สภาองค์การลูกจ้างฯ – สหพันธ์แรงงานสิ่งทอฯ วอนกกต.จัดเลือกตั้งโดยเร็ว

สภาองค์การลูกจ้างฯ และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ แถลงวันกรรมกรสากลเรียกร้องให้ กกต.จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อมีรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาแรงงาน ค้านรัฐประหาร วอนรัฐจัดงบพัฒนาสหภาพแรงงาน

1 พ.ค.2557 สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เนื่องในวันกรรมกรสากล เรียกร้องให้เรียกร้ององค์กรที่รับผิดชอบดำเนินการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยเฉพาะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อนำไปสู่การมีรัฐบาลใหม่และคลี่คลายสถานการณ์การว่างงาน

โดยแถลงการณ์ระบุว่า สถานการณ์การเมืองปัจจุบันเป็นสงครามแย่งชิงอำนาจส่งผลให้ 4 เสาหลักเศรษฐกิจกำลังป่วยขั้นโคม่า คือการบริโภคหดตัวลงมาต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 59.7 ต่ำสุดในรอบ 12 ปี การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงต่อเนื่อง ทั้งปริมาณนำเข้าสินค้า ยอดจำหน่ายรถยนต์ การลงทุนหมวดก่อสร้าง นักลงทุนหยุดรอนโยบายส่งเสริมการลงทุน จากบอร์ดบีโอไอ ชุดใหม่ ที่มีปริมาณคั่งค้างอยู่มูลค่า 800,000 บาท การใช้นโยบายภาครัฐ เจอทางตันหลังยุบสภา เลือกตั้งเป็นโมฆะ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ รัฐบาลรักษาการมีข้อจำกัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งงบเก่าและงบใหม่ และการส่งออกขยายตัวไม่ถึง 51% ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและแนวโน้มมีการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ มี.ค. 57 สูงถึง 2.43 แสนคน

เช่นเดียวกับ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า (LUBG), องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย (WOD), สมาพันธ์กรรมกรเพื่อประชาธิปไตยและกรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ต่อต้านนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 และคัดค้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ

พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่อง เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ที่ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง รวมทั้งรณรงค์ให้สังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เรียกร้องค่าจ้างที่พอเพียงต่อการดำรงชีพ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อการพัฒนาสหภาพแรงงาน  

แถลงการณ์ :  สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย

วันกรรมกรสากลหรือ วันเมย์เดย์” (May Day) กำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของ การปฏิวัติอุตสาหกรรมจากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องทุนกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน  ทำให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปในหลายประเทศทางยุโรป อเมริกา ละติลอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

            เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1886 คนงานแห่งเมืองชิคาโก ประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง ระบบสามแปดคือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐนายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง

            สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปด โดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 ในช่วงนั้นก็เริ่มมีแนวคิดจากกรรมกรในหลายประเทศแถบยุโรป ที่จะประกาศวันที่แน่นอนให้เป็นวันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก ที่ประชุมสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส  จึงมีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 1890 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานตามที่สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้กำหนดไว้แล้ว และให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันกรรมกรสากลและเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก มติดังกล่าวได้แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง และการยืนหยัดต่อสู้ของคนงานชิคาโกและคนงานอื่นๆ ก็สามารถทำให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 8 ชั่วโมงในทุกๆ แห่ง

            1 พฤษภาคม ของทุกปี คือ วันกรรมกรสากลเป็นสัญลักษณ์แห่งการสามัคคีต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมกร ซึ่งกรรมกรทั่วโลกจะจัดให้มีการชุมนุมเดินขบวน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากการกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยม

            ในประเทศไทย การจัดงานวันกรรมกรสากลในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพรวมกับสมาคมไตรจักร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3 พันคน

            การชุมนุมวันกรรมกรสากล พ..2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญ กรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกันซึ่งถือว่าเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกร โดยกรรมกรและเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง

            แต่แล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยรัฐบาลเผด็จการได้สั่งห้ามจัดงานวันกรรมกรสากลในปี พ.ศ.2499 “กรรมกร 16 หน่วยจัดตั้งรวมตัว โดยมีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่าง ๆ และได้เคลื่อนไหวให้มีการจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นอีกครั้ง แต่รัฐบาลเผด็จการมีเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อ วันกรรมกรสากล เป็น วันแรงงานแห่งชาติ ใช้มาจนถึงทุกวันนี้

            จากการควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการ ทำให้วันกรรกรสากลถูกแทรกแซงจากรัฐบาลมาโดยตลอด  เนื้อหา และรูปแบบของการจัดงานมักจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันที่ 1 พฤษภาคม ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลเท่าที่ควร  ไม่มีการติดตามอย่างจริงจัง ทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน  เป็นเพียงพิธีการเท่านั้น

            วันกรรมกรสากลพี่น้องกรรมกรทุกคนจะต้องร่วมกันรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีตกว่า 200 ปี ที่ปลดปล่อยกรรมกรจากการทำงานเยี่ยงทาส  ณ วันนี้ การต่อสู้ของกรรมกรยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของชนชั้นกรรมาชีพ ให้เชื่อมั่นในพลังของเรา ต้องปลดปล่อยโซ่ตรวนทางความคิดที่คอยแต่พึ่งพา ร้องขอและยอมจำนน ไม่นำพาการต่อสู้ด้วยตนเอง  เพื่อปลดปล่อยโซ่ตรวนของการกดขี่ขูดรีดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เฉกเช่นบรรพบุรุษของเราที่ได้ต่อสู้เพื่อทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง เสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่ออนาคตของลูกหลานกรรมกรของเราและสังคมใหม่

            สถานการณ์การเมืองปัจจุบันเป็นสงครามแย่งชิงอำนาจส่งผลให้ 4 เสาหลักเศรษฐกิจกำลังป่วยขั้นโคม่า คือการบริโภคหดตัวลงมาต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 59.7 ต่ำสุดในรอบ 12 ปี การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงต่อเนื่อง ทั้งปริมาณนำเข้าสินค้า ยอดจำหน่ายรถยนต์ การลงทุนหมวดก่อสร้าง นักลงทุนหยุดรอนโยบายส่งเสริมการลงทุน จากบอร์ดบีโอไอ ชุดใหม่ ที่มีปริมาณคั่งค้างอยู่มูลค่า 800,000 บาท การใช้นโยบายภาครัฐ เจอทางตันหลังยุบสภา เลือกตั้งเป็นโมฆะ จัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ รัฐบาลรักษาการมีข้อจำกัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งงบเก่าและงบใหม่ และการส่งออกขยายตัวไม่ถึง 51% ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและแนวโน้มมีการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเดือนมีนาคม2557 สูงถึง 2.43 แสนคน

            สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย พิจารณาจากข้อมูลข้างต้น จะทำให้กรรมกรว่างงานมากขึ้นในเดือนต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง นำไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ทั้งในและต่างชาติ  ดังนั้น ให้องค์กรที่รับผิดชอบดำเนินการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยเฉพาะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การว่างงานดังกล่าว

            จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน 

สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย

 1 พฤษภาคม 2557

 

แถลงการณ์ : สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ

ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันกรรมกรสากล หรือ May Day สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ร่วมกับองค์กรต่างๆ ได้กำหนดจัดงานวันกรรมกรสากลเหมือนเช่นทุกๆ ปี เพื่อร่วมรำลึกถึงวันที่กรรมกรทั่วโลกลุกขึ้นสู้เพื่อชีวิตใหม่ ต่อต้านการบังคับข่มขู่ และการกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ ให้คนหลุดพ้นจากความหิวโหย ความยากแค้นและไร้ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ถึงแม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรรมกรและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมได้ต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง แต่หาได้หลุดพ้นจากความหิวโหย การกดขี่ ขูดรีด หรือมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าเดิมไม่  อันเนื่องมาจากว่าพวกเรายังไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบของระบบทุนนิยมและอำมาตย์นิยมได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในปัจจุบันการกดขี่ขูดรีดจากระบบทุนนิยมยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากสถานการณ์ทางการเมืองในอดีตชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีดได้สมคบกันใช้ความรุนแรง และปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมหลายครั้ง เช่น การรัฐประหาร 2490 การรัฐประหาร 2501 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  2535  การรัฐประหาร  2549 การปราบปรามประชาชน เดือนเมษายน 2552 และการปรามปราบประชาชนครั้งใหญ่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ปัจจุบันความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับทุนผูกขาดอนุรักษ์นิยมและทุนนิยมเสรีเนื่องจากกลุ่มทุนเหล่านี้ ต้องการทำลายขบวนการ การรวมตัวของประชาชนคนเสื้อแดง ไม่ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550  ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำจัดขบวนการประชาธิปไตยของประชาชน

ฉะนั้นสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ร่วมกับองค์กรต่างๆ จึงได้กำหนดจัดงานวันกรรมกรสากลในวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2557  เพื่อรำลึกถึงวีรชนทั่วโลกที่ลุกขึ้นมาต่อสู้และร่วมกันต่อสู้ต่อไปในประเด็นสำคัญดังนี้

1.     กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

2.     ไม่เอานายกรัฐมนตรีมาตรา 7 และรัฐประหารทุกรูปแบบ

3.     รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 87,98

4.     สังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ

5.     รัฐต้องเก็บภาษีแบบก้าวหน้า

6.     ค่าจ้างจะต้องพอเพียงต่อการดำรงชีพ

7.     รัฐต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อการพัฒนาสหภาพแรงงาน 

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทยจะร่วมกับพี่น้องชนชั้นผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั้งมวล ดำเนินการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว

 

ด้วยความสมานฉันท์

1 พ.ค. 2557

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ(TWFT), กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า (LUBG) องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย (WOD), สมาพันธ์กรรมกรเพื่อประชาธิปไตย , กรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท