ความขัดแย้ง(ที่)จำเป็นต่อประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ประชาธิปไตย (democracy) หมายถึง ระบบรัฐบาลโดยเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ผ่านตัวแทนที่ถูกเลือกตั้งเข้ามา เป็นระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่   ในเชิงอุดมการณ์ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของเสรีภาพและความเท่าเทียมกันด้านศักดิ์และสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งความเป็นมนุษย์ดังกล่าวถูกมอบให้ด้วยเหตุผลและสำนึกผิดชอบ บนฐานที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกันฉันท์พี่น้องหรือภราดรภาพ (UN Doc. A/810 (1948), pp. 71 -72.)  

ขณะเดียวกันประชาธิปไตยเป็นไปตามคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ที่กล่าวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1863 ว่า เป็นระบอบการปกครองโดยประชาชนและเพื่อประชาชน (Richard A. Epstein, 2011) และเป็นระบอบที่หยิบยื่นความหน่วง (tension) ถึงกันระหว่างปัจเจกชนและกลุ่มชนในสังคม

ประชาธิปไตยให้สิทธิกับปัจเจกซึ่งมีอิทธิพลส่งต่อไปยังกลุ่ม  กระบวนการตัดสินใจเชิงประชาธิปไตยตั้งอยู่บวนพื้นฐานความสมดุลระหว่างความแตกต่างของกลุ่มและปัจเจก ดังนั้นจึงไม่มีใครได้อะไรทุกอย่างตามที่ต้องการ แต่ก็ไม่มีใครมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับอะไรเลย (Ingvar Carlsson and Anne-Marie Lindgren, 2007) นอกเหนือจากประชาธิปไตยยังตั้งอยู่บนฐานหรือหลักการของ เสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ  ซึ่งมีรากเหง้าจากที่ผ่านการตีความหลักธรรมของศาสนา(คริสต์) จึงมีความหมายมากกว่าความเป็นรัฐหรือrepublic (James Fitzjames Stephen, 1993)

พัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของสังคม แสดงให้เห็นว่ากว่าจะเกิดภาวะผู้นำภายใต้ระบอบประชาธิปไตยดังเช่นปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ของภาวะผู้นำในแต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน ความเป็นผู้นำตามมุมมองแบบก่อนเสรีนิยม (preliberal) ถือว่าการมีความลดหลั่น (hierarchy) เป็นเรื่องปกติธรรมชาติบุคคลถูกแบ่งแยกแตกต่างกันโดยบทบาทที่แสดง คือ ผู้ปกครองแสดงบทบาทนำผู้ถูกปกครอง ผู้ชายนำผู้หญิง ผู้ที่เป็นพลเมืองนำทาส อีกทั้งถือว่าการเป็นผู้นำนั้นเกี่ยวโยงกับปัจจัยซึ่งอาจไม่เปลี่ยนแปลงได้ คือ มองว่าเป็นการคงทนอยู่กับที่ (static) หรือมีลักษณะที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า (preordained)  โดยที่ผู้นำและผู้ตามไม่อาจเปลี่ยนตำแหน่งกันได้  คือ ไม่มีการเคลื่อนย้ายทางสังคม

