รำลึกถึง “อิซา” ผู้ไม่ประนีประนอมในการตามหาความยุติธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถ้อยคำรำลึกจากแม่พยาบาลเกด, ขวัญระวี วังอุดม, พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ และ ดา สปูนเนอร์ ที่เคยใกล้ชิดและร่วมงานกับ อะลิซาเบตตา โพเลงกี น้องสาวของฟาบิโอ โพเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553

000

19 พฤษภาคม2556 เวทีหน้าวัดปทุมวนารามเราได้เจอน้องสาวฟาบิโอเป็นครั้งแรกในวันครบรอบ 3 ปีในการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ อีซ่าได้ขึ้นเวทีหน้าวัดปทุมวนารามพร้อมเรา

อีซ่าได้กล่าวทักทายพี่น้องเสื้อแดงทุกคนในวันนั้นและได้พูดกับเราบนเวทีว่าดีใจที่ได้เห็นผู้หญิงคนนี้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ทำให้เธอมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ให้กับพี่ชายของเธอ

เธอได้เริ่มเข้ามาที่เมืองไทยและตามหาความจริงในการตายของพี่ชายเธอ เธอได้พูดกับเราบนเวทีวันนั้นว่าเธอขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับเราในการต่อสู้ ซึ่งในวันนั้นเราได้ให้กำลังใจซึ่งกันและกันเราไม่นึกเลยจริงๆ ว่าวันนั้นที่เราได้เจออิซาครั้งแรกและจะเป็นครั้งสุดท้าย เราขอให้อิซาจงหลับให้สบายไม่ต้องห่วงเราจะสานต่อเจตนารมณ์ของอิซา

วันที่19 พ.ค.57 ครบรอบ 4 ปีเราขออนุญาตเป็นตัวแทนของอิซาไปวางดอกไม้ให้ฟาบิโอนะเพื่อน

แม่น้องเกด (พะเยาว์ อัคฮาด)

000

เมื่อประมาณสองอาทิตย์ก่อนที่อิซา, น้องสาวฟาบิโอ นักข่าวอิตาเลียนที่ถูกยิงเสียชีวิตจากการล้อมปราบคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553, จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง อิซาได้ติดต่อมาหาดิฉัน ขอให้ดิฉันหรือศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) ช่วยดูแลคดีของฟาบิโอต่อให้เพื่อที่เธอจะได้จากไปอย่างหมดห่วง

ครั้งนั้นก็เหมือนทุกครั้งที่เราเคยคุยกัน อิซาจะย้ำเสมออยู่สองเรื่องหนึ่งคือเธออยากให้คดีของฟาบิโอเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ร่วมกับคดีผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมรายอื่นๆ ไม่อยากให้ต้องแบ่งแยกคนไทยหรือคนต่างชาติ และสองเธอบอกว่าเธอรักและรู้สึกผูกพันกับเมืองไทย แม้เป็นประเทศที่พี่ชายของเธอต้องมาจบชีวิตลง แม้คนที่สั่งล้อมปราบจะไม่เคยแสดงความรับผิดชอบใดๆ เธอไม่เคยเกลียดเมืองไทย ไม่เหมารวม ตรงกันข้ามเธอกลับรู้สึกอบอุ่นจากมิตรภาพที่หลายๆคนหยิบยื่นให้ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

การที่อิซาผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่แต่ก่อนไม่เคยคิดสนใจการเมืองวันๆ ทำแต่งานศิลปะที่เธอรัก ต้องมาต่อสู้ทวงความเป็นธรรมให้กับพี่ชายที่ถูกฆ่าตายในต่างแดนเพียงลำพังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย แต่อิซาก็ไม่เคยท้อ อิซาเริ่มรวบรวมภาพถ่ายคลิปวีดีโอ เอกสารต่างๆที่พอจะเป็นเบาะแสเกี่ยวกับการตายของพี่ชายเธอจากหลายๆช่องทาง เดินทางไปพบหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น ดีเอสไอ ซึ่งบางทีก็ได้รับความร่วมมือบ้างไม่ได้บ้าง ยังไม่รวมปัญหาด้านภาษาทั้งการสื่อสารหรือการทำความเข้าใจเอกสารทางกฎหมายที่มีแต่ภาษาไทย อิซาไม่มีล่ามประจำตัว ดิฉันและเพื่อนๆรวมกลุ่มกันเพื่อจะช่วยอิซาแปลงาน แต่อิซาก็มักจะเกรงใจเสมอ

อิซาพยายามติดตามข่าวสารการเมืองไทยฟังข้อมูลหลายๆ ด้านแล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง เธอเข้าใจถ่องแท้ว่ารากเหง้าของความขัดแย้งในเมืองไทยส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลซึ่งเป็นชนชั้นนำ/ ผู้มีอำนาจในสังคม จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อครั้งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมาเข่ง อิซาจึงเป็นหนึ่งในคนที่ออกมาคัดค้าน (ดู “จดหมายถึงยิ่งลักษณ์และ ส.ส. จากน้องสาวฟาบิโอ โพเลงกี เหยื่อกระสุนปี 53” ) เพราะเธอเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เพียงแต่จะปิดกั้นการค้นหาความจริงจากเหตุการณ์สลายชุมนุม แต่ยังตอกย้ำวัฒนธรรมที่สร้างความอยุติธรรมในสังคมไทยต่อไป

ทุกครั้งที่ดิฉันได้คุยกับอิซา ดิฉันอดนึกไม่ได้ว่าถ้าดิฉันเป็นเธอ ดิฉันจะสามารถทำความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาการเมืองไทยได้เท่าเธอหรือไม่ และจะสามารถอดทนต่ออุปสรรคนานัปการได้เท่าเธอไหม

จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา การดำเนินการทางคดีของฟาบิโอต้องหยุดชะงักลงเมื่ออิซาพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคมะเร็ง ปรกติเราจะติดต่อกันเป็นระยะๆ ดิฉันพยาพยามเลี่ยงไม่คุยประเด็นทางการเมืองกับอิซาในช่วงหลัง เพราะไม่อยากทำให้เธอเครียด แต่เธอก็จะขอให้ช่วยอัพเดทสถานการณ์ให้ ไม่เว้นแม้กระทั่งครั้งสุดท้ายที่เราคุยกัน ตอนนั้นร่างกายของอิซาไม่สามารถรับคีโมได้แล้ว ต้องคอยฉีดมอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวด แต่อิซาก็ยังอยากจะคุยแต่เรื่อง(การ) เมืองไทย พอดิฉันยืนยันว่าเธอควรจะพักผ่อนก่อนเธอจะพูดว่า “ฉันรักประเทศของเธอ ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศของเธอ” พร้อมรอยยิ้มและแววตาที่เป็นประกาย การเมืองไทย (ที่แสนจะน่าปวดหัวในความคิดของดิฉัน) ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเธอไปแล้ว

เชื่อว่าใครได้รู้จักอิซาก็ต้องหลงรักเธอเพราะนอกจากความเป็นคนมองโลกในแง่ดี อิซายังเป็นคนที่มีความจริงใจ she speaks her mind ไม่มีเสแสร้งตรงไปตรงมาและที่สำคัญจิตใจเธอยิ่งใหญ่กว่าชาติไทยกับอิตาลีมารวมกัน อิซาบอกว่าเธอไม่เคยคิดแค้นฝังใจกับคนที่มีส่วนฆ่าพี่ชายของเธอ ขอเพียงแต่ถ้าเขารู้สึกสำนึกผิดกับสิ่งที่ได้ทำลงไปเธอพร้อมที่จะให้อภัย เธอหวังจะได้คุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในเวทีสาธารณะเพราะเธอเชื่อว่าการพูดคุยกันจะช่วยลดความขัดแย้งได้แต่นายอภิสิทธิ์ก็ปฏิเสธบอกเพียงแค่ว่าไม่มีเวลาและยืนยันขอพบเป็นการส่วนตัวเท่านั้น

(ฟังคลิปแถลงข่าวหลังศาลออกคำสั่งสรุปสำนวนการตายของฟาบิโอ )

แม้อิซาได้จากไปแล้วแต่ดิฉันเชื่อว่าพวกเราหลายๆคนจะช่วยกันสานฝันและความคิดของอิซาช่วยกันทวงคืนความเป็นธรรมให้กับฟาบิโอและผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ต่อไป

ขออย่าได้เป็นกังวลเลย, อิซา - Rest in Peace, the brave heart and beautiful soul.

ขวัญระวี วังอุดม ศปช.

000

ภาพที่ติดบนฝาผนังบ้านของดิฉันคือภาพถ่ายจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ในภาพนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อกางแขนทักทายผู้ชุมนุมทั้งชายหญิง รูปภาพนี้ถูกบันทึกโดยนักข่าวช่างภาพชาวอิตาลีที่ถูกสังหารในปี 2553 ฟาบิโอ โพแลงกี้และเป็นของขวัญจากเพื่อนรักของดิฉัน อิซา โพเลงกี

หลายคนคงทราบว่าอิซาเสียชีวิตลงเมื่อวานนี้วันที่ 28 เมษายนพ.ศ. 2557 ด้วยวัย51 ปีข่าวการเสียชีวิตของอิซาทำให้ดิฉันรู้สึกสะเทือนใจอย่างมากมายทั้งนี้เพราะอิซาจากไปทั้งที่อายุยังน้อยดิฉันรู้สึกเศร้าเสียใจที่อิซาไม่ได้มีชีวิตอยู่จนได้เห็นผู้ที่สังหารพี่ชายเธอและผู้บริสุทธิ์คนอื่นในปี 2553 ถูกลงโทษ

ดิฉันดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับฟาบิโอของอิซา การต่อสู้นี้คือสิ่งที่เธอทำด้วยความรักความมีมนุษยธรรมและความสง่างาม อิซามิได้แค่เพียงต่อสู้เพื่อพี่ชายเธอเท่านั้นเพราะเธอตระหนักว่าการนำความยุติธรรมมาให้ฟาบิโอคือการนำความยุติธรรมมาให้เหยื่อจากเหตุการณ์ปี 2553 ด้วย สำหรับอิซา คดีฟาบิโอคือโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่ความอยุติกรรมกลายเป็นบรรทัดฐาน อิซาทำงานค้นหาความจริงอย่างแข็งขันและไม่ประนีประนอมเพราะเธอยึดมั่นในคุณค่าของมนุษยธรรมและความยุติธรรม

ส่วนหนึ่งของความไม่ประนีประนอมของอิซาในการตามหาความยุติธรรมนี้เองที่ทำให้การนำตัวผู้นำทางการเมืองอย่างนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมาลงโทษเป็นเรื่องที่ไม่เพียงพอ อิซาต้องการเห็นกองทัพไทยถูกสอบสวนและดำเนินคดีในอาชญากรรมที่พวกเขาก่อ อิซาเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการปรองดองที่แท้จริงในประเทศไทยไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความจริงและความยุติธรรม

ในเดือนสุดท้ายก่อนอิซาจะจากไป อิซาได้เขียนโครงการเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์ในปี 2553 อิซาต้องการให้อนุสาวรีย์นี้เป็นสิ่งย้ำเตือนความทรงจำต่อฟาบิโอและเหยื่ออธรรมผู้วายชนม์

โครงการสร้างอนุสาวรีย์ที่อิซาร่างขึ้นมานั้นเต็มไปด้วยความประณีตและความเอื้ออาทรคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนและการใช้ชีวิตของช่างภาพที่ประสบความสำเร็จอย่างอิซา

ดิฉันเดินทางไปเยี่ยมอิซาที่มิลานเมื่อ2-3 อาทิตย์ที่แล้ว อิซาน้ำหนักลดลงอย่างมากและมีอาการเจ็บปวดบ่อยครั้งดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่อิซาวางใจและให้คุณค่ากับมิตรภาพของเรามากพอที่เปิดโอกาสให้ดิฉันได้เดินทางไปเจอเธอในช่วงเวลาที่แสนยากลำบากเช่นนี้ ดิฉันได้เพียงแต่หวังว่าการเดินทางของเธอครั้งนี้จะปลดปล่อยเธอจากความเจ็บปวดและไม่ว่าอิซาจะอยู่หนใดในเวลานี้ดิฉันเชื่อว่าจิตวิญญาณของอิซาจะเต็มไปด้วยความสงบสุข

ด้วยรักและอาลัย
ดา สปูนเนอร์

000

อะลิซาเบตตา โพเลงกี (Elisabetta Polenghi 1963-2014) ตายอายุ 51 ปี เธอสูญเสียพี่ชายที่เป็นนักข่าว ฟาบิโอ โพเลงกี (Fabio Polenghi) ไปในระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 ผมได้มีโอกาสรู้จักและพบตัวเป็น ๆ ของคุณอิซาเป็นครั้งแรก ตอนที่ไปเป็นล่ามให้กับเธอในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งผลไต่สวนชันสูตรพลิกศพพี่ชายของเธอ

อิซาเป็นเหมือนชาวบ้านทั่วไป มีอาชีพด้านออกแบบแฟชั่นที่อิตาลี แต่เดิมไม่ได้สนใจการบ้านการเมือง แต่ชีวิตผกผันเมื่อพี่ชายถูกยิงตายอย่างเลือดเย็น ฟาบิโอถูกยิงขณะวิ่งหนีแถวหลังสวน หันหลังให้ทหารที่ยิงเขา และถูกยิงด้วยกระสุนแค่นัดเดียว แต่เพราะการเดินทางไปโรงพยาบาลถูกสกัด (ทั้ง ๆ ที่รพ.ตำรวจก็อยู่ใกล้ ๆ) ทำให้เสียชีวิตจากการ “เสียโลหิตในปริมาณมาก” ตามผลการชันสูตรของแพทย์ เขาเสียชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นช่างภาพฝีมือดี เคยถ่ายรูปทั้งที่อเมริกาใต้และสมรภูมิรบอย่างพม่ามาก่อน แต่ต้องมาตายที่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ควรเป็นสมรภูมิรบเลย

อิซาเล่าว่า ภายหลังเหตุการณ์เสียชีวิตของพี่ชายเธอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพยายามติดต่อผ่านเพื่อนของเธอเพื่อขอพบระหว่างที่มาเมืองไทย แต่อิซาไม่ได้สนใจ ต่อมาก่อนหน้าการแถลงข่าวเมื่อเดือนพ.ค.ปี 56 อภิสิทธิ์ก็ติดต่อมาอีก อิซาจึงชวนให้เขามาร่วมอภิปรายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย แต่อภิสิทธิ์ไม่มาครับ อ้างอย่างเดียวว่าต้องการพบเป็นการส่วนตัว นี่แหละครับ “ทั่นอภิสิทธิ์” ที่เราคุ้นเคย “ดีแต่พูด”

แต่แล้วเมื่อช่วงต.ค.ปีที่แล้ว อิซาเขียนข้อความถามผมว่า “จริงหรือที่รัฐบาลจะผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง” ผมได้แต่บอกความจริงว่า “ใช่” และด้านล่างเป็นความรู้สึกของอิซาที่มีต่อรัฐบาลที่ว่ากันว่ามาจากการต่อสู้ของคนเสื้อแดง เป็นรัฐบาลที่เธอเคยศรัทธาว่าจะนำความยุติธรรมกลับมาให้ หลังจากเธอทุ่มเทชีวิตและการงานที่มีอยู่ (ถ้าใครไม่รู้จักเธอ จะคิดว่าเธอเป็น “พี่สาว” ของฟาบิโอ เพราะผมของเธอหงอกเกินกว่าวัยไปมาก)

สิ่งเหล่านี้คงเป็นผลมาจากความตรอมใจในช่วงสามปีที่ต้องสูญเสียพี่ชายที่รักใคร่กันอย่างมากไป เธอพูดถูกต้องแล้วครับ การนิรโทษเหมาเข่งโดยที่ฝ่ายที่กระทำความผิดยังไม่สำนึกต่อบาปหรือความผิดของตน เป็นเหมือน “การให้ใบอนุญาตเพื่อสั่งฆ่าซ้ำสอง และปิดโอกาสที่ความจริงจะปรากฏขึ้น”

สิ่งที่เราทำได้เพื่อปลอบประโลมดวงวิญญาณของอิซาคือ การเดินหน้านำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ เขาคนนั้น จะปากเก่ง ฟุตเวิคดี และแบ็คดีอย่างไร เขาหนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น ถึงเขาจะได้เป็นผู้นำด้วยวิธีการอันกำกวมอีกครั้ง ก็จะไม่มีใครยอมรับเขาเหมือนเดิม ตอนนึ้ขอให้อิซาหลับให้สบายเสียก่อน เธอคงเหนื่อยมาก และเจ็บปวดมามากจากมะเร็ง และที่ทำให้เธอร้าวรานใจไม่น้อยไปกว่ากันคือคนที่สนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ซึ่งทำลายโอกาสที่จะคืนความยุติธรรมให้กับเธอ

จดหมายถึงยิ่งลักษณ์และ ส.ส. จากน้องสาว ฟาบิโอ โพเลงกี เหยื่อกระสุนปี53

ต้นฉบับเป็นภาษาอิตาเลียนของอิซาเอง

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท