วิพากษ์ ข้อเสนอ อภิสิทธิ์ ทางออก หรือ ทางตัน ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แนวทางที่คุณอภิสิทธิ์เสนอมา แม้อาจมองได้ว่าเป็นความหวังดี แต่ก็มีเนื้อหาที่ขัดแย้งต่อหลักการทางรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 4 ประการ

1. ข้อเสนอคุณอภิสิทธิ์ให้ชะลอการเลือกตั้งออกไปอีกประมาณ ครึ่งปี พร้อมสร้างสภาวะมีรัฐบาลชั่วคราวที่ไม่ได้รับการยอมรับและไม่มีอำนาจเต็มต่อเนื่องเป็นเวลานานจะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนและความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงและถูกลากยาวออกไปอันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีอำนาจรัฐมีความมั่นคงต่อเนื่องและแน่นอน

2. การเสนอให้รัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวลาออกแล้วให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่สรรหารัฐบาลใหม่นั้นเท่ากับเป็นการปล้นอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปไว้กับคนไม่กี่คนโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนเลือกและไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับยิ่งทำให้ความขัดแย้งขยายตัว ทั้งนี้ ส่วนการอ้างหลักการจารีตประเพณีไม่อาจอ้างได้ เพราะสิ่งที่จะถือว่าเป็นจารีตประเพณี ในทางกฎหมายจะต้องมีการปฏิบัติต่อเนื่องและยอมรับความผูกพันโดยทั่วกัน มิใช่เป็นกรณีที่เคยทำเป็นครั้งคราวในอดีต และต้องไม่ขัดหรือแย้งที่บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่มีความชัดเจนอยู่แล้ว

3. การทำประชามติโดยอาศัยข้อเสนอสภาปฏิรูปที่จัดทำโดยเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ร่วมกับ กปปส.นอกจากมีปัญหาในรื่องข้อกฎหมายการทำประชามติแล้ว ยังเป็นเสมือนการมัดมือชกประชาชน เพราะเนื้อหาสาระของประชามติได้ถูกตีกรอบโดยผู้ที่ไม่ได้รับอาณัติจากประชาชนและไม่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญรองรับจะยิ่งทำให้การทำประชามติดังกล่าวขาดความชอบธรรมและยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น

4. การสร้างเงื่อนไขให้ กกต. (หรือศาล) มีอำนาจใช้ดุลพินิจยุบพรรคที่ไม่สนับสนุนการปฏิรูป ซึ่งย่อมกระทบถึงฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ย่อมเท่ากับเป็นการมอบอำนาจให้องค์กรอิสระหรือตุลาการเข้ามาครอบงำกระบวนการปฏิรูปประเทศ เป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นหัวใจของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอคุณอภิสิทธิ์ ก็ยังมีส่วนที่ดี ก็คือ การให้ กกต.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้การเลือกตั้งโปร่งใสและรัดกุมมากขึ้น (ซึ่งตรงกับข้อเสนอที่ผมเองเคยเสนอไปเมื่อปีที่แล้ว) รวมถึงการเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการออกแบบวาระปฏิรูปและการใช้วิธีประชามติ ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมกันนำข้อเสนอส่วนนี้มาปรับใช้และร่วมกันปฏิบัติทันที

กล่าวคือ มีการปรับปรุงกติการการเลือกตั้งและทุกฝ่ายร่วมกันออกแบบการปฏิรูปใน1-2 เดือน ก็อาจนำไปสู่การเลือกตั้งเพื่อวาระปฏิรูปในเดือนกรกฏาคมและอาจหาวิธีการออกแบบให้วันเลือกตั้งเป็นวันทำประชามติไปพร้อมกัน เพื่อสร้างอาณัติให้รัฐบาลที่รับเลือกตั้งไม่แทรกแซงกระบวนการปฏิรูป หากทำได้เช่นนี้ประเทศชาติก็ย่อมมีทางออกได้โดยไม่ต้องขัดแย้งต่อหลักการทางรัฐธรรมนูญที่กล่าวมา

สิ่งที่น่ากังวลใจมากในเวลานี้ คือ การร่วมกันจัดฉากทางการเมืองเพื่อให้ข้อเสนอคุณอภิสิทธิ์ถูกปฏิเสธโดยฝ่ายอื่น จากนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญอ้างแนวคิดดังที่อดีตประธานศาลเคยยอมรับว่าเมื่อบ้านเมืองถึงทางตัน ศาลก็ต้องหน้าที่หาทางไป แต่อดีตได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ในที่สุดทางไปนั้นก็ไปจบที่การนองเลือดซึ่งย่อมไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้นอีก.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท