด เป็นองค์กรที่ไม่มีนักการเมืองและพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้องนั้น มีลักษณะไม่สมมาตร ถ้าจะเสนอให้สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยร่วมกับ นปช. จัดทำข้อเสนอดังกล่าวก็คงไม่สมมาตรเช่นกัน ข้อเสนอของผมก็คือ ให้คณะกรรมการร่วมพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยกร่างข้อเสนอขึ้นมาก่อนโดยรับฟังข้อเสนอของหลายฝ่าย รวมทั้งเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ร่างข้อเสนอดังกล่าวจะเสนอให้ กปปส. และ นปช.พิจารณาด้วย อำนาจการปฏิรูปเป็นอำนาจที่สำคัญ เพราะจะกำหนดทิศทางและสาระของการเดินหน้าประเทศไทยในทางการเมือง ผมเองไม่เห็นด้วยที่จะกันนักการเมืองออกจากกระบวนการปฏิรูปการเมือง แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้นักการเมืองมาครอบงำกระบวนการนี้เช่นกัน

4)เมื่อได้ข้อเสนอในเรื่องอำนาจหน้าที่และที่มาของสภาปฏิรูปการเมืองแล้ว ก็ทำการลงประชามติ เพราะถ้าประชาชนเห็นชอบโดยผ่านการลงประชามติแล้ว ก็จะเป็น “เสียงสวรรค์” ที่ผูกพันผู้ที่เคารพในเสียงของประชาชน และจะเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันการบิดพลิ้วไม่ทำตามข้อเสนอในภายหลัง แต่อยากจะเสนอให้ลงประชามติแบบไม่เป็นทางการ เพราะ (1) ตามมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ “การออกเสียงประชามติ ... อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ” ถ้าตีความตามตัวอักษร สมมุติมีผู้มาใช้สิทธิ์ 60% ของผู้มีสิทธิ์ หมายความว่า 83% ของผู้มาใช้สิทธิ์จะต้องเห็นด้วยจึงจะเป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก แม้จะมีการตีความที่ต่างออกไป แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งได้ (2) เราต้องการผลทางการเมืองที่ผูกพันโดยเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่งก็เพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องยุ่งยากที่จะหา “ข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์” (3) กกต. อาจจัดให้มีการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการที่เหมือนการลงประชามติอย่างเป็นทางการทุกอย่าง ทั้งนี้โดยลงประชามติพร้อมไปกับการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะประหยัดงบประมาณไปได้สามพันล้านบาท (4) การลงประชามติอย่างเป็นทางการใช้เวลาประมาณร้อยวันนับตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติ แล้วจากนั้นจึงจะออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ระหว่างนี้มีปัญหาของการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง การจัดให้ลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการและเลือกตั้ง ส.ส. ในวันเดียวกัน จะช่วยร่นเวลาการเริ่มเดินหน้าประเทศไทยได้กว่าสามเดือน

5)ทุกฝ่ายน่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ที่ให้พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถไปรณรงค์ให้มีการปฏิรูปได้ทุกพื้นที่ โดยไม่มีการขัดขวาง ไม่มีความรุนแรง แต่อยากเสนอเพิ่มเติมให้รณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ในทำนองเดียวกัน

6)การรับหลักการที่จะ “ดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” ดังกล่าวข้างต้น น่าจะหมายความว่าทั้งสองพรรคต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นเช่นนั้น มิใช่พรรคหนึ่งบอกว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว อีกพรรคบอกว่าไม่ใช่ ผมมีความเห็นว่าการเสนอให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีคนกลาง น่าจะขัดกับมาตรา 171 ที่บัญญัติว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและถ้าจะให้ประธานวุฒิสภานัดประชุมวุฒิสภาเพื่อการนี้ ก็น่าจะขัดกับมาตรา 132 ที่บัญญัติว่า ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะประชุมวุฒิสภาไม่ได้ เว้นแต่สามกรณีซึ่งไม่มีกรณีสรรหานายกรัฐมนตรี การที่คุณอภิสิทธิ์เสนอให้รัฐมนตรีลาออกทั้งคณะก็น่าจะเข้าข่ายมาตรา 181 (3) แต่มาตราถัดไปก็บัญญัติว่า “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” เหมือนกรณีมาตรา 181(2) ซึ่งใช้กับการยุบสภาฯ อย่างไรก็ดี ถ้าเกิดกรณีไม่มีคณะรัฐมนตรีจริง ๆ ด้วยเหตุสุดวิสัยใด ๆ สุญญากาศที่ (พยายามทำให้?) เกิดขึ้นเพื่อจะใช้มาตรา 7 ให้ได้ ก็ยังต้อง “วินิจฉัยกรณีนั้นให้เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งก็ยังไปไม่ถึงการมอบอำนาจให้ประธานวุฒิสภาอยู่ดี เพราะน่าจะเป็นการให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการเมื่อไม่มีรัฐมนตรี จึงจะสอดคล้องกับประเพณีดังกล่าว

ผมจับความได้ว่า คุณอภิสิทธิ์อยากให้มี “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ จึงขอทดลองเสนอทางเลือกที่อาจไม่สมบูรณ์นักดังนี้ ด้วยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ถึงแก่อสัญกรรม จึงทำให้มีที่ว่างในคณะรัฐมนตรีซึ่งตามปกติมีคนเต็มจำนวนสูงสุดที่พึงมี นายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งบุคคลเพิ่มเติมในคณะรัฐมนตรีได้คนหนึ่ง จึงขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นคนหนึ่ง ต่อมาให้ตั้งรองนายกรัฐมนตรีคนนี้อยู่ในอันดับแรก จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็ลากิจระยะยาว ให้รองนายกรัฐมนตรีคนนี้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการแทน ถ้าบุคคลผู้นี้เป็นคนกลางที่ทุกฝ่ายไว้วางใจ จะพอตอบโจทย์ข้อนี้ได้หรือไม่ครับ

7)การที่คุณอภิสิทธิ์เสนอว่านายกรัฐมนตรีคนกลางและรัฐมนตรีที่นายกฯเสนอแต่งตั้งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 181 ที่กำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็น เพราะอยู่ระหว่างการยุบสภานั้น อาจฟังดูมีเหตุผลเพราะจะไม่มีประโยชน์ได้เสียกับการเลือกตั้ง แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

8)การเสนอให้ พรรคการเมืองทุกพรรคต้องยืนยันว่าจะสนับสนุนการทำงานและสนับสนุนข้อเสนอของสภาปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง หากไม่ทำ กกต. จะถือว่าเป็นการหลอกลวง อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษคือ ตัวบุคคลต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และพรรคการเมืองต้องถูกยุบพรรคนั้น เป็นยาแรงจริง ๆ และเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่องค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มามีอำนาจเหนือองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งเป็นการมอบอำนาจให้แก่สภาปฏิรูปการเมืองมากเกินไปหรือไม่ ทำนองให้ยอมรับล่วงหน้าว่าสภาปฏิรูปฯ เสนออะไรมา รัฐสภาต้องรับหมดกระนั้นหรือ จะคล้ายกรณีเขียนเช็คเปล่าให้หรือไม่

9)ทุกฝ่ายดูเหมือนจะเห็นด้วยว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี ส่วนผมอยากเสนอเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการร่วมของสองพรรคน่าจะปรึกษากันด้วย ในเรื่องการแบ่งปันอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติหลังการเลือกตั้ง เป็นการเฉพาะในช่วง 1 ปีดังกล่าว

ขอให้กำลังใจคุณอภิสิทธิ์และคุณยิ่งลักษณ์ที่จะจัดให้มีการพูดคุยกับในระดับคณะกรรมการฯ ก่อน แล้วตามด้วยการตกลงกันในระดับพรรค ทั้งนี้ด้วยความเห็นชอบจากฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งจะเอื้อต่อการเดินหน้าประเทศร่วมกันต่อไป    


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net