Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ภาพจาก http://www.lokwannee.com/web2013/?p=68759

เห็นพุทธอิสระตอบคำถามคุณจอมขวัญ หลาวเพชร ในรายการ “คนชัดลึก” เมื่อคืนนี้ (2 พ.ค.57) แล้วพอจะเข้าใจความคิดหลัก หรือจุดยืนในการต่อสู้ทางการเมืองของท่านได้ว่า “ศีลธรรมพุทธศาสนาสำคัญกว่าหลักการประชาธิปไตย” เพราะท่านเชื่อว่าตนทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะขัดขวางการเลือกตั้ง ไปจนถึงเข้าเฝ้าถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือได้นักการเมืองที่เป็น “คนดี” มีศีลธรรมมาปกป้องประโยชน์ของประชาชน

ท่านเสนอว่า ต้องตั้ง “สภาศีลธรรมและคุณธรรมแห่งชาติ” จากตัวแทนศาสนาต่างๆ ศาสนาละ 5 คน โดยให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาสรรหามาก่อน แล้วมาผ่านการพิจารณาคัดเลือกอีกทีโดย “องค์กรอิสระ” (เช่นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน ป.ป.ช.เป็นต้น) กับ “คณะรัฐบุคคล”  สภานี้มีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติทางศีลธรรมของนักการเมืองที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง หากนักการเมืองคนไหนไม่ผ่านการพิจารณา ก็ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยวิธีนี้ก็จะมีแต่ “คนดี” เท่านั้นที่ได้เข้ามาเป็นผู้แทนปวงชน

สังเกตว่า พุทธอิสระจะอ้างคำสอนของพุทธะในพระไตปิฎกบ้าง อ้างคำกล่าวของพุทธทาสบ้าง อ้างเจตนาดีของตนเองที่ต้องการล้างความสกปรกทางการเมืองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆในการออกมาต่อสู้ทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะสู้ต่อไปจนกว่าจะเกิดสภาศีลธรรมและคุณธรรมแห่งชาติให้ได้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่รัฐบาลก็ตาม 

คำถาม-ตอบในรายการคมชัดลึกดังกล่าวนี้ วิจักขณ์ พานิช วิจารณ์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 

เมื่อยิงคำถามใส่พระ แล้วพระจนมุมด้วยเหตุผล สิ่งที่จะถูกงัดออกมาใช้ ก็คือการอ้างพระพุทธเจ้า ราวกับรู้ดีว่าพระพุทธเจ้าจะเข้าข้างตัวเองเสมอ หรือไม่ก็งัดพระไตรปิฎก ราวกับว่าทั้งหมดในนั้นสอดคล้องกับความคิดและคำพูดของตนเสมอ ความศักดิ์สิทธิ์ตั้งคำถามไม่ได้ต่อพระพุทธเจ้าและพระไตรปิฎกคืออาวุธที่ใช้สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำอันไร้ขอบเขตของตนและปิดปากคนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถาม มันคือกลยุทธ์ที่ปัญญาอ่อนแต่ทรงพลังที่สุดของ Buddhist Fundamentalism ซึ่งอยู่ในคำว่า "ศาสน์" ของ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์"

คำวิจารณ์ข้างบนชวนให้เราคิดเกี่ยวกับปัญหา “การเมืองเชิงวัฒนธรรมแบบพุทธไทย” ได้อีกมาก ชาวพุทธในบ้านเรามักมโนกันไปว่า “พุทธศาสนาบริสุทธิ์จากการเมือง” ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง มุ่งความหลุดพ้นจากกิเลสเท่านั้น จินตนาการแบบนี้มองข้ามความเป็นจริงอย่างจะจะ คือ

หนึ่ง ความจริงที่ว่าพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับสังคมการเมืองและผู้ปกครองในอุดมคติ ราวกับอุดมคติแบบยูโทเปีย เช่นในจักกวัตติสูตร (ไตรปิฎกเล่ม 11) วาดภาพสังคมการเมืองในอุดมคติว่า ถ้าผู้ปกครองทำการปกครองโดยธรรมย่อมส่งผลให้ผู้ใต้ปกครองมีศีลธรรม ในยุคที่ผู้ปกครองและราษฎรมีศีลธรรมอย่างสมบูรณ์ บ้านเมืองย่อมสงบสุขอุดมสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง จะมีพุทธะนามว่าศรีอาริยเมตไตรย์บังเกิดขึ้น ในส่วนคุณธรรมผู้ปกครอง เช่นทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตรก็ถือเป็นคุณธรรมของผู้ปกครองในอุดมคติที่เรียกว่า “ธรรมราชา”

สอง ความจริงทางประวัติศาสตร์ก็ชัดเจนว่า พุทธศาสนาก็เป็นศาสนาการเมืองไม่น้อยไปกว่าศาสนาสำคัญของโลกเช่นคริสต์ อิสลาม เพราะว่ากษัตริย์ชาวพุทธต่างตีความแนวคิด “ธรรมราชา” สนับสนุนความชอบธรรมแห่งสถานะ อำนาจของตนเองทั้งนั้น

จะว่าไป หากไม่อาศัยอำนาจของกษัตริย์อย่างพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พุทธศาสนานอกชมพูทวีป พุทธศาสนาก็คงไม่ขยายไปทั่วเอเชีย และดินแดนบางแห่งทางตะวันตก กษัตริย์ในเอเชียที่นับถือพุทธต่างก็อ้างอิงตนเองเป็นธรรมราชา หรือจักรพรรดิผู้ทรงธรรมตามอย่างพระเจ้าอโศก แม้ความจริงจะเป็นเพียงเจ้าประเทศราชก็ตาม

ที่สำคัญกษัตริย์ชาวพุทธในเอเชียอาคเนย์ต่างนับถือพราหมณ์ฮินดูด้วย เพื่อใช้พิธีราชาภิเษกแบบพราหมณ์สถาปนาความเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็น “วรรณะสูง” หรือชนชั้นสูงเหนือสามัญชน ผู้ซึ่งได้รับอำนาจสิทธิขาดในการปกครองและการสืบสันตติวงศ์ตามสายเลือดจากประกาศิตของพระเจ้าหรือพระพรหมผู้สร้างโลกตามคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ กษัตริย์จึงเป็นกษัตริย์ตามคติพราหมณ์อยู่ก่อนแล้ว พุทธศาสนาเข้ามาสนับสนุนในแง่ที่เสนอคุณธรรมของผู้ปกครองว่า การเป็นผู้ปกครองที่ดีหรือธรรมราชานั้น ต้องมีหน้าที่ปกครองให้เกิดประโยชน์สุขและเป็นธรรมแก่ผู้ใต้ปกครองทุกหมู่เหล่าอย่างไรบ้าง

แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า ชนชั้นปกครองไม่ได้นับถือพุทธเพื่อบรรลุสัจธรรม เป้าหมายของผู้ปกครองคือ “อำนาจ” ในการปกครอง ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงถูกใช้สนับสนุนสถานะอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครองมากกว่า ดังในยุคนครวัดนครธมมีการปั้นรูปพระเจ้า พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าที่มีหน้าตาเหมือนกษัตริย์ เพราะถือว่ากษัตริย์คือพระเจ้า พระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในรูปกายของมนุษย์บนโลกพิภพ ปราสาทราชวังอันเป็นที่สถิตของกษัตริย์จึงต้องสร้างให้เสมือนเป็นที่สถิตของพระเจ้าผู้สูงส่งเหนือมนุษย์ธรรมดา

เมื่อเป็นเช่นนี้ พุทธศาสนาจึงมีบทบาทสนับสนุนการเมืองเชิงวัฒนธรรมของกษัตริย์มาโดยตลอด ในแง่ที่พระสงฆ์เป็นกระบอกเสียงสอนราษฎรว่า กษัตริย์สมบูรณ์พร้อมด้วยทศพิธราชธรรม เป็นแบบอย่างทางศีลธรรม และเป็นผู้ที่ราษฎรเกิดมามีบุญที่ได้พึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นต้น ส่วนกษัตริย์ก็ตอบแทนพระสงฆ์ด้วยการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ มียศศักดิ์ มีข้าทาส เบี้ยหวัดเงินเดือน เป็นต้น

ในโลกตะวันตกนั้น เมื่อศาสนจักรและระบบกษัตริย์กดขี่มากเกินไป จึงเกิดการต่อต้าน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาที่ยกย่องเสรีภาพ ความเสมอภาค ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมือง จึงทำให้เกิดการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐใหม่ โดยถือว่าศาสนาเป็นเรื่องเสรีภาพของปัจเจก ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ หรือรัฐจะไม่ใช้อำนาจโดยอ้างศีลธรรมทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

ในหลายประเทศในเอเชีย เมื่ออำนาจระดับบนทางการเมืองเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ พุทธศาสนาก็ไม่มีบทบาทการเมืองเชิงวัฒนธรรมแบบเดิมอีกต่อไป ยังคงมีแต่สยามไทยเท่านั้นที่พุทธศาสนายังมีบทบาทอย่างเข้มข้นในการเมืองเชิงวัฒนธรรมสนับสนุนอำนาจของชนชั้นปกครองในระบบเก่า ในนามการปกป้องอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

บทบาทของพุทธอิสระ (เป็นต้น) ก็คือบทบาทการเมืองเชิงวัฒนธรรมแบบพุทธไทย ที่นิยมตีความพุทธศาสนา อ้างพระไตรปิฎก อ้างศีลธรรมยกย่องอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ สนับสนุนความเชื่อมั่นอย่างปราศจากข้อสงสัยในอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ แต่ประณาม กดเหยียดทุกอำนาจ ทุกองคาพยพของสังคมที่ตรวจสอบได้ว่าล้วนแต่เลวร้าย ไร้ศีลธรรม

นี่จึงเป็น “ตลกร้าย” ของบทบาทการเมืองวัฒนธรรมแบบพุทธไทย ที่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเกิดเสรีประชาธิปไตยในสังคมไทย เป็นตลกร้ายที่อ้างศีลธรรมอย่างไม่มีศีลธรรมเสียเอง นั่นคือไม่มีแม้แต่ศีลธรรมพื้นฐานของโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่ถือว่าการบรรลุเป้าหมายใดๆในทางการเมืองต้องเดินตามหลักการและกติกาประชาธิปไตยเท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net