ต่อมาเข้าสู่ยุคเสรีนิยม (liberal) คือมองที่ความเสมอภาค เกิดทฤษฎีคนหนึ่งเป็นตัวแทน ถือว่าคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอีกคนหนึ่ง เป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย(authorized) เกิดความสัมพันธ์แบบชั่วคราว และไม่มีการจัดลำดับสูงต่ำ ส่งผลให้เกิดแนวคิด อรัฐนิยม (anarchist) ที่ถือว่าคนสามารถปกครองตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีองค์กรรัฐซึ่งในความเป็นจริงแล้วแนวคิดดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะปกติความสัมพันธ์ของคนเป็นไปในรูปแบบลำดับความสัมพันธ์สูงต่ำ จนกระทั่งต่อมาเกิดแนวคิด หลังเสรีนิยม (post liberal) ที่มองว่าความเป็นผู้นำอย่างกว้างๆนั้นต้องถูกขจัดออกไป แต่จำเป็นต้องคงไว้ซึ่งภาวะผู้นำที่มีความจำเป็น โดยมองว่าความสัมพันธ์ของคนเป็นได้ ๒ ทาง คือ มีความสัมพันธ์แบบลำดับชั้นและแบบเสมอกัน ซึ่งแนวคิดหลังเสรีนิยมนี้ ความเป็นผู้นำเป็นเรื่องธรรมชาติ (native natural) ในความหมายที่ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีการพัฒนาไม่หยุดอยู่กับที่แต่ก็ไม่มีการผูกขาดตำแหน่งในระยะเวลาที่ยาวนาน ความเป็นผู้นำในยุคหลังเสรีนิยมนี้ถือว่าสถานะผู้นำเป็นสิ่งชั่วคราว ภายใต้เงื่อนไขและอยู่ในวงจำกัด สอดคล้องกับประชาธิปไตยซึ่งมุ่งให้อุทิศตนเพื่อส่วนรวม (จิรโชค วีระสย, 2556) คือ ที่มาของผู้นำ นอกจากสัมพันธ์กับมวลชนในแบบของการยอมรับความธรรมชาติของคนแล้วยังจะต้องไม่ผูกขาดในตำแหน่งอีกด้วย ซึ่งทิศทางความเป็นไปของภาวะผู้นำมหาชนหรือคนส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายกำหนด ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งมากำหนด อย่างเช่น การกำหนดของกองทัพ เป็นต้น เพราะการเข้ามากำหนดดังกล่าวทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมผิดไปจากธรรมชาติ เมื่อผิดไปจากธรรมชาติก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมขึ้นได้

น่าสนใจว่าสถานการณ์ในเมืองไทยแม้จะขัดแย้งกันทางการเมือง แต่ต่างก็เรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนกัน หากมีความเข้าใจและข้อเรียกร้องในเรื่องประชาธิปไตยที่ต่างกัน ต่างฝ่ายต่างอ้างประชาธิปไตยกันคนละความหมาย ดังนั้นแม้ว่าประชาธิปไตยมุ่งไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชน แต่การมีส่วนร่วมมากขนาดไหนและอย่างไรเป็นสิ่งที่เข้าใจยังไม่ตรงกัน และเป็นที่มาของคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่ให้นิยามที่แตกต่างจากประชาธิปไตยแบบสากลของอารยประเทศที่หมายถึง การเดินตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนแต่รับฟังเสียงส่วนน้อย และเรื่องที่ว่าด้วย สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนทุกคนในรัฐ

ในช่วงหลังประชาธิปไตยแบบไทยๆถูกกดดันจากนานาอารยประเทศ เพื่อให้ระบบการปกครองของไทยเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยสากลมากขึ้น อย่างเช่น แรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา ในฐานะเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจและวัฒนธรรม สหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นผู้จัดระเบียบโลก (new world order)ไปโดยปริยาย รวมถึงการใช้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนกดดันให้ไทยแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่กำลังเป็นอยู่

ประชาธิปไตยสากลเป็นกลไกที่เข้ามาจัดการแบ่งสรรผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคมรัฐ ส่วนการจัดสรรผลประโยชน์ดังกล่าวจะยุติธรรมหรือไม่นั้น ขึ้นกับความพอใจของคนส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยไม่มีความสามารถทำให้คนในรัฐทุกคนพอใจได้ การปกครองรัฐตามรูปแบบประชาธิปไตยจึงเป็นไปในรูปแบบ “โลกียบริหาร” (secular  administration) และอยู่ในบริบทของสังคมนิยมน์  (social popularity) คนละส่วนกับบริบทของจริยศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องความถูกต้องทางด้านศีลธรรมหรือความดีความไม่ดี เพราะประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องความนิยมของประชาชนในยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งเมื่อเวลาเปลี่ยนความนิยมดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงมีลักษณะเป็นกระแสที่ไม่แน่นอน ขณะที่จริยศาสตร์กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลง เกณฑ์หรือหลักการตัดสินความดีความไม่ดียังเหมือนเดิม

ประชาธิปไตยเน้นการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของผู้คน การมีส่วนร่วมและความเสมอภาคของประชาชน เป็นระบอบการปกครองที่อยู่ตรงกันข้ามกับระบอบเผด็จการทหาร การนำบริบทด้านศีลธรรมไปใช้อ้างอาจกลายเป็นการผูกขาดความคิดเชิงศีลธรรมประจำรัฐและทำให้รัฐนั้นกลายเป็นรัฐศีลธรรมกว่ารัฐประชาธิปไตย เนื่องจากอำนาจทางศีลธรรมสูงสุดถูกทำให้มีความชอบธรรมเทียบเท่าหรือเหนือกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่วาทกรรมทำการเมืองให้สะอาดตอกย้ำการเมืองเชิงศีลธรรมซ้อนกัน 2ประการพร้อมๆกันคือ ในด้านหนึ่งมันท้าทายและทำลายความชอบธรรมของนักการเมืองและระบบเลือกตั้ง ในอีกด้านหนึ่งมันตอกย้ำว่าอำนาจทางศีลธรรมย่อมเหนือกว่า(เสียงของคนส่วนใหญ่) และเป็นความชอบธรรมสูงสุดทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยไทยความมีศีลธรรมมากน้อยของผู้นำมักเป็นเป้าที่สาธารณชนมุ่งตรวจสอบยิ่งกว่านโยบาย แนวคิด ศักยภาพของความเป็นผู้นำ หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อความผิดหวังและไม่ไว้ใจในระบบเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น ประชาชนจึงมักไม่เชื่อมั่นในกระบวนการกฎหมายหรือกลไกการตรวจสอบตามระบบ แต่หันไปมองหาอำนาจศีลธรรมที่เหนือกว่าแทน (ธงชัย วินิจจะกูล, 2556)

สันติวิธี เป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นพร้อมกับสำนึกในเรื่องวัฒนธรรมการอยู่ท่ามกลางความหลากหลายแตกต่างทางความคิดให้ได้ ในเมืองไทย นักสันติวิธีและองค์กรฝ่ายสนับสนุนสันติวิธีส่วนใหญ่กลัวความคิดขัดแย้งของประชาชนและพยายามให้ทุกคนคิดคล้ายกันหรือเหมือนๆกัน อีกนัยหนึ่งคือ การพยายาม “บิด” หรือตีความประเด็นขัดแย้งให้เป็นไปในแนวเดียวกัน แทนที่จะส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกันท่ามกลางความหลากหลาย เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกประชาธิปไตยย่อมเป็นไปไม่ได้ และวิธีการเคารพความเห็นต่างเป็นสิ่งที่อยู่นอกข้ออ้างทางศีลธรรม

แคมเปญ สันติวิธีของสถาบันสันติวิธีไทย (ที่ใช้เงินลงทุนในการทำแคมเปญและวิจัยศึกษาสูงมากแคมเปญหนึ่ง)  จึงควรมุ่งไปที่การส่งเสริม “การคิดต่างทำต่าง” ให้กลายเป็นปกติวิสัย(วัฒนธรรม) หรือผู้เห็นต่างคิดต่างไม่เป็นตัวแปลกประหลาดของสังคม เพราะความคิดไม่เหมือนกันคือ ธรรมชาติของมนุษย์  จึงควรปล่อยให้มนุษย์คิดไป การให้มนุษย์มีความคิดเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ จงยอมรับมันเสียเถอะ ปัญหาคือ บนความหลากหลายทางความคิดเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร 

แต่ประเด็น “ความขัดแย้งโดยสันติวิธี” กลับไม่มีใครพูดถึงในสังคมไทยมากนัก วิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งมักถูกรวบรัดตัดความโดยนักสันติวิธี ซึ่งเสมือนเป็นนักศีลธรรมกลายๆให้เหลือทางออกเพียงแค่เชิงหลักศีลธรรมเพียงด้านเดียว ในทำนองศีลธรรม คือ ยาครอบจักรวาล เช่น อหิงสาคือยาครอบจักรวาล เป็นต้น  ขณะที่กระบวนการกติกาที่อนุญาตให้ความขัดแย้ง “ต่อสู้กันอย่างสันติ” เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันได้รับการใส่ใจน้อยมาก

กระบวนการและกติกาดังกล่าว เป็นการใช้สติปัญญาของคนสังคม เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยไม่ใช้อารมณ์ เป็นการทางออกอย่างสันติวิธีมีความยุติธรรม เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ดังนั้นเวลากล่าวถึงสันติวิธี จึงมิใช่การทำให้ทุกคนในสังคมคิดเหมือนกัน และหยุดทะเลาะกันทางความคิด แต่เป็นการทำให้ทุกคนรู้จักเคารพความเห็นต่างของกันและกัน  โดยใช้กติกาประชาธิปไตยเป็นตัวกลาง

การส่งเสริมระบบความคิดเดียว (แม้แต่ในเรื่องการส่งเสริมระบบศีลธรรม) ต่างหากที่ทำให้ความขัดแย้งในสังคมดำรงอยู่ต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท